xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาท ของสถาบันพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร (ตอนที่ ๗)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

หนังสือชื่อ  the English Constitution (ค.ศ. ๑๘๖๗)  เขียนโดย  วอลเตอร์ แบจอจ์ท (Walter Bagehot) ได้กล่าวถึงขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษจะมีเพียงสามประการเท่านั้น นั่นคือ - พระราชสิทธิ์ในการให้คำปรึกษาแนะนำ (the right to be consulted อันหมายถึง พระราชสิทธิ์ที่จะพระราชทานคำปรึกษาแนะนำ เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลขอ) - พระราชสิทธิ์ในการให้การสนับสนุนและให้ความมั่นใจ (the right to encourage) และ- พระราชสิทธิ์ในการเตือน (the right to warn)” ถือว่าพระราชอำนาจลดลงกว่าที่ผ่านมาในรัชสมัยก่อนหน้าที่แบจอร์จจะเขียนหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ออกมา

แบจอร์ทกล่าวว่า แม้พระราชสิทธิ์-พระราชอำนาจจะดูน้อยลง แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชสิทธิ์ที่มีไม่กี่เรื่องนี้ ผลที่ตามมาจะมีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาล

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการใช้พระราชสิทธิ์ในการเตือนที่แบจอร์ทกล่าวว่า การใช้พระราชอำนาจในการเตือนที่ไม่บ่อยและใช้ในยามที่จำเป็น (ผู้สนใจคำอธิบายในประเด็นนี้โปรดดูตอนที่ ๕) จะทำให้ “สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ คำเตือนพระองค์จะมีอิทธิพลต่อรัฐมนตรีของพระองค์” คำเตือนของพระมหากษัตริย์ส่งผลให้รัฐมนตรีของพระองค์ - ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย - ต้องครุ่นคิดกังวล
 
แบจอร์ทได้ให้เหตุผลว่า “ในการครองราชย์อันยาวนาน พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยที่ดี (a sagacious king) จะสั่งสมประสบการณ์ที่รัฐมนตรีน้อยคนจะโต้แย้งได้” (นักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีตามวาระ/ผู้เขียน) แบจอร์ทได้ขยายความ  “ความได้เปรียบ”  ในการดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐอันยาวนานของพระมหากษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญว่า เราจะเข้าใจความได้เปรียบที่ว่านี้จากการพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างตำแหน่งสองตำแหน่ง นั่นคือ ตำแหน่ง  “permanent under-secretary”  ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นตำแหน่งของข้าราชการประจำที่ไม่ได้เปลี่ยน (ไม่ควรเปลี่ยน/ผู้เขียน) ไปตามการเลือกตั้งดังในกรณีของนักการเมืองที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้อธิบายความเป็นมาและบทบาทสำคัญของตำแหน่ง “permanent under-secretary” ในการเมืองการปกครองอังกฤษไปแล้ว คราวนี้จะอธิบายที่มาและอำนาจหน้าที่ของตำแหน่ง  “parliamentary secretary”  เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ทำไมแบจอร์ทถึงเปรียบเทียบความได้เปรียบของพระมหากษัตริย์เหนือนักการเมืองโดยเทียบเคียงกับตำแหน่ง “permanent under-secretary” กับ “parliamentary secretary”

ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง parliamentary secretary ได้จะต้องมีสถานะของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ ผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ส.ส. ผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งนี้คือ นายกรัฐมนตรี และโดยปกติจะแต่งตั้ง ส.ส. ของพรรคตัวเอง parliamentary secretary เป็นตำแหน่งที่รองลงมาเป็นอันดับที่สามจากตำแหน่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง นั่นคือ รัฐมนตรีที่มีอาวุโสหรืออยู่ในฐานะสูงสุดจะเรียกว่า  Secretary  รองลงมาคือ minister  และอันดับที่สามคือ parliamentary secretary 

parliamentary secretary มีหน้าที่ช่วยเหลืองานต่างๆ ของทั้ง Secretary และ Minister ของกระทรวงนั้นๆ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้จะมีโอกาสได้เรียนรู้งานและประสบการณ์เพื่อจะเป็น Minister และ Secretary ในคณะรัฐมนตรีในอนาคต หรืออาจจะถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลยก็ได้ ตัวอย่างก็คือ  นายริชี ซูแน็ก  ที่เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการไต่ระดับจากตำแหน่ง parliamentary secretary ไปจนถึง Secretary ของกระทรวงและไปจนถึงนายกรัฐมนตรีของนายซูแน็ก และถือโอกาสเล่าความเป็นมาในเส้นทางทางการเมืองของเขาด้วยเลย

 สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
ในปี ค.ศ. 2010 ซูแน็กเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองเมื่อเขาอายุได้ 30 ปี โดยเริ่มต้นทำงานให้พรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้กลุ่มที่เรียกว่า  Policy Exchange  หรือกลุ่มมันสมอง(think tank) ซึ่งสื่อมวลชนอังกฤษกล่าวถึง Policy Exchange ว่าเป็นกลุ่มมันสมองฝ่ายขวาที่ใหญ่และทรงอิทธิพล

ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 เขาได้เป็นผู้นำหน่วยวิจัยของกลุ่มคนผิวดำและชาติพันธุ์คนกลุ่มน้อย (the Black and Minority Ethnic/ BME) และในเดือนตุลาคม ปีเดียวกันนั้น เขาชนะการแข่งขันภายในพรรคอนุรักษ์นิยม ทำให้เขาได้เป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งริชมอนด์ในยอร์คส (Yorks) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอังกฤษ เขตเลือกตั้งดังกล่าวนี้เป็นเขตที่พรรคอนุรักษ์นิยมได้ชัยชนะในการเลือกตั้งสามารถรักษาเก้าอี้มาได้กว่า 100 ปี ดังนั้น นักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยมต่างก็ต้องการจะลงสมัครในเขตนี้ เพราะแทบจะไม่มีโอกาสแพ้เลย

และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2015 เขาก็ได้เป็น ส.ส. ของเขตริชมอน์ด โดยได้คะแนนเสียง 19,550 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่มากที่สุดในบรรดาผู้สมัครทั้งหลาย คะแนนของเขาคิดเป็นร้อยละ 36.2 และในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2015-2017 เขาได้เป็นกรรมาธิการในคณะสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการในชนบท และได้เป็น parliamentary secretary ที่กระทรวงยุทธศาสตร์ทางอุตสาหกรรม พลังงานและธุรกิจ

ในปี ค.ศ. 2018 เขาได้ไต่จากตำแหน่ง parliamentary secretary ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น นั่นคือ ตำแหน่ง minister ของกระทรวงการปกครองท้องถิ่น ชุมชนและการเคหะ แต่ซูแน็กเป็น minister อยู่ได้เพียงปีเดียว เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Secretary กระทรวงการคลังของอังกฤษ สาเหตุมาจากการที่เขาเป็นผู้สนับสนุน  นายบอริส จอห์นสัน อย่างชัดเจน และเมื่อจอห์นสันได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 2019 จอห์นสันจึงตอบแทนเขาด้วยการแต่งตั้งให้เป็น  Chief Secretary ของกระทรวงการคลัง  ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งซูแน็กก็มีคุณสมบัติและประสบการณ์ทางการเงินการคลังมาพอสมควรตั้งแต่ก่อนจะมาเข้าพรรคอนุรักษ์นิยม

ในกระทรวงการคลังอังกฤษ ตำแหน่ง Chief Secretary นี้อยู่สูงกว่า parliamentary secretary และ minister และเป็นตำแหน่งที่รองจากตำแหน่ง chancellor of the Exchequer (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ในช่วงที่ซูแน็กดำรงตำแหน่งนี้ ได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่าง  นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีคลังผู้เป็นหัวหน้าโดยตรงของเขากับนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี และเมื่อนายจาวิดได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 นายจอห์นสันได้แต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 เมื่อซูแน็กเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง เขาก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจของอังกฤษเอง และที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 แต่นโยบายในการแก้ปัญหาของเขาได้รับการตอบรับอย่างดีและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และมีบทบาทในการรายงานผลและตอบคำถามรายวันต่อสื่อมวลชนที่โดดเด่นกว่านายจอห์นสัน ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ อีกทั้งสื่อมวลชนยังตั้งฉายาให้เขาว่าเป็น ส.ส. ที่ติดดิน แต่งตัวดี รูปหล่อและเซ็กซี่ที่สุดในปี ค.ศ. 2020 ด้วย

แต่ในปี ค.ศ. 2022 เขาได้รับการวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อกรณีเรื่องการไม่ต้องเสียภาษีของภริยาของเขา เนื่องจากเธอไม่ได้เป็นพลเมืองอังกฤษ และรวมทั้งการที่ตัวเขาเองยังมีกรีนการ์ดของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย  

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่าจะด้วยโชคชะตาหรืออะไรก็ตาม ในที่สุด เขาก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนล่าสุด หลังจากที่  ลิซ ทรัสส์  ตัดสินใจลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 45 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ

  ริชี ซูนัค (Rishi Sunak)
ซูแน็กใช้เวลาเล่นการเมือง 7 ปีในการไต่จาก parliamentary secretary สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอยู่ในตำแหน่ง parliamentary secretary หรือผู้ช่วยรัฐมนตรี 3 ปี (ระหว่าง ค.ศ. 2015-2017) และตำแหน่ง minister หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ ราว 1 ปี (ค.ศ. 2018-2019) และตำแหน่ง chief secretary หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการอันดับหนึ่ง ราว 1 ปี (ค.ศ. 2019-2020) และหลังจากนั้น 2 ปี เขาก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และสมมุติว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีจนครบวาระของสภา นั่นคือ ถึงปี ค.ศ. 2024 (เลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดคือ ค.ศ. 2019 และสภาอังกฤษมีวาระ 5 ปี) และสมมุติเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือสองสมัยอย่างมาก เขาก็จะเป็นคนที่เคยดำรงตำแหน่ง secretary ที่นับตั้งแต่ระดับล่างสุด (parliamentary secretary) จนถึง prime minister หรือนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาถึง 19 ปี

แต่ถ้าเทียบกับผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อังกฤษ ถ้าสมมุติว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังไม่ทรงสวรรคต พระองค์จะอยู่ในตำแหน่งประมุขของสหราชอาณาจักรต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 70 ปีกับ 214 วัน แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 จะทรงครองราชย์มาได้เพียง 48 วัน แต่พระองค์ก็ทรงเป็นมกุฎราชกุมารมาเป็นเวลา 53 ปี และเสด็จเป็นตัวแทนและปฏิบัติพระราชภารกิจให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาตลอด

จากความต่อเนื่องยาวนานที่ทรงอยู่ในตำแหน่งของพระมหากษัตริย์และมกุฎราชกุมาร (หรือมกุฎราชกุมารี) ทำให้พระองค์สั่งสมประสบการณ์ บทเรียน ความสำเร็จและความล้มเหลวของรัฐบาลหลายชุด และนี่เองคือ  “ความได้เปรียบ”  ที่แบจอร์ทกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ประเทศที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่สามารถมีสถาบันที่มีประสบการณ์สั่งสมได้ขนาดนี้

และจะเป็นการดีอย่างยิ่ง ที่พระมหากษัตริย์จะทรงให้มกุฎราชกุมารหรือมกุฎราชกุมารีได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ และรวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น