ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เรื่อง ปืนใหญ่ของขุนศึก ที่เล่ามานี้น่าจะเป็นเรื่องที่ผูกขึ้นมาเอง แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่องที่เล่ามา ที่ว่าเล่าจากเค้าเรื่องจริง หรือนำเอาเรื่องจริงมาใส่สีตีไข่เพื่อให้สนุก
ที่ว่ามีเค้ามาจากเรื่องจริงก็เพราะว่า ที่กำแพงเมืองจีนมีปืนใหญ่ตั้งอยู่จริง ปืนใหญ่เหล่านี้มีขนาดที่แตกต่างกันไปทั้งใหญ่และเล็ก และจะตั้งอยู่ประจำอยู่ที่ป้อมต่างๆ แต่ที่ ป้อมจีว์ยง (จีว์ยงกวาน) ที่เป็นป้อมในอำเภอชังผิงที่ไกลจากใจกลางปักกิ่งราว 50 กิโลเมตรนั้น จะมีปืนใหญ่ตั้งอยู่หลายกระบอกหลายขนาดด้วยกัน
แต่มีอยู่กระบอกหนึ่งที่เรียกว่า ปืนใหญ่ของขุนศึก (ต้าเจี่ยงจวินเที่ยเผ้า) และมีฉายาว่า ปืนขุนศึกมหาพลานุภาพ (เสินเวยต้าเจี่ยงจวินเผ้า) ตั้งอยู่ด้วย
ปืนกระบอกดังกล่าวน่าจะเป็นต้นเรื่องของเรื่องเล่า ปืนใหญ่ของขุนศึก และฉายาที่ว่าก็คงได้จากการใช้ปืนสู้รบกับข้าศึกจริงๆ จึงได้ตั้งชื่อให้ฟังดูน่าเกรงขาม แต่ในเรื่องเล่าข้างต้นนี้เล่าว่า ปืนใหญ่ของท่านขุนศึกยิงสกัดการรุกรานของชนชาติซย์งหนูได้ไกลสิบลี้ หรือประมาณห้ากิโลเมตร
ระยะที่ไกลขนาดนี้จึงไม่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้าคิดแก้ต่างให้กับเรื่องเล่านี้ก็อาจแก้ได้ว่า บางทีคงจะเคลื่อนปืนให้ใกล้ที่ตั้งของพวกซย์งหนูเข้าไปอีกหลายกิโลเมตรแล้วค่อยยิง อย่างนี้ก็คงเป็นไปได้
นอกจากกระบอกดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีอีกกระบอกหนึ่งที่ตั้งอยู่ในป้อมที่ ด่านปาต๋าหลิ่ง (ปาต๋าหลิ่งกวาน) ปืนใหญ่กระบอกมีข้อความสลักเอาไว้ว่า ปืนขุนศึกมหาพลานุภาพโดยพระมหากรุณาธิคุณ (ชื่อฉื้อเสินเวยต้าเจี่ยงจวิน, สองพยางค์แรกออกเสียงเหมือนกัน แต่มีตัวเขียนคนละตัว จึงเขียนทับศัพท์ด้วยอักขระที่ต่างกันเพื่อแยกให้รู้ว่าเป็นคนละคำ)
ที่มีชื่อเช่นนั้นก็เพราะปืนกระบอกนี้สร้างขึ้นและพระราชทานโดย จักรพรรดิฉงเจิน (ค.ศ.1611-1644) แห่งราชวงศ์หมิง ปืนกระบอกนี้มีความยาว 2.85 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของปากกระบอกปืนเท่ากับ 105 มิลลิเมตร สามารถยิงได้ไกล 1,000 เมตรหรือหนึ่งกิโลเมตร
จากระยะการยิงดังกล่าวถือว่าไกลพอดู และเมื่อดูจากข้อความที่สลักแล้วก็พบว่ามีชื่อหรือฉายาคล้ายกับกระบอกแรกที่กล่าวไป ปืนกระบอกนี้จึงมีสิทธิ์ที่จะถูกนำมาผูกเป็นเรื่องเล่าได้เช่นกัน โดยที่ปืนกระบอกนี้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1638 เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลานี้แล้วก็ต้องยอมรับว่า จีนมีความก้าวหน้าในการสร้างอาวุธปืนใหญ่อย่างมาก
อันที่จริงแล้ว เรื่องเล่าในกำแพงที่ยกมาเล่านี้ยังมีอีกหลายเรื่อง แต่ที่เล่ามานี้เลือกเอาเฉพาะที่เด่นๆ หากยกมาเล่าทั้งหมดก็คงเล่ากันไม่รู้จบ เพราะอย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่าจีนเป็นนักเล่าเรื่อง ไปที่ไหนถิ่นไหนในจีน ที่นั้นถิ่นนั้นมักมีเรื่องเล่าเป็นของตนเองให้คนต่างถิ่นฟังเสมอ
เช่นเดียวกับเวลาที่เราเดินทางผ่านช่วงไหนหรือด่านไหนของกำแพงเมืองจีน ที่นั้นก็มักจะมีเรื่องเล่าให้เราได้ฟังกัน จึงขอจบเรื่องเล่าในกำแพงแต่เพียงเท่านี้
กำแพงหมื่นลี้ยังคงตั้งอยู่
เรื่องของกำแพงเมืองจีนหรือกำแพงหมื่นลี้ที่กล่าวมาอย่างยืดยาวนี้ หากศึกษาให้ลึกซึ้งแล้วจะได้หนังสือเล่มเขื่องเลยทีเดียว แต่สำหรับไทยเราแล้วคิดว่าคงว่ากันพอหอมปากหอมคอ จะให้ลึกซึ้งดังที่จีนทำก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครจะอ่าน ยกเว้นพวกแฟนพันธุ์แท้
แต่ก็ควรกล่าวด้วยว่า กำแพงหมื่นลี้ที่เล่ามานี้ เป็นการเล่าถึงแง่มุมในอดีตช่วงก่อนและหลังยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยที่หลังสิ้นยุคนี้ไปแล้วกำแพงหมื่นลี้ก็ยังคงมีบทบาทในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงเสมอ
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมีกรณีที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่คือ การศึกระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1933 ปีที่ว่านี้ญี่ปุ่นเริ่มคุกคามจีนแล้ว เพียงแต่ยังไม่หนักหน่วงเท่าตอนที่เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ.1937-1945) ที่เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการที่สะพานมาร์โคโปโล ชานเมืองปักกิ่ง ค.ศ.1937
การศึกในปี ค.ศ.1933 ระหว่างทัพญี่ปุ่นกับจีนเกิดขึ้นตลอดแนวกำแพงเมืองจีนตรงบริเวณที่ตั้งด่านซันไห่ (ซันไห่กวาน) ก่อนที่จะเกิดศึกที่กำแพงเมืองจีนนี้ ญี่ปุ่นสามารถยึดครองสามมณฑลทางภาคอีสานของจีนได้แล้ว หลังจากนั้นก็กรีธาทัพเข้ายึดเมืองเญ่อเหอและกำแพงเมืองจีนที่ตั้งอยู่ในเมืองกู่เป๋ยโข่ว
ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกกล่าวกันก่อนว่า ญี่ปุ่นเปิดศึกกับจีนขนาดนั้นแล้ว ทำไมในที่นี้จึงกล่าวว่าศึกยังไม่เกิดอย่างเป็นทางการ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ตอนที่ญี่ปุ่นเปิดศึกยึดภาคอีสานนั้น ญี่ปุ่นกระทำในนามของแมนจูกัวที่เป็นรัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่น และมีจักรพรรดิปูยี (ค.ศ.1906-1967) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดให้ญี่ปุ่น เมื่อกระทำในนามนั้นจึงดูเสมือนหนึ่งว่าญี่ปุ่นไม่ได้บุกจีน ผู้ที่บุกคือ แมนจูกัว
ญี่ปุ่นกรีธาทัพมา 70,000 นายโดยยึดหลายเมืองเอาไว้ได้ จากนั้นก็บุกลงมาพบกับการยันของทัพจีนที่กำแพงเมืองจีน ทัพของทั้งสองฝ่ายจึงต่อสู้กันอย่างดุเดือดและนองเลือด ศึกนี้ยืดเยื้อยาวนานอยู่กว่า 80 วัน จนทัพจีนสามารถยันการรุกคืบของญี่ปุ่นเอาไว้ได้
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ชาวจีนมีพลังจิตในอันที่จะต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกรานมากยิ่งขึ้น ด้วยว่าก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเจียงไคเช็ก (ค.ศ.1887-1975) ผู้นำสาธารณรัฐจีน มุ่งแต่จะปราบพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นชาวจีนด้วยกันโดยไม่ใส่ใจกับการรุกรานของญี่ปุ่น เจียงไคเช็กหันมาสู้กับญี่ปุ่นก็ใน ค.ศ.1936 พอปีรุ่งขึ้น ค.ศ.1937 ญี่ปุ่นจึงเปิดฉากทำสงครามกับจีน
ศึกครั้งนี้ต่อมาถูกเรียกขานว่า ศึกกำแพงหมื่นลี้ (ฉังเฉิงจั้นอี้)
หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองจีนนับแต่ ค.ศ.1949 เรื่อยมา กำแพงหมื่นลี้ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จีนใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ครั้นจีนเปิดประเทศหลัง ค.ศ.1978 นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างก็มีกำแพงหมื่นลี้เป็นหมุดหมายหนึ่งที่ต้องไป
ความยิ่งใหญ่ของกำแพงหมื่นลี้หรือกำแพงเมืองจีนเคยทำให้เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หากขึ้นไปบนดวงจันทร์แล้วสามารถเห็นกำแพงเมืองจีนได้ด้วยตาเปล่า แต่ในกาลต่อมาก็ถูกพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง
กล่าวสำหรับจีนแล้ว นับแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ.1949 เป็นต้นมา ความรู้สึกที่จีนได้กลับคืนสู่เอกภาพอีกครั้งหนึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ความรู้สึกผูกพันกับกำแพงแห่งนี้หาได้ถูกแยกออกไปไม่ ทั้งนี้อาจเห็นได้จากเพลงชาติจีน
เพลงชาติจีนมีชื่อว่า “มาร์ชทหารอาสาสมัคร” (อี้หย่งจวินจิ้นสิงฉีว์, March of the Valunteers) แต่งคำร้องโดย เถียนฮั่น (ค.ศ.1898-1968) และทำนองโดย เนี่ยเอ๋อร์ (ค.ศ.1912-1935) มีคำร้องอยู่ท่อนหนึ่งร้องว่า “นำเลือดเนื้อเรามาสร้างกำแพงหมื่นลี้ของเราขึ้นมาใหม่”
เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นเพื่อนำมาใช้ปลุกใจชาวจีนให้สู้กับข้าศึกญี่ปุ่น และเมื่อมีกำแพงหมื่นลี้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงก็ย่อมสร้างความรู้สึกผูกพันกับกำแพงเมืองจีนไปด้วย เพลงนี้จึงอาจนำไปปลุกใจชาวจีนให้สู้กับใครได้อีกในอนาคต จึงได้แต่หวังว่าอย่าเป็นสหรัฐอเมริกาก็แล้วกัน