xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

‘ริชี ซูนัค’ พลิกประวัติศาสตร์อังกฤษ ขึ้นแท่นนายกฯ เชื้อสายอินเดียคนแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ริชี ซูนัค (Rishi Sunak) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นนักการเมืองผิวสีคนแรกที่สามารถก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยเจ้าตัวได้ให้คำมั่นจะเข้ามาแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาค่าครองชีพที่ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากนโยบายที่ “ผิดพลาด” ของอดีตนายกฯ ลิซ ทรัสส์ 

ซูนัค เอง ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม (คอนเซอร์เวทีฟ) คนใหม่เมื่อวันจันทร์ (24 ตุลาคม) หลังจากคู่แข่งคนสำคัญอย่าง  เพนนี มอร์ดอนต์ ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคได้ถึง 100 คน ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการเข้าชิงตำแหน่งดังกล่าว ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี  บอริส จอห์นสัน ก็ล้มเลิกความพยายามกลับเข้าบริหารประเทศอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่ากระแสต่อต้านในพรรคยังแรง และถ้าขืนดึงดันก็จะยิ่งทำให้พรรคแตกแยกเปล่าๆ

อดีตรัฐมนตรีคลังวัย 42 ปี ผู้นี้ถือเป็นนายกฯ ที่มีเชื้อสายอินเดียและนับถือศาสนาฮินดูคนแรกในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1812 และหากมองจากประวัติของเขาที่เพิ่งเข้าสู่สนามการเมืองได้เพียง 7 ปี ก็ถือว่าเป็นนักการเมืองที่ใช้เวลาสั้นที่สุดในการก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การที่ ซูนัค ลาออกจากคณะรัฐมนตรีของ จอห์นสัน เมื่อเดือนกรกฎาคม กระตุ้นให้บรรดารัฐมนตรีอีกหลายคนก่อกบฏด้วยการลาออกตาม จนสุดท้าย จอห์นสัน เองทนแรงกดดันไม่ไหวต้องยอมสละตำแหน่ง นำมาซึ่งการคัดเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ โดยในตอนนั้น ซูนัค เองก็ถือเป็นตัวเต็ง ทว่า ในที่สุดกลับต้องพ่ายให้แก่ ลิซ ทรัสส์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล ทรัสส์ กลับต้องเผชิญมรสุมการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อแผนลดภาษีครั้งมโหฬารในรอบ 50 ปีของเธอทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนหนัก ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่งสูงลิ่ว กระแสกดดันจากรอบด้านทำให้ ทรัสส์ ต้องยอมสละเก้าอี้นายกฯ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังจากทำงานอยู่ได้เพียงแค่ 44 วัน

ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะของ ซูนัค จึงนับว่าเป็นการพลิกผันหักมุมที่น่าตื่นเต้น และทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของอังกฤษภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน

ริชี ซูนัค อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของอังกฤษ และเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของอังกฤษในรอบ 210 ปี

ริชี ซูนัค เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 ณ พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 25 ต.ค. เพื่อรับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ
 ริชิ ซูนัค เป็นคนสัญชาติอังกฤษโดยกำเนิด เกิดที่เมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 1980 ในครอบครัวที่บิดามารดาเป็นชาวอินเดีย บรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายายเกิดที่รัฐปัญจาบในอินเดียยุคเมืองขึ้นอังกฤษ ก่อนถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานก่อสร้างทางรถไฟและสิ่งปลูกสร้างในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก 

หลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากแอฟริกาตะวันออกในทศวรรษ 1960 พ่อแม่ของ ซูนัค ซึ่งเกิดในเคนยาและแทนซาเนียจึงอพยพไปอังกฤษ โดย  ยัชวีร์ ซูนัค (Yashvir Sunak) ผู้เป็นบิดามีอาชีพแพทย์ทั่วไป ส่วนมารดาคือ อุษา ซูนัค (Usha Sunak)  เป็นเภสัชกร และมีกิจการร้านขายยาเป็นของตนเอง

ซูนัค ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตจากทั้งหมด 3 คนเข้าเรียนที่โรงเรียน Stroud School ในเมืองแฮมป์เชอร์ ก่อนจะย้ายไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ Winchester College ซึ่งที่นั่นเขาได้เป็นประธานนักเรียน (head boy) และยังเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนด้วย

หลังจบมัธยม ซูนัค ได้เข้าเรียนต่อด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐกิจ (PPE) และจบการศึกษาโดยคว้าปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจาก Lincoln College มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนคว้าทุนฟุลไบรท์ไปเรียนต่อปริญญาโท MBA ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นั่นเองที่เขาได้พบรักกับภรรยา อักษตา มูรติ (Akshata Murty)  บุตรสาวของมหาเศรษฐีนักธุรกิจ  “เอ็น อาร์ นารายณ์ มูรติ” (NR Narayana Murthy)  ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “สตีฟ จ็อบส์ แห่งอินเดีย” 

ซูนัค เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่โกลด์แมนแซคส์ในช่วงปี 2001-2004 ก่อนจะย้ายไปทำงานและเป็นหุ้นส่วนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่งจนถึงปี 2009 และในปี 2013-2015 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการของบริษัทด้านการลงทุน Catamaran Ventures ที่พ่อตาของเขาเป็นเจ้าของ

เส้นทางการเมืองของ ซูนัค เริ่มจากการเป็น ส.ส.ตัวแทนเมืองริชมอนด์ในปี 2015 ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, เลขาธิการกระทรวงการคลัง และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษในช่วงปี 2020-2022

หลังจากเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 ณ พระราชวังบักกิงแฮมเมื่อวันอังคาร (25) เพื่อรับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซูนัค ได้เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบดาวนิงสตรีท โดยยอมรับว่าขณะนี้อังกฤษกำลังเผชิญกับ  “วิกฤษเศรษฐกิจที่รุนแรงมาก”  พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลของเขาจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการฟื้นฟูเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

ซูนัค มอบหมายให้  เจเรมี ฮันท์  ทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังต่อไป ขณะที่ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีกะทรวงกลาโหม ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนตัวเช่นกัน

 อดีตนายกฯ ลิซ ทรัสส์ ได้กล่าวอวยพรให้ ซูนัค “ประสบความสำเร็จทุกเรื่อง” และย้ำว่าตัวเธอเองยังเชื่อมั่นว่าอังกฤษจำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ อย่างกล้าหาญ ขณะที่ ซูนัค ออกมาแถลงตอบกลับว่า แม้ ทรัสส์ จะทำทุกอย่าง “ด้วยเจตนาดี” และต้องการกระตุ้นการเติบโต ทว่ามาตรการลดภาษีของเธอเป็น “ข้อผิดพลาด” ที่ปฏิเสธไม่ได้ 

“และการที่ผมเองถูกเลือกขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้” เขากล่าว “รัฐบาลที่มีผมเป็นผู้นำจะไม่ปล่อยให้ชนรุ่นหลังต้องแบกรับภาระหนี้สินที่พวกเราเองก็แทบไม่มีปัญหาจ่าย”ว

ด้านอดีตนายกฯ จอห์นสัน ก็ออกมาประกาศ  “พร้อมสนับสนุน ซูนัค เต็มที่และด้วยความเต็มใจ”  แม้จะเคยกล่าวโทษอดีตรัฐมนตรีคลังผู้นี้ว่าเป็นหนึ่งในตัวการโค่นล้มรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคมก็ตาม
ซูนัคตอบกลับด้วยการกล่าวยกย่อง จอห์นสัน แต่ก็ไม่วายพาดพิงถึงเรื่องอื้อฉาวต่างๆ พร้อมรับปากว่ารัฐบาลของเขาจะสนับสนุนให้เกิด “ความซื่อสัตย์โปร่งใสและความเป็นมืออาชีพในทุกๆ ระดับ”

 ผู้นำรัฐบาลต่างชาติคนแรกที่ ซูนัค ต่อสายคุยด้วยคือประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน โดยเขายืนยันว่าอังกฤษจะยังคงมอบการสนับสนุน “อย่างแข็งขัน” ให้แก่เคียฟต่อไป ท่ามกลางปฏิบัติการรุกรานของรัสเซีย 

ผู้นำอังกฤษคนใหม่ยังได้พูดคุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ซึ่งเอ่ยชมการขึ้นสู่ตำแหน่งของ ซูนัค ว่าเป็นสิ่งที่  “ไม่เคยมีมาก่อน” และ “เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่” 

“ประธานาธิบดี ไบเดน บอกว่าสหราชอาณาจักรยังคงเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของอเมริกา และท่านนายกรัฐมนตรีก็เห็นพ้องว่าเราทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง” โฆษกทำเนียบดาวนิงสตรีท แถลง

ด้านทำเนียบขาวแถลงว่า ผู้นำทั้งสองได้เอ่ยย้ำถึง “ความสัมพันธ์พิเศษ” ระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษ และต่างให้คำมั่นว่าจะร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับโลก ตลอดจนให้การสนับสนุนยูเครนและยืนหยัดต่อต้านอิทธิพลจีน

ขณะเดียวกัน บรรยากาศในอินเดียเองก็เต็มไปด้วยความปลาบปลื้มยินดีเมื่อได้ทราบข่าวว่า ซูนัคซึ่งเป็นลูกหลานชาวอนุทวีปกำลังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในช่วงเทศกาลดิวาลี (Diwali) อีกทั้งยังประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 75 ปี ที่อินเดียหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วย
 
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้ทวีตข้อความยกย่องซูนัค ว่าเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศซึ่งกำลังเปลี่ยนจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์สู่ความเป็นหุ้นส่วนในยุคสมัยใหม่ พร้อมแสดงความคาดหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นต่างๆ ของโลก ตลอดจนยกระดับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและอื่นๆ ระหว่างอังกฤษกับอินเดีย 

แม้หลายฝ่ายจะร่วมแสดงความยินดีกับซูนัค แต่ทางด้านของพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านกลับมองว่า ซูนัค ไม่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนให้ขึ้นมาบริหารประเทศ และในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ล้มเหลวในการทำหน้าที่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้อังกฤษจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

ผลสำรวจของอิปซอสที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (24) พบว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวอังกฤษ 62% ต้องการให้จัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดภายในปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคมปี 2025 และหากฝ่ายค้านคิดจะกดดันให้รัฐบาลยอมยุบสภาก่อนครบวาระ ก็จำเป็นที่จะต้องดึงเสียง ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมมาร่วมสนับสนุนให้ได้หลายสิบคนจึงจะสำเร็จ ทว่าในขณะที่โพลสำนักต่างๆ บ่งชี้ตรงกันว่าเวลานี้พรรคแรงงานกำลังมีคะแนนนิยมพุ่งลิ่ว โอกาสที่พวก ส.ส.อนุรักษนิยมจะหันไปร่วมมือเพื่อจัดการเลือกตั้งในเร็ววันจึงเป็นไปได้ยากมาก

 ริชี ซูนัค ถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ณ บ้านหมายเลข 10 ถนนดาวนิง เมื่อวันที่ 26 ต.ค.

ริชี ซูนัค กับภรรยา “อักษตา มูรติ” และบุตรสาวทั้งสอง “กฤษณา” และ “อนุชกา”

ศิลปินชาวอินเดียในเมืองมุมไบวาดภาพนายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัค เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับผู้นำอังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย

หนังสือพิมพ์ในอังกฤษประโคมข่าวการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ริชี ซูนัค
- ปัญหาอยู่ที่ “ความรวย”

ริชี ซูนัค ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ร่ำรวยที่สุดเท่าที่อังกฤษเคยมีมา โดยสื่อซันเดย์ไทม์สรายงานว่าเขาและภรรยา อักษตา มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันไม่ต่ำกว่า 730 ล้านปอนด์ (ราว 32,000 ล้านบาท) ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดอันดับที่ 222 ของสหราชอาณาจักร

ที่มาของทรัพย์สินส่วนใหญ่เกิดจากการที่ มูรติ ถือหุ้น 0.9% ใน Infosys บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของอินเดียที่บิดาเธอเป็นเจ้าของ ซึ่งหุ้นเหล่านี้หากตีมูลค่าเป็นตัวเงินจะอยู่ที่ราวๆ 690 ล้านปอนด์ และทำให้ทั้งสองมีรายได้จากเงินปันผลหุ้นสูงถึง 11.6 ล้านปอนด์ในปีที่แล้ว

ในส่วนของทรัพย์สินอีก 40 ล้านปอนด์ที่เหลือ คาดว่าเป็นรายได้จากเมื่อครั้งที่ ซูนัค เคยเป็นหุ้นส่วนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง หรือไม่ก็ได้มาจากตอนที่เขาเป็นผู้อำนวยการบริษัท Catamaran Ventures ของพ่อตาเมื่อช่วงปี 2013-2015

ด้วยมูลค่าทรัพย์สินดังที่กล่าวมาทำให้ ซูนัค เป็นนายกรัฐมนตรีที่ร่ำรวยยิ่งกว่าสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลสที่ 3 ซึ่งทรงมีมูลค่าทรัพย์สินส่วนพระองค์ราว 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์

ชาวอังกฤษบางส่วนอดจะตั้งคำถามไม่ได้ว่า นายกรัฐมนตรีที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีเช่นนี้จะสามารถเข้าอกเข้าใจและแก้ปัญหาให้กับคนหาเช้ากินค่ำได้จริงหรือไม่? ซึ่ง ซูนัค เองก็ไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาแต่อย่างใด และเคยออกมาชี้แจงตอนที่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ส.ค. ว่า ถึงแม้เขาจะโชคดีที่มายืนอยู่ในจุดนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด

“ผมไม่ตัดสินคนที่เงินในบัญชี แต่ดูที่ตัวตนของพวกเขา และผมเชื่อว่าผู้คนก็น่าจะตัดสินผมจากการกระทำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้” ซูนัค ให้สัมภาษณ์กับ BBC Radio


กำลังโหลดความคิดเห็น