ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าว “นายกฯ ลุงตู่” - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณให้พรรคร่วมรัฐบาล “คว่ำร่างฯ กม. สุราก้าวหน้า” หรือ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังจะเข้าวาระพิจารณาวาระ 2 ในวันที่ 2 พ.ย. 2565 เนื่องด้วยกังวลปัญหาการต้มสุราเถื่อน รวมทั้งเกรงว่าการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพเหมือนผู้ผลิตแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่
กลายเป็นประเด็นร้อนทำให้ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบตั้งโต๊ะแถลงปฏิเสธกระแสข่าวลือกรณีดังกล่าว พร้อมย้ำชัดรัฐไม่คิดแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า คือการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ที่กำหนดให้บุคคลผู้ประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองต้องขออนุญาตต่ออธิบดีและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้การขออนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าสำหรับผู้ผลิตรายย่อยสามารถทำได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยหวังจะเปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปได้มีทางเลือก และพัฒนาต่อเป็นอาชีพ โดยไม่ต้องเจออุปสรรคเรื่องเงินทุนที่สูง
เพราะที่ผ่านมาหลักเกณฑ์การขออนุญาตเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตรายเล็ก อาทิ ผู้ขออนุญาตผลิตเบียร์ต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือแม้ว่ากฎหมายจะมีคำว่า “สุรากลั่นในชุมชน” แต่ผู้ขออนุญาตผลิตสุราชุมชนไม่ใช่ใครก็ได้ที่ผลิตขึ้นบริโภคกันเองในชุมชุน แต่ต้องเป็นสหกรณ์ที่จดทะเบียน หรือวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน หรือเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่จดทะเบียนแล้วเท่านั้น หมายความว่าคนทั่วไปไม่สามารถผลิตสุราขึ้นบริโภคกันเอง หรือแบ่งขายเล็กๆ น้อยๆ ได้เลย “ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” จึงเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคนตัวเล็กให้มีโอกาสแข่งขันในอุตสากหรรมน้ำเมาของไทย
ดังนั้น จึงถูกตั้งข้อสังเกตุว่าหากมีการคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่กำลังจะเข้าสู่สภาฯ ตีความได้เพียงอย่างเดียวคือรัฐต้องการให้มีการผูกขาดในลักษณะเดิมต่อไป
บทความเรื่อง “ปลดล็อกสุราให้เสรี : ส่องเส้นทางเศรษฐีของชาติเสรีสุรา” เผยแพร่ผ่าน ilaw.or.th ระบุตอนหนึ่งความว่าในต่างประเทศที่ไม่มีกฎหมายจำกัดการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนในประเทศไทย ทำให้เกิดบรรยากาศตลาดสุราเสรี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ตลาดคราฟต์เบียร์เกาหลีใต้เติบโตขึ้นถึง 3.3 พันล้านบาท คิดเป็นสองเท่าจากปี 2561 และเมื่อคิดเป็นเงินไทยคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10.3 พันล้านบาท ภายในปี 2566 ซึ่งการเติบโตดังกล่าวเกิดจากรัฐบาลเกาหลีใต้แก้ไขกฎหมายภาษีสุรา โดยยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าต้นทุน การผลิต ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การตลาด หรืออื่นๆ มาเป็นการเก็บภาษีจากปริมาณที่ขายได้แทน เมื่อภาษีน้อยลง ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถผลิตสินค้าแข่งขันกับรายใหญ่ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับโรงงานสุรา เปิดช่องสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีกำลังผลิตสามารถร่วมการผลิตกับโรงงานสุราของบริษัทใหญ่ได้ เป็นการพึ่งพากันระหว่างภาคเอกชน และทำให้ผู้ผลิตรายเล็กมีช่องทางในธุรกิจ นอกจากนี้ ประชาชนสามารถมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น
ประเทศเยอรมนี ซึ่งไม่มีกฎหมายควบคุมกำลังผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอัตราในการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มประเภทเบียร์ต่ำ อยู่ที่ประมาณ 4 - 8% ต่อขวด (ตกขวดละ 1-2 บาท) ทำให้เบียร์แทบจะถูกกว่าน้ำเปล่า
สำหรับเยอรมนี มีผู้ผลิตคราฟต์เบียร์กว่า 900 ราย มีโรงงานผลิตเบียร์ 1,500 แห่ง จัดจำหน่ายเบียร์ 5,500 แบรนด์ทั่วประเทศและทั่วโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2563 อยู่ที่ 37,500 ล้านบาท ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีการเก็บภาษีเบียร์ตามอัตรามูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 48 จะตกอยู่ที่ประมาณ 18 บาทต่อขวด ยังไม่รวมกับการคิดภาษีตามปริมาณและดีกรีที่เกินกำหนด รวมแล้วเบียร์ในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีขวดละประมาณ 20-30 บาท
จากรายงานการศึกษา “อุตสาหกรรมเบียร์ต่อเศรษฐกิจยุโรปของประเทศเยอรมนี” (The Contribution made by beer to the European Economy) ปี 2563 โดย The Brewers of Europe ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของรายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลเยอรมนีเกิดจากอุตสาหกรรมเบียร์ทั้งในด้าน การค้าและการซื้อขายเบียร์ในอุตสาหกรรมการบริการ โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 6.5 พันล้านยูโร (ราว 236,502 ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากสำหรับรายได้ในประเทศ เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมเบียร์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ประเทศเวียดนาม ตลาดคราฟต์เบียร์เวียดนามเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในประเทศ เป็นกระแสในตลาดมานานเกือบทศวรรษ ภายใต้กฎหมายการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและมีอัตราการเก็บภาษีตามมูลค่า โดยจัดเก็บภาษีจากคราฟต์เบียร์ 65% เทียบเท่ากับเบียร์ทั่วไป ทำให้ตลาดคราฟต์เบียร์ในประเทศของเวียดนามเติบโตมาตั้งแต่ปี 2557 ทั้งการบริการในท้องถิ่นและต่างประเทศ อีกทั้งยังเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาผลิตและจำหน่ายเบียร์จนทำให้ตลาดเบียร์ขยายมากขึ้นไปอีกในปี 2561
มีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตต่อปีของการลงทุน (CAGR) ในตลาดเบียร์เวียดนามจะเติบโตประมาณ 6.44% ระหว่างปี 2564 -2568 และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 9.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2568
อย่างไรก็ดี หาก “ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยตลาดน้ำเมาเมืองไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ในแง่มุมของนักกฎหมายที่มีต่อกฎหมายสุราไทย รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าปัจจุบันสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ถูกผูกขาดการผลิตอยู่กับทุนรายใหญ่เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้เพียงผู้ที่มีกำลังการผลิตปริมาณมากเท่านั้นที่จะสามารถขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
รศ.ดร.ปกป้อง อธิบายว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสุราในปัจจุบันมี 3 ส่วน ส่วนที่ 1 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่ดูแลโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ว่าด้วยเรื่องการขออนุญาตผลิตหรือมีเครื่องกลั่น การขออนุญาตนำเข้า การขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเรียกเก็บภาษี ส่วนที่ 2 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมมิให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนสร้างปัญหาให้สังคม จึงควบคุมการกำหนดคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์ การห้ามโฆษณา ห้ามจำหน่ายในบางสถานที่หรือบางเวลา ห้ามขายกับเด็ก ห้ามส่งเสริมการขาย ห้ามดื่มในบางสถานที่
และส่วนที่ 3 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กฎหมายฉบับนี้ว่าด้วยเรื่องกฎจราจรทั่วไป และมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของการลงโทษผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วไปขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งจะถูกลงโทษตามกฎหมายจราจรทางบก ที่เราเคยได้ยินว่าดื่มแล้วไม่ขับ
ในส่วนของ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภานั้น มีเป้าหมายให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถขออนุญาตผลิต ขายสุราและเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะในปัจจุบัน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้เปิดช่องให้เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีปริมาณผลิตจำนวนมากเท่านั้น ที่จะสามารถขออนุญาตในการผลิต จำหน่ายสุรา และเสียภาษีได้
รศ.ดร.ปกป้อง ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าที่พิจารณาในสภานี้เป็นการพูดถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดื่มแล้วไม่ขับขี่ ซึ่งมีกฎหมายใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะเป็นกลไกเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขออนุญาตผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเป็นการเพิ่มรายได้ทางภาษีให้กับรัฐบาลไทย
ประเด็นสำคัญของ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ไม่ใช่เพียงเพื่ออนุญาตให้ประชาชนสามารถผลิตสุราไว้บริโภคในครัวเรือนได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายสำหรับการผลิตสุราเพื่อจำหน่ายสำหรับผู้ผลิตรายย่อย
ท้ายที่สุด การผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" จะผ่านหรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง