xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องเทรนด์ซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต" ปลูกต้นไม้ 58 พันธุ์ มีเงินเหลือเก็บ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้สำหรับ  “ซื้อขายคาร์บอนเครดิต”  ที่มีโต้โผ้ใหญ่  “นายวราวุธ ศิลปอาชา”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาชี้ช่องให้คนไทยปลูกต้นไม้ 58 พันธุ์ ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งราคา ณ ปัจจุบันขายของคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ แถมแนวโน้มตลาดโตไม่หยุดมูลค่าพุ่ง 7.5 แสนล้านในปี 2573

ทั้งนี้ ประชาชนชนทั่วไปสามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ด้วยการ  “ปลูกต้นไม้” หรือ “ปลูกป่าเพิ่มคาร์บอนเครดิต”  โดยพันธุ์ไม้ที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต ประกอบด้วย 58 พันธุ์ ดังนี้   1.ตะเคียนทอ1 2. ตะเคียนหิน 3.ตะเคียนชันตาแมว 4.ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) 5. สะเดา 6. สะเดาเทียม 7.ตะกู 8. ยมหิน 9.ยมหอม 10. นางพญาเสือโคร่ง 11. นนทรี 12. สัตบรรณตีนเป็ดทะเล 13. พฤกษ์ 14. ปีบ 15. ตะแบกนา 16. เสลา 17. อินทนิลน้ำ 18. ตะแบกเลือด 19. นากบุด 20. ไม้สัก 21.พะยูง 22. ชิงชัน 23.กระซิก 24.กระพี้เขาควาย 25.สาธร 26.แดง 27.ประดู่ป่า 28. ประดู่บ้าน 29.มะค่าโมง 30.มะค่าแต้ 31.เคี่ยม 32 .เคี่ยมะนอ ง33.เต็ ง34.รัง 35.พะยอม 36.ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร – จำปีป่า) 37.จำปีถิ่นไทย (จำปีดง,จำปีแขก,จำปีเพชร) 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กะทังใบใหญ่ 50. หลุมพอ 51. กฤษณา 52. ไม้หอม 53 .เทพทาโร 54. ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56. ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน และ 58. มะขาม 

ที่น่าสนใจคือ ในปี 2565  “มูลค่าการค้าคาร์บอนเครดิต”  โตขึ้นถึงจุด 120.3 บาท/ตัน โดยเติบโตขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมูลค่าอยู่เพียงแค่ 21.37 บาท/ตันเท่านั้น

อ้างอิงนิยามคำว่า  “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ของ  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง หรือกักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน และนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ

จุดมุ่งหมายของการสร้างคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เกิดการซื้อและขายได้ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ต้องหาวิธีการชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกมา หนึ่งในวิธีการจัดการคือ การซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ผลิต โดยสามารถหาซื้อเพิ่มเติมจากตลาดคาร์บอนเครดิต ที่เป็นแหล่งรวบรวมผู้ขาย ที่สามารถนำเอาเครดิตส่วนเกินไปเสนอขายได้

ในประเทศไทย ผู้ขายคาร์บอนเครดิตที่มาจากภาคป่าไม้ บางส่วนเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ดังนั้น จึงเกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่จะช่วยเหลือชุมชนให้สามารถได้รับผลตอบแทนจากการดูแลรักษาพื้นที่ป่า ไม่ให้เกิดไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่า

กล่าวสำหรับความเป็นมาของคาร์บอนเครดิตสืบเนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อน องค์การสหประชาชาติ ได้ดำเนินการจัดการประชุมและร่างสัญญาเพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมมือกันทำตามนโยบายแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และมีนโยบายที่จะใช้กลไกทางการตลาดเพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น กระทั่ง เป็นจุดเริ่มต้นซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ขณะที่ในภาคธุรกิจ คาร์บอนเครดิตกำลังมีเข้ามามีความสำคัญ เปรียบเป็นการให้โควตาภาคอุตสาหกรรมในการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตเพิ่มจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่ได้รับ สามารถทำการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตเป็นการทดแทนได้ กล่าวคือ คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามสมควร

 ภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตโลกในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 12,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท ในปี 2573 

 นายณัฐพร ศรีทอง  นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโลกจะเติบโตสูงถึง 15 เท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า และ 100 เท่าตัวเมื่อมองไปถึงปี 2593 โดยตลาดมี 2 รูปแบบ คือ 1) ภาคบังคับ หรือรู้จักในชื่อ “Emission Trading Scheme (ETS)” 2) ภาคสมัครใจ โดยผู้ประกอบการที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกจะซื้อคาร์บอนเครดิตทดแทนการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง ส่วนผู้ขายจะเป็นองค์กรอื่นที่ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามมาตรฐาน เช่น Verified Carbon Standard (VCS/VERRA) และ Gold Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก หรือมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)


สำหรับประเทศไทย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศเป้าหมายประเทศไทย ระหว่างการร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ว่าไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608

โดยนโยบายสำคัญที่รัฐบาลเร่งรัดขับเคลื่อน คือการลดปล่อยคาร์บอน และการสร้างกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็น โดยขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วางแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเพื่อเป็นแนวดำเนินงานสำหรับการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ในประเทศและระหว่างประเทศ ตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์โดยหน่วยงานรัฐ

สาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการเพื่อได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต ผู้ประสงค์ซื้อขาย ทั้งหมดจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. การกำหนดขั้นตอนในทางปฏิบัติสำหรับการใช้คาร์บอนดเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ในประเทศ อาทิ การดำเนินการของศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ขั้นตอนการซื้อขายระหว่างผู้พัฒนาโครงการ ผู้ซื้อ และผู้ใช้คาร์บอนเครดิต ส่วนกรณีใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ได้กำหนดประเภท ลักษณะ โครงการที่ข่ายที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้คาร์บอนเครดิต การออกหนังสืออนุญาต ตลอดจนการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินการเตรียมขายคาร์บอนเครดิตจากป่าในพื้นที่ของภาครัฐ โดยหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อาทิ กรมป่าไม้ (ปม.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และภาคเอกชน ขับเคลื่อนดูแลเรื่องป่าชุมชน จัดการคาร์บอนเครดิตในป่า

 นายวราวุธ ศิลปะอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าภาคป่าไม้ มีบทบาทสำคัญต่อการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก การอนุรักษ์และปลูกป่าจึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกักเก็บคาร์บอน บรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้ในทุกปีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ มีการพัฒนาผ่านโครงการโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เรียกย่อว่า T-VER ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขั้นตอนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาโครงการ T-VER ยื่นมายัง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อบก. เพื่อขอขึ้นทะเบียนหรือรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกรายละเอียดขั้นตอนการพัฒนาโครการ T-VER ในภาพรวม

โดยรัฐบาลได้มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% จะเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งผลักดันการค้าคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนสามารถร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในชุมชนได้

สำหรับทิศทางราคาของคาร์บอนเครดิต วิเคราะห์จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี จนถึงปีปัจจุบัน พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตดีดตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถึง 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ บวกกับทิศทางด้านการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก ถือว่ามีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ตามความต้องการของตลาดโลก

นอกจากนี้  นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าแนวทางการขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต จะสร้างประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและลดการตั้งกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป ตลอดจนสร้างรายได้และประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานกำลังเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายต่อไป

 นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ประสานกับคณะทำงานกระทรวงการคลังเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการการส่งเสริมด้านภาษีในรายละเอียดต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมถึง การยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป

โดย อบก. อยู่ระหว่างการพัฒนามาตการและแพลตฟอร์มระบบการประเมินคาร์บอนเครดิตที่เป็นมาตรฐานสากลและสามารถนำไปใช้การหักล้างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ Carbon Footprint ที่มีมาตรฐานในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการพัฒนา Carbon Credits Registry Systems ที่เป็นมาตรฐานสากลและการร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยน Carbon Credit โดยทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม “FTIX” เป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก.


กำลังโหลดความคิดเห็น