"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
แต่เดิมภาคใต้เป็นฐานอันแข็งแกร่งที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บางยุคถึงขนาดกวาดที่นั่ง ส.ส.ได้เกือบทั้งหมด แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมีการต่อสู้อย่างเข้มข้นระหว่าง ปชป.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ปชป. สูญเสียที่นั่งเป็นจำนวนมากแก่ พปชร. และภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม หลังเลือกตั้งทั้งสามพรรคจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ทิ้งความขัดแย้งในสนามเลือกตั้งไปชั่วคราว ทว่าการแข่งขันช่วงชิงคะแนนนิยมก็ยังคงดำเนินต่อไป และทวีความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่กำลังคืบคลานเข้ามา
ในช่วงหลัง 2 ปีแรกของการเป็นรัฐบาลระหว่างปี 2562-2564 คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มกระเตื้องขึ้นในปี 2565 ในทางกลับกัน คะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ค่อนข้างสูงตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 แต่กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2565 ด้านพรรคภูมิใจไทย แม้จะได้รับลือกส.ส.ในเขตเลือกตั้ง แต่คะแนนนิยมของพรรคต่ำมาก แต่เริ่มขยับสูงขึ้นขึ้นในปี 2565
ความพ่ายแพ้ในภาพรวมของการเลือกตั้งในปี 2562 ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียตำแหน่งกลุ่มนำในการแข่งขันเลือกตั้งในอดีต จากพรรคขนาดใหญ่ลดลงเป็นพรรคขนาดกลาง สาเหตุประการหนึ่งแห่งความพ่ายแพ้ของ ปชป. คือ การปรากฏตัวของ พปชร. ในสนามเลือกตั้ง เพราะทั้งสองพรรคมีฐานความนิยมจากผู้เลือกตั้งทับซ้อน แต่ในช่วงนั้นพลังดึงดูดใจของผู้นำและพลังทรัพยากรของ พปชร. มีมากกว่ากว่า ปชป. ผู้เลือกตั้งจำนวนมากที่เคยสนับสนุน ปชป. จึงหันไปสนับสนุน พปชร.
กลางปี 2564 คะแนนนิยมของ ปชป. ตกต่ำลงจนกลายเป็นพรรคลำดับสองรองจาก พปชร. ได้รับการสนับสนุนจากผู้เลือกตั้งร้อยละ 16.12 แต่ในปีถัดมา คะแนนนิยมของ ปชป. ก็ขยับตัวเพิ่มขึ้น และกลายมาเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 23.39 ในการสำรวจคะแนนนิยมรายไตรมาสเดือนกันยายนของนิด้าโพล และเพิ่มไปเป็นร้อยละ 27. 49 ในการสำรวจ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ” เดือนตุลาคม 2565 ของนิด้าโพล ขณะที่สถานการณ์ของ พปชร. มีทิศทางตรงข้ามกับ ปชป. นั่นคือ เกิดภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง ในกลางปี 2564 จากที่เคยได้ร้อยละ 17.22 ซึ่งสูงเป็นลำดับหนึ่ง ตกลงไปสู่ระดับร้อยละ 7.89 ในเดือนกันยายน 2565 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 12.09 ในเดือนตลาคม สถานะเปลี่ยนจากพรรคลำดับหนึ่งกลายเป็นพรรคลำดับสามในสนามความนิยม
การเปลี่ยนแปลงความนิยมของพรรคการเมืองในซีกพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ พรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยใช้กลยุทธ์เจาะพื้นที่เฉพาะบางเขตเลือกตั้ง ที่ความนิยมส่วนบุคคลของผู้สมัครบางคนมีสูง ทำให้ได้ ส.ส.มาจำนวนหนึ่ง แต่ในภาพรวมพรรคมีคะแนนนิยมต่ำ และในตารางสำรวจของนิด้าโพล พรรคภูมิใจไทยมักได้ต่ำกว่าร้อยละ 1 เสมอ แต่ในปลายปี 2565 สถานการณ์ของพรรคภูมิใจไทยเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยในการสำรวจเดือนกันยายน ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.32 และในดือนตุลาคม ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 7.45 การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีที่ประสบความสำเร็จในเชิงปฏิบัติเมื่อกลางปี 2565 เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการเพิ่มคะแนนนิยมของพรรคภูมิใจไทยในภาคใต้
กล่าวโดยสรุป แนวโน้มของสถานการณ์ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรคในศึกเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในปี 2566 นั้น สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยกำลังดีขึ้น แต่พรรคพลังประชารัฐกำลังแย่ลง อย่างไรก็ตาม แม้พรรค ปชป.จะมีคะแนนนิยมนำพรรคการเมืองอื่น ๆ แต่ก็ยังนำไม่มากนัก ได้คะแนนเพียงประมาณหนึ่งในสามของผู้เลือกตั้ง หรือยังได้คะแนนนิยมไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ของผู้เลือกตั้ง นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งภาคใต้มีสถานะเป็นพื้นที่ช่วงชิง ที่พรรคการเมืองอื่น ๆ สามารถแข่งขันและมีโอกาสชนะได้โดยเฉพาะในระดับเขตเลือกตั้ง
ในอีกด้านหนึ่งสถานการณ์ของพรรคการเมืองซีกฝ่ายค้านอันได้แก่ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และประชาชาติก็มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.76 ในปี 2564 เป็นร้อยละ15.79 และ 14.94 ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ทีเดียว และกลายเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมมากเป็นลำดับสองรองจาก ปชป. ปรากฎการณ์นี้น่าสนใจมาก ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้คือ ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งทำให้ผู้เลือกตั้งภาคใต้จำนวนมากสิ้นหวังต่อรัฐบาล และอารมณ์ความรู้สึกที่เคยไม่ชอบนายทักษิณ ชินวัตร ที่เคยเข้มข้นในอดีตก็เริ่มเจือจางลง และเริ่มเปิดรับพรรคเพื่อไทยมากขึ้น
ขณะที่พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคจัดตั้งขึ้นใหม่และแสดงจุดยืนในการเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางเสรีนิยม ได้รับคะแนนนิยมไม่น้อยจากผู้เลือกตั้งภาคใต้ ในปี 2564 ได้ ร้อยละ 8.42 และในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.53 และ 11.84 ตามลำดับ พรรคเสรีรวมไทยก็ได้รับคะแนนนิยมในทิศทางที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในปี 2564 ได้รับร้อยละ 2.2 และในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.63 และ 3.1 ตามลำดับ อีกพรรคหนึ่งคือพรรคประชาชาติ ซึ่งในการสำรวจภาครวมปี 2564 คะแนนนิยมน้อยมากจึงไม่ปรากฏในตารางคะแนนนิยม แต่ในการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2565 พรรคประชาชาติได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 3.6
กล่าวได้ว่าคะแนนนิยมของพรรคร่วมฝ่ายค้านในภาคใต้มีทิศทางในเชิงบวก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้านพรรคก้าวไกล เสรีรวมไทย และประชาชาติก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่มากดังพรรคเพื่อไทย การที่คะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นทำให้ความเข้มข้นในการแข่งขันของสนามเลือกตั้งภาคใต้ในปี 2565 เพิ่มขึ้นทั้งในระดับ ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง และส.ส.บัญชีรายชื่อ
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทย และชายแดน พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมมากที่สุดหรือร้อยละ 30.53 ในกลุ่มจังหวัดอ่าวไทย รองลงมาได้ร้อยละ 25.50 ในกลุ่มชายแดน และน้อยที่สุดหรือร้อยละ 22.86 ในกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ซึ่งมีนัยว่ากลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ โอกาสที่พรรคการเมืองอื่นประสบชัยชนะมีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยซึ่งได้คะแนนนิยมร้อยละ 16.53 และพรรคก้าวไกลก็มีคะแนนนิยมอยู่ในระดับ 13.67 ทั้งสองพรรคมีคะแนนนิยมต่ำกว่าประชาธิปัตย์ไม่มากนัก และหากรวมคะแนนนิยมของสองพรรคนี้จะเห็นได้ว่า มีมากกว่าประชาธิปัตย์อยู่เล็กน้อย กล่าวได้ว่า พื้นที่จังหวัดฝั่งอันดามันเป็นพื้นที่เสี่ยงมากที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง
จังหวัดในฝั่งอันดามันที่เสี่ยงมากที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์คือ จังหวัดระนอง ซึ่งคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยสูงกว่าพรรค ปชป. เพื่อไทยมีร้อยละ 23.08 ขณะที่ ปชป.มีร้อยละ 20.51 เป็นรองอยู่เล็กน้อย และคู่แข่งที่น่ากลัวอีกพรรคคือ ภูมิใจไทย ซึ่งมีคะแนนนิยมร้อยละ 15.38
ถัดมาเป็นจังหวัดภูเก็ต พรรค ปชป.มีคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 13.79 ซึ่งเท่ากับ พรรคก้าวไกลที่ได้ร้อยละ 13.79 เหมือนกัน ส่วนพรรคเพื่อไทยก็มีคะแนนนิยมร้อยละ 11.49 ตามมาอย่างใกล้ชิดทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้เลือกตั้งในจังหวัดนี้ร้อยละ 40.23 ยังไม่ตัดสินใจว่าเลือกพรรคการเมืองใด คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ภูเก็ตจะเป็นสมรภูมิที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดที่สุดสมรภูมิหนึ่งในภาคใต้ทีเดียว
จังหวัดเสี่ยงต่อมาของพรรคประชาธิปัตย์คือจังหวัดสตูล ประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเท่ากันคือร้อยละ 17.91 ถัดมาเป็นพรรคภูมิใจไทยกับพรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนนิยมเท่ากันคือร้อยละ 13.43 ด้านจังหวัดพังงา ปชป. ได้ร้อยละ 22.41 และพรรคก้าวไกลตามมาอย่างใกล้ชิดคือ ร้อยละ 20.69 ส่วนจังหวัดตรังของประธานชวน หลีกภัย ก็ดูน่าห่วงไม่น้อยทีเดียว แม้ว่า ปชป. ได้คะแนนนิยมมากที่สุดหรือร้อยละ 25.71 แต่พรรคเพื่อไทยก็ตามแบบจ่อติด หรือร้อยละ 19.29 พรรคก้าวไกลก็ดูน่ากลัวไม่น้อยทีเดียว มีคะแนนนิยมร้อยละ 16.43 จังหวัดฝั่งอันดามันที่ดูน่าจะปลอดภัยต่อประชาธิปัตย์มากที่สุดคือ จังหวัดกระบี่ ซึ่งพรรค ปชป. มีคะแนนนิยมร้อยละ 31.31 นำพรรคที่ภูมิใจไทยที่ได้คะแนนนิยมร้อยละ 19.19 และ พรรคเพื่อไทยที่ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 17.17 อยู่ไม่น้อยทีเดียว
สำหรับจังหวัดฝั่งอ่าวไทย เป็นกลุ่มจังหวัดที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนมากปชป. นำค่อนข้างห่าง แต่บางจังหวัดก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย คะแนนนิยมที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดฝั่งอ่าวไทยเรียงลำดับจากสูงมาต่ำคือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง สำหรับคู่แข่งที่สำคัญของ ปชป.ในแต่ละจังหวัดดูได้จากตารางที่ 3
สำหรับจังหวัดชายแดน พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมมากกว่าพรรคอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนพรรคการเมืองที่มีสมรรถนะในการแข่งขันสูงในจังหวัดชายแดนคือ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ และประชาชาติ ลำดับสถานภาพการแข่งขันของพรรคการเมืองในแต่ละจังหวัดแสดงในตารางที่ 4
การเลือกตั้งปี 2566 ในจังหวัดภาคใต้มีแนวโน้มเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงระหว่างพรรคการเมือง 4-5 พรรค โอกาสที่พรรคการเมืองใดจะกวาดที่นั่ง ส.ส. แบบเหมาภาคดังในอดีตคงยากที่จะเกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มกระจัดกระจายมากขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงมากที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลจะสามารถปักธง ส.ส. เขต ในภาคใต้ได้ โอกาสมากที่สุดของเพื่อไทยอยู่ที่จังหวัดระนอง ส่วนของก้าวไกลอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส และไม่เพียงแต่ในสองจังหวัดดังที่กล่าวมาเท่านั้น จังหวัดอื่น ๆ อีกบางจังหวัด พรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ก็มีโอกาสที่ประสบชัยชนะได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในจังหวัดฝั่งอันดามัน และจังหวัดชายแดน