xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตรวจสัญญาณชีพวงการสิ่งพิมพ์ ส่องตลาดหนังสือ 1.25 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ปี 2565 มูลค่าภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมหนังสือตั้งแต่ ม.ค. - ส.ค.ลดลงเหลือเพียง 12,500 ล้านบาท จากที่สูงสุดเกือบ 30,000 ล้านบาท เมื่อปี 2557 ซึ่งคาดว่าตลอดปี 2565 มูลค่าตลาดจะแตะถึง 15,000 ล้านบาทได้  
ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เผยมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือปี 2557 อยู่ที่ 29,300 ล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่ 27,900 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 27,100 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 23,900 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ปี 2562 อยู่ที่ 15,900 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 12,500 ล้านบาท และปี 2564 อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือของไทยที่เคยพุ่งไปถึง 30,000 ล้านบาท ในปี 2557 เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มูลค่าตลาดเหลืออยู่เพียง 12,500 ล้านบาท อาจเป็นเพราะโลกยุคดิจิทัลดิสรัปต์ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งส่งผลต่อจำนวนร้านหนังสือที่เคยมีทั่วประเทศถึง 2,483 ร้าน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 800 ร้านเท่านั้น

ในส่วนของหนังสือเล่มยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แม้จำนวนหนังสือใหม่ลดหลั่นลงบ้าง โดยก่อนสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยมีการพิมพ์หนังสือออกใหม่ปีละประมาณ 20,000 ปก ในปี 2560 มีหนังสือออกใหม่จำนวน 19,454 ปก ปี 2561 จำนวน 20,542 ปก ปี 2562 จำนวน 19,614 ปก ปี 2563 จำนวน 17,911 ปก และปี 2564 จำนวน 18,291 ปก

อย่างไรก็ตาม งานหนังสือระดับชาติ “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022)” ระหว่างวันที่ 12 - 23 ต.ค. 2565 ที่ได้กลับมาจัดงาน ณ สถานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง หลังปิดปรับปรุงไปตั้งแต่ปี 2562 ได้รับกระแสตอบรับจากบรรดานักอ่านเป็นอย่างมาก โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ประมาณ 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เทียบเคียบสถิติงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 ปี 2564 สร้างยอดขายรวมมากกว่า 200 ล้าน

ตามทราบกันว่าสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกดิสรัปชั่นในยุคดิจิทัล กับสถานการณ์หลังโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ร้านหนังสือจำนวนไม่น้อยที่ทยอยปิดตัว ขณะที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ปรับตัวขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้ของคนทำหนังสือลดลง และโอกาสในการอยู่รอดยาก

 ปี 2551 ประเทศไทยมีร้านหนังสือทั่วประเทศไทยมากถึง 2,483 ร้าน ทว่า ในอีก 10 ปีต่อมาลดลงเหลือเพียง 566 ร้าน ขณะที่ในปี 2565 ร้านหนังสือเพิ่มจำนวนขึ้นมาเป็น 800 ร้าน เรียกว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาบ้าง เฉกเช่นเดียวกับรายได้ของ 3 ร้านหนังสือหลัก อย่างซีเอ็ด บีทูเอส และนายอินทร์ ก็มีรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง”

ตามข้อมูลเปิดเผยว่า ประเภทหนังสือที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ หนังสือประเภทการ์ตูน นิยายแปล และหนังสือเด็กและเยาวชน ในขณะที่หนังสือประเภทที่มีการผลิตลดลงเป็นอย่างมาก ได้แก่ คู่มือเรียน นิยายไทย และบริหารธุรกิจ ซึ่งหมวดหนังสือที่มียอดขายสูงที่สุด คือ หมวดนวนิยาย หมวดคู่มือเรียนและคู่มือสอบ หมวดพัฒนาตนเอง หมวดบริหารธุรกิจ และหมวดการ์ตูน เรียงตามลำดับ

สำนักพิมพ์ที่ได้ผลิตหนังสือออกมาสู่ตลาดมากที่สุดอันดับ 1 คือ บริษัท เอสเอ็มเอ็ม พลัส จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 734 ปก อันดับ 2 บริษัท เพชรประกาย จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 675 ปก อันดับ 3 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 362 ปก อันดับ 4 บริษัท ไอดีซี พรีเมียร์ จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 235 ปก และอันดับ 5 บริษัท คาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 202 ปก

สำนักพิมพ์ที่มีหนังสือติดอันดับขายดีมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท บิบลิโอ จำกัด 4. บริษัท คาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด และ 5. บริษัท เอสเอ็มเอ็ม พลัส จำกัด

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ต้องปรับตัวสู่การจำหน่ายหนังสือบนโลกออนไลน์มากขึ้น เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้คงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มออนไลน์อาจยังไม่ตอบโจทย์สำนักพิมพ์ในด้านของยอดขายและไม่สามารถมอบประสบการณ์ให้นักอ่านได้อย่างเต็มที่เหมือนอย่างงานรูปแบบออนกราวนด์

ทั้งนี้ โต้โผใหญ่อย่าง  “สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย”  ยังคงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อย่างขยันขันแข็ง ล่าสุดเปิดม่าน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 หรือ Book Expo Thailand 2022 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Booktopia : มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง” ระหว่างวันที่ 12 - 23 ต.ค. 2565 ซึ่งการกลับมายังสถานที่อันคุ้นเคยอย่างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในครั้งนี้ ท่ามกลางกระแสตอบรับจากนักอ่านทั่วสารทิศดีเยี่ยม

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ประมาณ 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เทียบเคียบสถิตงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 ปี 2564 สร้างยอดขายรวมมากกว่า 200 ล้าน

ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เปิดเผยทิศทางของอุตสาหกรรมในธุรกิจสำนักพิมพ์ไทยหลังการฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด-19 ภาพรวมธุรกิจหนังสือปี 2564 เติบโตจากออนไลน์ประมาณร้อยละ 20 โดยตัวเลขที่เติบโตมาจาก Market Place เช่น Shopee และ Lazada ในขณะที่กลุ่มของร้านหนังสือและร้านอิสระกลับได้รับผลกระทบจากการที่ Market place เติบโตอย่างเห็นได้ชัด มูลค่ายอดขายโดยรวมของธุรกิจหนังสืออยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ร้านเชนสโตร์มากกว่าร้อยละ 50

กลุ่ม Market place มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับกลุ่มหนังสือประเภท E-Book ก็เติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน โดยผู้ที่มีสัดส่วนการขายอันดับหนึ่งคือ MEB ในขณะที่กลุ่มของร้านหนังสือมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้สามารถแข่งขันอย่างเท่าทัน โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการทำแอพพลิเคชั่น E-Library เพื่อสนับสนุนห้องสมุดของโรงเรียน อีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีหลังคือกลุ่มนักเขียนอิสระที่มีชื่อเสียงมาเปิดเพจทำหนังสือขายเอง และมีวิธีการโปรโมทตัวเองผ่านช่องทาง Social Media ซึ่งส่งผลกระทบกับหน้าร้านไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในปี 2565 นี้จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเรื่องการขายหนังสือ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2564

 สำหรับหมวดหนังสือที่คาดว่าจะขายดีในปี 2565 ได้แก่ หมวดนวนิยาย หมวดพัฒนาตนเอง หมวดคู่มือเรียนและคู่มือสอบ หมวดบริหารธุรกิจ และหมวดการ์ตูน เช่นเดียวกับปี 2564 ทั้งนี้ยังมีหนังสืออีกหลายหมวดที่น่าจับตามองว่าจะมีการเติบโตมากขึ้น ได้แก่ หมวดเด็กและพ่อแม่ หมวดทำสวน หมวดสุขภาพ และหมวดประวัติศาสตร์และการเมือง 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ราคากระดาษสูงขึ้น ดังนั้น 1 - 2 ปีต่อจากนี้มีแนวโน้มว่าหนังสืออาจจะมีราคาสูงขึ้นอีก ประกอบกับจำนวนการผลิตที่ลดน้อยลง ทำให้ต้นทุนต่อเล่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จึงยังต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบบูรณาการทั้งระบบ โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐ

สำหรับมูลค่าของอุตสาหกรรมหนังสือลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 นำมาซึ่งคำถามของผู้คนในแวดวงหนังสือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้จะดำเนินไป แต่ยังมีอีกหนึ่งบริษัทที่สวนกระแส คือ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวม 998,639,000 บาท ทั้งนี้ รายได้ของอมรินทร์ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ อยู่ที่ 572,047,000 บาท ธุรกิจสื่อโทรทัศน์มีรายได้ 351,104,000 บาท และธุรกิจจัดแสดงงานและสื่อออนไลน์ มีรายได้ 204,429,000 บาท

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมหนังสือในไทยยังรอคอยการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อปรับตัวอยู่ได้ในทุกสมัยของการเปลี่ยนผ่าน หากเทียบกับหนังสือในต่างประเทศ รัฐบาลของหลายประเทศให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งสนับสนุนผู้ผลิตหนังสือรายย่อย หรือผู้ผลิตหนังสืออิสระ เช่น แคนาดา รัฐบาลจะจัดสรรเงินทุนสนับสนุนสำนักพิมพ์ที่เปิดใหม่, สวีเดน ผู้ประกอบการธุรกิจหนังสือจะได้รับอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป, ฝรั่งเศส สำนักพิมพ์อิสระที่ต้องการเงินทุนในโครงการที่ใช้งบประมาณสูง สามารถขอกู้เงินแบบปลอดดอกเบี้ยจากศูนย์หนังสือแห่งชาติฝรั่งเศสได้ และสิ่งที่ผู้ผลิตหนังสือต้องทำตามเงื่อนไขคือ ผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ เช่น วรรณกรรม วรรณกรรมภาษาถิ่น วิชาการ เป็นต้น

หรือหมายความว่า อุตสาหกรรมหนังสือของไทยจะอยู่รอดได้หรือไม่ กลไกของรัฐเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทา’

 ขณะที่ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น “world book capital” หรือ “เมืองหนังสือโลก” ตั้งแต่ปี 2556 ทว่า เกือบทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีคำว่าว่า “กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกแล้วจริงๆ หรือยัง? แต่ที่แน่ๆ คือ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมเดินหน้าผลักดัน กทม. เป็นเมืองแห่งการอ่าน โดยระบุว่าประเทศที่มีพลเมืองมีนิสัยรักการอ่าน จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อการพัฒนาบ้านเมืองให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว 


กำลังโหลดความคิดเห็น