ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ขรมหลังจาก “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ประกาศปรับขั้นตอนการฝากเงินสดผ่านตู้ ATM หรือที่เรียกว่าตู้รับฝากเงินสดอัตโนมัติ CDM/ADM ต้องมีการยืนยันตัวตนผ่าน “บัตรเดบิต – บัตรเครดิต” โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เพื่อป้องกัน “การฟอกเงิน” ตามแนวทางของ “สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)”
เพราะในยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless) เทคโนโลยีทางการเงินช่วยลดขั้นตอนลดเวลาในการทำธุรกรรม รวมทั้งลดจำนวนบัตรเดบิตในกระเป๋า สามารถใช้แอปฯ ธนาคารต่างๆ เบิกเงินสดผ่านตู้ ATM ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีบัตรสำหรับกดเงิน
แต่หลังจากนี้ การฝากเงินสดที่ตู้ ATM ต้องใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตเพื่อยืนยันตัวตน หากไม่มีจะไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ต้องเสียเวลาไปทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์สาขาธนาคาร หรือฝากผ่าน Banking Agent ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร และแน่นอนว่า ธนาคารจะได้รับเงินส่วนนี้เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
นโยบาย “ฝากเงินตู้ ATM ต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรเดบิต-บัตรเครดิต” แม้มีเหตุผลอันควรเพื่อป้องกันการฟอกเงิน แต่นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ไปในทางลบมากกว่าด้วยสังคมและผู้ใช้บริการมีบทสรุปตรงกันว่า “คิดไม่รอบด้าน” และ “เพิ่มภาระให้ประชาชน” โดยเฉพาะเรื่องค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตที่เพิ่มเติมเข้ามา ทั้งๆ ที่หลายคนอาจเลิกใช้บัตรเดบิตไปแล้ว รวมทั้ง เกิดคำถามสำคัญตามมาด้วยว่าเหตุใดจึงไม่ใช้ “บัตรประชาชนแบบ Smart Card” ในการยืนยันตัวตนผ่านการฝากเงินผ่านตู้ ATM แทน เพราะมีศักยภาพที่จะทำได้
กล่าวสำหรับนโยบายการปรับรูปแบบฝากเงินสดผ่านตู้รับฝากเงินสดอัตโนมัติ CDM/ADM ต้องยืนยันตัวตนโดยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต เพื่อการทำธุรกรรมปลอดภัยป้องกันการฟอกเงินนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกรายงานวิเคราะห์ภัยคุกคามด้านการฟอกเงินผ่านธุรกิจธนาคาร โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุความว่า ช่องทางบริการที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน มักเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์, ตู้ ATM, และตู้ CDM เช่น การค้ายาเสพติดที่คนร้ายฝากเงินผ่านบัญชีของผู้อื่น
ทั้งนี้ พบว่าที่ผ่านมาเครื่อง CDM หรือ ADM กลายเป็นช่องทางในการฟอกเงินจากการก่ออาชญากรรม เช่น ยาเสพติด การพนัน ฯลฯ เพราะสามารถใช้ให้ใครก็ได้ ฝากเงินสดไปยังบัญชีปลายทางได้ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบว่าผู้ฝากเงินเป็นใคร ปปง. จึงได้ออกมาตรการยืนยันตัวตนดังกล่าว
สำหรับการฟอกเงินเป็นการทำเงินสกปรกให้สะอาด การฟอกเงินอยู่คู่กับธุรกิจผิดกฎหมายมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะยาเสพติด, การพนัน, ส่วย ฯลฯ ขณะที่ธนาคารเสมือนปราการด่านแรกในการนำเงินเข้าระบบอย่างถูกกฎหมาย การนำเงินสดเข้าสู่ธนาคารเป็นขั้นตอนสำคัญในการฟอกเงินสกปรกเป็นเงินสะอาดต้องมีการกำกับควบคุม ดังนั้น การวางหลักเกณฑ์เพื่อป้องการการฟอกเงินธุรกิจผิดกฎหมายจึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ
อีกทั้งปัจจุบันมีองค์กรอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด และการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินได้ใช้ช่องทางการฝากเงินสดผ่านธนาคารทางตู้รับฝากเงินสดอัตโนมัติ CDM/ADM ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินสด โดยไม่ต้องแสดงตนในการทำธุรกรรม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถตรวจสอบหรือติดตามบุคคลผู้ทำธุรกรรมเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพได้ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการควบคุมการทำธุรกรรมดังกล่าว
เบื้องต้น ปปง. ระบุหลักเกณฑ์ให้ลูกค้าต้องเสียบบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต และใส่รหัสผ่าน (PIN) ของผู้ฝากก่อนการฝากเงินสดที่เครื่องอัตโนมัติของทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป หากไม่มีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตจะไม่สามารถฝากเงินที่เครื่องอัตโนมัติได้ ต้องทำรายการผ่านช่องทางสาขาของธนาคารเท่านั้น หากลูกค้าไปฝากเงินผ่านตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agent ลูกค้าจะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไปแสดงตน และจะมีค่าธรรมเนียมตามปกติ
ส่วนสาเหตุที่ออกมาตรการดังกล่าว คาดว่าในช่วงที่ผ่านมา ปปง. ได้ยกเว้นให้ธุรกรรมที่ทําผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) หรือผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ (CDM หรือ ADM) เป็นธุรกรรมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรายงานต่อสํานักงาน ปปง. แม้ธุรกรรมดังกล่าวจะเกินกว่า 700,000 บาทก็ตาม ธนาคารก็ไม่ต้องรายงานการทำธุรกรรม เว้นแต่พบว่ามีการทำธุรกรรมที่ผิดปกติผ่านเครื่อง ATM หรือ CDM ธนาคารยังคงมีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย
สำหรับผู้ที่ฝากเงินสดเข้าบัญชีภายในธนาคาร และฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารอื่น สามารถใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตธนาคารใดก็ได้ใน 11 ธนาคาร ทำรายการยืนยันตัวตน ซึ่งธนาคารจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรยืนยันตัวตน ปัจจุบันบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตของธนาคารที่สามารถใช้ยืนยันตัวตนได้มีทั้งหมด 11 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารยูโอบี ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่วนค่าธรรมเนียมในการฝากเงินไปยังบัญชีธนาคารเดียวกับบัญชีปลายทางขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารกำหนด
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ใหม่ว่าด้วยเรื่องการแสดงตนในการฝากเงินสดผ่านตู้รับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM/ADM) ต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรเดบิตหรือเครดิต นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำให้การทำธุรกรรมมีความยุ่งยาก เสียเวลา มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะเกิดความโปร่งใสป้องกันการฟอกเงิน แต่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้
นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการแสดงตนในการฝากเงินสดผ่านตู้รับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM/ADM) มีการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า ต้องไม่สร้างภาระแก่ประชาชนมากจนเกินสมควร ต้องมีวิธีการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการให้สามารถแสดงตนได้หลายรูปแบบ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ขณะนี้ยังเป็นเพียงทางเลือกที่สามารถแสดงตนก่อนการทำธุรกรรม และจะกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเมื่อสถาบันการเงินประเภทธนาคาร และมิใช่ธนาคารทุกแห่งมีความพร้อม โดยธนาคาร และสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ และสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนถึงกระบวนการดังกล่าว
สำหรับมาตรการในการแสดงตนดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 20 ประกอบกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นหลักการเดิม ตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ.2559 ที่ถูกยกเลิกไป
ทางด้าน นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาชี้แจงหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามที่ ปปง. ได้มีข้อชี้แจงเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565
ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนของผู้ทำรายการฝากเงินเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น โดยธนาคารให้มีการยืนยันตัวตนผ่านเครื่อง CDM ของแต่ละธนาคาร สำหรับประชาชนที่ไม่มีบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต ทำให้ไม่สามารถฝากเงินที่เครื่อง CDM ได้ จะยังคงสามารถฝากเงินโดยใช้บัตรประชาชนผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากฝากที่สาขาธนาคารได้ ได้แก่ ตู้เติมเงิน เคาน์เตอร์ของร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ และตัวแทนรับฝากเงินอื่นของธนาคาร
ขณะเดียวกัน ธปท. อยู่ระหว่างเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถรองรับการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตนในลักษณะ cardless เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งยังคงต้องติดกันว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทันวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 หรือไม่
ขณะที่ “นายกมล กมลตระกูล” ประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการฝากเงินผ่านตู้ฝากเงินโดยใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตเพื่อยืนยันตัวตน เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภค โดยเสนอให้เปลี่ยนไปใช้บัตรประชาชน หรือพัฒนาระบบยืนยันตัวตนในลักษณะที่ไม่ต้องใช้บัตรแทน เนื่องเพราะปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่กดเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร และไม่ได้ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตเลย นอกจากนี้ การมีบัตรหลายใบยังทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าธรรมเนียมทำบัตรประมาณ 200 – 800 บาทต่อบัตร 1 ใบ ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายสังคมยุคดิจิทัล อีกทั้งมาตรการดังกล่าว ไม่สามารถแก้ปัญหาฟอกเงินได้จริงแต่กลายเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบผู้บริโภคส่วนใหญ่ รวมถึงธนาคารเองด้วย
“แนวคิดการออกมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อคัดแยกคนร้ายออกจากคนดี แต่ควรจะทำให้เกิดผลกระทบกับคนดีน้อยที่สุด หรือไม่กระทบเลย ดังนั้นการออกมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ควรรับฟังความเห็นผู้บริโภคด้วย” นายกมล กล่าว
ประธานอนุกรรมการด้านการเงินฯ ยืนยันว่า สภาองค์กรผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และขอเสนอให้ปรับวิธียืนยันตัวผู้ฝากเงินโดยเปลี่ยนไปใช้บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตนในลักษณะที่ไม่ต้องใช้บัตรแทน โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ ร่วมกันเร่งพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนหรือไม่ต้องใช้บัตร โดยเร็วก่อนการบังคับใช้กฎหมาย ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค
ด้าน นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส. สุพรรณบุรี และประธานกรรมการประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งข้อสังเกตุเอาไว้ 3 ประเด็นคือ 1.ขั้นตอนที่ทางแบงก์ชาติประกาศออกมาเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนหรือไม่ เพราะยิ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะเป็นการซ้ำเติมกันหรือเปล่า เพราะค่าธรรมเนียมของบัตรเดบิต และบัตรเครดิต ประชาชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และหากประชาชนไม่มีบัตรดังกล่าว ก็จะต้องไปดำเนินการฝากเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งก็มีจะค่าบริการเกิดขึ้นตามเงื่อนไขของผู้บริการอีก ซึ่งส่วนต่างตรงนี้จะตกแก่ประชาชน
2. สามารถให้ผู้ฝากเงินใช้บัตรประชาชนได้หรือไม่ เพราะบัตรประชาชนเป็นสมาร์ตการ์ด หากวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฝากแสดงการยืนยันตัวตน คิดว่าการใช้บัตรประชาชนจะตอบโจทย์สุด หรือไม่เช่นนั้น หากประชาชนจะนำบัตรเดบิตและบัตรเครดิตมายื่นแสดงตัวเวลาไปทำธุรกรรมด้านอื่นๆ จะสามารถทำได้หรือไม่ อันนี้ต้องเตรียมคำตอบให้ประชาชนด้วย
และ 3.ความพร้อมของระบบ ข้อนี้สำคัญมากธนาคารต่างๆ มีความพร้อมในเรื่องของระบบรองรับการใช้งานจริงหรือไม่ เพราะหากบังคับใช้ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ธนาคารหรือผู้ให้บริการจะต้องจัดสรรคิวในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ซึ่งคาดเดาได้เลยว่าการทางเดินทางไปทำธุรกรรมทางการเงินผู้ใช้บริการต้องเพื่อเวลา ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวยังเป็นการพาประชาชนย้อนยุคเดินถอยหลัง ไม่ใกล้เคียงแคมเปญของธนาคารต่างๆ ที่เคยประกาศออกมาว่าจะเดินหน้าทำธุรกรรมออนไลน์ สู่โลกดิจิทัล
สำหรับในปัจจุบันจำนวนบัตรพลาสติกในประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า มีจำนวนบัตรพลาสติกในตลาด 99,573,306 ใบ แบ่งเป็น บัตรเครดิต 24,579,189 ใบ บัตรเอทีเอ็ม 11,516,084 ใบ และบัตรเดบิต 63,478,033 ใบเมื่อเทียบข้อมูลเดือนกรกฎาคม ปี 2565 และ 2564 พบว่า จำนวนบัตรพลาสติกในตลาด ลดลงถึง 1,414,642 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 100,987,948 ใบ) แบ่งเป็น บัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 105,992 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 24.473.197 ใบ) บัตรเอทีเอ็ม เพิ่มขึ้น 206,278 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 11,309,806 ใบ) และบัตรเดบิต ลดลง 1,726,912 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 65,204,945 ใบ)
อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอความชัดเจนเรื่องการใช้ “บัตรประชาชน Smart Card” ยืนยันตัวตนผ่านการตู้รับฝากเงินสดอัตโนมัติ CDM/ADM ตามนโยบายป้องกันการฟอกเงินนั้น เบื้องต้นสำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต สามารถพิจารณาข้อผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตจาก 11 ธนาคาร เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ที่คิดจะทำบัตรเดบิตใหม่เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว
อ้างอิงข้อมูลศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเดบิตต่ำสุดของ 11 ธนาคาร ประกอบด้วย 1. ธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิตกรุงไทย แฮปปี้ไลฟ์ 50 บาทต่อปี (ปีแรก 50 บาท) 2. ธนาคารกสิกรไทย บัตรเดบิต (ทีพีเอ็น) ยูเนี่ยนเพย์ กสิกรไทย 200 บาทต่อปี (ปีแรก 300 บาท) 3. ธนาคารไทยพาณิชย์ บัตรเดบิต SCB M VISA และบัตรเดบิต เล็ทส์ เอสซีบี 200 บาทต่อปี (ปีแรก 300 บาท) 4. ธนาคารกรุงเทพ บัตรเดบิตบีเฟิสต์ ดิจิทัล 200 บาทต่อปี (ปีแรก 300 บาท) 5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บัตรเดบิตกรุงศรี All ATMs ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี (ปีแรก 480 บาท) 6. ธนาคารทหารไทยธนชาต บัตรเดบิต ทีทีบี ไลต์ ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี (ปีแรก 200 บาท) 7. ธนาคารยูโอบี บัตรเดบิต TMRW 250 บาทต่อปี (ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก) 8. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร บัตรเดบิต KKP Value Card 200 บาทต่อปี (ปีแรก 300 บาท) 9. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บัตรเดบิต ชิลดี ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี 10. ธนาคารออมสิน บัตรเดบิต ออมสิน อินสแตนท์ 200 บาทต่อปี (ปีแรก 300 บาท) และ 11. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บัตรเอทีเอ็ม Vimarn Card 100 บาทต่อปี (ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก)
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี ได้แก่ บัตรเดบิต ชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทย และผลิตภัณฑ์มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีต่ำกว่า 200 บาท ได้แก่ บัตรเดบิต ทีทีบี ไลต์, บัตรเดบิตกรุงไทย แฮปปี้ไลฟ์ และบัตรเดบิตกรุงไทย ทรานซิท
สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย พบว่ามีบัตรเดบิตพื้นฐาน ธนาคารกสิกรไทย, บัตรเดบิตออมสิน เบสิค และบัตรเดบิตธนาคารยูโอบี เพื่อบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมฝากเงิน ทั้งการฝากเงินธนาคารเดียวกัน ข้ามสาขา/ข้ามเขต และการฝากเงินข้ามธนาคาร ดังนี้
หนึ่ง – การฝากเงินสาขาเขตเดียวกันไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม
สอง – ค่าธรรมเนียมการฝากเงินข้ามเขต ถ้าฝากผ่านช่องทางสาขา คิดค่าธรรมเนียม หมื่นละ 10 บาท + ค่าบริการ 20 บาท (ขั้นต่ำ 30 บาท สูงสุด 1,000 บาท/รายการ),ฝากผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ (CDM/ADM/ATM Recycling) คิดค่าธรรมเนียม หมื่นละ 10 บาท + ค่าบริการ 10 บาท (ขั้นต่ำ 20 บาท/รายการ)
สาม – ค่าธรรมเนียมการฝากเงินข้ามธนาคาร ถ้าฝากผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น 50 บาท/รายการ ดังนี้ ยอดไม่เกิน 10,000 บาท ค่าธรรมเนียม 50 บาท/รายการ,ยอด 10,001-20,000 บาท ค่าธรรมเนียม 60 บาท/รายการ,ยอด 20,001-30,000 บาท ค่าธรรมเนียม 70 บาท/รายการ,ยอด 30,001-40,000 บาท ค่าธรรมเนียม 80 บาท/รายการ,ยอด 40,001-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 90 บาท/รายการ,ยอด 50,001-65,000 บาท ค่าธรรมเนียม 100 บาท/รายการ,ยอด 65,001-80,000 บาท ค่าธรรมเนียม 110 บาท/รายการ,ยอด 80,001-100,000 บาท ค่าธรรมเนียม 120 บาท/รายการ
สี่ - ค่าธรรมเนียมการฝากเงินผ่านตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ถ้าฝากผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ ค่าธรรมเนียม 15-20 บาท/รายการ,ฝากผ่านไปรษณีย์ไทย ค่าธรรมเนียม 10-25 บาท/รายการ,ฝากผ่านตู้เติมเงินมือถือ ค่าธรรมเนียม 30-70 บาท/รายการ
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมและวงเงินการทำธุรกรรมฝากเงินต่อรายการ ขึ้นอยู่กับธนาคาร และตัวแทนธนาคารแต่ละแห่งกำหนด
ต้องติดตามกันว่า บทสรุปสุดท้าย “บัตรประชาชน Smart Card” จะเป็นทางออกในการยืนยันตัวตนผ่านการฝากเงินสดตู้อัตโนมัติ CDM/ADM เพื่อธุรกรรมปลอดภัยป้องกันการฟอกเงินหรือไม่?