xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ: ปัจจัยของการเติบโตและการถดถอย (จบ) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ในปี 2562 กำลังเดินไปสู่เส้นทางการตกต่ำและส่อแววเสื่อมสลาย สิ่งนี้เกินความคาดหมายของผู้สังเกตทางการเมืองหรือไม่ คำตอบคือไม่ นั่นเป็นเพราะผู้สังเกตทางการเมืองสามารถทำนายอนาคตของพรรคพลังประชารัฐได้ ตั้งแต่เริ่มการจัดตั้งว่า มีแนวโน้มอยู่ได้ไม่นานและจะสลายไป โดยการอนุมานจากเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นในอดีต

พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เพื่อสนับสนุนอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีเฉกเช่นเดียวกับพรรคสหประชาไทย และ พรรคสามัคคีธรรม ในอดีต การจัดตั้งพรรคเกิดขึ้นจากการรวบรวมนักการเมืองที่หลากหลาย โดยเชื่อมโยงด้วยอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะหน้า ปราศจากรากฐานอุดมการณ์ที่หนักแน่น และไร้เจตจำนงที่มั่นคงในการพัฒนาพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมือง พรรคแบบนี้มักอยู่ได้ไม่นาน เปรียบเสมือน “บ้านเช่า” หลังใหญ่ที่ผู้คนมาอาศัยพักพิงชั่วคราว และจากไปอย่างรวดเร็ว

การเติบโตของพรรคประเภทนี้เกิดขึ้นเพียงในช่วงสั้น ๆ เพียงสมัยการเลือกตั้งเดียวเท่านั้น พรรคเติบโตอย่างฉับพลันด้วยการอัดฉีดและการโอบอุ้มของพลังอำนาจที่หลงเหลือของคณะรัฐประหาร ครั้นพลังอำนาจของคณะรัฐประหารอ่อนตัวลง แรงยึดเหนี่ยวภายในพรรคก็สั่นคลอน การแตกสลายก็ตามมา กล่าวได้ว่า พรรคสืบทอดอำนาจประเภทนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะยืนหยัดผ่านด่านทดสอบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ยาวนาน เพราะธรรมชาติของพรรคไม่สอดคล้องกับบริบทของการเมืองแบบระบอบประชาธิปไตย ที่การดำรงอยู่และเติบโตของพรรคต้องอาศัยการโอบอุ้มจากอำนาจของประชาชน

เพียงไม่กี่ปีของการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ความขัดแย้งภายในพรรคเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ความขัดแย้งเริ่มขึ้นด้วยการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีในช่วงเริ่มต้นของการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างกลุ่มสามมิตร ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำ กับกลุ่มฝักฝ่ายอื่น ๆ ตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสี่กุมาร ซึ่งมีนายอุตตมะ สาวนายน เป็นแกนนำ กับกลุ่มสามมิตร และกลุ่มพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อมา นายอุตตมะ ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และยกทีมของตนเองออกจากพรรคในเดือนกรกฎาคม 2563 ความขัดแย้งรุนแรงแบบแตกหักด้วยการยกทีมลาออกเกิดขึ้นเพียง 2 ปีเท่านั้นนับตั้งแต่การจัดตั้งพรรคในปี 2561

สิ่งใดเมื่อเริ่มถดถอย ก็ยิ่งมีความถดถอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นปี 2564 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แกนนำกลุ่ม กปปส. ซึ่งเป็นอีกก๊กหนึ่งภายในพรรคพลังประชารัฐประสบชะตากรรมต้องคำพิพากษาของศาล ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และออกจากพรรคไป จากนั้นช่วงปลายปี 2564 ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ความขัดแย้งภายรอบใหม่ก็ปรากฏขึ้น และปะทุออกมาอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มนายธรรมนัส พรหมเผ่า กับกลุ่มพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่มพลเอกประยุทธ์ พร้อมกับการหลุดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีของนายธรรมนัส และตามมาด้วยการลงมติขับกลุ่มนายธรรมนัสออกจากพรรคในเดือนมกราคม 2565

ในปัจจุบันกลุ่มฝักฝ่ายหลักที่เหลืออยู่ในพรรคพลังประชารัฐมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพลเอกประวิตร กลุ่มพลเอกประยุทธ์ และกลุ่มสามมิตร ความสัมพันธ์ของสามกลุ่มหาได้มีความแนบแน่นกลมเกลียว แต่กลับมีการช่วงชิงการนำอย่างเข้มข้นระหว่างกลุ่มพลเอกประวิตร กับกลุ่มพลเอกประยุทธ์ ขณะที่กลุ่มสามมิตรรอดูท่าทีและผลลัพธ์ของการต่อสู้ และพร้อมที่จะยกทีมออกจากพรรคตลอดเวลา ตามจังหวะโอกาสและเงื่อนไขที่เหมาะสม


ความสัมพันธ์อันเปราะบางที่ตั้งอยู่บนการแย่งชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ โดยปราศจากความผูกพันเชิงอุดมการณ์นำไปสู่ความขัดแย้งแบบแตกหักได้ง่ายมาก โดยเฉพาะเมื่อการจัดสรรตำแหน่งและผลประโยชน์ไม่ลงตัว

นอกเหนือจากความขัดแย้งเรื่องของตำแหน่งและผลประโยชน์แล้ว ปัจจัยที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐตกต่ำยังมาจากความไร้ความสามารถในการผลักดันนโยบายพรรคไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง ในช่วงหาเสียง พรรคประกาศนโยบายประชานิยมเชิงรูปธรรมหลายประการเพื่อดึงดูดใจผู้เลือกตั้ง เช่น การขึ้นค่าแรงเป็น 400-425 บาท จบปริญญาตรีเงินเดือน 20,000 บาท เป็นต้น แต่นโยบายจำนวนมากมิได้นำไปปฏิบัติให้เป็นจริงแต่อย่างใด ประกอบกับการบริหารประเทศในภาพรวมของพลเอกประยุทธ์ ก็ประสบความล้มเหลวอย่างรอบด้าน ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ความยากจนขยายตัว ปัญหาสังคมสะสมเป็นมากขึ้น ทั้งเรื่องยาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น การสังหารหมู่ และการฆ่าตัวตาย

ในทางการเมือง นอกจากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นภายในชาติได้แล้ว กลับมีส่วนสำคัญในกาสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ที่รุนแรงขึ้นมา และทำให้ความแตกแยกทางสังคมขยายตัวทั้งในระดับกว้างและลึกลงไปถึงระดับรากฐานของสังคม อีกทั้งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจากการกระทำของหน่วยงานรัฐ ด้านการปฏิรูปประเทศก็ถูกละเลยมิได้กระทำอย่างจริงจัง มีเพียงตัวอักษรที่สวยหรู และการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า เพื่อศึกษาปัญหาและเสนอแนะทางออกในการแก้ปัญหา แต่ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไม่เคยได้รับการนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลและกลุ่มชนชั้นนำก็ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งขยายอำนาจประชาชนและสร้างประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำประสบความล้มเหลวในการบริหารประเทศอย่างรอบด้าน ความนิยมของประชาชนที่มีต่อพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ในช่วงปลายปี 2563 ถึง 2565 ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จุดสูงสุดของคะแนนนิยมที่พลเอกประยุทธ์เคยได้รับคือประมาณร้อยละ 30 ในการสำรวจเมื่อเดือนธนวาคม 2563 และเช่นเดียวกันพรรคพลังประชารัฐก็เคยได้รับคะแนนนิยมสูงที่สุดหรือประมาณร้อยละ 17 ในการสำรวจครั้งเดียวกัน จากนั้นในปี 2564 และ 2565 คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการสำรวจครั้งใดที่ได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ล่าสุดในการสำรวจเมื่อเดือนกันยายน 2565 คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ตกต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ส่วนพรรคพลังประชารัฐเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

กล่าวได้ว่าสถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐในยามนี้มีความคลุมเครือ เพราะพลเอกประยุทธ์ ยังไม่ประกาศท่าทีและจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ และหากเล่นการเมืองต่อไป จะยังคงอยู่ในพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ มีความเป็นไปได้ว่า ความคลุมเครือนี้เกิดจากการเจรจากันไม่ลงตัวระหว่างพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร เรื่องใครจะเป็นผู้นำที่แท้จริงของพรรค ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับพรรค พปชร. ในอนาคตอันใกล้มีหลายทางด้วยกัน

ทางที่ 1 พลเอกประวิตร ยังคงเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่พลเอกประยุทธ์ เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคและได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นลำดับแรก ส่วนพลเอกประวิตร ได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับที่สอง แนวทางนี้อาจทำให้สมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส.ส่วนใหญ่ยังคงอยู่กับพรรค เงื่อนไขที่จะทำให้แนวทางนี้เกิดขึ้นได้คือ พลเอกประวิตร ต้องยอมเล่นบทบาทรอง และเสียสละโอกาสทางการเมืองของตนเองแก่พลเอกประยุทธ์ อีกครั้ง แต่แนวทางนี้ก็มีจุดอ่อนคือ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ที่เหลือเพียงอีกสองปีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทางที่ 2 พลเอกประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค และได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคลำดับแรก ส่วนพลเอกประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับสอง แนวทางนี้อาจทำให้ ส.ส. ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพรรคเช่นเดียวกับแนวทางแรก เงื่อนไขของแนวทางนี้คือ พลเอกประยุทธ์ ต้องเสียสละโอกาสทางการเมืองของตนเอง และยอมให้พรรคใช้ชื่อเสียงความนิยมของตนเองหาเสียง เพื่อตรึงกลุ่มชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมบางส่วนที่ยังคงชื่นชมพลเอกประยุทธ์ให้เลือกพรรคดังเดิม แต่ดูจากบุคลิกของพลเอกประยุทธ์แล้ว คาดว่า มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่พลเอกประยุทธ์จะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว และหากพลเอกประวิตรยืนกรานในเรื่องนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า พลเอกประยุทธ์จะไม่อยู่กับ พปชร. อีกต่อไป

ทางที่ 3 พลเอกประยุทธ์ ไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น ที่เสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคนั้นเพียงคนเดียว กรณีนี้ จะมีกลุ่ม ส.ส.ของพรรค พปชร. ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์จำนวนหนึ่งยกทีมออกจากพรรค และตามไปอยู่กับพลเอกประยุทธ์ในพรรคใหม่ ซึ่งจะทำให้ พปชร. อ่อนกำลังลงไปไม่น้อยทีเดียว

ทางที่ 4 พลเอกประยุทธ์วางมือทางการเมือง กรณีนี้ มีความเป็นไปได้ 2 อย่างตามมา อย่างแรก พลเอกประวิตรสามารถใช้ทรัพยากรในการตรึงกลุ่ม ส.ส. ทั้งกลุ่มสามมิตรและกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เอาไว้ได้ ซึ่งจะทำให้ พปชร. ยังคงรักษาสถานภาพการแข่งขันไว้ได้ระดับหนึ่ง อย่างที่ 2 พลเอกประวิตร ไม่สามารถรั้ง ส.ส. กลุ่มสามมิตร และกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เอาไว้ได้ กรณีนี้จะทำให้พปชร. มีศักยภาพในการแข่งขันต่ำลงมาก

ไพ่ที่เหลืออยู่ ซึ่งค้ำจุน พปชร. ไม่ให้แตกสลายจนหมดสิ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือ การที่พลเอกประวิตรยังสามารถคุมเสียงสมาชิกวุฒิสมาชิกในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และไพ่ใบนี้อาจถูกนำมาใช้ในการต่อรองสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลหน้า หาก พปชร. ต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย ส่วนชีวิตทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่คาดว่า คงไม่เกินวาระของสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า และมีความเป็นไปได้สูงว่า การเลือกตั้งในปี 2566 อาจเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของพรรคพลังประชารัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น