xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยัง “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เพื่อทรงเปิด “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

ในการนี้ ปวงพสกนิกรชาวไทยพร้อมใจเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเนืองแน่น และต่างมุ่งหวังที่จะเฝ้าฯ ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ยังคงสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์

ทั้งนี้ “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เป็นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขนาดความสูง ๗.๗ เมตร หรือขนาด ๔ เท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ถนนศรีอยุธยา หล่อด้วยโลหะสำริด ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ที่แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง ๘ เหลี่ยมมีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

สำนักพระราชวัง เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความประสงค์จะเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ เข้าถวายสักการะได้ในระหว่างวันที่ ๑๔-๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๖ ระหว่างเวลา o๘.00-๑๙.oo น. พร้อมรับชมการแสดงจากดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ ตั้งแต่เวลา 0๙.00-๑๘.00 น. ก่อนที่จะปิดเพื่อปรับภูมิทัศน์ของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ เพื่อให้สมพระเกียรติ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๗

กล่าวสำหรับ “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” หรือ “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.๙” ตั้งอยู่บนพื้นที่จำนวน ๒๙๗ ไร่ บริเวณหัวมุมสามแยกนางเลิ้ง ล้อมรอบด้วยถนนสวรรคโลก ถนนศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ ๕ และถนนพิษณุโลก ในพื้นที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” หรือ “สนามม้านางเลิ้ง”

โครงการพัฒนาพื้นที่เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑o และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามแนวพระราชดำริของทั้ง ๒ พระองค์ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ตามพระราชดำรัสสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๕ ณ บ้านถ้ำคิ้ว อ.ล่องดาว จ.สกลนคร ความว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ” รวมทั้ง ผสมผสานการออกสวนสมัยใหม่ (Modern Park) สะท้อนภาพความเป็นเมืองทันสมัยยุคใหม่ของกรุงเทพมหานคร และมุ่งเน้นให้ประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสำคัญ

การออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ สะท้อนหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยและทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยโอบล้อมด้วยสวนป่าตามแนวคิดหลักของการออกแบบโครงการจะประกอบด้วย “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” แนวคิดการบริหารจัดการน้ำ อาทิ แก้มลิงโครงการใหม่ บ่อน้ำเลข ๙ กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของแหล่งน้ำ ที่สิ่งมีชีพทุกสรรพสิ่งทั้งคน สัตว์ และพืชพรรณธรรมชาติ จะได้อาศัยอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางระบบนิเวศของฝายและป่าต้นน้ำอย่างแท้จริง ทั้งยังออกแบบให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ หรือ “แก้มลิง” ในยามวิกฤตจากอุทกภัยพื้นที่กรุงเทพฯ

รวมทั้งมีการใช้ floating solar นำพลังงานที่ได้มาใช้ในพื้นที่บางส่วนของโครงการ รวมถึงการสูบน้ำจากปลายน้ำให้หมุนเวียนกลับขึ้นมาใช้อีกครั้งให้เป็นต้นน้ำ มีพันธุ์ปลาหลากหลาย ทั้งปลากระโห้ ปลากระแห ปลาตะพาก ปลาตะเพียนขาว ท่ามกลางพืชที่ชุ่มน้ำ ด้วยวิธีกรองน้ำธรรมชาติให้ไหลสู่บ่อน้ำเลข ๙
นอกจากนี้ ยังโดดเด่นด้วยพรรณไม้ที่สะท้อนความเป็นป่าและความหลากหลาย ตามแนวพระราชดำริ ประมาณ ๔,๕๐๐ ต้น การออกแบบพรรณไม้ในโครงการฯ มีแนวคิดที่ละเอียดนับตั้งแต่หลักการจัดวางพรรณไม้ จัดวางตำแหน่งต้นไม้ อัตราการเจริญเติบโต ไม้มงคลพระราชทาน ประจำจังหวัด ๗๗ จังหวัด รวมไปถึงเส้นทางการคมนาคมสัญจรภายในโครงการ ประกอบด้วยเส้นทางจักรยาน ๓.๕ กิโลเมตร กว้าง ๕ เมตร เส้นทางวิ่ง ๓.๕ กิโลเมตร กว้าง ๖ เมตร และเส้นทางเดิน รวมทั้ง ยังรองรับในเรื่องของกีฬาและนันทนาการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ออกแบบให้มีพื้นที่สามารถยืดหยุ่นหรือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ตามความนิยมของประชาชน

“อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.๙” นับเป็นแลนด์มาร์คใหม่ใต้ร่มพระบารมี โดยสวนป่าแห่งนี้จะเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อชีวิตที่ดีของคนกรุง เป็นสวนแห่งความสุขยั่งยืนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงสืบไป


กำลังโหลดความคิดเห็น