xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตุ๋นคนไทย ขายแรงงานต่างแดน นายหน้าเถื่อน เกลื่อนโลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตำรวจศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) แถลงข่าวจับกุมเครือข่ายหลอกลวงคนไทยไปบังคับค้าประเวณี ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ยังคงเป็นปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากสำหรับกรณี “การหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ” เพราะต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ แรงงานไทยยังต้องการไป “ขุดทอง” ในต่างประเทศ จึงเกิดปัญหาการหลอกลวงคนหางานหลายขึ้นกรณี ขณะที่ความพยายามของรัฐบาลไทยในการใช้มาตรการเชิงรุกในการจัดการแก้ปัญหายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

กระทรวงแรงงานเปิดเผยตัวเลขคนไทยทำงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ค. 2565 ระบุว่ามีคนไทยทำงานอยู่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย 120,652 คน ใน 122 ประเทศทั่วโลก โดย 5 ประเทศที่คนไทยไปทำงานมากที่สุด คืออันดับ 1 คือ ไต้หวัน 48,542 คน 2. อิสราเอล 20,555 คน 3. เกาหลีใต้ 12,950 คน 4. ญี่ปุ่น 7,665 คน และ 5. สวีเดน 6,680 คน

เป้าหมายของการไปทำงานในต่างแดนคือเรื่อง  “รายได้” เพราะมีผลตอบแทนสูง ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวันมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 25,250 เหรียญไต้หวันต่อเดือน (ประมาณ 30,497 บาท) ซึ่งประมาณการรายได้ที่แรงงานไทยส่งกลับผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศ ประจำปี 2565 อยู่ที่ราวๆ 114,264 ล้านบาทเลยทีเดียว

ด้วยตัวเลขรายได้ที่สูงจึงเป็นสิ่งดึงดูดแรงงานไทยให้ไปขายงานในต่างแดน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาฉกฉวยโอกาส

“การลักลอบไปทำงาน อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง การไม่ได้เงินเดือนและไม่ได้ทำงานตามข้อตกลง เพราะฉะนั้นจึงมีคำสั่งการให้กรมการจัดหางานเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบเดินทาง และประชาสัมพันธ์คนหางาน รู้ทันเล่ห์กลของสาย/นายหน้าเถื่อน และช่วยเป็นหูเป็นตาและแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้ มีการรณรงค์ให้ข้อมูลความรู้มาอย่างต่อเนื่อง” นายสุชาติ ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี

ด้าน  นายไพโรจน์ โชติกเสถียร  อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แม้จะชี้แจ้งสื่อสารทำความเข้าไปยังคนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศ มีนโยบายเข้มงวดตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมหลอกลวงโฆษณาการจัดหางานทางสื่อสังคมออนไลน์ ย้ำเตือนพี่น้องประชาชนให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่ากำลังถูกหลอกลวง หากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์ชักชวนให้ทำงานผิดกฎหมาย แนะนำให้ลักลอบเข้าประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงานต่างประเทศกับกรมการจัดหา แต่ก็ไม่อาจสกัดแรงงานไทยที่ต้องการไปขุดทองในต่างแดนได้

โดยพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานในโลกออนไลน์ มักโฆษณาชักชวนชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ การเดินทางไปทำงานเกษตรในเครือรัฐออสเตรเลีย งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

กรณีล่าสุด กระทรวงแรงงาน เผยรายงานจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่ามีผู้เสียหายจากการถูกสาย-นายหน้าเถื่อน โฆษณาชักชวนไปทำงานในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางสื่อออนไลน์ ผ่านเพจ Facebook ชักชวนผ่านการแชท เพื่อให้ไปทำงานในตำแหน่งนวดสปา นวดแอบแฝงค้าบริการ อ้างว่ามีรายได้ดี ค่าจ้างเดือนละ 50,000 - 100,000 บาท และจะเป็นผู้จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมทั้งจะออกค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่าท่องเที่ยว ค่าหนังสือเดินทาง และค่าที่พัก ให้ก่อน เมื่อผู้เสียคนหายหลงเชื่อ ตกลงเดินทาง สาย-นายหน้าเถื่อนจะเป็นคนจัดการเรื่องการเดินทาง ให้ลบข้อความแชทเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้

เมื่อเดินทางไปถึงจะถูกให้เซ็นสัญญาการรับสภาพหนี้ และพาไปทำงานอื่นที่ไม่ได้ตกลงไว้ เช่น งานในร้านนวดที่มีการลักลอบขายบริการทางเพศ งานด้านการพนันออนไลน์ ระหว่างนี้จะยึดหนังสือเดินทางไว้ เพื่อไม่ให้เหยื่อหนี ซึ่งการโฆษณารับสมัครงานดังกล่าว เป็นโฆษณาชักชวนคนไทยให้เดินทางเข้ามาทำงานในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย มีหญิงไทยตกเป็นเหยื่อถูกบังคับค้าประเวณีและขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการป้องกันปัญหาการหลอกลวงคนหางาน โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีปัญหาการหลอกลวงสูง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และวิธีการหลอกลวงคนหางานของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งในปัจจุบันใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ

สำหรับวิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 5 วิธี คือ บริษัทจัดหางานเอกชนจัดส่งไปทํางาน กรมการจัดหางานจัดส่งไปทํางาน คนหางานติดต่อทําสัญญาจ้างกับนายจ้างโดยตรง บริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปทํางาน และบริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปฝึกงาน

สำหรับมาตรการป้องกันการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศที่ระบาดในช่องทางออนไลน์ กองทะเบียนจัดหางานกลาง และคุ้มครองคนหางาน และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ได้ตรวจสอบและติดตามเฟซบุ๊กของบุคคล/กลุ่มมิจฉาชีพ ที่ทำการโฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานในต่างประเทศผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด

โดยกรมการจัดหางานมีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ป้องปราม และปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 – 21 มี.ค. 2565 มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว 55 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 70 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 6,735,164 บาท

สำหรับประเทศที่คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้), ญี่ปุ่น ฟินแลนด์, ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส

ทั้งนี้ กฎหมายระบุโทษความว่า การโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน จะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แน่นอนว่า บทลงโทษทางกฎหมายเพียงกฎหมายไม่สามารถหยุดยั้งการตกเป็นเหยื่อแก๊งนายหน้าเถื่อนลวงไปทำงานต่างประเทศ สิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันคือความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการเดินทางไปทำต่างแดนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของรัฐ

แรงงานไทยที่เดินทาง/หเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์และสวีเดนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนมากถึงกว่า 8,000 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น