ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สับเกียร์ห้า เดินหน้าเตรียมเลือกตั้งเต็มสูบสำหรับฟากของ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ที่หมายมั่นปั้นมือรอบนี้จะต้อง “แลนด์สไลด์” ทั้งแผ่นดิน พลิกเกมเข้าไปกุมอำนาจรัฐสานฝัน “พาทักษิณกลับบ้าน” ให้ได้ จัดแจงเปิดศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยกันตั้งแต่ไก่โห่
เรียกว่า กวาดต้อน “บิ๊กเนม-โนเนม” รวมแล้ว 55 รายชื่อ มาทำหน้าที่ “วอร์รูมเลือกตั้ง” ชูจุดขาย 3 เสาหลัก คือ 1.ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส.ที่มีความรู้ความสามารถ ตั้งเป้าจะส่งผู้สมัครทั้ง 400 เขต, 2.นโยบายของพรรคเพื่อไทย ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นประชาธิปไตยที่กินได้ นโยบายได้มีการต่อยอดจากนโยบายที่ทำสำเร็จมาแล้ว และ 3.ความพร้อมทางแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และทีมบริหาร
ใน 55 รายชื่อผู้บริหารและคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งฯ ถูกจับจ้องไปที่ชื่อของสองศรีพี่น้อง “ลูกพ่อษิณ-แม่อ้อ” อย่าง “โอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร และ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งฯ
รายของ “อุ๊งอิ๊ง” นั้นไม่เหนือความคาดหมาย แม้ประสบการณ์การเมืองยังอยู่ในระดับ “ละอ่อน” แต่ก็ถูกหมายมั่นปั้นไว้ให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว หลังชิมลางทั้งในตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มาแล้วราว 1 ปีเต็ม
ที่น่าประหลาดใจคงเป็นรายของ “พานทองแท้” ลูกชายหัวแก้วของ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร กับ “คุณหญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ มากกว่า เพราะแม้ที่ผ่านมา “นายน้อยโอ๊ค” จะมีบทบาทภายในพรคพอสมควร เข้านอกออกในที่ทำการพรรคอยู่ตลอด แต่ก็ถนัดทำงานสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมากกว่า ที่สำคัญไม่เคยมีชื่อปรากฎอย่างเป็นทางการขนาดนี้
สำทับกับการปรากฏตัวร่วมอีเวนท์การเมืองของ “คุณแม่อ้อ” เคียงข้าง “ลูกอิ๊ง” ในงานครอบครัวเพื่อไทย ที่ จ.เชียงใหม่
เท่ากับว่า “บ้านชินวัตร” เปิดหน้าลงมาเล่นเกมนี้อย่างเต็มตัว ไม่ใช้มุก “อีแอบ” อ้างว่า ไม่เคยยุ่งเกี่ยวครอบงำพรรคอีกต่อไปแล้ว เป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนให้ “หมวยเล็ก” ลงสนามเลือกตั้งในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
น่าสนใจไม่น้อยว่า เมื่อ “บ้านใหญ่ดูไบ” ลุยเต็มตัวขนาดนี้แล้ว แต่วันดีคืนดีกลับเกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย เมื่อมีการปั่นกระแสปั้น “คู่เทียบ” ขึ้นมาประกบ “คุณหนูอิ๊ง” อย่างไม่เกรงบารมี “ลูกสาวนายใหญ่” โดยปรากฎชื่อของ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ว่ากันว่าจะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ร่วมกับ “แพทองธาร” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
จะว่าไป ถ้าหากติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะเห็นว่าที่ผ่านมามีการ “โยนหิน-หยั่งกระแส” ชื่อของ “เศรษฐา” กับการจะเข้าไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยมาแล้วระยะหนึ่ ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา และเป็นตัวเลือกตั้งแต่ก่อนที่จะเปิดตัว “คุณหนูอิ๊ง” ด้วยซ้ำ ผ่านเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยเอง
โดยเฉพาะสื่อบางสำนักมีการทำโพลคนที่จะมาเป็นนายกฯ ที่มีชื่อ “บิ๊กบอสแสนสิริ” เป็นตัวเลือกอยู่บ่อยครั้งอย่างผิดสังเกต
จากนั้นเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 “กลุ่มแคร์” หรือ “ทีมนักรบห้องแอร์” ได้จัดงานมอบรางวัล 10 คนเคลื่อนไทยในโอกาสครบรอบ 2 ปีของกลุ่มแคร์ ก็ปรากฏชื่อ “เสี่ยนิด” เป็นหนึ่งในคนที่ได้รางวัล และผู้มอบรางวัลก็มิใช่ใครอื่นไกล หากแต่คือ “อุ๊งอิ๊ง”
หลังงานนั้น ก็มีการปล่อยภาพคู่ของทั้ง “เศรษฐา-แพทองธาร” ออกมาอย่างมี “นัย” จนเป็นที่โจษจันไม่น้อย
โจษจันไม่แพ้กับที่ก่อนหน้านั้นในราวปลายเดือนมิถุนายน 2565 ในเวทีสัมมนาหัวข้อ Stronger Bangkok ; Stronger Thailand ได้มีการเชิญ “ผู้ว่าฯทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และ “เศรษฐา” แลกเปลี่ยนมุมมองกันบนเวที และมีการยิงคำถามประมาณว่า ถ้า “ชัชชาติ” ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ทำงานกับนายกฯ ที่ชื่อ “เศรษฐา” จะทำงานง่ายหรือไม่ด้วย
จะใช้คำว่าแผ้วถางทางมาเป็นระยะ ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
กระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ในรายการ CareTalk x Care ClubHouse ในหัวข้อ “วิเคราะห์พายุการเมืองไทยหลัง 8 ปีประยุทธ์” ที่มี “ทักษิณ” ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย ก็มีคำถามถึง “นายใหญ่” ว่า พรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯ ในใจแล้วหรือยัง ซึ่ง “ทักษิณ” ก็ตอบแค่ว่า “น่าจะมีแล้วนะ” ก่อนโยนให้ถาม “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ร่วมพูดคุยอยู่ด้วย และตอบว่า “พรรคเพื่อไทยน่าจะมี 3 คน คนแรกที่เป็นแคนดิเดต คนที่ 2 เริ่มแพลม ๆ เป็นคนมีความรู้ความสามารถ แก้วิกฤตที่เผชิญกันอยู่ เราอยากได้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา คนเป็นนักบริหารที่ดูไว้ก็เห็นว่าเตรียมพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่การเมืองแล้ว ส่วนคนที่ 3 ยังเป็นปริศนาอยู่” ก่อนที่ “ทักษิณ” จะโพล่งขึ้นทันทีว่า “ชาวบ้านน่าจะเดาได้..”
จาก “คำใบ้” ของ “หมอเลี้ยบ” ก็คาดเดาไม่ยากว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทยคนแรกคงไม่พ้น “อุ๊งอิ๊ง” ขณะที่คนที่ 2 ที่ว่าเป็นเป็นนักบริหารที่ดูไว้ก็เห็นว่าเตรียมพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่การเมือง ก็คือ “เศรษฐา” นั่นเอง
เมื่อมีการโหมชื่อ “เศรษฐา” ออกมาในหน้าสื่ออย่างกว้างขวางอีกครั้ง ก็ทำให้สปอตไลท์จับจ้องไปที่ “บิ๊กบอสแสนสิริ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่องนี้มีการนำไปถาม “แพทองธาร” เช่นกัน แต่ “ลูกสาวนายใหญ่” ก็ออกลูกพลิ้วพอสมควร เมื่อไม่มีการเอ่ยชื่อ “อานิด” กลับบอกแค่ว่า การที่คนมีความสามารถเข้ามาถือเป็นกำไรของประเทศ และพรรคเพื่อไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุน
ถือว่าค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า เลือกตั้งรอบหน้าน่าจะมีชื่อ “เสี่ยนิด” ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หลังมีการโยนหินกันมาหลายต่อหลายครั้ง
และยังฟังได้ว่า จะเป็นชื่อในลำดับที่ 1 ส่วน “อุ๊งอิ๊ง” กับอีกหนึ่งชื่อ จะร่วมอยู่ในบัญชีลำดับถัดไป แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญจะไม่มีการกำหนดให้จัดอันดับก็ตาม
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ “ทำไมต้องเป็นเศรษฐา?”
และปฏิบัติการภายใต้ “ยุทธศาสตร์เศรษฐา” มีนัยที่น่าสนใจตรงไหน
ว่ากันที่ตัว “เสี่ยนิด-เศรษฐา” หากละไว้ซึ่งฐานการเมือง ก็ต้องถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า “โปรไฟล์หรู” ในฐานะเจ้าพ่อแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทย ที่ถือว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ
“เศรษฐา ทวีสิน” เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2506 ปัจจุบันอายุ 59 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท (บริหารธุรกิจ-การเงิน) Claremont Graduate School ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานในปี 2529 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) ก่อนหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ (มหาชน) จนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที 22 พ.ย.2538 ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2539 โดยปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 20,343,625,722.40 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 17,715.35 ล้านบาท
“เศรษฐา” เป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 4 โดยมีจำนวนหุ้น 661,002,734 หุ้น หรือ 4.44% คิดเป็น 786,593,253.46 บาท (ราคา 1.19 บาท ณ วันที่ 11 ต.ค.65) ผลประกอบการย้อนหลังพบว่า ปี 2561 รายได้ 27,039.75 ล้านบาท กำไร 2,045.98 ล้านบาท, ปี 2562 รายได้ 25,360.35 ล้านบาท กำไร 2,392.44 ล้านบาท, ปี 2563 รายได้ 34,891.03 ล้านบาท กำไร 1,673.09 ล้านบาท และปี 2564 รายได้ 29,747.52 ล้านบาท กำไร 2,017.28 ล้านบาท
นอกเหนือจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องอสังหาริมทรัพย์แล้ว “เศรษฐา” ยังมีธุรกิจด้านอื่นๆ อาทิ การเงิน การลงทุน, ประกันภัย, ผลิต-จำหน่ายกล่องกระดาษ และธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ท ที่ยังคงดำเนินการอยู่กว่า 40 แห่ง
ไม่เพียงแต่ภาพลักษณ์ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น ที่ผ่านมาในหลายวาระ “เศรษฐา” มักแสดงความคิดอ่านของตัวเองเกี่ยวกับประเด็นสังคม การเมือง และการแก้ไขปัญหาของประเทศผ่านการสื่อสารในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะ “ทวิตเตอร์” ที่หลายทวีตของ “บอสใหญ่แสนสิริ” ถูกนำไปแชร์ต่อจนเป็นประเด็นหลายต่อหลายครั้ง และถูกยกให้เป็นหนึ่งใน “ผู้นำทางความคิด” ยุคปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน “เศรษฐา” ยังได้รับการยอมรับในด้านวิสัยทัศน์การช่วยเหลือสังคม เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย โดยพยายามเสนอให้รัฐบาลยกเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยเฉพาะช่วงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ถ่างช่องว่างทางด้าน “ความมั่งคั่ง” ระหว่าง “คนมี” กับ “คนไม่มี” ขยายตัวกว้างขึ้น
แม้ในช่วงวิกฤตโควิด “แสนสิริ” ก็ยังสามารถโชว์ศักยภาพว่า ได้รับผลกระทบน้อยมาก ด้วยการตุนกระแสเงินสดในธนาคารไว้ถึง 1.7 หมื่นล้านบาท และมีสินทรัพย์เป็นที่ดินเปล่าอีกจำนวนมาก ทั้งยังสามารถดูแลช่วยเหลือพนักงาน 4 พันคน และครอบครัว ตลอดจนแจกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก้ และซื้อวัคซีนแจกคนทั่วไปไป 3-4 หมื่นโด๊ส
ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการการลดช่องว่างทางสังคม ส่งเสริมความเท่าเทียม และสร้างความอย่างยั่งยืน อาทิ ด้านการศึกษาเพื่อช่วยเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน 100 ล้านบาท เดินหน้าโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” นำร่อง จ.ราชบุรี และมีแผนจะขยายต่อไปในปี 2566-67 ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือทั้งเด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบกว่า 1.12 หมื่นคน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาที่ จ.ราชบุรี
หรือการช่วยเหลือเกษตรกร มีการซื้อแตงโมกว่า 14 ตัน จากเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ และลำไย 12 ตัน จาก จ.ลำพูน เพื่อแจกจ่ายให้ลูกบ้านแสนสิริกว่า 1,000 ครัวเรือน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงมะม่วงกว่า 6 ตัน ที่ส่งไปช่วยเลี้ยงช้างที่ จ.เชียงใหม่
ที่เคยเป็นข่าวคึกโครม คือการซื้อขิง 8 หมื่นกิโลกรัม จากเกษตรกรทางภาคเหนือ หลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนัก ขิงราคาตกต่ำ ล้นตลาด ขาดคนรับซื้อ เพื่อมาขายที่ “Sansiri Backyard” ในกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งรายได้จากการขาย ทาง “แสนสิริ” สมทบทุนให้อีก 4 เท่า เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่เผชิญปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
ภายใต้โครงการ “No One Left Behind” ที่สะท้อนความคิดเชิงแก้ปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างที่ “คนตัวใหญ่ ต้องช่วยคนตัวเล็ก” ซึ่ง “เสี่ยนิด” มักย้ำว่า “ตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นต้นแบบ เพราะเชื่อว่า ทุกคนสามารถช่วยกันทำให้เศรษฐกิจสังคมไทยดีขึ้น”
ถือเป็นฟอร์มของผู้บริหารที่มีประสบการณ์ เหมาะกับการปั้นให้เป็น “ผู้นำประเทศ” มากกว่า “แพทองธาร” ที่ต้องยอมรับว่ายังติดภาพ “คุณหนู” และยังสอบไม่ผ่านในแง่ประสบการณ์
ขณะที่ในแง่การเมืองเอง “เสี่ยนิด” ก็มีจุดยืนที่ชัดเจน เคยวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่บ่อยครั้ง และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศเรียกไปรายงานตัวด้วย
ช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา “เศรษฐา” ตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งวิจารณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนของรัฐบาลด้วย ควบคู่กับการเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายหาหนทางแก้ไขด้วยสันติวิธี
ทั้งยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 และระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับแรก เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ที่ไล่เรียงมา ก็เชื่อว่า “ทักษิณ” คงเห็นเงาตัวเองในตัว “เศรษฐา” ที่เป็นนักธุรกิจที่กล้าพูด-กล้าตัดสินใจ คล้ายกับตัวเองในอดีต และโจทย์สำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือการชูนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเหนือกว่าเรื่องการเมือง
แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยจึงควรมีจุดขายที่เด่นชัดในแง่เศรษฐกิจด้วย
เข้าใจว่า “ทักษิณ” คงมองคู่ท้าชิงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ไม่น่าจะเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือทายาท แต่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจ อีกทั้งมีฐานการเมืองจาก “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ผ่านการควบคุมโดย “ครูใหญ่เซราะกราว” เนวิน ชิดชอบ อดีตลูกน้องคนสนิทที่รู้มือกันดี
การดัน “เสี่ยนิด” ขึ้นมาชนกับ “เสี่ยหนู” จึงดูสมน้ำสมเนื้อ และเป็นมวยถูกคู่กันมากกว่าที่จะฝืนดัน “ลูกสาวตัวเอง” ให้เกิดข้อครหาการสืบทอดอำนาจของ “ตระกูลชินวัตร” ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคและคดีความต่างๆ รวมถึง “อุบัติเหตุทางการเมือง” แบบไม่คาดฝัน ซึ่งไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะไม่เกิดขึ้น
รวมทั้งโปรไฟล์ความสำเร็จในทางธุรกิจ รวมไปถึงหลักคิดมิติต่างๆ ก็น่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่ “นักธุรกิจ-ชนชั้นกลาง-ชนชั้นนำ” มากกว่า “อุ๊งอิ๊ง” ที่วัยวุฒิยังอาจจะไม่ถึงขั้นจะขึ้นเป็นผู้นำประเทศในรอบนี้ อีกทั้งคนก็เคยเข็ดขยาดกับ “คุณหนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ติดภาพ “คุณหนู” มาแล้วครั้งหนึ่ง
ที่สำคัญคือ แม้ “เศรษฐา” เองแม้จะมีแนวคิดทางการเมืองที่ชัดเจน แต่ก็ไม่แหลมคมถึงขั้นทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือกระทบกระทบประเด็นอ่อนไหวให้เกิดความไม่สบายใจหรือแรงต่อต้านที่รุนแรงในสังคม
หากประเมินอย่างเป็นกลาง ก็ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทย มีภาษีดีที่สุดในดารเลือกตั้งครั้งหน้า แม้อาจจะไม่ถึงขั้นแลนด์สไลด์เหมือนสมัยเลือกตั้งปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทย ชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ก็น่าจะเพียงพอที่จะชนะเลือกตั้งครั้งหน้าได้
ไม่ต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส.มาเป็นที่หนึ่ง แต่ปัญหาสำคัญคือไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้
ดังนั้นตัวแคนดิเดตนายกฯ จึงมีความสลักสำคัญไม่เพียงแต่การนำพรรคชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ยังต้องสามารถเป็นตัวเลือกที่จะทำให้การตั้งรัฐบาลสำเร็จได้ด้วย
ครั้นจะดันให้ “แพทองธาร” เป็นนารีขี่ม้าขาวคนที่ 2 ก็ดูจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ไม่ได้เป็นรัฐบาล ด้วยติดภาพ “ทายาทสายตรงทักษิณ” ที่ดูจะติดขัดในหลายประเด็นและไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าที่ควร
และว่ากันว่า การที่ “พ่อษิณ-แม่อ้อ” ส่ง “อุ๊งอิ๊ง” ออกหน้าทางการเมืองงวดนี้ หาใช่ภารกิจเพื่อให้มาเป็นนายกฯ แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการให้เป็นตัวดึงแฟนคลับเก่าๆ ให้กับมาเลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ดังนั้น จึงวางตัวเอาไว้ในตำแหน่งพิเศษคือเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อช่วงชิงความนิยมจากคนรุ่นใหม่กับพรรคก้าวไกล และนำ “เดอะเต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำมวลชนเสื้อแดงมาเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยเพื่อดึงดูดใจคนเสื้อแดง รวมทั้งเพื่อกรุยทางให้ “พ่อ-อา” กลับบ้านแบบไร้ทิน
แน่นอนว่า การใช้ยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว เห็นได้จากการที่คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการนำยุทธศาสตร์นี้มาใช้
ส่วนอนาคต “ลูกอิ๊ง” จะขึ้นไปถึงเก้าอี้นายกฯ หรือไม่ คงต้องรอลุ้นในงวดต่อๆ ไป หลังภารกิจแรกสำเร็จเสียก่อน เพราะต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของ “คุณหนู” ที่มีประสบการณ์น้อยเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของ “อุ๊งอิ๊ง” ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางกลุ่มลังเลที่จะสนับสนุน เพราะไม่มั่นใจว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว คุณหนูอย่างเธอจะมีศักยภาพและความสามารถเพียงพอในการบริหารประเทศในยามที่กำลังประสบกับสารพัดวิกฤตได้หรือไม่
ขณะที่เมื่อเทียบแบบปอนด์ต่อปอนด์กับ “เศรษฐา” ซึ่งมีภาพลักษณ์ของ “ซีอีโอ” เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้มั่งคั่งที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจน่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า “คุณหนูอุ๊งอิ๊ง”
นั่นเป็นหลายปัจจัยที่ทำให้ชั่วโมงนี้ ชื่อของ “เศรษฐา ทวีสิน” ได้รับความสนใจและเสียงตอบรับจากบรรดากองเชียร์ ตลอดรวมถึงสังคมมากกว่า เรียกว่ามาแรงแซงหน้า “แพทองธาร ชินวัตร” กันเลยทีเดียว
กระนั้นก็ดี การปรากฏชื่อ “เศรษฐา” ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ คู่กับ “อุ๊งอิ๊ง” ได้ส่งผลในเชิงบวกกับยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยในภาพรวมมากกว่า
เรียกว่า สอดประสานและเสริมพลังซึ่งกันและกันคงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี สมมติว่า ฉากทัศน์ของพรรคเพื่อไทยไม่ผิดไปจากนี้ และถ้า “เศรษฐี” ที่ชื่อ “เศรษฐา” ก้าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” จริง สิ่งที่ต้องติดตามและจับตาก็คือ “เศรษฐา” จะเป็น “ซีอีโอของประเทศไทย” หรือเป็นแค่ “ซีอีโอของกงสีครอบครัวชินวัตร”.