ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ขยายวงกว้างส่งผลกระทบกับโบราณสถานในเมืองไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะโบราณสถานพื้นที่ลุ่มต่ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเกิดเหตุน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปีกระทบโครงสร้างโบราณ ซึ่งประเด็นการอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้คงคุณค่าอย่างยั่งยืนเป็นโจทย์สำคัญของรัฐ เพราะโบราณสถานจัดเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ทั้งนี้ โบราณสถานทั่วประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนมาก และน้ำล้นตลิ่งมีจำนวน 82 แห่ง แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย เสี่ยงมาก จำนวน 8 แห่ง เช่น เมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม จ.เชียงใหม่ และปราสาทตามอญ จ.สุรินทร์ รวมทั้ง พื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษและต่อเนื่องคือ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เสี่ยงปานกลาง จำนวน 37 แห่ง เช่น ปราสาท (อิฐ) บ้านไผ่ จ.สระแก้ว กู่โพนระฆัง จ.ร้อยเอ็ด กู่ประภาชัย จ.ขอนแก่น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และ เสี่ยงน้อย จำนวน 37 แห่ง เช่น วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี วัดโขลงสุวรรณคีรี (คูบัว) จ.ราชบุรี ปราสาทกังแอน จ.สุรินทร์ กู่แก้วสี่ทิศ จ.ศรีสะเกษ ปรางค์กู่ จ.ร้อยเอ็ด รวมทั้งโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โบราณสถานในเวียงท่ากาน จ.เชียงใหม่ และโบราณสถานในเมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย
นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติการเฝ้าระวังโบราณสถานอย่างต่อเนื่อง ส่วนโบราณสถานที่อยู่ในการดูแลของวัดและเอกชนได้ประสานเครือข่ายภาคประชาชนของกรมศิลปากรเข้ามาช่วยดูแล อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าจับตาสำหรับโบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งประวัติศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของโบราณสำคัญทรงคุณค่าจำนวนมาก โดยเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาได้ทำคันป้องกันน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันโบราณสถานในเกาะเมืองได้เกือบทั้งหมด จะมีเพียงป้อมเพชร และระหัสวิดน้ำในพระราชวังโบราณเท่านั้นที่ถูกน้ำท่วม ส่วนพื้นที่นอกเกาะเมือง เป็นพื้นที่ที่โบราณสถานได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยพื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือและบริเวณริมลำน้ำ
ขณะนี้โบราณสถานในพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 67 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงไว้แล้ว ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้เมื่อถูกน้ำแช่ขังได้โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างความมั่นคง แต่อาจมีความเสียหายบ้างในเรื่องการชำรุดเล็กน้อยของวัสดุ เช่น อิฐผุกร่อน เปื่อยยุ่ย ซึ่งสามารถสกัดเปลี่ยนได้ เนื่องจากอิฐผิวนอกของโบราณสถานส่วนใหญ่เป็นอิฐใหม่ที่สกัดเปลี่ยนเมื่อครั้งบูรณะ ส่วนโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่น้ำไหล หรือมีคลื่นที่จะมากระทบตัวโบราณสถาน เช่น ป้อมเพชร ได้ใช้แนวรั้วไม้ไผ่ผูกเป็นทุ่นเพื่อลดแรงจากกระแสน้ำ และคลื่นที่จะมากระทบ
ขณะที่โบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคง ได้ตั้งนั่งร้านเสริมความมั่นคงไว้แล้ว รวมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบอยู่เป็นประจำ กรมศิลปากรยืนยันว่าภาพรวมแล้วอุทกภัยปี 2565 จะไม่ทำความเสียหายกับโบราณสถานในด้านโครงสร้าง ไม่ทำให้โบราณสถานพังทลาย เพียงแต่จะเกิดความเสียหายกับวัสดุก่อสร้างซึ่งสามารถบูรณะฟื้นฟูได้ โดยภายหลังน้ำลดจะเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคงต่อไป
สำหรับโบราณสถานสำคัญนอกเกาะเมือง กรมศิลปากรได้ร่วมกับทางวัดต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการป้องกันน้ำ เช่น วัดไชยวัฒนาราม ได้เตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด ต่อแผงกันน้ำด้านหน้าวัด เสริมกระสอบทรายบนแนวกำแพงด้านทิศใต้ของวัด และปั้นคันดินบนแนวถนนทางด้านทิศเหนือของวัด โดยจะป้องกันน้ำได้อีก 65 เซนติเมตร สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554 อยู่ 20 เซนติเมตร หรือ วัดธรรมารามได้เตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด โดยการเสริมแนวกระสอบทรายด้านหน้า และด้านข้างวัด ซึ่งจะทำให้ป้องกันน้ำได้อีก 45 เซนติเมตร เท่ากับระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554 เป็นต้น
ด้านโบราณสถานสำคัญที่อยู่ในแนวพาดผ่านของพายุ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น พื้นที่โบราณในแถบภาคเหนือ โบราณสถานใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย โบราณสถานในพื้นที่ อ.เชียงแสน ที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ซึ่งการบริหารจัดการรับมือสถานการณ์อุทกภัยแหล่งโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนือจะแตกต่างกับพื้นที่ภาคกลาง เนื่องจากน้ำมาแล้วไปเร็วไม่ค่อยท่วมขังนาน อีกทั้งพื้นที่โบราณสถานส่วนใหญ่มีการเสริมความมั่นคง เพียงแต่ต้องเฝ้าระวังกรณีเกิดพายุพัดที่ทำให้กระเบื้องหลุดร้าว ต้องดำเนินการซ่อมแซม สำหรับโบราณสถานในพื้นที่ลุ่มต่ำ และแหล่งชุมชนได้มีการติดตั้งปั๊มน้ำรองรับหากมีน้ำไหลเข้ามาท่วมขัง
ทั้งนี้ โบราณสถานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกถือว่าโบราณสถานเป็นทรัพย์สินของประเทศ โดยรัฐบาลในฐานะผู้บริหารราชการจะต้องตั้งองค์กร รวมทั้งจัดทำงบประมาณในการดูแลรักษาทรัพย์สิน สำหรับประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการอนุรักษ์ แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ 1. การสงวนรักษา การดูแลรักษาไว้ตามสภาพของเดิมเท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป 2. การปฏิสังขรณ์ การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา และ 3. การบูรณะ การซ่อมแซม และปรับปรุง ให้รูปทรงมีลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มี อยู่เดิมและสิ่งที่ทำขึ้นใหม่
บทความเรื่อง “โบราณสถานกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติ” โดย นิคม มูสิกะคามะ เผยแพร่ผ่าน www.silpa-mag.com สะท้อนว่า “แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินทองของอารยธรรมโบราณในคาบกลางแหลมอินโดจีน” โดยระบุตอนหนึ่งถึงแนวทางการอนุรักษ์โบราณสถาน ความว่า
“แนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 โบราณสถานหรือทรัพย์สินทางศิลปะและทางประวัติศาสตร์นั้น เป็นเกียรติยศของบรรพชนในอดีตและเกียรติภูมิของแผ่นดิน ที่ห้ามแตะต้องดัดแปลงแก้ไขใดๆ ทั้งปวง หรือหากจำเป็นจะต้องทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็ต้องระมัดระวังจะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใดๆ ไม่ได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นของต้องห้าม มีเท่าไรก็ดูไปเท่านั้น บทบาทของโบราณสถานสนองคุณทางสังคมด้านเดียว ประชาชาติขาดประชาธิปไตยในการเรียกร้องสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโบราณสถาน นักวิชาการ ขุนนางและนายทุนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นมีสิทธิ์เสรีในการชื่นชมและควบคุมกลไกกำหนดบทบาทของโบราณสถาน ตลอดจนทรัพยากรทางวัฒนธรรมทั้งปวง
“ระยะ 40 ปีต่อมา สภาวะเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชาติเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการขนส่ง และความเคร่งเครียดทางอุตสาหกรรม สถานะของโบราณสถานที่ผุกร่อนค่อยๆ ร่อยหรอลงตามกาลเวลา ในขณะที่พื้นที่ดินราคาแพงขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนเป็นเมือง นายช่างสถาปนิกที่ขาดความศรัทธาต่อซากของอาคารในอดีต ทำให้นักอนุรักษ์ซึ่งมาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ เห็นว่าหากเปลี่ยนให้โบราณสถานตายด้านต่อสังคมที่เคลื่อนไหวแล้ว หลักฐานอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตจะไม่เหลืออะไรเลย
สถาบันที่เรียกร้องให้แต่ละประเทศอนุรักษ์และพัฒนาเปลี่ยนบทบาทของโบราณสถานมารับใช้สังคมและเศรษฐกิจ ก็คือ องค์การ UNESCO กระทั่งโบราณสถานไม่ได้เป็นเพียงซากร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจตลอดจนการเมือง บางประเทศใช้โบราณสถานเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า ดุลย์การชำระเงินและเป็นการเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในรูปของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
โบราณสถานไม่เพียงมีประวัติศาสตร์ทรงคุณค่ามาอย่างยาวนาน แต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ต้องอนุรักษ์อย่างยั่งยืน