ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เรื่อง ป้อมแม่หม้ายที่ด่านฮว๋างหยา จริงเท็จอย่างไรคงตอบได้ยาก แต่ที่แน่ ๆ คือ หากเป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีมูลความจริงแล้ว ก็คงเป็นเรื่องเล่าที่มีเค้ามาจากเรื่องจริงอย่างแน่นอน เพราะการเกณฑ์ชายที่มีครอบครัวแล้วมาสร้างกำแพงในยุคนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ชั่วอยู่แต่ว่าชายที่ถูกเกณฑ์เป็นชนชาติจีนหรือชนชาติที่มิใช่จีน (Non-Han peoples) เท่านั้น
เพราะงานศึกษานี้ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า บางสมัยที่จีนมีเอกภาพและมีราชวงศ์ของชาวจีนเป็นผู้ปกครองแล้วมีการสร้างกำแพง แรงงานที่ถูกเกณฑ์มักจะเป็นชายชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เป็นชายชนชาติที่มิใช่จีนเป็นส่วนน้อยที่อาจถูกเกณฑ์มาในฐานะเชลยก็ได้
แต่ถ้าสมัยใดที่จีนไร้เอกภาพ ประเทศแตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย และบางรัฐมีผู้ปกครองเป็นชนชาติที่มิใช่จีน แล้วผู้ปกครองรัฐนั้นจะสร้างกำแพงเมืองจีน แรงงานเกณฑ์ก็จะเป็นชนชาติที่มิใช่จีนเป็นส่วนใหญ่ และแรงงานจีนเป็นส่วนน้อย
ประเด็นที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ชายจีนหรือมิใช่จีนสมัยก่อนมักแต่งงานก่อนอายุ 20 ชายในจีนเวลานั้นจึงมีครอบครัวแล้วเป็นส่วนใหญ่
และหากชายเหล่านี้เกิดในยุคที่มีการสร้างกำแพง การถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานเพื่อสร้างกำแพงจึงย่อมเกิดขึ้นได้ และด้วยเหตุที่การสร้างกำแพงในบางแห่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร หรือเป็นภูเขาใหญ่น้อยไม่รู้กี่ต่อกี่ลูก ความหฤโหดของสภาพพื้นที่เช่นนี้ย่อมมีความเสี่ยงอยู่ด้วย และเมื่อมาประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นด้วยแล้ว การที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือป่วยไข้ระหว่างสร้างกำแพงจึงย่อมเกิดขึ้นได้
เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะเสียชีวิตจึงมีอยู่สูง
เรื่องเล่าที่ว่าหากมิใช่เรื่องจริงก็ย่อมมีเค้าจากเรื่องจริงปนอยู่ แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องจริง โดยหญิงทั้ง 12 คนดังกล่าวคงเป็นหญิงที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน จนเมื่อสามีถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงแล้วจึงได้นัดแนะกันมาเยี่ยมสามี ส่วนข้างฝ่ายสามีของทั้ง 12 คนก็คงทำงานสร้างกำแพงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน ส่วนเหตุที่เสียชีวิตน่าจะเป็นอุบัติเหตุมากกว่าที่จะป่วยไข้ และอุบัติเหตุนั้นก็ทำให้ทุกคนตายพร้อมกันในคราวเดียวเช่นนั้น
ส่วนที่ว่าแม่หม้ายทั้ง 12 สมัครใจที่จะสร้างกำแพงนั้น ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องจริง แต่ที่เรื่องเล่านี้เล่าให้เป็นเช่นนั้นก็เพื่อจะบอกว่า การสร้างกำแพงเป็นโครงการใช้แรงงานเกณฑ์ หรือทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นที่นั้นสร้างกันขึ้นมาด้วยความสมัครใจ
ครั้นพอตายไป (จะด้วยเหตุใดก็ตามที) ผู้เป็นภรรยาที่เดินทางมาตามหาสามีแล้วรู้ว่าสามีของเสียชีวิตแล้ว ก็ยังสู้อุตส่าห์สมัครใจที่จะช่วยสร้างกำแพงให้อีก แทนที่จะรีบกลับบ้านไปดูแลครอบครัวที่กำลังคอยตนอยู่ดังคำปลอบใจของขุนศึกชีจี้กวาง
การสมัครใจสร้างกำแพงของเรื่องเล่าเรื่องนี้จนถึงกับตั้งชื่อป้อมว่า “ป้อมแม่หม้าย” ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกำแพงเมืองจีนไปด้วยในตัว ว่าไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ใครให้มาสร้างเสมอไป หากที่สมัครใจมาช่วยสร้างก็มีเหมือนกัน
อิฐก้อนที่ 99,999 ที่ด่านเจียอี้ว์
ด่านเจียอี้ว์ (เจียอี้ว์กวาน) เป็นหนึ่งในด่านของกำแพงเมืองจีน ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ระเบียงเหอซี (เหอซีโจ่วหลาง, Hexi Corridor) ในมณฑลกันซู่ ด้วยเหตุนี้ ในบางที่จึงเรียกระเบียงนี้ว่า ระเบียงกันซู่ ด่านนี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง เป็นด่านที่พ่อค้าและคณะทูตต่างชาตินิยมใช้เป็นทางผ่านเข้าสู่จีน
พื้นที่ในบริเวณนี้จึงเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมาก่อนที่จะมีด่านนี้ การเกิดขึ้นของด่านนี้ในด้านหนึ่งจึงมาจากเหตุผลทางการค้าและการต่างประเทศ นอกเหนือไปจากเหตุผลด้านความมั่นคงที่มีอยู่แต่เดิม
เรื่องเล่าของด่านนี้มีอยู่ว่า ตอนที่มีการสร้างด่านนี้ นายช่างผู้สร้างด่านชื่อ อี้ไคจั้น ได้คำนวณว่า ด่านนี้จะต้องใช้อิฐทั้งสิ้น 99,999 ก้อนในการสร้าง ครั้นนายกองที่คุมการสร้างกำแพงได้ยินเช่นนั้นก็ไม่เชื่อว่าอี้ไคจั้นจะคำนวณได้แม่นยำขนาดนั้น การท้าทายของทั้งสองจึงเกิดขึ้น
โดยอี้ไคจั้นท้าว่า หากตนคำนวณผิดก็พร้อมที่จะให้ลงโทษ ข้างนายกองก็ตอบรับคำท้าว่า หากอี้ไคจั้นคำนวณผิดก็จะตัดหัวอี้ไคจั้น อี้ไคจั้นยอมรับคำท้านั้น โดยนายกองยอมหาอิฐมาให้เต็มจำนวนที่อี้ไคจั้นต้องการ นั่นคือ อิฐจำนวน 99,999 ก้อน
ครั้นเวลาผ่านไป กำแพงในส่วนของด่านเจียอี้ว์ก็สร้างแล้วเสร็จ แต่ปรากฏว่าอิฐถูกใช้ไปในการสร้างกำแพง 99,998 ก้อน ทำให้เหลืออิฐอยู่หนึ่งก้อนซึ่งผิดไปจากที่คำนวณไว้ นั่นหมายความว่าอี้ไคจั้นเป็นฝ่ายแพ้และต้องเสียหัวให้กับนายกอง จากเหตุนี้ นายกองจึงทวงเอาหัวจากอี้ไคจั้น
แต่แทนที่อี้ไคจั้นจะยอมรับว่าตนแพ้ เขากลับบอกกับนายกองว่า ตนได้ใช้อิฐไปเต็มจำนวนแล้วจริงๆ โดยอิฐที่เหลือหนึ่งก้อนนั้นจะถูกวางไว้บนกลางระเบียงด้านบนเหนือประตูของด่าน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างกำแพงแต่อย่างไร นายกองจึงโต้แย้งความไร้เหตุผลของอี้ไคจั้น
แต่อี้ไคจั้นยืนยันว่า อิฐที่วางอยู่บนระเบียงที่ว่ามีความสำคัญยิ่ง โดยหากใครยกหรือเคลื่อนย้ายอิฐก้อนนี้ออกจากจุดที่วางบนระเบียงแล้ว ทั้งด่านทั้งกำแพงจะพังทลายลงทันที เช่นนี้แล้วตนก็จะไม่ขอรับผิดชอบใด ๆ และด้วยเหตุนี้ อิฐก้อนที่ว่าจึงย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกำแพง และการใช้อิฐของตนจึงใช้เต็มจำนวน 99,999 ก้อนตามที่ได้คำนวณเอาไว้
ครั้นนายกองได้ยินเช่นนั้นก็ไม่กล้าแย้ง และไม่กล้าเคลื่อนย้ายอิฐก้อนนั้น ด้วยเกรงว่ากำแพงจะทลายลงมา นายกองจึงได้แต่ปล่อยให้อิฐก้อนนั้นวางอยู่ตรงระเบียงดังกล่าว ส่วนอี้ไคจั้นก็ไม่ต้องเสียหัวให้นายกอง
ทุกวันนี้หากใครได้ไปเยือนด่านเจียอี้ว์และขึ้นไปบนกำแพงแล้ว ก็จะเห็นมีอิฐก้อนหนึ่งวางอยู่ที่กลางระเบียงเหนือประตูด่าน อิฐก้อนนี้ไม่ได้ถูกก่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกำแพง หากวางไว้เฉย ๆ เช่นนั้นจนไม่รู้ว่ามาวางไว้ทำไม และไม่มีใครคิดจะเคลื่อนย้ายอิฐก้อนนี้ออกไปเช่นกัน จนทำให้ด่านนี้มีจุดเด่นที่ชวนพิศวงจากอิฐก้อนนี้ ว่าเหตุใดจึงถูกวางไว้เช่นนั้น
เรื่องเล่าเรื่องนี้มองได้สองทาง ทางแรก การใช้อิฐ 99,999 ก้อนและคำท้าดังกล่าวมีอยู่จริง จึงทำให้ไม่มีใครกล้าเคลื่อนย้ายอิฐก้อนนั้นออกไป โดยยังคงวางไว้เช่นนั้นเรื่อยมา
อีกทางหนึ่ง เรื่องที่ว่าไม่มีอยู่จริง แต่ระหว่างที่สร้างกำแพงได้มีการทำอิฐพร้อมกันไปด้วย ครั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็อาจบังเอิญเหลืออิฐอยู่หนึ่งก้อน แรงงานที่สร้างกำแพงไม่รู้จะทำอย่างไรกับอิฐก้อนนี้ดี จึงได้นำมันไปวางไว้ที่จุดดังกล่าวให้ดูโดดเด่น จากนั้นก็ผูกเรื่องอิฐ 99,999 ก้อนขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวจีนถนัดเป็นพื้นเดิมอยู่แล้วในฐานะนักเล่าเรื่อง
การที่ชาวจีนเป็นนักเล่าเรื่องนี้ทำให้จีนมีเรื่องเล่าที่พิสดารมากมายทั่วประเทศจีน ใช่แต่เรื่องเล่าของกำแพงเมืองจีนเท่านั้น สถานที่ต่าง ๆ ในจีนไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่มนุษย์หรือธรรมชาติสร้างขึ้นมาก็ตาม มักจะมีเรื่องเล่าของสถานที่นั้นอยู่เสมอ บางเรื่องฟังดูแล้วก็รู้สึกได้ว่าเหนือจริง แต่บางเรื่องก็เล่าจนดูสมจริง
แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง เรื่องเล่าเหล่านี้ต่างก็มีทั้งที่เป็นสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรม