xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ: ปัจจัยของการเติบโตและการถดถอย (1) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามาทำให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ในบรรดาพรรคการเมือง ดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยมีการเติบโตอย่างร้อนแรงมากที่สุด เปิดเกมรุกรอบด้าน ดำเนินการหาเสียงอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะที่พรรคพลังประชารัฐดูซบเซา ระส่ำระสาย แตกแยก และส่อแววถดถอยมากที่สุด

ความร้อนแรงของพรรคเพื่อไทยเห็นได้ชัดจากการสำรวจคะแนนนิยมของพรรคการเมืองครั้งที่ 3/2565 ในเดือนกันยายนของนิด้าโพล พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยม 34.44 % สูงที่สุดในบรรดาพรรคการเมือง และในการสำรวจแบบเจาะในรายภาคเมื่อต้นเดือนตุลาคม ซึ่งเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมสูงถึง 54.35 % ความนิยมนี้ยังเห็นได้จากผลการเลือกตั้งจริงอย่างเป็นรูปธรรมในการเลือกตั้งซ่อมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์และร้อยเอ็ดที่ผ่านมา ซึ่งผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นทั้งสองจังหวัด

ปัจจัยที่ทำให้ความนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นมาจากทั้งภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกคือ ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ส่วนปัจจัยภายในคือ การสนับสนุนทุกมิติอย่างเต็มพิกัดของตระกูลชินวัตร การใช้ยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทย การตอกย้ำผลิตซ้ำคำขวัญ “แลนด์สไลด์” การนำเสนอนโยบายที่สร้างความหวังทางเศรษฐกิจ การเลือกเสนอชื่อบุคคลที่มีศักยภาพการบริหารสูงเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ และการเปิดประตูรับ ส.ส. ที่เคยอยู่พรรคเพื่อไทยมาก่อนคืนกลับมา

ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงสามปีเศษที่ผ่านมา ประชาชนสามารถรับรู้ได้ไม่ยากนักผ่านประสบการณ์ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าบริโภคราคาแพง รายได้ประชาชนลดลง ขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กและกลางล้มละลายเป็นจำนวนมาก คนตกงานมากขึ้น และผู้คนจำนวนมากต่างรู้สึกสิ้นหวังกับการยกระดับคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจของตนเอง

ในทางการเมือง รัฐบาลประยุทธ์ทำให้คุณภาพของประชาธิปไตยลดลง มีการรวมศูนย์อำนาจการบริหารอย่างเข้มข้น จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ต่อต้านการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยการไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มุ่งเพิ่มอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ปราบปรามจับกุมผู้ต่อต้านรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอย่างเข้มงวด และนำแบบแผนการเมืองน้ำเน่าแบบเก่ามาใช้เพื่อรักษาอำนาจในช่วงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

รัฐบาลประยุทธ์ยังทำให้ปัญหาสังคมขยายตัวและมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ลงลึกและกระจายไปทั่วทุกชุมชน ยาเสพติดราคาถูกและหาง่ายราวกับลูกกวาด อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และที่สำคัญคือสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสาธารณะไม่เว้นวัน ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและแพร่ระบาดไปทั่วทุกหน่วยงานของรัฐ ลำดับประเทศที่มีการทุจริตของประเทศไทยที่สำรวจโดยองค์การต่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเกิดโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่โดยทหารและอดีตตำรวจชั้นประทวนถึง 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยปรากฏในรัฐบาลใดมาก่อน แต่กลับปรากฏขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์

การบริหารประเทศล้มเหลวในทุกมิติส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่เคยสนับสนุน และกลุ่มที่วางเฉยกับปัญหาบ้านเมือง สูญสิ้นความเชื่อถือและความนิยมต่อนรัฐบาลประยุทธ์ ผู้คนจำนวนไม่น้อยของกลุ่มเหล่านี้จึงหันไปฝากความหวังกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย และบางส่วนก็หันไปสนับสนุนพรรคก้าวไกล

การสนับสนุนทุกมิติอย่างเต็มพิกัดต่อพรรคเพื่อไทยของตระกูลชินวัตรก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น บุคคลสำคัญของตระกูลชินวัตรทั้งนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ต่างก็ทุ่มเทสนับพรรคเพื่อไทยอย่างที่ภายใต้การแสดงบทบาทในแง่มุมที่แตกต่างกัน นายทักษิณ ชินวัตรแสดงบทบาททางความคิดเสนอแนวคิดทางเศรษฐกิจ การเมือง และวิพากษ์การทำงานรัฐบาลประยุทธ์อย่างเข้มข้น ผ่านการเสวนาทางสื่อออนไลน์ที่ชื่อคลับเฮ้าส์ทุกวันอังคาร น.ส. แพทองธาร ชินวัตร แสดงบทบาทเป็นแกนนำขับเคลื่อนสร้างความนิยมแก่พรรคในการรณรงค์หาเสียงอย่างเข้มข้นด้วยฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร แสดงบทบาทการสนับสนุนอยู่ข้างหลัง แต่ก็ปรากฏตัวในที่สาธารณะให้เห็นอย่างชัดเจน กล่าวได้ว่าตระกูลชินวัตรชี้นำความคิดผ่านนายทักษิณ เคลื่อนไหวขับเคลื่อนการเมืองผ่านน.ส.แพทองธาร และการสร้างความมั่นใจในเรื่องการมีทรัพยากรเพื่อการเลือกตั้งผ่านการปรากฏตัวในที่สาธารณะของคุณหญิงพจมาน

การใช้ยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยให้เป็นองค์กรคู่ขนานกับพรรค ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการขยายฐานเสียงใหม่ กระชับฐานเสียงเดิม และรื้อฟื้นความสัมพันธ์เก่ากับกลุ่มมวลชนเสื้อแดงผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในอดีตให้หวนคืนกลับมา ภายใต้เป้าหมายนี้ ครอบครัวเพื่อไทยจึงกำหนดให้น.ส. แพทองธาร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อช่วงชิงความนิยมจากคนรุ่นใหม่กับพรรคก้าวไกล และนำนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำมวลชนเสื้อแดงมาเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยเพื่อดึงดูดใจคนเสื้อแดง ยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว เห็นได้จากการที่คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการนำยุทธศาสตร์นี้มาใช้ (ก่อนใช้ยุทธศาสตร์นี้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย 25.89 % หลังมีการนำยุทธศาสตร์นี้มาใช้ คะแนนนิยมเพิ่มเป็น 36.36 % -ดูในนิด้าโพล การสำรวจคะแนนนิยมครั้งที่ 2/2565)

การผลิตและตอกย้ำคำขวัญ “แลนด์สไลด์” เพื่อตรึงใจผู้สนับสนุน แลนด์สไลน์เป็นเป้าหมายชนะการเลือกตั้งแบบท่วมท้น ที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. เกินครึ่ง หรือ 250 ที่นั่งขึ้นไปในสภาผู้แทนราษฎร คำขวัญนี้มีพลังดึงดูดใจและสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งสร้างความหวังแก่ประชาชนว่าพรรคที่พวกเขาเลือกจะกลายเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คำขวัญนี้สอดคล้องกับความคิดในการลงคะแนนเสียงของประชาชนที่มีวิธีคิดแบบ “ยืนข้างผู้ชนะ” กล่าวคือมีประชาชนจำนวนมากที่มักลงคะแนนแก่พรรคการเมืองที่พวกเขาคาดว่าจะได้เป็นรัฐบาล เมื่อประชาชนมีความรู้สึกว่า พรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาลสูง พวกเขาก็มีแนวโน้มจะเลือกพรรคเพื่อไทยมากขึ้น

การเสนอนโยบายที่สร้างความหวังทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ประชาชนจำนวนมากรับรู้ว่า เป็นพรรคที่ทำตามสัญญาระหว่างหาเสียง เมื่อใช้นโยบายใดหาเสียง โดยเฉพาะนโยบายที่พรรคถือว่าเป็นนโยบายสำคัญ ก็มักจะนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติจริง ดังเช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายจำนำข้าว เป็นต้น ดังนั้นการนำเสนอนโยบายของพรรคเพื่อไทยจึงมักได้รับความเชื่อถือจากประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย ล่าสุดในต้นเดือนตลุลาคม 2565 พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายบันได 4 ขั้น คือ 1) การสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศและประชาชน 2) การสร้างรายได้ใหม่ แก้หนี้สินด้วยการเพิ่มรายได้ทวีคูณ 3) การสร้างสังคมใหม่ ที่มั่นคงประชาชนมีความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม และ 4) การสร้างการเมืองใหม่ ที่รัฐธรรมนูญมาจากประชาชนและการมีหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง นโยบายเหล่านี้เน้นย้ำคำว่า “ใหม่” เพื่อก่อให้เกิดการเปรียบเทียบที่ชัดเจนกับสภาพสังคมปัจจุบันที่กำลังเกิดภาวะถดถอยในทุกมิติ

การเสนอชื่อบุคคลที่ศักยภาพสูงเป็นตัวเลือกในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงแรกที่มีการเปิดตัว น.ส. แพทองธาร ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เธอจะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรค เธอได้รับการตอบรับจากประชาชนพอสมควร เพราะเพียงไม่นานที่เธอปรากฏตัวขึ้นมาในเวทีการเมือง คะแนนนิยมของเธอก็สูงกว่านักการเมืองคนอื่น ๆ รวมทั้งพลเอกประยุทธ์ด้วย อย่างไรก็ตาม น.ส. แพทองธารถูกวิจารณ์ว่า มีอายุน้อยและไม่มีประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ความนิยมที่ได้รับมาจากความนิยมที่สืบทอดจากบิดาของเธอ ข้อวิจารณ์นี้ดูเหมือนเป็นจริงรองรับ ดังเห็นได้จากคะแนนนิยมส่วนตัวของ น.ส. แพทองธารต่ำกว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย การมีอายุและประสบการณ์น้อยจึงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของ น.ส. แพทองธาร ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางกลุ่มลังเลที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพราะไม่มั่นใจว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และน.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เธอจะมีศักยภาพและความสามารถเพียงพอในการบริหารประเทศในยามที่กำลังประสบกับวิกฤติการณ์ได้หรือไม่

ในที่สุด เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 พรรคเพื่อไทยก็ได้เปิดตัวบุคคลที่คาดกันว่าพรรคจะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นอีกคน นั่นคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้มั่งคั่งที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ด้วยประวัติและภูมิหลังการทำงานด้านธุรกิจของนายเศรษฐา จึงมีการคาดการณ์ว่า จะสร้างความเชื่อมั่นแก่กลุ่มภาคธุรกิจและชนชั้นกลางได้ไม่น้อยทีเดียว และทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นซึ่งยังลังเลอยู่ เปลี่ยนใจมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

การเปิดประตูรับ ส.ส. ที่เคยสังกัดพรรคในอดีตกลับเข้ามา เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยนำมาใช้ อันที่จริงวิธีการนี้นายทักษิณ เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในช่วงที่มีการจัดตั้งพรรคไทยรักไทย และก่อนการเลือกตั้งในปี 2544 ต่อมาในยุคหลังการรัฐประหารและการเลือกตั้งปี 2562 อดีต ส.ส.บางส่วนที่เคยอยู่พรรคเพื่อไทยย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ในปัจจุบันดูเหมือนกระแสลมการเมืองจะหวนกลับอีกครั้ง ด้วยเหตุที่กระแสนิยมของพรรคเพื่อไทยที่เพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วทำให้พรรคมีพลังในการดึงดูดใจนักการเมืองให้เข้ามาร่วมกับพรรคมากขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตณ์การเปิดประตูรับกลับคืน จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับชัยชนะแบบแลนด์สไลน์นั่นเอง

กลุ่ม ส.ส. ที่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาร่วมกับพรรคเพื่อไทยมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสามมิตรที่นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยที่นำโดยนายธรรมมนัส พรหมเผ่า และ กลุ่มส.ส.กลุ่มปากน้ำ เป็นต้น วิธีคิดของ ส.ส.เหล่านี้คือ พวกเขาต้องการชนะเลือกตั้ง และพวกเขาคิดว่าการมาอยู่พรรคเพื่อไทยจะทำให้พวกเขาชนะการเลือกตั้งได้ เพราะจะได้รับการเกื้อหนุนจากกระแสนิยมของพรรค ส่วนวิธีคิดของพรรคเพื่อไทยที่รับ ส.ส. ต่างพรรคที่มีฐานเสียงแน่นในเขตเลือกตั้งเข้ามา ก็เพราะต้องการลดความเข้มข้นในการแข่งขันระดับพื้นที่ และสร้างโอกาสให้พรรคให้บรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีแกนนำของพรรคเพื่อไทยบางส่วนเห็นว่า การรับ ส.ส.เหล่านั้นเข้ามาอาจทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสียหาย เพราะพวกเขาร่วมงานกับรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยประณามว่าเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ ถึงกระนั้นดูเหมือนว่า ผู้มีอิทธิที่แท้จริงต่อพรรคไม่ใช่แกนนำที่เป็นทางการของพรรค แต่เป็น “ผู้นำเงา” แห่งแดนไกล ซึ่งมักจะเป็นผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายในเรื่องสำคัญ ผู้นำเงาได้แสดงทัศนะออกมาแล้วต่อสาธารณะว่า ไม่รังเกียจ ส.ส. กลุ่มนี้แต่อย่างใด ตราบใดที่พวกเขาไม่เคยแสดงท่าทีที่เป็นปรปักษ์กับพรรค ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า จะมี ส.ส. จำนวนไม่น้อยที่เรียกว่าเป็น “ศิษย์เก่า” ของพรรคเพื่อไทยจะหวนคืนกลับมา

ขณะที่ พรรคเพื่อไทยกำลังเดินไปสู่เส้นทางการเติบโตและกำลังรุ่งโรจน์ทางการเมืองในระบอบเลือกตั้ง ในอีกด้านหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐกำลังถดถอยและร่วงโรย ปัจจัยใดที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐประสบความล้มเหลวทางการเมือง โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะพลิกฟื้นสถานะเดิมเหมือนเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2562 มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และภายใต้เงื่อนไขปัจจัยใดบ้าง ในสัปดาห์หน้าจะมาตอบคำถามนี้ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น