xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“วิทยุทรานซิสเตอร์” ไม่เคยตกยุค เครื่องมือในตำนาน “เตือนภัยพิบัติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทันทีที่ความปรารถนาดีออกจากปากของ  “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่  “นายกรัฐมนตรี”  เมื่อพ้นพงหนามจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมในประเด็น “วาระ 8 ปี” โดยมีแนวคิดให้ใช้  “วิทยุทรานซิสเตอร์”  รับฟังการออกอากาศแจ้งเตือน หากระบบสื่อสารอื่นๆ ล่ม สืบเนื่องจากข้อกังวลสถานการณ์น้ำท่วมที่ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้างนั้น เกิดเสียงวิจารณ์ขรมว่าเป็นไอเดีย  “ล้าหลัง - ตกยุค”  หรือ  “ถอยหลังเข้าคลอง” 

ถึงกระนั้นแม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปเทคโนโลยก้าวไกลเพียงใด หากเปิดตาเปิดใจมองกว้างๆ ลบอคติออกไป จะพบว่า  “วิทยุทรานซิสเตอร์” ยังคงได้รับความนิยมตลอดกาลโดยเฉพาะตามพื้นที่ต่างจังหวัด ชาวบ้าวยังรับฟังกันอย่างถ้วนทั่ว รวมทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เรียกว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ถือเป็นเพื่อนคู่ใจฟังเพลงฟังข่าวคลายเหงากันเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจคือ กระแส  “ตู่ ทรานซิสเตอร์”  ส่งผลให้ตลาดวิทยุทรานซิสเตอร์กลับคึกคัก บางร้านขายดีเป็นเทน้ำเทท่า วิทยุทรานซิสเตอร์กระแสแรงแบบฉุดไม่อยู่ ไม่เพียงพอความต้องการเริ่มหาซื้อยาก บางแห่งเริ่มขาดตลาดบ้างแล้วก็มี

อีกทั้งระดับนานาชาติยอมรับว่าวิทยุทรานซิสเตอร์หนึ่งในอุปกรณ์เอาตัวรอดตามหลักสากล ควรมีติดบ้านไว้ เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นภัยพิบัติฉุกเฉิน การสื่อล่มขาดการติดต่อสื่อสารจากโลกภายนอก วิทยุทรานซิสเตอร์ จะเป็นเครื่องมือในการรับรู้ข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ

และย้อนกลับไป ปี 2554 เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่  “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”  ก็ได้ใช้สื่อสารผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ประสานงานในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมต่างๆ ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง เครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์อีกด้วย

ทั้งนี้ “ตู่ ทรานซิสเตอร์” กลายเป็นประเด็นร้อนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเกี่ยวกับการตั้งรับสถาการณ์น้ำท่วมปี 2565 ระบุว่า “ในกรณีที่เกิดปัญหาฉุกเฉินระบบการสื่อสารล่ม หน่วยงานราชการต่างๆ แจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบได้ยากลำบาก อาจจะต้องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชน เหมือนกรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ไฟฟ้าดับ และใช้การสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านวิทยุแทน” จนถูกจับจ้องจับผิดโดนถล่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดว่า ถึงวิสัยทัศน์ล้าหลังตกยุคไม่เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน

ทำให้  “ทีมโฆษกรัฐบาล”  รีบออกมาชี้แจงอย่างทันควัน พร้อมย้ำชัดๆ ว่าช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังคงได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนได้ดีทุกกลุ่มวัย เป็นเครื่องมือสื่อสารประสิทธิภาพดียามเกิดภัยพิบัติ

 นายอนุชา บูรพชัยศรี  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง การปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงมีความสำคัญในการเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อม เพื่อป้องกัน แก้ไขและบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น หรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

“ในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสื่อสารถึงประชาชนในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น ซึ่งวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด มีแทบทุกตำบล ทุกอำเภอ มีความเสถียร มีกฎ กติกา ที่ชัดเจนที่จะต้องออกอากาศในเวลาที่มีภัยพิบัติ” นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายขยายความ

อ้างอิงข้อมูล  บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันให้เห็นว่า ช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย จากพฤติกรรมการฟังวิทยุของคนในแต่ละช่วงอายุในเดือนส.ค. 2565 พบว่า กลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี ฟังวิทยุมากที่สุด 3.5 ล้านคน, กลุ่ม Gen Y อายุ 20-29 ปี ฟังวิทยุ 3.3 ล้านคน, กลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุ 2 ล้านคน และกลุ่ม Gen Z อายุ 12-19 ปี ฟังวิทยุ 8 แสนคน

ผลการสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน จัดทำโดยสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์, สำนักงาน กสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ Generation ข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565 ดังนี้

ส่วนอุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 68.9 ของกลุ่ม ผู้ฟังวิทยุยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์, ร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi, ร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต และร้อยละ 0.3 เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา คลื่นที่ใช้ในการรับฟังรายการวิทยุ

ตามหลักปฏิบัติสากลวิทยุทรานซิสเตอร์หนึ่งในอุปกรณ์ที่ถูกบรรจุอยู่ชุดอุปกรณ์เอาตัวรอดตามหลักสากล ต้องมีติดบ้านไว้ เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจทำให้ขาดการติดต่อสื่อสารจากภายนอก ซึ่งเครื่องรับวิทยุจะสามารถรับรู้ข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ได้

กล่าวได้ว่าวิทยุทรานซิสเตอร์คืออุปกรณ์ที่จำเป็นในยามที่เกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน รัฐบาลหลายประเทศแนะนำมหเประชาชนมีไว้ติดบ้านทั้งสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, นอรเวย์, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ

สำหรับประเทศไทย ปี 2554 เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สื่อสารผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ประสานงานในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมต่างๆ โดยได้จัดรายการวิทยุรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง เครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์อีกด้วย

ข้อมูลจากเพจ The Structure ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยุทรานซิสเตอร์เกี่ยวกับความสำคัญต่อการรับมือภัยพิบัติ และทำไมจึงยังเป็นอุปกรณ์ที่ทั่วโลกยังจวบจนปัจจุบัน ความว่า

"การสื่อสารเพื่อการเตือนภัยแก่ประชาชนในช่วงภัยพิบัติเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เลวร้ายถึงขีดสุดที่ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยล้มเหลวทั้งระบบ

การสื่อสารผ่านระบบคลื่นวิทยุ (Radio Wave) จึงเป็นทางเลือกที่ทุกประเทศเลือกใช้ เนื่องจากเป็นวิธีการสื่อสารที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปได้ไกลที่สุด โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างสายเคเบิล (Cable) หรือสายใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก; Fiber Optic) และมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นตั้งแต่เครื่องรับวิทยุแบบพกพา หรือเครื่องรับวิทยุในรถยนต์ ที่ทำให้ประชาชนสามารถรับฟังรายการโปรดของตนเองได้ทั้งในระบบคลื่นวิทยุแบบ F.M. (Frequency Modulation) และ A.M. (Amplitude Modulation)

แม้ในเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ พ.ศ. 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นก็เลือกใช้ระบบคลื่นวิทยุในการสื่อสารกับประชาชนของเขาเช่นกัน

การสื่อสารผ่านระบบคลื่นวิทยุ ถึงแม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดูเก่า แต่ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ สำหรับในประเทศไทย ผู้ขับขี่ยานพาหนะก็ยังคงใช้กันเป็นปกติ หรือในเขตชนบทชาวบ้านก็ยังใช้ทั้งเวลาอยู่บ้าน หรือออกไปทำงานตามพื้นที่ห่างไกล ละสำหรับในงานบรรเทาสาธารณภัย การสื่อสารผ่านระบบคลื่นวิทยุยังคงเป็นกระดูกสันหลังในการสื่อสารระหว่างทีมปฏิบัติงานอยู่เสมอ

นอกจากนี้ วิทยุกับบทบาทในยามเกิดภัยพิบัติ ยังถูกระยุอยู่ในประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ระบุว่า ให้ผู้ประกอบกิจการทุกรายจัดเตรียมความพร้อมในการรับหรือแสวงหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการออกอากาศ แจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ซึ่งผู้ประกอบกิจการจะต้องจำแนกข้อมูลสำหรับแจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงข่าวสารเพื่อทราบ ซึ่งได้แก่ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงทั่วไปที่อาจมีผลสืบเนื่องหรือนำไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

(2) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการเฝ้าระวัง ซึ่งได้แก่ ประกาศหรือข้อมูลที่มุ่งหมายให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชนเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน

(3) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือน ซึ่งได้แก่ ประกาศ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ใด ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นการกำหนดให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชนจะต้องปฏิบัติตามเพื่อการป้องกันหรือระงับยับยั้งความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน

 นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอความร่วมมือสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมในการออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารและการแจ้งเตือนให้ทันต่อสถานการณ์ โดยให้ความร่วมมือเมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐร้องขอ เนื่องจากปัจจุบันในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ต้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง รวมทั้งอาจเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน และสาธารณูปโภค

“วิทยุเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกและง่าย ซึ่งจะช่วยในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และแจ้งเหตุเตือนภัยกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินให้กับประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ด้วยความรอบคอบ ทันสถานการณ์ จะช่วยให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก” นายสมบัติกล่าว

ด้าน  “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์”  ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ภาพรวมของประเทศในการแจ้งข่าวเตือนภัย หนีไม่พ้นการสื่อสารผ่านทางโทรทัศน์สำหรับคนอาศัยอยู่ในเมือง แต่คนในท้องถิ่นจะได้ข้อมูลดีที่สุดจากผู้นำชุมชน ไม่ต้องฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์ แม้จะเกิดกรณีไฟดับ โทรศัพท์มือใช้งานไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะทำหน้าที่ไปบอกให้กับชาวบ้านเพื่อเตรียมรับมือ ซึ่งการเตือนภัยสามารถทำได้ทุกวิธี โดยการออกอากาศทางวิทยุเป็นหนึ่งในโหมดการเตือนภัยจากหลายโหมดวิธี เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และต้องทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถตั้งรับได้จากการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่  “นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่า แม้วิทยุทรานซิสเตอร์อาจใช้ได้ในบางกรณี แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าคือ Cell Broadcasting ใช้ส่งข้อความการแจ้งเตือนภัยพิบัติถึงโทรศัพท์มือถือประชาชนโดยตรง ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส ทั้งนี้ Cell Broadcasting คือ ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว มีข้อดีคือ หน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงได้เลยถึงโทรศัพท์มือถือของประชาชน โดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และไม่ต้องระบุเบอร์มือถือ สามารถเจาะจงพื้นที่ได้ โดยมีความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที ทั้งยังไม่กระทบกับการสื่อสารปกติ เพราะใช้คนละช่องสัญญาณกับโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต ประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปลิเคชั่นเพิ่มเติม และรองรับการให้บริการครบ ทั้งคลื่นความถี่ 2G, 3G, 4G, 5G สามารถรับประกันได้ว่าข้อความจะไปถึงทุกคน ไม่ว่าโทรศัพท์จะรุ่นเก่าหรือใหม่

ส่วนอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็คือ การที่  “กรมอุตุนิยมวิทยา”  ร่วมกับ  “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” และ  “บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด”  ลงนาม MOU เปิดตัว LINE ALERT บัญชีทางการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง โดย  “ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์”  อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยามีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศ ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบันที่นิยมสื่อสารผ่านทางสื่อโซเชียลและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางการแจ้งเตือนภัยที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้ง LINE ประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการใช้สื่อโซเซียล ประชาชนสามารถเข้าถึงได้เป็นจำนวนมาก สามารถให้ข้อมูลการแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดในประเทศไทยได้อย่างกว้างขวางรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อช่วยเหลือร่วมกันในด้านการแจ้งเตือนภัย จึงได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสร้างสรรค์และให้บริการ LINE ALERT ครั้งนี้ขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ลงนาม MOU เปิดตัว LINE ALERT บัญชีทางการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง เมื่อวันที่  5 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
สำหรับ “เครื่องรับวิทยุ” (Radio Receiver) นั้น หลายคนยังติดปากว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” เนื่องจากเครื่องรับวิทยุในยุคเริ่มแรกนั้น ใช้ “ทรานซิสเตอร์”เป็นองค์ประกอบสำคัญในวงจรแปลงสัญญาณวิทยุให้เป็นเสียง แต่ด้วยการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้ในปัจจุบัน ผู้ผลิตหันไปผลิตวิทยุที่ใช้ “วงจรรวม (Integrated Circuit; IC)” ที่มีราคาถูกกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่ากันหมดแล้ว แต่คนไทยหลายคนยังคงติดปากเรียกว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ อยู่นั่นเอง

ในประเทศไทย วิทยุกระจายเสียงถือกำเนิดขึ้นระยะแรก ราวปี พ.ศ. 2470-2472 โดย “พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน” ซึ่งทรงริเริ่มทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม โดยทรงตั้งชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” เนื่องจากส่งกระจายเสียงจากพระราชวังพญาไท และยังทรงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยกองช่างวิทยุ ดำเนินการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นการคู่ขนานกับสถานีส่วนพระองค์ โดยผู้ฟังนิยมเรียกว่า “สถานีวิทยุศาลาแดง” เนื่องจากสถานีส่งกระจายเสียง ตั้งอยู่ในบริเวณย่านที่เรียกว่าศาลาแดง และต่อมาสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท เปิดกระจายเสียงอย่างเป็นทางการ เริ่มด้วยการถ่ายทอดเสียงสด กระแสพระราชดำรัส เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จังหวัดพระนคร

พิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร ความว่า “การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดั่งที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป”


 นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงวิทยุเกิดขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อสำนักงาน กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นวิทยุครั้งแรกในรอบ 92 ปี ด้วยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุทั้ง FM และ AM ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คือหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กรมตำรวจ กรมประชาสัมพันธ์ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ อสมท) รัฐวิสาหกิจต่างๆ และเปิดให้เอกชนเข้ามารับช่วงเช่าเวลาผลิตรายการ

ผลการประมูลสรุปว่า อสมท ประมูลได้ 47 คลื่นฯ บริษัทลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง ประมูลได้ 13 คลื่นฯ บริษัทเจ.เอส.ไนน์ตี้วัน จำกัด 3 คลื่นฯ, บริษัทดินดิน จำกัด 2 คลื่นฯ, บริษัท นานา เอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด 1 คลื่นฯ, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย 1 คลื่นฯ, หจก.สุภัคพร กรุ๊ป 1 คลื่นฯ, หจก.พีระยา มีเดีย กรุ๊ป 1 คลื่นฯ และบริษัทสตูดิโอ ไลน์ เอเจนซี่ 1 คลื่นฯ โดยคลื่นฯ ที่เสนอราคาสูงสุด คือ 106.5 (กรีนเวฟ) ของ GMM Media ประมูลไปด้วยราคา 55.33 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจเม็ดเงินโฆษณาสื่อวิทยุตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา “นีลเส็น” รายงานตัวเลข “ลดลง” ต่อเนื่อง กล่าวคือ ปี 2557 มูลค่า 5,600 ล้านบาท ปี 2558 มูลค่า 5,675 ล้านบาท ปี 2559 มูลค่า 5,263 ล้านบาท ปี 2560 มูลค่า 4,476 ล้านบาท ปี 2561 มูลค่า 4,802 ล้านบาท ปี 2562 มูลค่า 4,741 ล้านบาท ปี 2563 มูลค่า 3,602 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 3,261 ล้านบาท ทว่า ก็ไม่ถึงขนาดไม่มีอนาคต และผู้ประกอบการก็ปรับตัวให้เข้ากับเทคโลยีในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

สรุปว่าการสื่อสารผ่านระบบคลื่นวิทยุ (Radio Wave) สามารถกระจายสัญญาณออกไปได้ไกลที่สุด เป็นทางเลือกที่ทุกประเทศเลือกใช้ในยามเกิดภัยพิบัติ ดังนั้น การออกมาพูดในประเด็นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องหรือเป็นประเด็น เพียงแต่การที่พูดออกมากจากปาก “นายกฯ ลุงตู่” ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกแยกในสังคมไทย จึงไม่แปลกหากจะถูกจับผิดโจมตีอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้  




กำลังโหลดความคิดเห็น