ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่ายังอยู่ในอาการขวัญผวาจากฟ้าฝน น้ำท่วม น้ำไหลบ่า น้ำป่าไหลหลาก สำหรับประชาชนที่ทำมาหากินและอาศัยอยู่ในจุดเสี่ยง ถึงแม้ว่าภาครัฐจะดาหน้าออกมารับประกันว่า “เอาอยู่” ไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน แต่ก็ไม่อาจไว้วางใจได้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งกรมชลประทานเร่งระบาย มวลน้ำจะเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลหรือไม่
ข้อกังวลของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต่อการระบายของกรมชลประทานทำเอาคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลสะดุ้งโหยง เพราะผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า จุดที่สถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีน้ำถึง 3,409 ลบ.ม./วินาที จากความจุสูงสุดที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที จึงเป็นที่กังวลว่าอาจจะมีน้ำเกินความจุหรือไม่ และจากรายงานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 20 ซม. ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าปกติ แต่ยังอยู่ในสภาวะที่รับมือได้เพราะยังมีพื้นที่รับน้ำเหลืออีกประมาณ 1 เมตร สถานการณ์ขณะนี้ต้องเฝ้าระวัง กทม.กำลังอยู่ในจุดเปราะบางที่สุดคือเรื่องน้ำเหนือไหลลงมา ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์น่าจะสูงสุดในช่วง 7-10 ตุลาคมนี้
ทางกรมชลประทาน ก็ว่าได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าฯ ทั้ง 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งหมายรวมถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติ ด้วย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็แจ้งไปแล้ว เนื่องจากกรมชลฯ มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา
ขณะเดียวกัน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 12 จังหวัดลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
พร้อมกันนั้น ยังประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ปภ. ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน ว่าจากการประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2565 ประมาณ 449.90 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
การเพิ่มปริมาณการระบายน้ำดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 1.00-1.20 เมตร ส่วนบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น
ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก และมีน้ำจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจากจังหวัดชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงต้องจัดการบริหารน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณอ.เมืองชัยนาท และมโนรมย์ จ.ชัยนาท และอ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร และจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT” และแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
เอาเป็นว่า อย่าเพิ่งชะล่าใจในสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ ตามคำเตือนของ ปภ. และกรมชลฯ ซึ่งอีกไม่กี่วันจะเข้าสู่จุดพีคที่สุดและเปราะบางที่สุดตามการคาดการณ์ข้างต้น และก็ใช่ว่าหลังผ่านพ้นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงวันที่ 10 ตุลาคมไปแล้ว สถานการณ์น้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนสูงจะเบาใจได้ เนื่องจากต้องรอลุ้นไปจนกว่าจะผ่านพ้นเดือนตุลาคม หรืออาจลากยาวไปถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จนกว่าปรากฏการณ์ “ลานีญา” จะอ่อนกำลังลง คนกทม.และรอบนอก รวมทั้งภูมิภาคอื่นที่น้ำท่วมอยู่ในตอนนี้ถึงจะโล่งอก ถัดจากนั้นจุดเสี่ยงจะเป็นพื้นที่ภาคใต้ที่มีแนวโน้มฝนตกหนักตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม เป็นต้นไป
หากคิดคำนวณตามที่ “ดร.เอ้” ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้รับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้ความเห็นว่า กรุงเทพฯ เปราะบางมากแม้ฝนไม่ตก แถวถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ ในวันฝนไม่ตก ท้องฟ้าแจ่มใส แต่มีน้ำผุดท่วมขึ้นมา
“ดร.เอ้” เล่าว่า เคยไปเดินตรงนี้ จะเห็นระดับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าถนนมาก คนกรุงเทพฯยังอาจคิดว่า “น้ำไหลลงเจ้าพระยา” แต่ความจริงคือ “น้ำจากเจ้าพระยาไหลลงเรา” แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่สูงกว่าระดับถนนกรุงเทพฯ กว่า 2-3 เมตร สูงท่วมหัวอ่ะครับ!!!
กรุงเทพคือ “แอ่งกระทะ” อยู่รอดได้ด้วยการสูบน้ำ สู้ฝืนธรรมชาติ คือสูบจากต่ำไปสูง จากซอยขึ้นถนน ถนนขึ้นคลอง คลองสูบขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนไหลลงอ่าวไทย
กำแพงกันตลิ่ง ขอบกระทะกรุงเทพ จึงสำคัญมาก หากกำแพงรั่ว หรือชำรุด แรงดันมหาศาลจากระดับแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงมาก จะหาทาง ดันทะลักเข้ากรุงเทพ ทุกทิศ ทุกทาง ที่ดันเข้ามาไดั
กำแพงกันตลิ่งแถวเมืองเก่า สัมพันธวงศ์ ทรงวาด มีรอยร้าวอยู่มาก น้ำจึงดันเข้ามา ทางแก้อันดับแรก คือ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ สูบสู้ประทังไปก่อนลดความเดือดร้อน และเร่งซ่อมแซมปะเขื่อนกันตลิ่ง
แต่คำถาม คือ สถานการณ์น้ำทะเลหนุน เจ้าพระยารับน้ำเหนืออีก เขื่อนจะต้องสูงแค่ไหนกันถึงเราจะรอด? ตอบ ไม่มีใครคำนวนได้แม่นยำ แต่ว่าหากใช้วิธียกเขื่อนให้สูงอีก สูงอีก ก็ไม่ได้การันตีว่าจะสูงพอ ปลอดภัย ทั้งยิ่งยกสูงตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำ จะต้องใช้งบอภิมหาศาล และเสียทิวทัศน์ที่ประเมินค่ามิได้
กรุงเทพฯ จึงเปราะบาง เสี่ยงเรื่องน้ำท่วมตลอดเวลา แม้ไม่มีฝน!ดังนั้น ทางแก้ไข ที่สมเหตุสมผลที่สุด คือ ต้องไปสร้างระบบป้องกันน้ำทะเลหนุน ที่ต้นตอ ต้นทาง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องของเมือง และของประเทศ ต้องร่วมกัน เหมือนกับที่ สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ได้ทำสำเร็จมาแล้ว
สถานการณ์น้ำท่วมที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างหลังกรมชลฯ เพิ่มปริมาณการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมสั่งการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จังหวัด กรมชลประทาน และ ปภ.ร่วมกันทำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน
ที่สำคัญคือการเร่งเบี่ยงน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าคลองระพีพัฒน์ออกทะเลโดยตรง รวมทั้งขอให้หน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงทุ่งรับน้ำในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และให้ผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 10 ทุ่งที่เตรียมไว้เพื่อลดปริมาณน้ำลงพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และขอให้เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และให้กรมชลฯ เร่งสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
สำหรับชุมชนที่เดือดร้อนหนักใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่จมน้ำมายาวนานแล้วนั้น นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แจ้งอธิบดีกรมชลประทาน ให้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อผันน้ำเข้าทุ่งทั้ง 7 ทุ่ง หลังประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งถึง 10 อำเภอ เสียหายกว่า 27,000 หลังคาเรือน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีคำสั่งกำชับให้เร่งระบายน้ำออกทุ่งรับน้ำจากพล.อ.ประวิตร และผู้ว่าฯ อยุธยา ก็เร่งให้กรมชลฯ ผันน้ำเข้าทุ่ง แต่ประชาชนที่อยู่ในแนวเขตคันกั้นน้ำกลับยังต้องรับน้ำไปเต็มๆ ตามที่ นายศศิน เฉลิมลาภ ซึ่งมีที่พักอาศัยในเขตพระนครศรีอยุธยา โพสเฟซบุ๊กระบายความอัดอั้นติดต่อกันมาแล้วหลายวัน
ความตอนหนึ่งว่า “คุณเอาน้ำอะไรมาท่วมผมครับ พายุโนรูหมดกำลังแค่อีสาน ระบายน้ำลงมาแค่แม่น้ำทั้งๆ ที่ระบบธรรมชาติต้องไปออกที่ราบน้ำท่วมถึง ทุ่งนาเกี่ยวข้าวหมดแล้ว แต่พวกคุณเอาน้ำแค่นี้มาท่วมเฉพาะคนอยู่ในคันกั้นน้ำออกบ้าๆ ของพวกคุณ ถ้ามีฝีมือแค่นี้ ผมว่าคุณอ่อนหัด ผมเคยทำงานกับคนที่เก่งกว่าพวกคุณเยอะ ผมเคยเห็นคนที่ทำงานแบบนี้ดีกว่าพวกคุณ ถ้าเป็นเพราะธรรมชาติ ผมไม่มีปัญหา แต่มันเกิดขึ้นเพราะพวกคุณมันไม่มีฝีมือ”
นายศศิน ยังระบุด้วยว่า “อุทกภัยแบบปีนี้ ปีที่แล้ว เกิดขึ้นกับชุมชน #นอกถนนที่เป็นคันกันน้ำออกไปลงทุ่งนาและตลาดเทศบาล เขาลำเลียงน้ำผ่านชุมชนแบบบ้านผมซึ่งเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ที่ตั้งบนสันฝั่งแม่น้ำ (Natural levee) หรือคันดินธรรมชาติที่เป็นเนินยาวขนานแม่น้ำ ที่เกิดจากตะกอนแม่น้ำทับถมตามธรรมชาติที่น้ำหลากผ่านและท่วมในระดับต่ำหากเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ หรือกระบวนการการเกิดธรณีสัณฐาน แบบที่นักเรียนธรณีวิทยาอย่างผมเรียนมา
“ตอนนี้ระบบธรรมชาติ ที่ที่น้ำต้องออกไปท่วมใน #ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) มันกลายเป็นตลาดย่านชุมชนใหม่ เทศบาล บ้านจัดสรร โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม หรือแม้แต่สถานที่ราชการใหม่ๆ ไปหมดแล้วเราฝากการจัดการอะไรที่ผิดธรรมชาตินี้ไว้กับพี่ๆ น้องๆ วิศวกรจำนวนหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าจะตั้งใจดี ใช้งบประมาณมากมาย และอาจจะป้องกันความเสียหายให้คนส่วนใหญ่ได้ในหลายปี นานๆ ทีสักสิบยี่สิบปีก็ออกไปท่วมบางเทศบาลและเมืองใหญ่ๆ บ้าง ทั้งหมดเป็นเรื่องที่คนส่วนน้อยต้องยอมรับปรับตัว แต่หากมีการจัดการความเดือดร้อน และสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องว่าคนอยู่ริมน้ำต้องทำใจว่าน้ำท่วมอันนี้ก็ไม่ใช่ละครับ ต้องทำใจรับน้ำท่วมสูงกว่าที่ควรจะท่วม ท่วมแช่ขังนานกว่าที่ควรจะนาน และรับน้ำท่วมแทนพื้นที่ที่ตามธรรมชาติต้องท่วม นั่นแหละจึงจะถูกต้อง” นายศศิน กล่าวในทำนองเสียดสีในแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง
นอกจากลุ่มเจ้าพระยาและป่าสักในเขตภาคกลางตอนล่างที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแล้วแล้ว เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ปภ.ยังรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติจากฝนกระหน่ำน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อน 23,339 ครัวเรือน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิจิตร ตาก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ น่าน แพร่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และปราจีนบุรี รวม 92 อำเภอ 281 ตำบล 1,083 หมู่บ้าน ขณะที่น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี และชัยนาท รวม 20 อำเภอ 158 ตำบล 745 หมู่บ้าน
ทางด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยใช้ดาวเทียม Sentinel-1 รายงานเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ว่าพบน้ำท่วมขังแล้วรวมทั้งสิ้น 3,289,514 ไร่ ในพื้นที่บางส่วนของ 11 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางประกง ลุ่มน้ำปราจีน ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล รวม 25 จังหวัด
ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ประกอบด้วย นครสวรรค์ 650,967 ไร่ พระนครศรีอยุธยา 430,745 ไร่ พิจิตร 402,083 ไร่ สุพรรณบุรี 356,651 ไร่ สุโขทัย 269,629 ไร่ พิษณุโลก 259,901 ไร่ กำแพงเพชร 150,680 ไร่ ลพบุรี 147,454 ไร่ เพชรบูรณ์ 117,480 ไร่
อุทัยธานี 100,707 ไร่ อ่างทอง 74,244 ไร่ ปราจีนบุรี 70,367 ไร่ ชัยนาท 56,117 ไร่ สิงห์บุรี 48,804 ไร่ สระบุรี 44,535 ไร่ อุตรดิตถ์ 41,854 ไร่ นครปฐม 23,972 ไร่ นครนายก 16,680 ไร่ ชัยภูมิ 12,627 ไร่ ฉะเชิงเทรา 6,875 ไร่ เลย 5,612 ไร่ ขอนแก่น 606 ไร่ นครราชสีมา 328 ไร่ ปทุมธานี 309 ไร่ และหนองบัวลำภู 287 ไร่
ส่วนของพื้นที่นาข้าวที่ได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 526,577 ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง ชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน ซึ่งทาง GISTDA ได้ส่งต่อข้อมูลภาพจากดาวเทียมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อบริหารจัดการน้ำตามภารกิจ
ข้อมูลภาพจากดาวเทียม GISTDA ยังเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมไทยช่วงเดือน ก.ย. ปี2554, 2564 และ 2565 ต่างกัน 3 เท่า โดยพบว่า ปี 2554 มีปริมาณน้ำท่วมขังทั่วประเทศจำนวน 15,996,150 ไร่, ปี 2564 จำนวน 5,648,252 ไร่ และในปี 2565 (5 ต.ค.) พบพื้นที่น้ำท่วมขังจำนวน 5,331,739 ไร่
สำหรับมวลน้ำรายภูมิภาคเปรียบเทียบระหว่างปี 2554 กับปี 2565 พบว่า ก.ย. 2554 แบ่งเป็น ภาคเหนือ 350,015 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,412,704 ไร่ ภาคกลาง 9,702,429 ไร่ ภาคตะวันออก 1,207,294 ไร่ ภาคตะวันตก 258,127 ไร่ ภาคใต้ 65,581 ไร่ ส่วนเดือน ก.ย. 2565 แยกเป็น ภาคเหนือ 154,456 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,955,311 ไร่ ภาคกลาง 2,814,646 ไร่ ภาคตะวันออก 147,844 ไร่ ภาคตะวันตก 259,481 ไร่
แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ถึงจะไม่ใช่มหาอุทกภัยอย่างปี 2554 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มิใช่น้อยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ที่ผ่านมาคาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศ ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท
ภาคเอกชน มีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่ภาคการเกษตรได้ผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ไม่กระทบข้าวนาปี ส่วนภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้ จึงยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ปี 2565 โต 3.0-3.5%
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยอมรับว่ามีความกังวลหลังดูข้อมูลการวิเคราะห์จากหน่วยงานต่างๆ ที่บอกว่าน้ำท่วมปีนี้จะหนักช่วงนี้จึงต้องกำชับให้นิคมอุตสาหกรรมเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่อยากให้เป็นฝันร้ายเหมือนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เพราะครั้งนั้น 7 นิคมอุตสาหกรรม หลายพันโรงงานต้องจมน้ำ
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถรับมือสถานการณ์ได้ เพราะคงไม่กระทบรุนแรงเท่ากับปี 2554 และเขื่อนหลักๆ ยังมีความสามารถที่จะรองรับน้ำได้อีก 20% ของความจุ อีกทั้งผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่เคยผ่านน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ต่างเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี คาดว่าจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แต่สิ่งที่สำคัญคือ จะทำให้อย่างไรให้น้ำลดลงเร็วที่สุดซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เพราะหากเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดจากภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้ จะสร้างผลกระทบมหาศาลด้านความเชื่อมมั่นนักลงทุนจากต่างประเทศในระยะยาว แต่หากมีมาตรการและวางแผนบริหารจัดการได้ดีผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ก็จะกลายเป็นผลดีในการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติในระยะยาวเช่นกัน
สำหรับพื้นที่ภาคเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งสำรวจความเสียหายควบคู่ไปกับการให้ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยเตรียมความพร้อมในส่วนของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และเตรียมแผนทั้งระยะสั้นระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา และเร่งเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปผลกระทบด้านการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ต.ค. 65) ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 49 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 294,412 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 2,196,131 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,502,070 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 671,851 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ 22,210 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 29,064 ราย พื้นที่ 246,697 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 207,134 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 38,454 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 1,109 ไร่ คิดเป็นเงิน 341.42 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 385 ราย พื้นที่ 2,231 ไร่ วงเงิน 3.54 ล้านบาท
ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 30 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ10,562 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 11,736 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 11,577 ไร่ บ่อกุ้ง 159 ไร่ กระชัง 1,166 ตรม. สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 477 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย 441 ไร่กระชัง 11ตร.ม.คิดเป็นเงิน 2.55 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 156 ราย พื้นที่264 ไร่ วงเงิน 1.52 ล้านบาท
ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 9 จังหวัด เกษตรกร 3,952 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 786,259 ตัว แบ่งเป็น โค 9,491ตัว กระบือ 3,217ตัว สุกร 5,987 ตัว แพะ/แกะ 1,349 ตัว สัตว์ปีก 766,215 ตัว แปลงหญ้า 1,669 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย