xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้งในปี 2566 จะมีหรือไม่ / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญญาพลวัตร
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ประเด็นที่ว่าในปี 2566 จะมีการเลือกตั้งในปีหน้าหรือไม่ เป็นคำถามที่คนบางกลุ่มในสังคมหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างกว้างขวาง กลุ่มหนึ่งมองว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ส่วนอีกกลุ่มมองว่ามีการเลือกตั้ง อะไรคือฐานคิดและความเชื่อที่กำหนดมุมมองของกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นเรื่องที่จะอภิปรายในบทความชิ้นนี้


กลุ่มที่มองว่าไม่มีการเลือกตั้งหยิบยกทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาเป็นฐานการอธิบาย พวกเขาเชื่อว่าชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมต้องการรักษาอำนาจและควบคุมรัฐไทยต่อไป เมื่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมประเมินว่าการเลือกตั้งไม่อาจตอบสนองเป้าหมายแห่งการดำรงอำนาจของพวกเขาได้ ทางเลือกคือ การทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง

ภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ตัวแทนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบความล้มเหลวในการบริหารประเทศและไม่อาจสร้างความปรองดองขึ้นมาได้ ทำให้คะแนนนิยมตกต่ำลงมาก และพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ในทางกลับกัน คะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านกลับเพิ่มขึ้นตามลำดับ สถานการณ์แบบนี้ทำให้ชนชั้นนำเกิดความตื่นตระหนก และสัมผัสถึงแนวโน้มการสูญสิ้นอำนาจในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมมิอาจยอมรับได้
หากมีการเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคเพื่อไทย จะได้รับคะแนนเสียงจำนวนมาก และเมื่อรวมกับพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ แล้วจะทำให้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หากเป็นเช่นนั้น อำนาจรัฐก็จะหลุดมือไปจากกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม แม้ว่าสมาชิกวุฒิสภายังคงมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝืนเลือกบุคคลที่มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนั่นอาจจะนำไปสู่วิกฤติความชอบธรรมทางการเมืองที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบทางลบที่มิอาจประมาณได้ต่อสถานภาพและอำนาจของชนชั้นนำเอง

ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบรรยายให้เห็นว่า ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์เมื่อปี 2564 ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาในตัวบทของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง โดยมีการแก้ไขมาตรา 91 ภายใต้เจตนารมณ์ในการสร้างระบบเลือกตั้งแบบเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกันระหว่างการเลือกตั้งแบบเขต กับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่กลับไม่แก้ไขข้อความ “การคํานวณจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี และจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับ” ในมาตรา 93 และ ข้อความ “การคํานวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีตามมาตรา 91” ที่อยู่ในมาตรา 94 ข้อความเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับมาตรา 91 เดิม ซึ่งมีนัยว่า “การเลือกตั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อเป็นเนื้อเดียวกัน” กลายเป็นว่า รัฐธรรมนูญที่แก้ไขในปี 2564 จึงมีแนวคิดสองเรื่องที่ขัดแย้งกันดำรงอยู่ด้วยกัน

หลังจากนั้น เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง จึงเกิดความขัดแย้งกันวุ่นวายทั้งรัฐสภา วาระแรกผ่านไปด้วยการรับหลักการตามเจตนารมณ์ที่แก้ไขในมาตรา 91 นั่นคือ แยกการคำนวณระหว่างส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อ ต่อมาในวาระสองเสียงส่วนใหญ่กลับลงมติแตกต่างออกไป นั่นคือไปรับเนื้อหาของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ซึ่งเสนอตามหลักการของ มาตรา 93 และ 94 ที่ให้มีการเชื่อมโยงการคำณวนระหว่างส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อเข้าด้วยกัน จนในที่สุด ก็มีการต่อสู้ในวาระสาม และทำให้ร่าง พ.ร.ป. ที่ผ่านวาระสองตกไประหว่างการเข้าวาระสาม ด้วยการทำให้องค์ประชุมสภาไม่ครบ จนไม่อาจประชุมได้ เพื่อให้ร่างตกไปด้วยเงื่อนไขที่ไม่สามารถแก้ไข พ.ร.ป. ให้เสร็จภายใน 180 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เมื่อร่างแก้ไขที่ผ่านวาระสองแล้วตกไป จึงต้องมีการหยิบยกร่างแก้ไขที่ผ่านวาระ 1 ไปดำเนินการตามกระบวนการต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่นั่งอยู่ในวุฒิสภาจึงร่วมมือกับ ส.ส.พรรคเล็กที่เสียประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบแยกคำนวณ จึงยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

กลุ่มที่เห็นว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในปี 2566 เชื่อว่า โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่า ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมีสูงมาก หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการร่างกฎหมายเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องเวลายาวนานในการจัดทำกว่าจะประกาศออกมาเป็นกฎหมายได้ และอาจเสร็จไม่ทันก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 ส่งผลให้ไม่มีกฎหมายที่ใช้ในการเลือกตั้ง และไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้

นอกเหนือจากยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ว การทำให้กฎหมายประกาศใช้ไม่ทันการเลือกตั้ง อาจเกิดขึ้นในอีกกรณีหนึ่งคือ มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่มีการประกาศใช้กฎหมาย ผู้ที่ดำเนินการเช่นนี้ได้คือนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจชนชั้นนำ จึงเกิดความเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจใช้วิธีการแบบนี้ เพราะเมื่อจัดการเลือกตั้งไม่ได้ นายกรัฐมนตรีก็สามารถรักษาการในตำแหน่งได้เป็นเวลายาวนาน แม้จะมีข้อกำหนดว่าต้องจัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังการยุบสภาผู้แทนฯ ก็ตาม แต่ก็มีการจะอ้างว่า เมื่อไม่มีกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ และรัฐบาลก็จะรักษาการต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ที่ทำให้ต้องหลุดพ้นจากอำนาจ ซึ่งดูเหมือนจะมีวิธีการเดียวคือการรัฐประหาร
เมื่อการเมืองในระบบรัฐธรรมนูญไม่มีทางออก เพราะเงื่อนไขของภาวะอับตันทางกฎหมายเกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า จะมีการสร้างกระแสความรู้สึกว่า ต้องอาศัยวิธีการนอกระบบมาแก้ไข กลุ่มสมคบคิดก็จะปล่อยข่าวการรัฐประหารออกมา และชี้นำความคิดของสังคมว่าการรัฐประหารคือทางออกของการเมือง เมื่อมีกระแสของการเห็นด้วยเพิ่มขึ้น และปรากฏเสียงเรียกร้องให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นตามแผนที่วางเอาไว้ กลุ่มที่เตรียมการรัฐประหารก็จะยาตราทัพขับรถถังออกมายึดอำนาจรัฐต่อไป

การโดยสรุป กลุ่มที่เชื่อว่าไม่มีการเลือกตั้ง มองว่า การสร้างปัญหาความวุ่นวายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมที่ผ่านมา เป็นการวางแผนที่มีการสมคบคิดของกลุ่มชนชั้นนำเพื่อทำให้ระบบการเมืองไทยเดินไปสู่ทางตัน และนำไปสู่การอ้างเป็นเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร และสืบทอดรักษาอำนาจของชนชั้นนำต่อไป

ส่วนกลุ่มที่เชื่อว่ามีการเลือกตั้งในปี 2566 มีฐานคิดว่า กลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมมีความแตกแยกทางความคิด บางส่วนอาจคิดใช้การรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจ แต่อาจมีบางส่วนที่คิดในเชิงประนีประนอมยอมรับการแบ่งปันอำนาจ ดังนั้น ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองปีกชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมอาจแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ยังสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งในอำนาจได้ในบางส่วน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าจะเลือกแนวทางการเลือกตั้งมากกว่าแนวทางรัฐประหาร

กลุ่มนี้เชื่อว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งในปัจจุบันมีปัญหา แต่การเมืองก็ยังมีทางออกโดยใช้มาตรา 5 วรรค 2 ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ปัญหาคือ ใครหรือองค์กรใดจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า เรื่องใดเป็น “ประเพณีการปกครองประเทศไทย” เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุเอาไว้ แต่ถ้าหากตีความอย่างกว้าง องค์กรใดเกี่ยวข้องกับเรื่องใดก็ให้องค์กรนั้นเป็นผู้วินิจฉัย อย่างเช่น หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็น่าจะเป็นองค์กรที่วินิจฉัย หรือหาก กกต. ไม่กล้าวินิจฉัย ประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลากร รวมทั้งประธานองค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญก็อาจร่วมกันวินิจฉัยก็ได้ เมื่อทำเช่นนี้ก็มีทางออก โดยหยิบยกกฎหมายเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันมาใช้ไปพลางก่อน
ในกรณีที่มีการเลือกตั้ง กลุ่ม 3 ป. อันเป็นตัวแทนเดิมของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมมีภาวะถดถอยและแตกแยก กลุ่มหนึ่งยังคงสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างเหนียวแน่น แต่อีกกลุ่มหนึ่งหันไปสนับสนุนพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ อย่างออกหน้าออกตา ความแตกแยกภายในอันเกิดจากความไม่รู้จักพอในอำนาจของฝ่ายหนึ่ง กับความต้องการในการขยับขยายบทบาทและอำนาจของอีกฝ่ายหนึ่ง แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างการต่อสู้ในเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ การตีความรัฐธรรมนูญออกมาในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงตำแหน่ง จากเดิมที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 8 ปี ก็สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก 2 ปี รวมเป็น 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่เดือนเศษ พลเอกประวิตร ก็ได้แสดงบทบาทเชิงรุกในการทำงาน สร้างภาพลักษณ์ใหม่ และแสดงภาวะผู้นำในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการได้โดดเด่นกว่าพลแอกประยุทธ์ อันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า พลเอกประวิตร มีความปรารถนาอย่างยิ่งในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากประตูของโอกาสได้เปิดออกมา

หากพลเอกประยุทธ์ ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป อย่างแรกที่คาดว่าต้องทำคือ การช่วงชิงอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐจากพลเอกประวิตรให้ได้เสียก่อน เพื่อผลักดันให้ตนเองเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของพรรคดังการเลือกตั้งปี 2562 และต้องทำให้พลเอกประวิตรยอมรับบทบาทการนำและสนับสนุนตนเองต่อไป จากนั้นก็ต้องเอาชนะการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยต้องเป็นพรรคลำดับสอง และต้องรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯให้ได้ เพื่อสร้างความชอบธรรมและเปิดประตูไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เงื่อนไขนี้ดูเหมือนมีความเป็นไปได้น้อย

หากพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถชิงการนำในพรรคพลังประชารัฐได้ พลเอกประวิตร ก็จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค ในกรณีประนีประนอมก็อาจมีการเสนอ 2 ชื่อ ทั้งพลเอกประยุทธ์ และ พลเอกประวิตร แต่ในกรณีแตกหัก พลเอกประยุทธ์ก็อาจไม่ได้รับการเสนอชื่อ และนั่นอาจเป็นเหตุให้พลเอกประยุทธ์ต้องจรไปอยู่ในพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็เป็นได้

การเลือกตั้งครั้งหน้าและสูตรการจัดตั้งรัฐบาลมีสมมติฐานในเบื้องต้นมี 3 แนวทางคือ

สูตรที่ 1 พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ และเสรีรวมไทย ได้ที่นั่งรวมกันเกิน 375 เสียง กรณีนี้จะมีการจัดตั้งรัฐบาล 4 พรรค ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ และ ส.ว. ไม่มีอิทธิพลใด ๆ ในการกำหนดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นสภาวะที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเดิมสูญเสียอำนาจในการควบคุมอำนาจรัฐ สูตรนี้คนจากพรรคเพื่อไทยจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สูตรที่ 2 พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ และเสรีรวมไทย ได้ที่นั่งรวมกันไม่เกิน 375 เสียง แต่เกิน 250 เสียง กรณีนี้ ต้องพึ่งพาพรรคร่วมรัฐบาลเดิม และ/หรือเสียงของ ส.ว. จึงมีความเป็นสูงมากว่า พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลหากทั้งสองพรรคได้เสียงรวมกันเกิน 250 เสียง และอาจดึงเอาพรรคเล็ก ๆ อื่น ๆ เช่นพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ เข้าร่วมรัฐบาลด้วย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยอาจสนับสนุนให้พลเอกประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี กรณีนี้พรรคก้าวไกล และเสรีรวมกันจะไม่ถูกนำมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

สูตรที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันคือ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ได้เสียงรวมกันใกล้เคียงหรือเกิน 250 เสียง กรณีนี้ สามพรรคอาจร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และอาจดึงพรรคเล็กอื่น ๆ เช่น พรรคไทยสร้างไทย เข้าร่วมรัฐบาลด้วย สูตรนี้อำนาจยังอยู่ในกลุ่มเดิม แต่อาจมีปมปัญหาเล็กน้อยคือ จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคพลังประชารัฐได้เสียงมากกว่า พลเอกประวิตร หรือ พลเอกประยุทธ์ ก็อาจได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากพรรคภูมิใจไทยได้เสียงมากกว่า ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะนายอนุทิน เองก็มีปรารถนาแรงกล้าต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน

ระหว่าง “ไม่มีการเลือกตั้ง” กับ “มีการเลือกตั้ง” ผมให้น้ำหนักกับมีการเลือกตั้งมากกว่า เพราะว่า แม้เป็นความจริงที่ว่า ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมขวาจัดบางส่วนมีความคิดและขับเคลื่อนเรื่องการรัฐประหาร แต่ภายใต้การพัฒนาการทางความคิดและการเมืองของไทยในปัจจุบัน หากเกิดการรัฐประหารจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง ผมมองในเชิงบวกว่า ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่มีเหตุผลและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศโดยรวมในปัจจุบันมีแนวโน้มยอมรับระบอบประชาธิปไตยมาก แต่ถึงที่สุดแล้ว การมองเชิงบวกอาจเป็นเพียงความปรารถนาส่วนตัวก็ได้ เพราะกระแสของความคิดอนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยมสุดขั้วที่ต่อต้านเหตุผลและยังคงได้รับประโยชน์จากโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ยังคงดำรงอยู่จริงในสังคมไทย และที่สำคัญความคิดนี้ยังคงมีความเข้มข้นกลุ่มคนที่พรั่งพร้อมด้วยสรรพาวุธและเงินทุนอันมหาศาลอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น