พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า”
จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
“คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
“คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
“คนจนถูกเขาทวง ไม่ให้เขา ก็จะถูกตามตัว แม้การถูกตามตัวก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
“คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงถามก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกามด้วยประการฉะนี้” นี่คือ พุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย
จากพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ความยากจนกับการเป็นหนี้เป็นของคู่กันมานานนับพันปีแล้ว และการก่อหนี้ของคนจนจะต้องมีพฤติกรรมอันเกิดจากการเป็นหนี้หลายประการดังกล่าวแล้วข้างต้น และพฤติกรรมแต่ละประการล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้กู้หนี้ไม่แตกต่างไปจากการก่อหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันนี้เท่าใดนัก
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ โดยมีประชากรของประเทศส่วนใหญ่นับถือพุทธ และที่สำคัญได้มีคำสอนของพุทธให้ชาวพุทธผู้ครองเรือนขยันหมั่นเพียรในการหาทรัพย์ โดยให้ดูตัวอย่างจากตัวผึ้งที่ขยันหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ทีละน้อยสะสมจนเป็นรวงผึ้งใหญ่โตได้ และในขณะเดียวกันสอนให้ประหยัดโดยให้ดูตัวอย่างจากการใช้ยาหยอดตา แม้ใช้ครั้งละหยดก็หมดขวดได้
นอกจากสอนให้ขยันหาทรัพย์ และสอนให้ประหยัดแล้ว พุทธศาสนายังสอนวิธีบริหารทรัพย์ที่หามาได้แต่ละครั้ง โดยให้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กันดังนี้
1. เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย คือ หนึ่งส่วนใช้เลี้ยงตนเอง เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์
2-3. ทวีหิ กมฺมํ ปโยชเย คือ 2 ส่วนใช้เก็บไว้เพื่อการลงทุนทำการงาน
4. จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย คือ อีก 1 ส่วนเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น
คำสอนที่นำมาดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีอีกมากมายให้ศึกษาค้นคว้า และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ อันเกิดจากความจน ถ้าท่านผู้อ่านสนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้
ถึงแม้ว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และคำสอนของศาสนาพุทธได้ชี้แนวทางพ้นทุกข์จากการเป็นหนี้ไว้มากมาย เพียงพอที่จะให้ชาวพุทธศึกษาค้นคว้า และนำมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้อยู่อย่างมีความสุขได้
แต่ในความเป็นจริง ผู้คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นพุทธจากการเป็นหนี้ โดยเฉพาะคนในระดับล่างของสังคม หรือที่เรียกกันว่ารากหญ้า อันได้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม พ่อค้า แม่ขายประเภทหาเช้ากินค่ำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวไปวันๆ คนกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่กู้มากินมาใช้ และส่วนใหญ่จะเป็นหนี้นอกระบบ ต้องเสียดอกเบี้ยแพง และมีการทวงหนี้แบบป่าเถื่อน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ
อีกประการหนึ่ง ในสังคมไทยปัจจุบัน การเป็นหนี้มิได้จำกัดอยู่ในแวดวงคนในระดับของสังคม เฉกเช่นในอดีตเท่านั้น แต่ไม่มีการพัฒนารูปแบบของการเป็นหนี้หลากหลายกว่าเดิม ซึ่งพอสรุปตามวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้ดังต่อไปนี้
1. เพื่อนำเงินมาซื้อของจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เป็นการสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ผู้ก่อหนี้กลุ่มนี้ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อยเช่น เกษตรกรรายย่อย และผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
2. เพื่อนำเงินมาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกสบายแก่ชีวิตเช่น รถยนต์ เป็นต้น รวมไปถึงการเป็นหนี้ในรูปของการซื้อเงินผ่อน ผู้ก่อหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้ประจำในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง พอเลี้ยงตนเอง และครอบครัว แต่เป็นหนี้เพื่อสนองความต้องการทางสังคม
3. เพื่อนำเงินมาลงทุนทำธุรกิจ ผู้กู้หนี้กลุ่มนี้ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่กู้หนี้เพราะต้องการความร่ำรวย เป็นการสนองความต้องการ ความอยากมีอยากเป็น อยากเด่น อยากดัง ในทางด้านการเงิน
ผู้ก่อหนี้ทั้ง 3 ประเภทนี้ จะเป็นทุกข์ด้วยการเสียดอกเบี้ย และถูกทวงหนี้ถ้าไม่สามารถใช้หนี้ตามกำหนดสัญญาและจะทุกข์มากถ้าถูกฟ้องร้องถึงขั้นล้มละลาย
นอกจากหนี้ 3 ประเภทดังกล่าวแล้ว ในขณะนี้ผู้คนในสังคมไทยยังมีหนี้อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้กู้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และไม่ต้องเสียค่าปรับถึงแม้จะไม่ใช้หนี้ตามกำหนด นั่นคือหนี้กองทุน กยศ.หรือเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผู้ยืมเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเรียนสามารถกู้ยืมเพื่อนำมาเป็นทุนการศึกษาได้ และใช้คืนเมื่อจบการศึกษาและทำงานมีรายได้
ดังนั้น หนี้ประเภทนี้จึงเป็นคุณกับผู้กู้ในฐานปัจเจก แต่จะเป็นโทษกับรัฐบาลที่ให้กู้ส่วนใหญ่ไม่จ่ายหนี้ เพราะกองทุนจะไม่มีเงินให้คนรุ่นต่อไปกู้ และถ้าจะดำเนินการต่อไปก็จะต้องนำเงินจากภาษีมาเพิ่ม ทำให้ต้องแบกรับภาระทางด้านการเงิน และทำให้คนรุ่นต่อไปไม่มีโอกาสได้กู้เงิน