ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภาคการท่องเที่ยวเร่งเครื่องการขยายเวลา “เปิดผับบาร์ถึงตี 4 นำร่องโซนนิ่ง 8 จังหวัดท่องเที่ยว” กระตุ้นธุรกิจกลางคืนมูลค่าแสนล้านรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ท่ามกลางการจับตาด้านผลกระทบทั้งด้านสาธารณสุขที่สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่นิ่ง การดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดอุบัติเหตุมากมากขึ้น การก่อความรำคาญแก่ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่ ฯลฯ
ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจกลางคืนซมไข้พิษโควิด-19 กิจการผับบาร์สถานบริการกลางคืนปิดตัวลงชั่วคราว สร้างความเสียหายต่อมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจมากกว่า 1.3 แสนล้านบาท เกิดผลกระทบตามมาทั้งระบบ และปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจกลางคืนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของรายได้และแรงงานจำนวนมหาศาลที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแขนงนี้
ทั้งนี้ ทิศทางหลังจากรัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 สิงหาคม2565 อยู่ที่ 4,015,504 คน คาดภายในเดือนสิงหาคมนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสม 4.5 ล้านคน โดยชาติที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด คือ มาเลเซีย, อินเดีย, สปป.ลาว, สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากกว่า 4 ล้านคน นับเป็นสัญญาณเชิงบวก สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย ถือว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงรุกของรัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาหาแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน ในปีนี้
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมองเห็นโอกาสธุรกิจกลางคืนซึ่งหนึ่งในธุรกิจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีการพิจารณาประเด็นเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่ควบคุม (โซนนิ่ง) ตามเมืองท่องเที่ยวหลัก ถึงเวลา 04.00 น. จากปัจจุบันเปิดให้บริการได้ถึง 02.00 น. เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เบื้องต้นกำหนดพื้นที่ 8 จังหวัดเป้าหมาย ประกอบด้วย กทม. ภูเก็ต กระบี่พังงา ชลบุรี (พัทยา) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) สมุย และเชียงใหม่ และจะจัดโซนนิ่งเลือกพื้นที่ในแต่ละจังหวัดซึ้งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 1 แห่ง เช่น กรุงเทพฯ เลือกตรอกข้าวสาร เป็นต้น
เบื้องต้นเจ้าภาพอย่าง “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ได้ทำการหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็น หลังผู้ประกอบการทำประชาพิจารณ์กันไปแล้วว่าผู้ประกอบการเห็นด้วยหรือไม่ที่จะเปิดให้บริการถึงตี 4 ก่อนจะรวบรวมข้อมูลเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นธุรกิจกลางคืนธุรกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
กล่าวสำหรับแนวคิดการขยายเวลาเปิดให้บริการสถานบันเทิงถึง 04.00 น. จากเดิมเปิดได้ถึง 02.00 น. เป็นเรื่องเดิมก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ลงพื้นที่ถนนวอล์กกิ้งสตรีท พัทยา และได้รับการสนับสนุนแนวคิดนี้จากผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ในช่วงเริ่มแรกจะต้องมีการทำระบบโซนนิ่ง หรือการกำหนดพื้นที่เพื่อควบคุม ก่อนที่จะประเมินภาพจากนั้นว่า เมื่อมีการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืนแล้ว จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากน้อยเท่าใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศอยู่ตอนนี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าการเปิดสถานที่ท่องเที่ยว ผับ บาร์ สถานบันเทิง ถึงตี 4 จะทำเฉพาะพื้นที่ เพียงไม่กี่จังหวัด เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว หากลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการในพื้นที่เป้าหมายครบ จะนำเสนอ ศบศ. ให้ทันในเดือนกันยายน หากไม่ทันจะเสนอในเดือนถัดไป เพื่อให้ปลายปีคือในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายนและธันวาคม สามารถเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ อันจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการบรรยายพิเศษในการประชุมสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย ระบุว่า เมืองคือเศรษฐกิจ เมืองคือตลาดแรงงาน ถ้าเกิดเมืองไม่มีงาน เมืองจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งประเด็นเปิดผับถึงตี 4 ตนเองไม่ได้คัดค้านเพียงแต่จะต้องไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่น เช่น ประชาชน หรือธุรกิจโรงแรมใกล้เคียง ซึ่งเรื่องการจัดโซนไม่ใช่หน้าที่ของ กทม. แต่อาจจะต้องคุยกับทางตำรวจ เพื่อหารือในการอัปเดตโซนให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น และตรงตามอุปสงค์ของพื้นที่นั้นๆ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มองว่าการขยายเวลาทำให้ทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ เพราะที่ผ่านมาการกำหนดให้ปิดเร็วอาจมีบางสถานประกอบการที่แอบจ่ายใต้โต๊ะเพื่อจะเปิดเกินเวลา และไม่ได้รับการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย ก็จะยิ่งเป็นช่องโหว่มากกว่า ดังนั้น หากทำให้ถูกกฎหมาย ให้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ก็จะทำให้สามารถควบคุมและตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ด้าน “นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ว่าอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้กรุงเทพฯ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้น เพราะธุรกิจกลางคืนต้องทนทุกข์มานานร่วม 2-3 ปี และได้รับผลกระทบจากมาตรการอันเข้มงวดของภาครัฐเป็นกลุ่มแรกๆ ตลอดมา หลายคนอาจจะมองถึงนักดื่ม แต่ตนเองมองถึงคนตัวเล็กๆ ที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงดูแลคนตัวเล็กๆ อีกมากมาย ตั้งแต่เจ้าของกิจการ พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ นักดนตรี พนักงานรับรถ พนักงานทำความสะอาด ไปจนถึงครอบครัวของพนักงาน พวกเขาไม่ได้ขออะไรมากไปกว่าโอกาสที่จะทำมาหากิน ฟื้นฟูเม็ดเงินในกระเป๋าที่เสียไประหว่างช่วงนรกโควิด
ฟากเสียงจากผู้ประกอบการ นางละเอียด บุ้งศรีทอง ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือตอนบน) มองว่าการจัดโซนนิ่งจังหวัดท่องเที่ยวเปิดผับถึง ตี 4 เป็นเรื่องที่ดี โดยแนวคิดดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอินเดีย และรัสเซีย ส่วนกลุ่มตลาดยุโรปที่มีการเที่ยวแบบกลางคืนบ้าง แต่ต้องควบคุมไม่ให้กระจายตัวจนส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่เอง ซึ่งการเปิดสถานบันเทิงได้นานขึ้น จะตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเที่ยวและใช้จ่ายเพิ่มได้ โดยเฉพาะจังหวัดเป้าหมายหลักๆ อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ด้วย จึงถือเป็นมิติที่ดีมาก แต่ต้องบริหารจัดการและควบคุมให้ได้
“การกำหนดพื้นที่จะต้องชัดเจนและคุมได้ ไม่กระจายตัว เป็นการจัดกลุ่มให้กระจุกตัวในพื้นที่ที่สามารถคุมได้ เพราะหากขยายเวลาเปิดให้บริการแล้วบริเวณส่วนนั้นเป็นบ้านคนอาศัยจริงๆ ก็อาจลำบากในการควบคุมหรือบริหารจัดการ เพราะจะได้รับผลกระทบแน่นอน อาทิ มีความวุ่นวายในเรื่องที่จอดรถ เสียงดังรบกวน และสิ่งเหล่านี้การแก้ไขปัญหาก็ทำได้ค่อนข้างช้าด้วย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีกลุ่มลูกค้าบางกลุ่มที่ต้องการมีประสบการณ์เที่ยวแบบไนท์ไลท์ หรือการท่องเที่ยวตอนกลางคืนจริงๆ อาทิ ภูเก็ต ในพื้นที่ป่าตอง ที่เน้นเรื่องการเที่ยวไนท์ไลท์แบบมีความนิยมสูงมาก” นางละเอียด บุ้งศรีทอง ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือตอนบน) แสดงความคิดเห็น
มองมุมกลับประเด็นการขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 จากเดิม ตี 2 นั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความไม่เห็นด้วยเพราะมองว่ามากเกินไป โดยระบุว่า หลังจากสถานการณ์โควิดควรค่อยๆ ผ่อนมาตรการต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการเปิดผับบาร์แบบเดิมในเวลา 02.00 น. พอดีอยู่แล้ว ยังไม่ต้องรีบ เพราะคนติดเชื้อโควิดที่เป็นวัยทำงานเป็นกลุ่มที่มาเที่ยว คนสูงอายุคงไม่มาก และเมื่อวัยทำงานที่มาเที่ยวมีการพบปะคนติดเชื้อ ก็จะนำเชื้อกลับไปให้กับผู้สูงอายุ ก็เกิดการติดเชื้อในบ้าน ฉะนั้น เปิดแค่ตี 2 ก็เพียงพอ
ขณะที่ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ตั้งคำถามต่อประเด็นการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ว่าทำไมถึงต้องเปิดถึงตี 4 ซึ่งเป็นเวลาเกือบสว่างแล้ว จริงอยู่แม้เป็นการสร้างเศรษฐกิจในผู้ประกอบการด้านนี้ แต่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งหลักการว่าเปิดถึงตี 4 เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยมากขึ้น เชื่อว่าไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนอยากมาเมืองไทยเพราะผับบาร์เปิดถึงตี 4 แน่นอน ส่วนใหญ่ต่างชาติที่มาเที่ยวไทยก็มักจะไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้น การเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ก็เพื่อตอบสนองคนไทยด้วยกันเอง และกระตุ้นรายได้ให้ผู้ประกอบการ ขณะที่ประชาชนเสียเงิน เสียสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย พบว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีอัตราเสียชีวิตบนท้องถนนน้อยกว่าปี 2564 ทั้งปี แต่เมื่อช่วงครึ่งปีหลังที่มีการผ่อนคลายให้เปิดผับบาร์มากขึ้น จำหน่ายแอลกอฮอล์มากขึ้น กลับพบว่าอัตราเสียชีวิตปีนี้พุ่งสูงกว่าปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ต้องพิจารณาอย่างรัดกุมว่าข้อเสนอต่างๆ นั้น เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริง กับสุขภาพและชีวิตคนไทย คุ้มค่าที่จะดำเนินการเพียงใด
เช่นเดียวกับ “นพ.ดร.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ” นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) ที่มองว่า การท่องเที่ยวที่ไทยจะต้องสร้างตลาดให้ได้ในอนาคต คือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวในเชิงศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การจูงใจให้คนเกษียณจากโลกที่หนึ่งมาใช้ชีวิตระยะยาวหลังเกษียณในประเทศ การท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุนทรีย์ทางสุขภาพ (medical and wellness) ลักษณะการท่องเที่ยวที่กล่าวมาจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้ยั่งยืน ทำให้เกิดการคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้
ในทางกลับกันการนำเสนอนโยบายที่ทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแบบบันเทิง เมาหัวราน้ำ ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดึงดูงนักท่องเที่ยววัยรุ่นที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายต่ำ และยังทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสลัดภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศแห่งการปลดปล่อยตัณหาราคะของโลกไปได้ ซึ่งความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างอุตสาหกรรมการบริการทางเพศ กับ เวลาการเปิดปิดสถานบันเทิง ก็คือ การบริการทางเพศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักมีสถานบันเทิงเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้นการขยายเวลาให้เปิดได้นานขึ้นจนถึงเช้า ย่อมมีความหมายถึงการสนับสนุนให้ประเทศก้าวหน้าไปในทางอุตสาหกรรมการบริการทางเพศได้
นอกจากนั้น จากการสำรวจของงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากแอลกอฮอล์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งได้สอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียงกิจกรรที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเข้ามาเที่ยว แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าเรื่องของการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มองว่าเป็นเรื่องการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมากกว่า
สำหรับการขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิงขึ้นอยู่กับกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งตามที่รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เสนอไปนั้น เป็นเพราะบางประเทศกว่าจะเริ่มทานมื้อค่ำก็ประมาณ 21.00 - 22.00 น. จากนั้นประมาณ 24.00 น. เป็นต้นไป ก็อยากจะไปท่องเที่ยวต่อ ทำให้หากมีระยะเวลาการใช้จ่ายนานขึ้น ทำให้ช่วยจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลต่อเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นการสนับสนุนให้ดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด
สุดท้ายยังคงต้องติดตามว่าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง ตี 4 ได้คุ้มเสียหรือไม่?