ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสังคมไทยในรอบ 60 ปี เกี่ยวกับการ “ทำแท้งถูกกฎหมาย” หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ชี้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งกำหนดความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ นำสู่การปรับแก้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำแท้งที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2499 เอื้อประโยชน์การทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ รองรับมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา
อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายแก้ไขให้เปิดกว้างเพียงใด การทำแท้งยังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทย ทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ศีลธรรม จรรยาบรรณ ฯลฯ
สำหรับสาระของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 โดยได้เผยแพร่ในในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 กันยายน 65 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ โดยประกาศฉบับนี้ ได้การวางแนวปฏิบัติ รองรับมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้ หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์
ทั้งนี้ กำหนดขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษาทางเลือก หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ตามกำหนดสามารถแจ้งความประสงค์ต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก (ซึ่งกรมอนามัยจะประกาศรายชื่อให้ทราบต่อไป) เพื่อเข้ารับคำปรึกษาโดยจะแจ้งผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ได้ ทั้งแจ้งด้วยตนเอง เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยหากหน่วยบริการฯ ดำเนินการตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์แล้ว 1) อายุครรภ์ เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้ดำเนินการให้คำปรึกษาทางเลือก 2) อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากหญิงยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา 3) อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการฯ ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป
อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายนั้น จะลดอัตราการเสียชีวิต และบาดเจ็บจากการทำแท้งในสถานบริการเถื่อน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์จะมีแนวทางชัดเจนว่าสิ่งที่ตนจะทำนั้นอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นประเด็นที่มีความละเอียดและอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะต่อสังคมไทย ซึ่งในกรณีผู้หญิงที่ทำการยุติการตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ด้วยเหตุของการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งจาก สุขภาพกาย สุขภาพจิต และทางสังคม ที่ผ่านมาจึงมีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบภาวะของการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยอันนำไปสู่อันตรายและเสียชีวิตได้
ดังนั้น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดย สปสช.ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว จึงบรรจุ “การป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย” เป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยให้กับหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ รวมทั้งยังเป็นการจัดบริการต่อเนื่องภายหลังจากตรวจพบความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และกลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการรับบริการยุติการตั้งครรภ์นี้ ต้องเป็นไปตามตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 และข้อบังคับแพทยสภา ที่เป็นการให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยครอบคลุมการให้บริการทั้งวิธีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Misoprostol 200 mcg + Mifepristone 200 mg ชนิด combination pack) ที่หน่วยบริการขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา” กับกรมอนามัย ซึ่งมีจำนวน 144 แห่ง ครอบคลุม 23 จังหวัด หรือบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีศัลยกรรม เช่น การใช้กระบอกดูดสุญญากาศ (Manual Vacuum Aspiration: MVA), การใช้เครื่องดูดสุญญากาศไฟฟ้า (Electric Vacuum Aspiration:EVA) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีศักยภาพบริการ
ทั้งนี้ จากข้อมูลการบริการเพื่อป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ปีงบประมาณ 2565 มีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแล จำนวน 12,544 ราย
นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว สิ่งที่น่าวิตกกังวลไม่แพ้กันคิอ ปัญหา “เด็กเกิดน้อย - ด้อยคุณภาพ” ตามสถิติประเทศไทยมีแนวโน้มที่อัตราเกิดลดลงต่อเนื่อง ปี 2564 เป็นปีแรกที่มีจำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดเป็นครั้งแรก ปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี เทียบกับปี 2555 มีเด็กเกิดปีละ 818,975 คน สวนทางกับการเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าปี 2568 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุ 60 ปี มากกว่า 14.5 ล้านคน หรือ 20.7% ของประชากรทั้งหมด
โดยเหตุผลที่ทำให้อัตราการเกิดใหม่น้อยลง เพราะวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เรียนสูงขึ้น แต่งงานช้า รักอิสระ นิยมอยู่เป็นโสด มีความหลากหลายทางเพศ เผชิญด้านปัญหาเศรษฐกิจสังคม รวมถึงมองว่าการมีลูกเป็นภาระ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง เป็นต้น
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้อธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาเด็กเกิดน้อยและยังด้อยคุณภาพ ซึ่งเด็กด้อยคุณภาพจะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมและโครงสร้างของประชากรที่กำลังเข้าสู่วิกฤตสังคมครั้งใหญ่ มีสาเหตุมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก ท้องไม่พร้อม คนที่พร้อมก็ไม่ท้อง ส่วนคนไม่พร้อมกลับท้อง และแน่นอนปัญหาที่ตามมาก็มีมากมาย เด็กที่เกิดมาท่ามกลางความไม่พร้อม ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านอารมณ์ สติปัญญา พฤติกรรม และสังคม มากกว่าเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พร้อม
กลุ่มสอง ครอบครัวไม่พร้อม มีทั้งกลุ่มที่หย่าร้าง และกลุ่มที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเอง สิ่งที่ตามมาก็คือ พ่อแม่ต้องใช้ความพยายามและความหนักแน่นในการเลี้ยงดูลูกอย่างมาก เพราะบางคนต้องทำมาหากินด้วย บางคนสามารถจัดการปัญหา และรับมือได้ดีก็เป็นเรื่องดี แต่บางคนก็ไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ เพราะฉะนั้น เด็กก็มีความเสี่ยงที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ
และกลุ่มสาม ขาดความรู้ กลุ่มนี้เกิดขึ้นกับทั้งกลุ่มพ่อแม่ที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน และมีปัญหาทางการเงิน กรณีที่มีความพร้อมทางการเงิน มีไม่น้อยที่เลี้ยงลูกแบบตอบสนองทุกอย่าง ตามใจลูก เพราะอาจชดเชยเรื่องที่ไม่มีเวลาให้ลูก หรือเลี้ยงลูกด้วยเงิน หรือเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี อาจตามใจสุดฤทธิ์ หรือบังคับเกินไป ขีดเส้นให้ลูกเดิน ฯลฯ ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาทางการเงินก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ รวมถึงขาดโอกาสต่างๆ ที่จะพัฒนาทักษะชีวิต หรือโอกาสทางการศึกษา เป็นผลปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารก และคุณภาพของประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น
ขณะที่ภาครัฐมีความพยายามสนับสนุนส่งเสริมเด็กเกิดใหม่อย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ ปี 2559 มีนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560–2569 เน้นการส่งเสริมการเกิด และการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพราะต้องการแก้ไขปัญหาของประเทศที่อัตราการเกิดเริ่มไม่เพียงพอต่อการทดแทนประชากร
รวมถึงมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1. เพิ่มจำนวนการเกิดที่มีการวางแผน มีความพร้อมและมีความสมัครใจ 2.ส่งเสริมให้การเกิดทุกราย ให้มีคุณภาพ เด็กเกิดรอด แม่ปลอดภัย 3.เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ส่งเสริมให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี มีพัฒนาการสมวัย สติปัญญาดี มีความเฉลียว ฉลาดทางอารมณ์ ที่สำคัญคือ มีการเจริญเติบโตสมส่วนเต็มตามศักยภาพ
ต้องยอมรับว่าการสร้างเสริมประชากรเกิดใหม่ให้ได้คุณภาพเป็นโจทย์ยากของรัฐ โดยเฉพาะการสร้างกลไกต่างๆ ขึ้นมารองรับการสร้างประชากรคุณภาพในอนาคต ส่วนการ “ทำแท้งถูกกฎหมาย” ย้ำว่าไม่ใช่การ “ทำแท้งเสรี” สาระสำคัญเป็นสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย ลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน