xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ก.ล.ต.ดาบทื่อฟัน Bitkub - Satang Pro ไม่เข้า ยืมมืออัยการฟ้อง “ปั่นวอลุ่มซื้อขายเทียม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อย่างที่รู้กันว่ากระแสปั่นราคาคริปโตเคอเรนซี่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาจุดประกายให้  “เม่าน้อย”  บินว่อนเข้ากองไฟด้วยความที่อยากรวยเร็ว หาเงินง่ายใช้คล่อง โดยไม่รู้ว่าเบื้องหลังการแห่เข้าเล่นคริปโตฯ กันคึกคักนั้น มีการสร้างปริมาณซื้อขายเทียมให้แลดูอู้ฟู่เพื่อล่อนักเล่นหน้าใหม่ ขณะที่ผู้คุมกฎอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เทคแอกชันเชื่องช้าไม่ทันเกม จนทำให้นักลงทุนวัยละอ่อนหมดเนื้อหมดตัวไปตามๆ กัน

กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้ ก.ล.ต.เข้าตรวจสอบการซื้อขายที่ผิดปกติ การปั่นราคาที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่นแบบไม่น่าเชื่อ รวมทั้งตั้งคำถามถึงโปรโมชั่นเชิญชวนนักลงทุนวัยรุ่นวัยเรียนเข้าเทรดคริปโตฯ อย่างบ้าคลั่งของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะกรณีของ  Bitkub ทำให้ ก.ล.ต.ไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ และผลของการเข้าตรวจสอบก็พบพฤติกรรมการปั่นวอลุ่มซื้อขายเทียมของศูนย์ซื้อขายฯ ที่มีผู้บริหารมีส่วนร่วมด้วยดังคาด

สำหรับ Bitkub นั้น ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งต่อผู้กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระหลายครั้งหลายครา แต่ยังมีเรื่องราวที่สะสางในชั้นของ ก.ล.ต.ไม่ได้ นั่นคือ กรณีการกล่าวโทษ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด, นายอนุรักษ์ เชื้อชัย และนายสกลกรย์ สระกวี  ข้อหาสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub ของบริษัทบิทคับ โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับต่อผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย โดยให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวม 24,161,292 บาท

ค.ม.พ. ยังห้ามนายอนุรักษ์ และนายสกลกรย์ ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นระยะเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นระยะเวลา 12 เดือน

แต่ดูเหมือนว่าผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย จะเล่นบท  “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ.กำหนด ก.ล.ต.จึงพิจารณาได้ว่าผู้กระทำผิดดังกล่าวไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้น ก.ล.ต. ล่าสุด ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวมทั้งสิ้น 24,161,292 บาท กำหนดห้ามนายอนุรักษ์ และนายสกลกรย์ ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ โดยให้นายสกลกรย์ ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วม
การดำเนินธุรกิจแบบมีปัญหาธรรมาธิบาล ทำให้บิทคับถูก ก.ล.ต.ออกมาตรการลงโทษบิทคับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ  “ระบบหลังบ้าน” และ “การปฏิบัติการ”  ที่ไม่ได้มาตรฐานและขาดความน่าเชื่อถือ โดยนับจากเดือนม.ค. - ก.ค. 2564 มีกรณีถูกสั่งปรับรวม 9 ครั้ง วงเงินกว่า 4 ล้านบาท

และเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ก.ล.ต.ยังประกาศเปรียบเทียบปรับคณะกรรมการบริหารบริษัทบิทคับ ออนไลน์ จำกัด ฐานความผิดต่างๆ ได้แก่ 1.นายนิธิวัฒน์ มณีสินธุ์ 2.นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ 3.นายปิยพงษ์ โคตรชนะ 4.นายพงศกร สุตันตยาวลี 5.นายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ และ 6.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งบุคคลทั้ง 5 ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO)

ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้ง 5 รายดังกล่าว มีหน้าที่รับผิดชอบในการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) แต่ได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นหน้าที่พึงต้องกระทำ เป็นเหตุให้ BO คัดเลือก Bitkub Coin (เหรียญ KUB) เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) ซึ่งทาง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการมีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 9/2565 โดยปรับเป็นเงินรายละ 2,533,500.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,201,000 บาท
 นอกเหนือจากบิทคับแล้ว ก.ล.ต. ยังขอให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำความผิด 2 ราย คือบริษัท LLC Fair Expo และ Mr. Mikalai Zahorski กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang Pro ของบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ ค.ม.พ.มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิด 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท LLC Fair Expo และ 2. Mr. Mikalai โดยให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด คิดเป็นเงินรวม 12,080,646 บาท ห้ามบริษัท LLC Fair Expo และ Mr. Mikalai ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นระยะเวลา 6 เดือน และห้าม Mr. Mikalai เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นระยะเวลา 12 เดือน ตามข่าว ก.ล.ต. ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นั้น

แต่เนื่องจากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด จึงพิจารณาได้ว่า ผู้กระทำความผิดดังกล่าวไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้น ก.ล.ต. ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวมทั้งสิ้น 12,080,646 บาท กำหนดห้าม Mr. Mikalai ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ โดยให้ Mr. Mikalai ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งกับบริษัท LLC Fair Expo อย่างลูกหนี้ร่วม

 เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการเอาผิดทางแพ่งของ ก.ล.ต.ต่อศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ขลังเหมือนกรณีก.ล.ต.สั่งฟันการปั่นหุ้นซึ่งมักจบในชั้นของก.ล.ต.ไม่ต้องไปถึงมืออัยการและฟ้องต่อศาลแพ่ง ดังนั้นเคสของ Bitkub และ Satang Pro จึงนับเป็นการท้าทายอำนาจหรืออีกนัยหนึ่งคือบทพิสูจน์น้ำยาของผู้คุมกฎอย่าง ก.ล.ต.ว่าจะไล่ตามทันโลกการเงินการลงทุนแห่งอนาคตอย่างสินทรัพย์ดิจิทัลสักเพียงไหน 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตฯ โดยเฉพาะบิตคอยน์ ที่นับวันเติบโตขึ้น โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะกลายเป็นเงินในโลกอนาคตที่มาทดแทนเงินของธนาคารกลางที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทว่ากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) กลับมองในทิศทางตรงกันข้ามและประเมินว่ายังเป็นไปได้ยากจากข้อจำกัดหลายประการ โดยคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติของเงิน คือไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ไม่สามารถเป็นมาตรฐานในการใช้วัดมูลค่าเพราะมีความผันผวนสูง และไม่สามารถเป็นเครื่องรักษามูลค่า

นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินที่หายไป ขณะที่การให้เอกชนเป็นคนออกสกุลเงินและจำกัดปริมาณเงินให้คงที่เพื่อรักษามูลค่าถือเป็นระบบที่มีความไม่มั่นคงสูงและขาดกลไกในการรองรับความเสี่ยง เช่นภาวะเงินฝืด ซึ่งอาจลุกลามไปสู่เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม การคาดเดาทิศทางของราคาบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซียังคงทำได้ยาก แม้ว่าเหรียญดิจิทัลเหล่านี้อาจถูกมองว่าไม่มีมูลค่าพื้นฐานแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีมูลค่าเป็นศูนย์เสมอไป และความผันผวนในราคาของสินทรัพย์เหล่านี้น่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตในช่วงที่ความไม่แน่นอนเรื่องอัตราเงินเฟ้อและทิศทางของนโยบายการเงินเพิ่มสูงขึ้นมาก และมีความเสี่ยงสูงที่ราคาจะปรับตัวลงได้

KKP Research ประเมินว่าปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยอมรับบิตคอยน์ หรือคริปโตเคอเรนซีอื่นๆ ให้เป็นสกุลเงินหลักในอนาคต

 แต่ก็อย่างที่ว่า การคาดเดาทิศทางของคริปโตเคอเรนซีในอนาคตยังทำได้ยาก ดังนั้น “ผู้คุมกฎ” ต้องลับดาบให้คมเพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นจะมีผู้ที่อยากลองและทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนอย่างกรณีของ Bitkub และ Satang Pro ที่ต้องตามล้างตามเช็ด เพื่อปกป้องนักลงทุนโดยเฉพาะ “เม่าน้อย” ที่ไม่ค่อยประสีประสากับเกมการลงทุนลวงโลกที่นับวันจะแพร่ระบาดหนักขึ้นทุกวัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น