xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาท ของสถาบันพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร (ตอนที่ ๑)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ตำราสองเล่มที่ถือเป็นตำราสำคัญที่ว่าด้วยสถานะ บทบาทและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์และประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักรคือ  The English Constitution ของ  Walter Bagehot  ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ และ  The Monarchy and the Constitution  ของ  Vernon Bogdanor  ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕

ในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง  The English Constitution ของ Walter Bagehot

Walter Bagehot มีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้านการเมือง ส่วน Vernon Bogdanor เป็นนักวิชาการในตำแหน่งศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด Bagehot มาจากครอบครัวที่มีฐานะ บิดาเขาเป็นกรรมการผู้จัดการและรองประธานธนาคาร ตัวเขาเองจบการศึกษาระดับปริญญาโท โดยในระดับปริญญาตรี จบสาขาคณิตศาสตร์ และจบปริญญาโททางด้านปรัชญาจาก UCL (University College London ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยลอนดอน) แม้ว่าเขาจะได้เข้าเรียนเนติบัณฑิตที่สำนักลินคอล์น (Lincoln’s Inn) แต่เขาตัดสินใจที่จะไปช่วยบิดาทำธุรกิจธนาคารและการเดินเรือ(shipping) 
 
ในปี ค.ศ. ๑๘๕๕ Bagehot ได้ร่วมก่อตั้งนิตยสารรายสี่เดือนชื่อ  National Review ซึ่งน่าจะเป็นนิตยสารระดับปัญญาชน โดยผู้เขียนพิจารณาจากการที่นิตยสารได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ หนังสือ On the Origin of Species ของ Charles Darwin  ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือที่เปลี่ยนโลก เพราะอธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตภายใต้ทฤษฎีวิวัฒนาการ หลังจากที่ On the Origin of Species ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๙ เพียงสิบหกวันต่อมา National Review ได้ตีพิมพ์ข้อเขียนชิ้นแรกที่วิจารณ์ On the Origin of Species ในวันที่ 10 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น 
 
ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๖๑ เขาได้เป็นบรรณาธิการ The Economist  นิตยสารที่โด่งดังและมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน และตลอดเวลา 17 ปีที่เขาเป็นบรรณาธิการ เขาได้ทำให้ The Economist พัฒนาขยายการรายงานข่าวการเมือง ทำให้ The Economist มีอิทธิพลสำคัญต่อบรรดาผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ เขาได้ตีพิมพ์หนังสือ  The English Constitution อีกห้าปีต่อมา เขาได้ออกหนังสือชื่อ  Physics and Politics

จากประสบการณ์และงานเขียนของเขาทำให้เขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากแวดวงชนชั้นนำ จนในปี ค.ศ. ๑๘๗๕ เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ  the Athenaeum  ซึ่งเป็นสโมสรเฉพาะสำหรับปัญญาชนที่ประสบความสำเร็จและมีความโดดเด่นในองค์ความรู้สาขาต่างๆ

 เวลากล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ ผู้คนมักจะอ้างหนังสือ The English Constitution ของเขา และไม่เฉพาะแต่ในอังกฤษ แต่ในสังคมไทย ก็มีคนชอบอ้างถึง The English Constitution เวลาจะกล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่เราชอบเรียกว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

 วอลเตอร์ แบจอจ์ท
 ในกรณีของการใช้พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ของอังกฤษกับหนังสือ The English Constitution นักวิชาการอังกฤษมีข้อสังเกตที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงรับรู้เข้าใจและสามารถกำหนดบทบาทและการใช้พระราชอำนาจด้วยตัวพระองค์หรือคำแนะนำภายในราชสำนักเองอย่างเหมาะสม หรือพระองค์ทรงรับรู้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์จากภายนอกราชสำนัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จากคนนอกที่มองว่า ในบริบทที่เปลี่ยนแปลง บทบาทและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะใช้ได้แค่ไหนและอย่างไร ?

ตามความเห็นของ  Matthew Dennison ในหนังสือ Queen Victoria: A Life of Contradictions (๒๐๑๓)  กล่าวว่า  “สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียไม่ได้ทรงอ่านหนังสือ The English Constitution ของ Walter Bagehot ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ แม้ว่าจะไม่รับคำแนะนำจากหนังสือดังกล่าว---แต่กระนั้น ก็มีหลักฐานว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือหลักของผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์---พระองค์ทรงยืนยันต่อรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี คณะสงฆ์ นายทหาร รัฐบุรุษและผู้ปกครองประเทศต่างๆ เฉกเช่นเดียวกันกับในพระบรมวงศานุวงศ์ ถึงสิทธิ์ของพระองค์ที่จะได้รับการทูลเกล้าฯ ขอคำแนะนำ กระตุ้นและตักเตือน (to be consulted, to encourage and to warn—ซึ่งเป็นวลีที่โด่งดังที่ Bagehot ได้กล่าวไว้ถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรหรือประเทศอื่นที่ใช้การปกครองตามแบบของสหราชอาณาจักร) พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนั้นอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง” 

ในขณะที่  Sean Lang กล่าวว่า “ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ Bagehot ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง...และเขาได้เขียนหนังสืออันทรงอิทธิพลยิ่ง นั่นคือ  The English Constitution ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ (the royal family) ได้รับมาเป็นแนวทางในการวางบทบาทของพระมหากษัตริย์ (as guidance on the Crown’s role in politics) ในการเมือง---สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทรงอ่านหนังสือเล่มนี้ และรวมทั้ง Edward VII และ George V ผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อมา

Lang กล่าวว่า Bagehot เห็นว่า บทบาทของสมเด็จพระราชินีนาถ (สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย สถาบันพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรในขณะนั้น) มีความสำคัญยิ่งต่อความต่อเนื่องของการปกครองตามประเพณีของอังกฤษ แต่เขาเห็นในลักษณะที่  “บรรพกษัตริย์”  ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียจะทรงเห็นว่าเป็นบทบาทที่ค่อนข้างจำกัด ด้วย Bagehot อธิบายว่า องค์พระมหากษัตริย์มีพระราชสิทธิ์อยู่เพียงสามประการ นั่นคือ “the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn” 

ที่กล่าวว่า ความเห็นของ Bagehot ต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียเห็นว่า  “เป็นพระราชอำนาจที่ถูกจำกัด”  เพราะการกล่าวว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเพียงในพระราชสิทธิ์สามประการนั้น ถือเป็น  “การจำกัดและลดทอนพระราชอำนาจ”  อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น

 ที่ผ่านมา ในสังคมไทย มักจะมีผู้อ้างงานของ Bagehot ในเรื่องพระราชสิทธิ์สามประการเพื่อบอกว่า หากคนไทยก็ดี หรือพระมหากษัตริย์ไทยก็ดี ต้องการให้ประเทศไทยปกครองภายใต้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ตามแบบของอังกฤษจริงๆ ก็ควรจะต้องยอมรับร่วมกันว่า ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้พระราชสิทธิ์สามประการนี้เท่านั้น แต่ไม่ค่อยจะมีใครอธิบายขยายความตามที่ Bagehot ได้อธิบายขยายความเกี่ยวกับพระราชสิทธิ์ทั้งสามนี้  

ใน The English Constitution ของ Bagehot ฉบับตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ค.ศ. ๒๐๐๔ จะพบข้อความของ Bagehot เกี่ยวกับพระราชสิทธิ์ทั้งสามและคำอธิบายขยายความปรากฏอยู่ในหน้า ๖๐-๖๑

ผู้เขียนจะแปลความที่ Bagehot ได้กล่าวถึงพระราชสิทธิ์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครอง “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในหน้า ๖๐-๖๑ ดังนี้: “สถาบันพระมหากษัตริย์ (Bagehot ใช้คำว่า sovereign อันหมายถึงองค์อธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจสูงสุด) ภายใต้การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามแบบของเรา (ของเรา ในที่นี้คือ ของสหราชอาณาจักร) มีพระราชสิทธิ์สามประการ

 - พระราชสิทธิ์ในการให้คำปรึกษาแนะนำ (the right to be consulted อันหมายถึง พระราชสิทธิ์ที่จะพระราชทานคำปรึกษาแนะนำ เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลขอ)

- พระราชสิทธิ์ในการให้การสนับสนุนและให้ความมั่นใจ (the right to encourage)

- พระราชสิทธิ์ในการเตือน (the right to warn)  

และพระมหากษัตริย์ (เขาใช้คำว่า a king) ที่ทรงพระปรีชาญาณและมีพระราชวินิจฉัยที่ดี (of great sense and sagacity) จะไม่ต้องการมีพระราชสิทธิ์อะไรมากไปกว่าพระราชสิทธิ์ทั้งสามนี้ พระองค์จะทรงพบว่า การที่มีพระองค์ไม่มีพระราชสิทธิ์อื่นใดกว่านี้จะทำให้การใช้พระราชสิทธิ์ทั้งสามนี้ของพระองค์มีผลสำคัญอย่างยิ่ง โดยพระมหากษัตริย์จะทรงตรัสต่อรัฐมนตรีของพระองค์ว่า ‘ความรับผิดชอบต่อนโยบายต่างๆ นี้ตกอยู่แก่ท่าน อะไรก็ตามที่ท่านคิดว่าดีที่สุดจะต้องถูกนำไปปฏิบัติ อะไรก็ตามที่ท่านคิดว่าดีที่สุด จะได้รับการสนับสนุนจากข้าพเจ้าอย่างเต็มที่และเพื่อให้ได้ผลสำเร็จดี แต่ท่านจะต้องสังเกตด้วยว่า ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อะไรที่ท่านเสนอที่จะทำ ไม่ดี ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อะไรที่ท่านไม่เสนอ จะดีกว่า ข้าพเจ้าจะไม่คัดค้าน เพราะเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะไม่คัดค้าน แต่สังเกตด้วยว่า ข้าพเจ้าจะเตือน’

สมมุติว่า พระมหากษัตริย์ (the king) ทรงถูก (Supposing the king to be right/ การเตือนของพระองค์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง) เพราะพระองค์มีในสิ่งที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ (the kings) มักจะมี นั่นคือ พรสวรรค์ของการแสดงออกที่ให้ผลสำเร็จที่ดี (the gift of effectual expression) สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ การเตือนพระองค์จะมีอิทธิพลต่อรัฐมนตรีของพระองค์

การเตือนพระมหากษัตริย์อาจจะไม่ถึงกับเปลี่ยนแปลงแนวทางของรัฐมนตรีของพระองค์ได้เสมอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือ การเตือนของพระองค์จะทำให้รัฐมนตรีของพระองค์ต้องครุ่นคิดกังวล”

(อ่านต่อในตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น