เป็นงานรัฐพิธีอาลัยอดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ที่บริหารราชการแผ่นดินที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติ จัดได้อย่างอลังการ เพราะมีเวลาเตรียมการถึง 2 เดือนเต็มๆ
แต่ก็ทำให้เกิดความแตกแยกในความคิดของคนญี่ปุ่นออกเป็น 2 ด้านคือ
ด้านที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของนายกฯ คิชิดะ ที่ทำไมต้องจัดงานใหญ่เป็นรัฐพิธี ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 1,650 ล้านเยน หรือประมาณ 11.4 ล้านดอลลาร์ (ราวๆ 500 ล้านบาท) ท่ามกลางบรรยากาศที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับข้าวยากหมากแพง เพราะทั้งราคาน้ำมันโลกได้พุ่งสูงขึ้นมามากตั้งแต่ต้นปีติดต่อกันมา 8 เดือน (แม้ในช่วงปลายกันยายน ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงมาอยู่ระดับก่อนสงครามยูเครนก็ตาม-ก็เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น-รอถึงหน้าหนาวในเดือนหน้า ราคาน้ำมันก็จะกระฉูดขึ้นไปอีกพร้อมความร้อนแรงของสงครามยูเครน) จนขนาดร้านแมคโดนัลด์ที่ญี่ปุ่นถึงกับต้องประกาศปรับขึ้นราคาบิ๊กแมคไปแล้ว 2 รอบ เพื่อรับกับต้นทุนสินค้าที่พุ่งขึ้นไปมาก รวมทั้งร้านโดนัทก็กำลังจะขยับราคาขึ้นถึงเกือบ 10% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
ประกอบกับค่าเงินเยนที่ร่วงเอาๆ ไปถึง 145 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ก็เป็นตัวที่ทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าหลักเช่นน้ำมัน และแก๊สได้พุ่งขึ้นสูงมากๆ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ด้านอาหารอุปโภคบริโภคก็ราคาพุ่งขึ้นตามการนำเข้า...ยิ่งทำให้ข้าวของยิ่งแพงขึ้น
ชาวญี่ปุ่นที่ไม่อยากให้จัดงานรัฐพิธีใหญ่โตนี้มองว่า พวกเขากำลังเผชิญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากขึ้นจากค่าของเงินเยนที่ต่ำลงๆ และรักษาระดับต่ำมากๆ ในรอบ 40 ปีนี้เอาไว้นานเป็นเดือน (แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้าไปแทรกแซงซื้อเยนที่ 145 ก็ทำให้เยนเขยิบแข็งมาได้ 1 วัน...ก็ตกลงมาอยู่ที่ 144 เยนอีก!)
ที่สำคัญคือ คนกลุ่มที่ไม่อยากให้จัด, จากการทำโพลของหลายสำนักมีสูงถึง 55-60% เป็นพวกที่มองว่า อดีตนายกฯ อาเบะเป็นพวกนิยมลัทธิทหาร หรือพวกใฝ่สงคราม โดยได้พยายามตีความรัฐธรรมนูญ ที่นายพลแมกอาเธอร์ (ที่ได้เข้าปลดอาวุธญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ได้จัดทำรัฐธรรมนูญใฝ่สันติภาพ (Pacifist) ขึ้น ซึ่งได้ตีกรอบไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ (แบบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้ร่วมมือกับนาซีของฮิตเลอร์และฟาสซิสต์ของมุสโสลินี จนบุกโจมตีฐานทัพอเมริกันที่อ่าวไข่มุก-Pearl Harbor, จนมาเป็นของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ทำให้ผู้คนในหลายประเทศ-รวมทั้งประเทศไทย...ต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก จากความโหดเหี้ยมของกองทัพญี่ปุ่น...โดยเฉพาะการบุกนานกิงที่ประเทศจีน ที่ได้ฝากรอยแผลเป็นที่เจ็บปวดมากแก่คนจีน...รวมทั้งที่เกาหลีใต้ด้วย)
ทำให้ญี่ปุ่นมีได้แค่กองกำลังป้องกันตนเอง ประเภทรักษาดินแดนเท่านั้น...แต่อาเบะได้พยายามให้มีการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ จนสามารถจัดเป็นกองกำลังที่สามารถเข้าร่วมกับกองกำลังพันธมิตรในการออกไปนอกประเทศ เพื่อรักษาสันติภาพโลกร่วมกับพันธมิตร (เช่น สหรัฐฯ และกลุ่ม G7)
รวมทั้งอาเบะเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันแนวคิดจัดกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคง และการทหาร เพื่อสกัดกั้นการขยายและเติบใหญ่ของจีน เพราะเขาได้มองเห็นการผงาดขึ้นมาของจีน ที่จะเป็นภัยคุกคามแน่นอนต่อญี่ปุ่น (เศรษฐกิจจีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นลำดับ 2 ของโลก และกำลังขยายสมรรถนะของกองทัพเป็นเงาตามตัวของการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ) จึงพยายามผลักดันต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สหรัฐฯ กลับมาสู่เอเชีย โดยดึงเอาอินเดียเข้ามารวมกลุ่มด้านความมั่นคง เพื่อปิดล้อมและสกัดจีนไม่ให้โตเร็วเกินไป...โดยจัดตั้ง Quad ร่วมกัน 4 ฝ่ายมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ร่วมกับญี่ปุ่น, อินเดีย และประเทศใต้สุด และสำคัญในแปซิฟิกคือ ออสเตรเลีย...จนเป็นผลสำเร็จ
ในคำกล่าวอาลัยของนายกฯ คิชิดะ และอดีตนายกฯ ซูกะ (คนที่อาเบะผลักดันมารับตำแหน่งแทนเขา...เมื่อเขาป่วยหนักด้วยโรคลำไส้ใหญ่กำเริบ) ได้สรรเสริญถึงวิสัยทัศน์ของอาเบะที่มองทะลุก่อนใครถึงการผงาดขึ้นมาของจีน และจะเป็นภัยคุกคามต่อเอเชียในอนาคต
ชาวญี่ปุ่นที่ไม่ชื่นชอบในนโยบายบูชาทหารของอาเบะ (ที่ต้องการทำให้กองทัพญี่ปุ่นกลับมาเกรียงไกรปกป้องและเป็นเกราะสร้างความรุ่งเรืองให้ญี่ปุ่นแบบในอดีต) มักเป็นผู้สูงอายุที่สมาชิกครอบครัวเคยผ่านความเจ็บปวดของสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่โดนระเบิดปรมาณูเข้าไปถึง 2 ลูกแรกของโลก) และชีวิตต้องยากลำบากมากหลังสงคราม
แต่คนรุ่นใหม่ที่อาเบะเคยกล่อมให้ลืมอดีตที่เจ็บปวด แล้วเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความรุ่งเรืองให้ญี่ปุ่น ดังที่เขาเคยกล่าว (ส่งเสียงไปถึงจีนและเกาหลีใต้ที่เคยปวดร้าวกับกองทัพจีนมาตลอด) ว่า คนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ซึ่งเขาก็เป็นนายกฯ คนแรกที่เกิดหลังสงครามโลก) จะไม่จมปลักอยู่กับอดีต...และไม่มัวแต่มองย้อนอดีต แต่จะมองไปข้างหน้าโดยไม่จำเป็นที่คนญี่ปุ่นจะต้องกล่าวซ้ำซากเพื่อ “ขอโทษ” ต่อสิ่งที่ญี่ปุ่นได้สร้างความโหดร้ายช่วงสงครามโลก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีประสบการณ์เหล่านั้น จึงจะหยุดกล่าว “ขอโทษ” (หรือยังต้องจ่ายชดเชยช่วงสงคราม) เสียที เพื่อเดินหน้าต่อไปสู่ความรุ่งเรืองก้าวหน้าในอนาคต
ในรัฐพิธีแสดงอาลัย มีผู้นำพันธมิตรของญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่ได้ร่วมงานกับอาเบะมามากมาย ทั้งจากสหรัฐฯ (รองปธน.กมลา แฮร์ริส), อดีตนายกฯ หญิงอังกฤษ เทเรซา เมย์ และนายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดี (ที่ไม่ได้ไปร่วมรัฐพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง) ก็มาแสดงความอาลัย, รวมทั้งนายกฯ ปัจจุบันและอดีตนายกฯ ของออสเตรเลียก็มาด้วย
เนื่องจากอาเบะได้ยกระดับการนำของญี่ปุ่นในเวทีระหว่างประเทศได้มากกว่านายกฯ ญี่ปุ่นคนอื่นๆ ด้วยการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งมาก ในการเริ่มความสัมพันธ์ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีอย่างมากมาย
ส่วนพวกที่ไม่พอใจอาเบะก็ยังมีเรื่องที่สมาชิกชั้นนำ (รวมถึงระดับรมต., นายกฯ) ของพรรคแอลดีพีมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์กรศาสนา (Unification Church) โดยไปแอบรับเงินจากองค์กรนี้เพื่อใช้ในการหาเสียง ซึ่งนำมาสู่การลอบสังหาร (อย่างเผาขน) อาเบะด้วยซ้ำ และนายกฯ คิชิดะถึงกับต้องปรับเอารมต.ที่แอบรับเงินนี้ออกจากครม. (ซึ่งรวมถึงน้องชายแท้ๆ ของอาเบะที่เป็นรมต.กลาโหมด้วย!) ซึ่งประชาชนส่วนนี้มองว่า รัฐบาลคิชิดะยังทำไม่พอ เพราะการแอบรับเงินบริจาคจากองค์กรศาสนายังควรจะมีการจัดการที่โปร่งใสกว่าที่คิชิดะได้ทำไป