ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นอันว่าคดีทุจริตฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือคดีโรงพักร้างที่ทอดเวลามานานนับ 10 ปี มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 สั่งยกฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในสมัยนั้น กับพวก 6 ราย ประกอบด้วย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ , พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์
พอสิ้นคำพิพากษา นายสุเทพ ยิงฟันยิ้มร่าให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้หมดทุกข์ หมดโศก พ้นเคราะห์ จากนี้จะเดินหน้าทำงานตามอุดมการณ์ต่อไป ใครที่เคยกล่าวหาโจมตี ซึ่งหนึ่งในตัวตั้งตัวตีคือ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เทพเทือก “ก็ขออโหสิให้”
ว่ากันในทางคดีถือเป็นอันสิ้นสุดครบถ้วนกระบวนความ แต่สำหรับกระแสสังคมปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคาใจอยู่อักโข เพราะความเสียหายที่ผ่านมาก็โทนโท่ให้เห็นโรงพักร้างมีแต่เสาโด่เด่น ตำรวจต้องระหกระเหินไปเช่าสถานที่ต่างๆ ทำงานแทน แต่สุดท้ายการดำเนินโครงการที่ส่อทุจริตฮั้วประมูลสุดท้ายก็มีบทจบอย่างที่ว่า
ความคาใจยังพุ่งเป้าไปที่ “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” ที่เป็นผู้ฟ้องคดีเอง ซึ่ง นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แย้มว่า เบื้องต้นสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ขอคัดสำเนาคำพิพากษาฉบับเต็มมาพิจารณาและวิเคราะห์ก่อน จากนั้นจึงจะส่งไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยตามกฎหมายศาลฎีกาฯ ฉบับใหม่ เปิดช่องให้โจทก์และจำเลย ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ พิจารณาอีกครั้งได้
ข้อคลางแคลงใจของสังคม ยังอยู่ตรงที่สำนวนฟ้องของ ป.ป.ช.ที่ไม่ได้ฟ้องประเด็นเรียกรับสินบน ซึ่งเรื่องนี้ เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า สำนวนฟ้องทำสมบูรณ์และสู้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ยอมรับว่าพยานหลักฐานสาวไปไม่ถึงเนื่องจากข้อมูลที่ได้มาไม่มีหลักฐานเส้นทางการเงิน จึงฟ้องเท่าที่มีพยานหลักฐานครบถ้วนเท่านั้น
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตส.ส.พรรครักประเทศไทย ซึ่งหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ เมื่อปี 2555 ถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าเป็นเพียงรองนายกฯ ผู้กำกับดูแลนโยบาย ครม. อนุมัติโครงการนี้เพียงหลักการเฉพาะเรื่อง “เปลี่ยนรูปแบบการลงทุน” ส่วนวิธีการจัดจ้าง เป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ อีกทั้งคุณสุเทพมีหน้าที่เพียง “กำกับดูแลนโยบาย” โดยทั่วไป การเซ็นอนุมัติรวมสัญญาตามที่ สตช. เสนอมาก็ไม่ต้องผ่าน ครม. สรุปยกฟ้อง ไม่ผิด ม.157 ส่วนจำเลยอื่นไม่ปรากฏว่าใช้อำนาจครอบงำสั่งการให้เสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจ้างหรือมีวิธีการที่มิชอบอื่นๆ
เมื่อคำพิพากษามาเป็นแบบนี้ ก็ต้องยอมรับ เพียงแต่ทำให้หวนคิดถึง “คดีจำนำข้าว” ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ “กำกับดูแลนโยบาย” เช่นกัน ระหว่าง คดีโรงพักกับคดีจำนำข้าว คดีหนึ่งไม่พบหลักฐานการทุจริต อีกคดีหนึ่งพบหลักฐานการทุจริต แต่ก็เป็นเพียงผู้กำกับดูแลนโยบาย และไม่พบว่าใช้อำนาจครอบงำสั่งการให้มีการทุจริตเหมือนกัน
นายชูวิทย์ ยังย้อนอดีตว่า การก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งนี้ เป็นการใช้งบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเริ่มต้นสัญญาในปี 2552 โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้เซ็นอนุมัติ เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง มีการไปรื้อฟื้นสัญญาว่านายสุเทพ เซ็นไม่ถูกต้อง จึงมีการต่อสู้กันมา จนผลตัดสินปรากฎแล้วซึ่งส่วนตัวก็ต้องยินดีด้วย แต่ในฐานะที่นำเรื่องเข้าสู่สภา ยอมรับเลยว่า เรื่องนี้มีความเสียหายมันเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังหาผู้ที่รับผิดชอบกับความเสียหายกับงบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้เลย
“แต่ถ้าถามผมเรื่องนี้มันก็ต้องมีคนผิด แต่จะเป็นใครนั้น เกินปัญญาผมจริงๆ ที่จะคาดเดา เพราะพูดไปวันนี้ผ่านมา 10 ปี ทุกอย่างคงตกหล่นหายไปตามกาลเวลาแล้ว” นายชูวิทย์ กล่าว
สำหรับคดีโรงพักร้าง มีจุดเริ่มจากการอภิปรายในสภาฯ ปี 2555 ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ที่อภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลในการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง และแฟลตตำรวจ 163 หลัง ตั้งแต่ปี 2552 รวมมูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท ซึ่งนำไปสู่การส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวบรวมพยานหลักฐาน และเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวน ทำสำนวนส่งฟ้องศาลฯ
เหตุที่นายสุเทพ โดนป.ป.ช.ชี้มูลและยื่นฟ้อง เนื่องจากขณะนั้นสุเทพ เป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงมิ.ย. 2552 – เม.ย. 2556 นายสุเทพ และรักษาการผบ.ตร. เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว
จนต่อมา บริษัท พีซีซีฯ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 คือนายวิศณุ ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ ส่วนจำเลยที่ 3 หรือ พล.ต.ต.สัจจะ และจำเลยที่ 4 หรือ พ.ต.ท.สุริยา ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 5 หรือ บริษัท พีซีซีฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย
ป.ป.ช.กล่าวโทษอาผิดนายสุเทพ และ พล.ต.อ.ปทีป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วน พล.ต.ต.สัจจะ และ พ.ต.ท.สุริยา เอาผิดมาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ส่วน บริษัท พีซีซีฯ และ นายวิศณุ ถูกเอาผิดในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง โดย ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาเมื่อ 30 พ.ย. 2564 รวมเวลาแล้ว ใช้เวลาพิจารณาไต่สวนและนัดอ่านคำตัดสิน ด้วยเวลาไม่ถึงหนึ่งปี
เรื่องนี้แม้ศาลฯ จะมีคำตัดสินแล้ว แต่ต้องรอดูว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะอุทธรณ์หรือไม่ หนังยาวเรื่องนี้จึงยังไม่ถึงกาลอวสานอย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่ “เทพเทือก” เริงร่าว่าหมดทุกข์หมดโศก พ้นเคราะห์แล้วซะทีเดียว