"โสภณ องค์การณ์"
สัปดาห์ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผู้ผลของคดีดังอย่างเช่นคดีของขุนค้อนอดีตประธานสภาผู้แทนฯ กรณีสับเปลี่ยนเอกสาร และคดีกำนันสุเทพ ทำให้มีความรู้สึกหลากหลาย ทั้งประหลาดใจ งุนงง สงสัย บางพวกถึงกับอึ้ง ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้
แต่ผู้ที่อยู่ในโลกนี้มานาน ได้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเรา เช่นคำพูดเกี่ยวกับ “อภินิหารทางกฎหมาย” หรือถ้อยคำภาษากฎหมายแบบพิลึกพิลั่นจากการตีความย่อมไม่ประหลาดใจ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
ศาลอาญาและศาลแพ่ง มีการพิจารณาคดีถึง 3 ศาล บางคดีมีมุมมองต่างกัน ตามการต่อสู้จะหว่างโจทย์และจำเลย ในกรณีพิพาทคดีแพ่ง และศาลอื่นๆ
มีคำพูดที่คุ้นหูเช่น “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร”
ฟังดูแล้วรู้สึกว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายสูงส่ง น่าเชื่อถือเป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนต้องยอมรับโดยสนิทใจ แต่ก็ยังมีบางกลุ่มรู้สึกตระหงิดๆ
มีความสงสัยในความน่าเชื่อถือถ้าคำวินิจฉัยไม่เป็นเอกฉันท์ แสดงว่าในกลุ่มตุลาการก็มีความเห็นต่างกันในมุมมองของกฎหมาย ประเด็นในข้อเท็จจริง และอื่นๆ หรือมีประเด็นอื่นๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงและรับรู้ได้
ดังนั้น คำวินิจฉัยที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ไม่ว่าจะเป็น 5:4, 6:3 หรือ 7:2 หรือแม้กระทั่ง 8:1 ก็ยังต้องมีคำตอบว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นด้านความเห็นต่าง แล้วเสียงข้างมากจำเป็นต้องถูกต้องเสมอไปหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกข้อสงสัย หรือแม้กระทั่งคำวินิจฉัยที่เป็นเอกฉันท์ ถ้าค้านกับมุมมองของสาธารณะ หรือผู้รู้กฎหมายคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือหรือการยอมรับได้หรือไม่ ตามที่มีคำกล่าวว่ามีปัจจัยพิเศษ เป็นต้น
ยุคนี้ในคำพิพากษา มีคำว่า “เจตนาหรือเจตนาพิเศษ” ซึ่งชาวบ้านทั่วไปคงไม่เข้าใจว่ามีความสำคัญแตกต่างกันอย่างไร เช่น “เจตนาฆ่า” และ “เจตนาพิเศษฆ่า”
น่าจะมีองค์ประกอบพิเศษที่ทำให้มีคำวินิจฉัยพิเศษเพื่อความน่าเชื่อถือ
เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จะมีคำพูดว่า “น้อมรับคำพิพากษา” แม้ในใจอาจคิดเป็นอื่น ถ้าเป็นคุณกับฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นย่อมต้องน้อมรับเป็นธรรมดา
คำพิพากษาไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความยุติธรรมทุกกรณี ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกปรักปรำใส่ร้าย มีการปั้นพยานเท็จ หลักฐานเท็จ เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจกับโจทย์ หรือด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆ ในข้อพิพาท
ผลสุดท้ายจำเลยถูกตัดสินว่าผิดโดยไม่ได้กระทำความผิด จะเรียกว่าเป็นความยุติธรรมได้อย่างไร อย่างคดีเชอรี่แอนด์ ดันแคน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปั้นพยานเท็จ
ไม่มีใครรู้ว่าเป็นความยุติธรรม นอกจากตัวโจทย์และจำเลย
ในความเป็นจริง บรรดาผู้ต้องหาที่รู้ว่าตนเองได้กระทำความผิดในทุกคดีจะไม่ต้องการความยุติธรรม แต่ต้องการให้ตัวเองหลุดคดี ไม่ว่าจะระดับไหนของกระบวนการยุติธรรมก็ตาม ทำให้มีข้อครหาเรื่อง “การวิ่งเต้น” อีกด้วย
บางคดีลากยาว ดังเช่นกรณี “บอส กระทิงแดง” ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีหลักฐานความพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี
ดังนั้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในระบบนิติรัฐ นิติธรรมและความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยเฉพาะคดีดัง อยู่ในความสนใจของสาธารณชน เพราะขึ้นอยู่กับหลายองค์กรในขั้นต้น
องค์กรสืบสวนเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น เช่น ปปช. ปปง. ปปท. สตง. ศุลกากร สรรพากร และตำรวจ ล้วนเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ
มีหลายคดีดัง มีหลักฐานมัดตัวแน่นหนา เกินกว่าจะ “วิ่งเต้น” ได้ ก็จะมีการลงโทษผู้กระทำความผิด แต่ก็ยังมีข้อสงสัยในความหนักเบาของโทษ
ยิ่งมีกระบวนการลดโทษในขั้นตอนการเป็น “นักโทษชั้นเยี่ยม” ก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความสมบูรณ์ในบั้นปลาย ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับโทษน้อยกว่าคำพิพากษาของศาล จะเป็นเพราะเหตุใดนั้น ไม่ต้องเดาให้เสียเวลา
ดังนั้นวันที่ 30 เดือนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าท่านห้าวเป้งผู้นำรัฐบาลได้เป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีหรือยัง และมีความคาดหมายว่าศาลจะวินิจฉัยว่าจะ “ครบ” หรือ “ไม่ครบ” ถ้าไม่ครบ แล้วจะครบเมื่อไหร่ ต้องดูว่าศาลจะว่าอย่างไรหรือไม่
นี่ก็เป็นเดิมพันของความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยจะเป็นในรูปแบบใด เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อท่านห้าวเป้ง คำวินิจฉัยส่วนตนเป็นอย่างไร ที่สำคัญ คำวินิจฉัยจะเป็นเอกฉันท์หรือไม่ มีเนื้อหา เหตุผลอย่างไร
สาธารณชนประเมินไว้แล้วว่า ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในรูปไหน จะยังมีประเด็นให้ถกเถียง เพราะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบท่านห้าวเป้ง
ในความเป็นจริงท่านห้าวเป้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 โดยการโปรดเกล้าฯ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีหลักฐานพร้อม
ชาวบ้านรับรู้กันทั้งแผ่นดิน เจ้าตัวเองก็รู้ เป็นนายกฯ มา 8 ปี จนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพื่อรอคำวินิจฉัย
มีประเด็นเทคนิคด้านกฎหมาย มีเงื่อนไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ต้องตีความ
ช่วงที่ผ่านมา มีคนเดาว่าคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ว่ากันไปต่างๆ เพราะมีเอกสารหลุด ซึ่งก็เป็นความพิสดารในส่วนของกระบวนการที่ไม่มีคำอธิบายได้ชัดเจนว่าทำไมถึงหลุด หรือปล่อยให้หลุดโดยใคร มีวัตถุประสงค์อย่างไร เถียงกันไปมา สุดท้ายก็ต้องรอคำวินิจฉัย 15.30 น. วันที่ 30 เดือนนี้ และจะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมและอนาคตของประเทศ ความน่าเชื่อถือของระบบนิติรัฐ นิติธรรม รวมทั้งความน่าเชื่อถือของตุลาการ โดยประเมินจากคำวินิจฉัยส่วนตน
ประชาชนจะสิ้นหวัง หรือมีความหวัง ขึ้นอยู่กับว่าตนเองยืนอยู่ข้างฝ่ายใด