xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จบมหากาพย์ “ปิดคดีเดอะบีช” ฟ้อง 100 ล้าน จ่ายจริง 10 ล้าน ฟื้นฟู “อ่าวมาหยา” แดนสวรรค์ทะเลใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปหดาห์ - นับเป็นคดีสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญที่จารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทย กรณีอื้อฉาวการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง  “เดอะบีช (The Beach)”  ของ บริษัทหนังยักษ์ใหญ่  “ทเวนตี เซนจูรี่ฟ็อกซ์” ณ “อ่าวมาหยา”  ซึ่งตั้งอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ในปี 2541 ซึ่งมีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยาธรรมชาติทางทะเล เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

 ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมป่าไม้ไปปรับปรุงแก้ไข อ่าวมาหยา จ.กระบี่ ให้กลับคืนสภาพ โดยให้ บ.ทเวนตี เซนจูรีฟอกซ์ และ บ.ซันต้า อินเตอร์เนชันแนล ผู้ประสานงานภายในพื้นที่ ให้มอบเงิน 10 ล้านบาท ที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Beach  

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2541 แม้เกิดกระแสคัดค้านการถ่ายทำภาพยนตร์ The Beach ของ บ.ทเวนตี้เซนจูรี่ฟ็อกซ์ ที่ อ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ท้ายที่สุดโปรเจกต์หนังเรื่องดังก็ผ่านฉลุยในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งตัดสินใจให้ทีมผู้สร้างใช้พื้นที่อ่าวมาหยาเป็นเกาะสวรรค์ตามบทประพันธ์ได้อย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยมี  นายปลอดประสพ สุรัสวดี  อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลกองถ่าย

ในเวลานั้น “อ่าวมาหยา” อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ถูกเปลี่ยนเป็นเกาะสวรรค์ตามบทประพันธ์เรื่อง “เดอะบีช” ประพันธ์โดย  อเล็กซ์ การ์แลนด์  นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งบริษัททเวนตี เซนจูรี่ฟ็อกซ์ นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ผลงานการกำกับของ แดนนี่  โดยมี ลีโอนาโด้ ดิคาปริโอ  เป็นนักแสดงนำ

น่าสนใจว่าก่อนหน้าทางการได้อนุญาตให้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทยหลายเรื่อง อาทิ James Bond 007, Deer Hunter, Good Morning Vietnam ฯลฯ แต่ก็ไม่เคยเกิดปัญหา หรือเรื่อง Cutthroat Island ที่ใช้สถานที่ อ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี ในการถ่ายทำ รวมถึงใช้ตัวประกอบหลายร้อยคน ก็ไม่เกิดเรื่องอือฉาวดังเช่นกรณีภาพยนต์ The Beach ที่สร้างความเสียหายทางธรรมชาติยับเยิน

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทำ The Beach ดำเนินไปตามบทประพันธ์อย่างตรงไปตรงมา ทำให้มีการปรับสภาพพื้นที่ชายหาด นำต้นมะพร้าวมาปลูก ขุดทรายหน้าหาดปรับพื้นที่หาดทรายให้กว้างออกไปกว่าเดิม เพื่อการถ่ายทำฉากเล่นฟุตบอลชายหาดตามบทประพันธ์ โดยไม่มีการทบทวนแก้ไขบทภาพยนตร์ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติของอ่าวมาหยา

รวมทั้งการใช้แพขนานยนต์ไปเทียบหาดเพื่อขนย้ายเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ขึ้นฝั่ง ทำให้สันทรายเกิดรอยเว้าถูกน้ำทะเลกัดเซาะทราย และสร้างความเสียหายต่อปะการังน้ำตื้น และมีการทำลายพืชประจำถิ่นขุดย้ายพันธุ์ไม้ชายหาด อาทิ รักทะเล, พลับพลึงทะเล, ผักบุ้งทะเล ฯลฯ เกิดกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสียหายรุนแรงชัดเจน

กระทั่ง เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เป็นเงิน 100 ล้านบาท ศาลรับคำฟ้องครั้งแรกเมื่อปี 2555โ ดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.) โจทก์ที่ 1 องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง (อบต.) โจทก์ที่ 2 กับพวกรวม 19 คน ร่วมกันยื่นฟ้อง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 1 กรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 และอธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 3 บริษัทซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มฯ จำเลยที่ 4 และบริษัททเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ฯ จำเลยที่ 5 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

การปรับพื้นที่เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ ได้ทำลายสภาพแวดล้อมของอ่าวมาหยาเป็นอย่างมาก


ระหว่างนั้นมีการประนีประนอมไกล่เกลี่ยอยู่หลายครั้ง 21 เมษายน 2561 โจทก์และจำเลยทำการการไกล่เกลี่ย ตั้งนักวิชาการร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ศาล โจทก์ และจำเลย ลงพื้นที่อ่าวมาหยา รวบรวมรายละเอียดเพื่อเป็นแนวทางการฟื้นฟู โดยบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์มีความประสงค์จะตั้งกองทุนฟื้นฟูอ่าวมาหยา ตามที่โจทก์ยื่นฟ้อง

กระทั่งคดีมาถึงจุดสิ้นสุด 13 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้กรมป่าไม้ (จำเลยที่ 2) ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทําแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยา เพื่อเสนอแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศนี้ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาต่อศาลเพื่อพิจารณาการปฏิบัติตามแผนของคณะทํางาน

สำหรับจำเลยที่ 4-5 (บริษัท ซันต้าฯ และบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์) ศาลให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งตามสัญญานั้น จำเลยที่ 5 ประสงค์และยินดีจะอำนวยการช่วยเหลืออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมอบเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้โจทก์ที่ 1-2 นำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์ตามอำนาจหน้าที่ และโจทก์ที่ 1 จะรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกกำหนด 1 ปีต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปีหรือจนกว่าเงินจะหมด ส่วนจําเลยที่ 1 (รมว.เกษตรและสหกรณ์) และจำเลยที่ 3 (อธิบดีกรมป่าไม้) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

 นายศักดิอนันต์ ปลาทอง  อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าบทเรียนจาก The Beach คือข้อควรระวังที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติในถ่ายภาพยนตร์ โดยเฉพาะจุดที่เปราะบางต่อระบบนิเวศ ไม่ควรเข้าไปแตะต้อง ไม่ควรเปลี่ยนสภาพ เพราะระบบนิเวศชายหาด ถ้าเสียหายแล้วฟื้นฟูยาก ซึ่งในยุค 20 ปีก่อนยังมีความคลุมเครือในเชิงกฎหมาย จึงอาจมีช่องว่างเรื่องการอนุมัติ ย้ำว่าการโซนนิ่งพื้นที่สำคัญที่เคยถูกกำหนด และสงวนธรรมชาติไว้ไม่ควรให้ใช้ประโยชน์

แต่ในมิติท่องเที่ยวปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพยนตร์ดังเรื่อง The Beach ทำให้ อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นเกาะสวรรค์ที่ผู้คนจากทั่วสารทิศปราถนาที่จะเดินทางมาสัมผัสความงดงาม

อ่าวมาหยาในอดีตที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำกัดจำนวนจนคนล้นทะลัก
ภูมิศาสตร์ของอ่าวมาหยา มีลักษณะเป็นอ่าวที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อม มีหาดทรายขาวเนียนละเอียดยิบ น้ำทะเลสวยใส ดุจดังสระว่ายน้ำธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน จนถูกยกให้เป็นดังสวรรค์แห่งอันดามันโดยปัจจุบันอ่าวมาหยา ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก เป็นทะเลไทยในอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่อย่างไรก็ดีด้วยความสวยงามและชื่อเสียงอันโด่งดังของอ่าวมาหยา ทำให้ที่ผ่านมาในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปสัมผัสกับความงามของอ่าวมาหยากันเป็นจำนวนมากถึง 3,000-4,000 คน/วัน ซึ่งมากเสียจนเกินความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ขณะที่จากผลสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาตินั้น อ่าวมาหยาสามารถรองรับคนได้เต็มที่เพียง 375 คน/วัน เท่านั้น

นั่นจึงทำให้แทบทุกตารางเมตรบนพื้นดินของอ่าวมาหยา คราคล่ำไปด้วยผู้คนโดยเฉพาะบริเวณชายหาดที่แทบไม่มีที่ให้ยืน ในท้องทะเลหน้าหาดมีเรือท่องเที่ยวหลากหลายประเภทลอยลำกันจนแน่นอ่าวใต้ทะเลถูกโยนสมอเรือลงไปวันละเป็นร้อย ๆ ครั้งในทุก ๆ วัน

หลังปิดอ่าวมาหยา ฉลามหูดำมักปรากฏกตัวบ่อยครั้ง

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสความสวยงามของอ่าวมาหยา

ภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช (The Beach) นำแสดงโดย ลีโอนาโด้ ดิคาปริโอ
อ่าวมาหยาตกอยู่ในสภาพแบบนี้มายาวนานนับสิบปี เป็นเหตุให้เข้าสู่สภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ต้องประกาศปิดเกาะฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูระบบนิเวศให้สภาพให้กลับมาสวยงามสมบูรณ์ ซึ่งหลังจากปิดอ่าวไม่นาน ธรรมชาติเริ่มส่งสัญญาณที่ดีกลับมา เมื่อ “ฉลามหูดำ” สัตว์ห่วงโซ่อาหารบนสุด เริ่มปรากฏตัว หลังจากที่หายจากอ่าวมาหยาไปหลายปี นั่นแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศได้ถูกฟื้นฟูจนเต็มที่และสมบูรณ์ และไทยยังได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศทั่วโลกที่เลือกจะปกป้องธรรมชาติมากกว่าจะปล่อยให้นักท่องเที่ยวทำลายธรรมชาติไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ หลังจากปิดอ่าวไป 3 ปีครึ่ง (มิ.ย. 2561 – 31 ธ.ค. 2564) สัตว์หลายชนิดที่เคยหนีมนุษย์ไปได้ทยอยกลับคืนสู่อ่าวมาหยาอีกครั้ง เช่น ปูลม ปูทหาร ปูเสฉวนบก ปูไก่ ปลาการ์ตูนสีส้ม ฉลามวาฬ และฉลามหูดำ เป็นต้น

โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 อ่าวมาหยาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง รวมถึงจัดระเบียบการเข้าเที่ยวชมอ่าวมาหยา กำหนดให้เข้าได้รอบละ 375 คน แต่ละรอบจะเข้าเที่ยวชมได้ครั้งละ1 ชั่วโมง โดยเริ่มเปิดให้เข้าเที่ยวตั้งแต่เวลา 07.00 - 18.00 น. ของแต่ละวัน จำกัดรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 4,125 คน และห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำบริเวณหน้าอ่าวมาหยา นอกจากนั้น ในแต่ละปียังมีการประกาศปิดอ่าวมาหยาเพื่อให้ธรรมชาติทั้งบนฝั่งและใต้ทะเลฟื้นตัวอีกด้วย โดยในปี 2565 นี้ปิดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 30 กันยายน

 ท้ายที่สุดแล้วกรณีการถ่ายทำภาพยนตร์ The Beach อันตามมาซึ่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบนอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ อย่างหนักหนาสาหัส แม้คดีฟ้องร้องสิ้นสุดมีการจ่ายเงินชดเชยและดำเนินการฟื้ฟูตามลำดับ ต้องยอมรับว่าธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของอ่าวมาหยามิอาจหวนคืนดังเดิม 


กำลังโหลดความคิดเห็น