xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละ กม.ใหม่ “แก้หนี้ กยศ.” เลิกปรับ-ดอกเบี้ย 0% ใครได้ใครเสีย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนและหนี้ SMEs ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -11 ก.ย. 2565 ปรากฏว่ามี ลูกหนี้ กยศ.ขอเข้ารับการไกล่เกลี่ยในเปอร์เซ็นต์มากที่สุด
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกเสียง “เฮ” และเสียง “วิพากษ์วิจารณ์” ดังสนั่นเมืองเลยทีเดียว หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์ในการยกเมือผ่าน “ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. หรือ ร่าง พ.ร.บ.กยศ.” ซึ่งสาระสำคัญก็คือ “ไม่เก็บดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับ ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน โดยให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงิน-คนค้ำประกันทุกราย ไม่มีเหลื่อมล้ำ”..

อย่างไรก็ดี กว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านสภาฯ ต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ที่มีการออกแคมเปญ  #ล้างหนี้กยศ.  ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน โดยกระแสเสียงแตกกระสานซ่านเซ็นก่อนจะเออออห่อหมกไปด้วยกันแบบผ่านฉลุยในวาระสาม

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. หรือ ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วต่อจากเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 ซึ่งในครั้งนั้นมีการพิจารณามาตรา 17 แก้ไขมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุน กยศ. เกี่ยวกับผู้กู้ยืมเงินจะต้องมีหน้าที่ชำระเงินกู้ยืมที่ได้รับไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้เก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 แต่ต่อมาคณะกมธ.เสียงข้างมาก ปรับลดให้เก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 กระทั่งที่ประชุมสภาฯ ลงมติไม่เห็นด้วยกับคณะกมธ.เสียงข้างมาก

สำหรับการพิจารณาของสภาฯในวันที่ 14 ก.ย. เป็นการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับเสียงข้างน้อยกลุ่มใด เนื่องจากมีการสงวนความเห็นไว้ถึง 6 กลุ่ม ต่อมากลุ่มพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และกลุ่มนายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ขอถอน ทำให้เหลือ 4 กลุ่มที่ต้องลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ สงวนความเห็นว่า ให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนโดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งจะชำระเงินคืนกองทุนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระก็ได้ ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนกำหนด

กลุ่มที่ 2 นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ สงวนความเห็นให้ผู้กู้ยืมเงินจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1

กลุ่มที่ 3 นายจุมพล นิติธรางกูร กฤษฎีกา และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. สงวนให้คงตามร่างเดิม คือ ให้เก็บดอกเบี้ยร้อยละ 2 และเก็บเบี้ยปรับล่าช้า ร้อยละ 1 และกลุ่มที่ 4 น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ สงวนความเห็นให้เก็บดอกเบี้ย ร้อยละ 1 และเก็บเบี้ยปรับล่าช้า ร้อยละ1

 ผลการลงคะแนนปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติให้กับกลุ่มนายอุบลศักดิ์ มากที่สุด ด้วยคะแนน 218 ต่อ 109 งดออกเสียง 53 ไม่ออกเสียง 1 เสียง เท่ากับว่าผู้กู้ยืมเงินกองทุนไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อีกต่อไป 

ส่วนการพิจารณามาตราที่เหลือของร่างพ.ร.บ.กยศ. นั้นที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่กมธ.เสนอ ทุกมาตรา ซึ่งรวมถึง มาตรา 24 ซึ่งกรรมาธิการแก้ไขเพื่อกำหนดเป็นบทเฉพาะกาล ให้มีผลย้อนหลังกับผู้กู้ยืมและคนค้ำประกันที่ได้ทำสัญญากู้ยืมก่อนหน้าที่ร่างกฎหมายจะบังคับใช้ โดยมีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญว่า "เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ ให้นำมาตรา 44 มาบังคับใช้กับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันซึ่งทำสัญญาก่อนที่ร่างกฎหมายที่แก้ไขจะใช้บังคับใช้ โดยให้งดเว้นการเก็บดอกเบี้ย และคิดค่าปรับผิดนัดชำระ"


สำหรับมาตรา 24 นั้นมี กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอคำแปรญัตติไว้ แต่ขอถอนออกไปทั้งหมด และได้อภิปรายสนับสนุน เนื่องจากมองว่าผู้กู้ยืมเงินที่มีกว่า 3.4 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีนับล้านรายและถูกฟ้องดำเนินคดีอีกจำนวนมาก ควรได้รับสิทธิประโยชน์ตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นกัน

หลังจากที่ประชุมสภาฯ ได้พิจารณาวาระสองแล้วเสร็จได้ลงมติในวาระสาม ผลการลงมติปรากฎว่าเสียงข้างมาก 314 เสียงเห็นชอบ ต่อ 3 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

ผลการลงมติในวาระสามสะท้อนชัดเจนว่าบรรดานักการเมืองพรรคการเมือง ต่างยกมือสนับสนุนร่างกฎหมาย กยศ. เกือบทั้งหมด ซึ่งคงเป็นเพราะประเมินแล้วว่าลูกหนี้ของ กยศ.ทั้งที่เคยกู้และผ่อนหนี้อยู่ในเวลานี้ และที่กำลังใช้บริการเงินกู้ กยศ.มีจำนวนหลายล้านคน การได้ใจคนกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ย่อมส่งผลต่อคะแนนเสียงอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พอสภาฯ ผ่านร่างกฎหมาย ทางพรรคภูมิใจไทย  ซึ่งถือว่าเป็นพรรคที่แอคทีฟที่สุดในการเตรียมตัวเลือกตั้งสมัยหน้า ออกมาแถลงขอบคุณสภาฯ เพื่อนสมาชิกทุกพรรคที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย นำโดยนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคฯ กล่าวว่า พรรคยืนยันจุดยืน 4 ข้อ มาตลอดว่า คนเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ ดอกเบี้ยต้องเป็น 0% ต้องไม่คิดเบี้ยปรับ และต้องไม่มีผู้ค้ำประกันโดยให้ผู้กู้เป็นผู้ค้ำประกันตัวเอง

ส่วนข้อห่วงใยที่ว่าจะทำให้ผู้กู้เสียวินัยหรือจะทำให้ กยศ.ต้องล้มไปในอนาคตหรือไม่นั้น นายภราดร ยืนยันว่ากองทุนกยศ.มีมูลค่า 3-4 แสนล้านบาท หากผู้บริหารกยศ.บริหารจัดการได้ดีจะทำให้กองทุนยืนหยัดต่อไปได้ และเชื่อว่าผู้กู้ไม่มีใครตั้งใจจะเบี้ยวหนี้ และพร้อมจะชำระตามกำหนดเวลา

หากมองย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของการผลักดันเรื่องนี้มาจาก 4 พรรคการเมือง คือ ภูมิใจไทย เพื่อไทย ประชาชาติ และประชาธิปัตย์  ได้เสนอร่างแก้ไขให้สภาฯ พิจารณา โดยนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองฐานะเป็นกฎหมายการเงิน และเมื่อถึงชั้นการพิจารณาของ กมธ. มีส.ส.จาก 13 พรรคการเมือง ลงมติสนับสนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมจากลูกหนี้ กยศ. ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยและเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแทบทั้งสิ้น

 ตามข้อมูลสำนักงาน กยศ. ระบุว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ลูกหนี้ กยศ.มีทั้งสิ้น 6.2 ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาทั้งอาชีวะและมหาวิทยาลัย หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นฐานเสียงคนรุ่นใหม่ โดยยกระจุกตัวในภาคอีสานมากที่สุด คือ 2 ล้านราย คิดเป็นเงินกู้ 2 แสนล้านบาท รองลงไปคือ ภาคเหนือ 1.1 ล้านราย คิดเป็นเงินกู้ 1.2 แสนล้านบาท ภาคใต้ 9.9 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.1 แสนล้านบาท กทม.และปริมณฑล 8.6 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาท ภาคกลาง 6.2 แสนราย คิดเป็นเงินกู้ 6.6หมื่นล้านบาท และภาคตะวันออก 4.2 แสนราย คิดเป็น 4.6 หมื่นล้านบาท 

ไฮไลท์สำคัญที่ได้ใจลูกหนี้กยศ.และผู้ค้ำประกันไปเต็มๆ ทั้งการปลดล็อกเงื่อนไขดอกเบี้ยเป็นศูนย์หรือไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ไม่มีค่าปรับผิดนัดชำระ และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันทุกกรณี แถมย้อนหลังให้ถ้วนหน้าอีกต่างหาก นับเป็นไม้เด็ดของพรรคการเมืองอย่างภูมิใจไทย ที่จะสามารถนำไปหาเสียงแข่งกับพรรคใหญ่อย่างพลังประชารัฐในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะถ้าต้องสู้กันประเด็นเรื่องล้างหนี้ ปลดหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้นั้น พรรคพลังประชารัฐ โดย “กลุ่มสามมิตร” ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นแกนนำ ปูพรมเปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งรวมถึงหนี้ กยศ. 77 เวทีใน 77 จังหวัด เก็บแต้มตุนคะแนนนิยมเป็นกอบเป็นกำมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความได้เปรียบจากการคุมกลไกรัฐ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่สภาฯจะผ่านร่างกฎหมาย กยศ. กระแสนอกสภามีการเปิดประเด็นวิวาทะในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทั่ง #ล้างหนี้กยศ. ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง เมื่อช่วงวันที่ 17-18 ส.ค. 2565

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา (ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการออกแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ. เป็นส่วนหนึ่งกับแคมเปญ #เรียนฟรีถ้วนหน้า เพื่อผลักดันรัฐสวัสดิการและการให้การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ พร้อมกับล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. แคมเปญรณรงค์ดังกล่าวจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝั่งไม่เห็นด้วยนั้น เสียงที่มีน้ำหนักมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้วยเห็นว่าการยกหนี้ กยศ.ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่รัฐบาลเข้าใจปัญหาของหนี้ กยศ.ตามกฎหมายปัจจุบันจึงได้เสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ.ยังคงเป็นไปตามหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้

นอกจากนั้น ผู้ไม่เห็นด้วย ยังมองว่า หนี้ กยศ.เป็นหนี้ที่ผู้กู้ตัดสินใจกู้ยืมเอง เมื่อจบการศึกษาแล้ว ผู้กู้ควรใช้หนี้คืนทั้งหมดเพื่อให้เด็กรุ่นต่อไปมีเงินได้กู้ยืม และการล้างหนี้จะเป็นการเอาเปรียบผู้ที่ชำระหนี้เงินกู้คืนทุกปี

 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์  ผู้จัดการ กยศ. ชี้ว่า ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด การยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้วยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ

ขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับ#ล้างหนี้กยศ. มองว่า ไม่ควรมีใครเป็นหนี้จากการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ การล้างหนี้ กยศ. จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเด็นเรื่องเรียนฟรีถ้วนหน้า เหมือนกันกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และทำให้การศึกษาเป็นสวัสดิการของรัฐที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้

 ข้อมูลของเว็บไซต์ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการฯ ระบุว่า ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ กยศ. สูงมากกว่า 60% และก่อหนี้โดยเฉลี่ย 150,000-200,000 บาทต่อคน ใช้เวลาผ่อนชำระถึง 15 ปี ส่วนที่ชำระสูงสุดอาจถึง 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ 30% ของเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น สภาพหนี้สินได้ลดแรงจูงใจในการเริ่มชีวิตการทำงาน การประกอบธุรกิจ การใช้ชีวิตตามมาตรฐานสังคม รวมถึงการเข้าแหล่งทุนเพื่อการลงทุนต่างๆ ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต 

นอกจากนั้น หนี้สินยังลดตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจของบัณฑิตจบใหม่ ที่ไม่สามารถเพิ่มรายได้ หรือเปลี่ยนสายงานที่ถนัดได้ การคงอยู่ของสภาพหนี้สินจึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล ทำลายเสรีภาพด้านการดำรงชีวิต สิทธิพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งขัดกับในรัฐธรรมนูญมาตรา 4 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งระบุว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

การรณรงค์ล่ารายชื่อของศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการฯ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยกเลิกหนี้คงค้างเงินกู้ กยศ. สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาครบ 2 ปีแล้วทุกคน โดยให้กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้ไม่มีผลย้อนหลังสำหรับผู้ที่ได้ชำระไปแล้ว


สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2539 ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 โดยกองทุนเริ่มต้นด้วยทุนประเดิมจากงบประมาณแผ่นดิน 3,000 ล้านบาท เพื่อให้โอกาสกับเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา ปริญญาตรี และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 27 ปี กยศ.มีสถานะเป็นกองทุนหมุนเวียนสมบูรณ์แบบไม่ต้องใช้งบประมาณจากแผ่นดินอีกต่อไป

จากสถิติข้อมูล กยศ.ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2565 พบว่า ขณะนี้ มีผู้กู้ยืมเงินกองทุน จำนวน 6,217,458 รายจำนวนผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,458,429 ราย คิดเป็น 56% เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,056,958 ราย คิดเป็น 17% ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,633,702 ราย คิดเป็น 26% เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,369 ราย คิดเป็น 1% อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง 1 ล้านราย มูลหนี้ 1.2 แสนล้านบาท

จะว่าไปการหาคะแนนนิยมจากการพักหนี้ ล้างหนี้การศึกษา หรือการผ่านร่าง พ.ร.บ.กยศ.ของสภาฯ ที่ให้หนี้กยศ.ปลอดดอกเบี้ยและค่าปรับนั้น เป็นเรื่องที่นักการเมืองทั่วโลกต่างหยิบฉวยขึ้นมาใช้หาเสียงอยู่เนืองๆ ไม่เว้นแม้แต่  ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า จะล้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้นักศึกษาอเมริกันคนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 แสนบาท ที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 4.5 ล้านบาท ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี

ไบเดน ยังประกาศล้างหนี้ของ  กองทุนเพลล์ (Pell Grants)  ที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีอีกคนละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก โดย 95% ของผู้กู้หรือประมาณ 43 ล้านคน จะได้รับประโยชน์จากแผนนี้ โดยกว่า 60% ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมในโครงการเพลล์ แกรนต์ส ส่วนผู้กู้เกือบ 45% หรือเกือบ 20 ล้านคน จะได้รับการล้างหนี้ทั้งหมดจากมาตรการนี้

นอกจากนั้น ไบเดน ยังจะขยายเวลาพักชำระหนี้ กยศ.สำหรับผู้กู้ยืมส่วนใหญ่  “เป็นครั้งสุดท้าย”  จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ซึ่งหมายความว่าประชาชนชาวอเมริกัน จะเริ่มหลุดพ้นออกมาจากหนี้สินก้อนนั้นได้ในที่สุด มีเงินพอจ่ายค่าเช่า และค่าน้ำ-ค่าไฟ และเริ่มคิดซื้อบ้าน สร้างครอบครัว หรือสร้างธุรกิจได้ในที่สุด

การประกาศล้างหนี้การศึกษาของไบเดนครั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมือง มองว่าเพื่อเพิ่มคะแนนสนับสนุนในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือน พ.ย. ที่จะถึง รวมทั้งเพิ่มจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ต่างไปจากพรรคการเมืองของไทยที่ต่างหวังซื้อใจคนรุ่นใหม่เช่นกัน ส่วนแต่ละพรรคจะช่วงชิงมาได้สักมากน้อย เปิดวอร์เลือกตั้งใหญ่เมื่อไหร่อีกไม่นานก็คงรู้กัน

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษานั้น พบว่า สวีเดนและเยอรมนีไม่มีการเก็บดอกเบี้ย เช่นเดียวกันกับนิวซีแลนด์ที่หากเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อเรียนภายในประเทศก็จะไม่มีการคิดดอกเบี้ย ส่วนประเทศอื่นๆ นั้นมีการเก็บดอกเบี้ยต่ำ เช่น ไทย อินเดีย และมาเลเซียอยู่ที่ 1% สหราชอาณาจักร 1.5% เกาหลีใต้ 2.2% ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นสูงที่สุดอยู่ที่ 4.99%

อย่างไรก็ดี ถ้าหากกล่าวถึงปัญหาเรื่องการศึกษาของไทย ต้องยอมรับว่า ไม่ได้มีแค่เรื่องหนี้ กยศ. หากมีสารพัดปัญหาที่ “หมักหมมมานาน” โดยไม่มีรัฐบาลไหนเดินหน้าปฏิรูปอย่างจริง ๆ จังๆ และยังคงมีปัญหาในทุกระดับ ไล่เรื่อยมาตั้งแต่กระทรวง โรงเรียน ครู และผลเสียก็ตกกับนักเรียนเหมือมเดิม วนเวียนกับเรื่องหนี้ครู เรื่องระบบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อในทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมยังมหาวิทยาลัย พ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้เงินก้อนโตเพื่อให้ลูก “เรียนพิเศษ” ไม่เช่นนั้นโอกาสเข้าเรียนต่อในสถาบัน ในคณะวิชาที่ต้องการก็น้อยลง ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเบ่งบาน ส่วนโรงเรียนก็ยังพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาที่สวนสนุก ให้ความสำคัญและเอาอกเอาใจแต่เด็กเก่ง

เฉกเช่นเดียวกับนโยบาย “เรียนฟรี”  ที่ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ฟรีจริงๆ เพราะประชาชนยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลาน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป และถึงอย่างไร คนรวยก็มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่าเสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น