คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
“ผมยิ่งเรียนรัฐศาสตร์ ยิ่งสอน ยิ่งไปสัมมนาทั่วโลก ก็ยิ่งลดศรัทธา
ในวิชาที่ผมเรียนมา เคยคิดว่าหากโลกนี้ขาดวิศวกรและแพทย์
เราคงแย่ แต่ถ้ามนุษย์ต่างดาวมากวาดต้อนนักการเมืองและนักรัฐศาสตร์
ตลอดจนนักกฎหมายมหาชนไปให้หมดโลก โลกก็คงจะอยู่ได้และอาจจะอยู่ดีด้วย”
ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช
ทำไมอาจารย์ชัยอนันต์ถึงกล่าวเช่นนั้นกับวิชาที่ท่านร่ำเรียนมา ? อีกทั้งผู้เขียนเข้าใจเองว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ท่านรักด้วย จากที่ได้เคยเรียนหนังสือกับท่านมากกว่าหนึ่งวิชาในระดับปริญญาตรี และได้ติดต่อกับท่านตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
ในการหาเหตุผลว่าทำไมอาจารย์ถึงกล่าวเช่นนั้น ผู้เขียนได้ตั้งสมมุติฐานว่า รัฐศาสตร์ที่ท่านกล่าวถึงนี้น่าจะเป็นรัฐศาสตร์สมัยใหม่ที่เพิ่งสถาปนาตัวเองโดยแยกตัวออกจากรัฐศาสตร์คลาสสิคเมื่อปลายศตวรรษที่สิบเก้า และผู้เขียนได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างรัฐศาสตร์สมัยใหม่กับรัฐศาสตร์คลาสสิคไปหลายตอน จนถึงตอนที่แล้วที่กล่าวไว้ว่า รัฐศาสตร์สมัยใหม่เชื่อว่า ความดีและการเป็นคนดีนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยที่คนแต่ละคนจะเชื่อและให้ความหมาย เพราะเรื่องดีเลวนั้นตัดสินด้วยวิทยาศาสตร์ไม่ได้ และเอกลักษณ์ของรัฐศาสตร์สมัยใหม่คือการเอาตัวไปผูกไว้กับวิธีคิดและระเบียบวิธีในการหาความรู้ตามแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
วิทยาศาสตร์บอกได้ว่า ฝนตกเพราะอะไร ? และน่าจะตกเมื่อไร ? แต่เมื่อมันตกแล้ว จะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่เป็นคนรับผลของการฝนตก
และเหมือนกับที่คนชอบพูดกันว่า นักวิทยาศาสตร์สร้างอาวุธ อาวุธในตัวเองไม่ได้ผิดหรือถูก จะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับคนที่ใช้ ใช้ไปเพื่อเป้าหมายอะไร ?
ในแต่ละช่วงของการทำนา บางช่วงเกษตรกรก็ต้องการฝน บางช่วงก็ไม่ต้องการ ในช่วงที่ต้องการ ก็บอกว่าฝนตกเป็นเรื่องดี ช่วงที่ไม่ต้องการก็ว่าไม่ดี คนกรุงฯ ที่ไม่ได้ทำการเกษตรไม่ชอบฝนตก เพราะนอกจากจะเดินทางลำบากแล้ว หากเกิดน้ำท่วมอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามสัปดาห์มานี้ ไม่น่าจะมีคนกรุงฯ คนไหนบอกว่าดี นอกจากคนที่มีอาชีพที่จะได้ประโยชน์จากฝนตก รถติด น้ำท่วม ซึ่งก็น่าจะพอมีอยู่
ช่วงโรคระบาดโควิด-19 คนส่วนใหญ่จะไม่ชอบ แต่จะมีบางธุรกิจขายของได้ดี แบบที่เรียกว่าดีมากๆ เลยก็ว่าได้
ดังนั้น เรื่องดีเลว จึงเป็นเรื่องที่ตัดสินด้วยวิทยาศาสตร์ไม่ได้ คนดีคนเลวก็เช่นกัน ตัดสินลำบาก
แต่เมื่อคนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม จำเป็นต้องมีระเบียบกฎหมายเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ ไม่ตีกัน คนจึงมีสถานะของการเป็นสมาชิกในสังคม และถ้าเป็นสมาชิกของสังคมการเมืองหรือรัฐ ก็มีคำเรียกเฉพาะว่า พลเมือง แม้ว่าคนดีคนเลวจะหาเกณฑ์ตัดสินยาก แต่รัฐศาสตร์สมัยใหม่ก็ยังพอบอกได้ว่า พลเมืองดีเป็นอย่างไร เพราะพลเมืองดีคือพลเมืองที่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองนั่นเอง ส่วนจะเป็นคนดีหรือไม่นั้น รัฐศาสตร์สมัยใหม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของเสรีภาพของแต่ละคนจะเลือกว่าเป็นคนดีในแบบไหน เช่น คนดีตามศาสนาไหน คนดีตามหลักจริยธรรมคุณธรรมแบบไหน ใครจะกตัญญูต่อบิดามารดรแค่ไหน หรือไม่เลย รัฐศาสตร์สมัยใหม่จะไม่เข้าไปยุ่ง ยกเว้นว่า สังคมการเมืองนั้นกำหนดออกมาเป็นกฎหมายว่า ให้ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่โดยการเดินทางไปเยี่ยมอย่างน้อยปีละครั้งและส่งเงินไปให้เป็นจำนวนร้อยละเท่าไรของรายได้ ฯลฯ ถ้ากำหนดออกมาเช่นนั้น การไม่ทำตาม ก็จะผิดกฎหมาย กลายเป็นพลเมืองเลวไป
ดังนั้น กล่าวโดยคร่าวๆ ก็คือ ภายใต้รัฐศาสตร์สมัยใหม่ จะมีก็แต่พลเมืองดี ที่หมายถึงพลเมืองที่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่จะไม่สามารถกำหนดความหมายของการเป็นคนดีได้ แต่จะปล่อยให้เป็นเรื่องเสรีภาพความเชื่อ หรือจะกล่าวว่าเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคนก็ได้ เพราะคำว่า รสนิยมนั้น วิทยาศาสตร์ก็เข้ามาตัดสินไม่ได้เช่นกัน เช่น ชอบรับประทานส้มตำ อันนี้เป็นเรื่องรสนิยมเป็นหลัก การเป็นคนดีก็เช่นกัน
แต่ความหมายของคำว่า พลเมืองดี ที่บ้านเราใช้กันนั้น จะหมายถึง คนที่มีน้ำใจ มีจิตสาธารณะ ที่จะทำอะไรช่วยเหลือผู้อื่นแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้ เช่น เห็นคนแก่กำลังจะข้ามถนนตรงทางม้าลาย ท่าทางดูจะไม่แข็งแรง และท่าทางไม่มั่นใจ คนที่เห็นและเข้าไปช่วยพาคนแก่นั้นข้ามถนนไปได้โดยสวัสดิภาพนั้น จะได้รับการยกย่องว่าเป็นพลเมืองดี ทั้งๆ ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องไปช่วยคนแก่ข้ามถนน
หรือบางทีกฎหมายก็กำหนดไว้ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจทำ พอคนบางคนทำ ก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นพลเมืองดี เช่น กฎหมายกำหนดไว้ว่า หากเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายซึ่งๆ หน้า ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบ หากละเว้น มีความผิดตามกฎหมาย จะพบว่า คนส่วนใหญ่ (อาจไม่เฉพาะในประเทศไทย) มักจะไม่รายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบ แต่ก็เอาผิดกับคนที่ไม่ได้รายงานได้ เพราะไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ชัดเจนว่า คนที่เดินผ่านไปมา เห็นเหตุการณ์หรือไม่ แต่คนที่กระตือรือร้นไปรายงาน ซึ่งก็เท่ากับปฏิบัติตามกฎหมาย ก็มักจะได้รับการเรียกขานว่าเป็นพลเมืองดี เพราะปฏิบัติตามกฎหมายที่คนส่วนใหญ่มักไม่ทำ
ส่วนในกรณีกฎหมายที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติเคารพปฏิบัติตามกันอยู่แล้ว ก็มักจะไม่เรียกว่าเป็นพลเมืองดี เพราะถือเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ ก็คือพลเมืองดีนั่นแหละ เมื่อเทียบกับพลเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ทีนี้ ที่ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วว่า นักรัฐศาสตร์คลาสสิคอย่างอริสโตเติลได้กล่าวไว้ว่า คนดีอาจไม่ใช่พลเมืองดี และพลเมืองดีอาจไม่ใช่คนดีนั้น ผู้เขียนขออธิบายดังนี้
อริสโตเติลเชื่อว่า เป้าหมายของการมีอยู่ของรัฐคือ การเป็นที่ๆ เอื้อให้มนุษย์พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์ และความสมบูรณ์แบบก็คือความดีสูงสุดของมนุษย์นั่นเอง ไม่ต่างจากพืช สัตว์ต่างๆ ที่ต้องการสภาวะแวดล้อมเงื่อนไขที่เหมาะสมในการพัฒนาเติบโตไปสู่ความสมบูรณ์แบบของพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด
เมื่อมนุษย์จะพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์แบบหรือ “ดี” ได้ ต้องอาศัยและเติบโตในรัฐ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องผ่านเข้าสู่การเป็นพลเมืองถึงจะบรรลุเป้าหมายของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่รัฐทุกรัฐจะออกกฎหมายที่เอื้อให้มนุษย์/พลเมืองพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
จะเห็นได้ว่า กฎหมายบางฉบับหรือหลายฉบับที่รัฐต่างๆ ออกตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่เอื้อให้มนุษย์/พลเมืองพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ตัวอย่างที่นักปรัชญาการเมืองชอบยกขึ้นมาก็ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับพลเมืองเยอรมันเชื้อสายยิวในสมัยนาซี พลเมืองเยอรมันที่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะที่ทำการจัดระเบียบและแยกแยะพลเมืองเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากพลเมืองอื่นๆ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองดี คนที่ไม่ปฏิบัติตามย่อมเป็นพลเมืองเลว
แต่นอกจากพลเมืองเลวที่ไม่ชี้เบาะแสว่า พลเมืองเชื้อสายยิวแอบอยู่ไหนบ้าง แต่ยังแอบเข้าไปช่วยเหลือทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย คนแบบที่ว่านี้ย่อมเป็นพลเมืองเลว เป็นกบฏต่อประเทศชาติ แต่เป็นคนดี ใช่หรือไม่ ? ซึ่งจากกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า พลเมืองดีย่อมไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี และคนดีก็ย่อมไม่จำเป็นต้องเป็นพลเมืองดี ตามที่อริสโตเติลว่าไว้
และเมื่อคนหรือพลเมืองคนหนึ่งต้องเผชิญกับกฎหมายบ้านเมืองที่ขัดแย้งหรือไม่เอื้อให้เขาพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ของตัวเขา เขาจะต้องทำอย่างไรกับกฎหมายนั้น เขาต้องทำอย่างไรกับตัวเขาและกับรัฐที่เขาอยู่ ?