xs
xsm
sm
md
lg

การจำแนกประเภทพรรคการเมืองไทย (5) (Typology of Thai Political Parties) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

พรรคการเมืองไทยที่มีบทบาทเด่นในระบบรัฐสภาช่วงหลังปี 2530 เป็นต้นมา เกือบทั้งหมดเป็นพรรคเลือกตั้งส่วนบุคคล ส่วนพรรคการเมืองประเภทอื่น ๆ ก็มีอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างน้อย อันได้แก่ พรรคเลือกตั้งแบบแตะทุกกลุ่ม พรรคเลือกตั้งแบบกุมกรอบนโยบาย และพรรคแนวอุปถัมภ์ใหม่ของชนชั้นนำท้องถิ่น ส่วนพรรคการเมืองฐานมวลชน หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปแล้ว ก็ไม่ปรากฏพรรคการเมืองประเภทนี้อีกเลย ไม่ว่าจะเป็นพรรคมวลชนฐานชนชั้น ฐานศาสนา หรือฐานชาติพันธุ์ก็ตาม ขณะเดียวกันหลังปี 2560 มีความพยายามของบางกลุ่มในการจัดตั้งพรรคการเมืองแบบพรรคเคลื่อนไหวแนวฝ่ายซ้ายเสรีนิยม และแนวฝ่ายขวาสุดโต่ง แต่พรรคเหล่านั้นยังไม่มีบทบาทใดในระบบรัฐสภา


พรรคการเมืองส่วนบุคคลที่มีความโดดเด่นระหว่าง 2530 – 2540 คือ พรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติไทย ส่วนช่วง 2540 -2565 คือ พรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทยเดิม) และพรรคพลังประชารัฐ พรรคความหวังใหม่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาในปี 2533 เพื่อสนับสนุนและเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งสามารถผลักดันให้พลเอกชวลิต เป็นนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงสั้น ๆประมาณ 1 ปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 และต่อมาในปี 2545 พรรคความหวังใหม่ถูกควบรวมโดยพรรคไทยรักไทย และสูญสิ้นบทบาททางการเมืองในรัฐสภาลงไปอย่างสิ้นเชิง

พรรคชาติไทย ซึ่งก่อตั้งในปี 2517 โดยกลุ่มราชครู หรือกลุ่มเครือญาติของชนชั้นนำทางทหารที่มีบทบาทในการรัฐประหารปี 2490 เป็นพรรคที่มีบทบาทโดดเด่นอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2518 – 2551 เพราะเป้าหมายหลักของพรรคคือการเข้าร่วมเป็นรัฐบาล ทำให้พรรคสามารถดึงดูดนักการเมืองที่เป็นชนชั้นนำท้องถิ่นมากบารมีเข้ามาสังกัดได้อย่างต่อเนื่อง บุคคลที่โดดเด่นคือ นายบรรหาร ศิลปะอาชา แห่งสุพรรณบุรี นายเสนาะ เทียนทอง แห่งปราจีนบุรีและสระแก้ว และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แห่งอ่างทอง เป็นต้น พรรคชาติไทยประสบความสำเร็จเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 2 ครั้ง ครั้งแรกภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ในปี 2531 – 2534 และ ครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา ในปี 2538 – 2539 อย่างไรก็ตาม พรรคชาติไทยถูกยุบโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551 และสูญสิ้นบทบาททางการเมือง ส่วนแกนนำและสมาชิกคนสำคัญของพรรคก็กระจัดกระจาย แยกย้ายกันไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น

ตั้งแต่ปี 2544 พรรคเลือกตั้งส่วนบุคคลที่มีบทบาทสูงและมีอิทธิพลในการทำให้รูปลักษณ์การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงในบางระดับคือ พรรคไทยรักไทย (พรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน) พรรคไทยรักไทยจัดตั้งขึ้นโดยนายทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีนักธุรกิจ ที่สะสมทุนจากธุรกิจสัมปทานโทรคมนาคม เป้าหมายของพรรคก็เป็นเช่นเดียวกับพรรคอื่น ๆ คือ การเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อการสนับสนุนการเข้าสู่อำนาจรัฐของผู้นำพรรค โครงสร้างพรรคเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มนักธุรกิจระดับชาติ นักการเมืองชนชั้นนำท้องถิ่น แต่ที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ในยุคนั้นบ้างคือ การมีส่วนผสมของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนหนึ่งเข้าไปด้วย

ในยุคเริ่มแรก พรรคไทยรักไทยนำหลักวิชาการทางรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาใช้ในกระบวนการกำหนดนโยบาย เพื่อผลิตนโยบายที่สามารถตอบสนองความต้องการผู้เลือกตั้งในวงกว้าง มีนโยบายจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการกำหนดจากกรบวนการนี้ และต่อมาพัฒนาเป็นนโยบายเชิงประชานิยม พรรคยังใช้วิชาการด้านการตลาดการเมือง และการสำรวจคะแนนนิยมเป็นเครื่องมือในการวางแผนการรณรงค์หาเสียง และการคัดเลือกผู้สมัครในบางส่วนด้วย และยังใช้วิชาการด้านทฤษฎีองค์การธุรกิจ เรื่องการควบรวมกิจการของบริษัทเป็นแนวทางในการควบรวมพรรคการเมืองของชนชั้นนำท้องถิ่นหลายพรรค เพื่อให้พรรคเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกด้วย กลยุทธ์ทั้งหมดใช้เพื่อให้พรรคสามารถบรรลุเป้าหมายของการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว

แม้พรรคไทยรักไทยจะได้รับการสนับสนุนจากผู้เลือกตั้งเป็นจำนวนมาก แต่พรรคไม่มีลักษณะเป็นพรรคฐานมวลชนแต่อย่างใด เพราะทรัพยากรหลักที่ใช้ในการดำเนินงานของพรรคไม่ได้มาจากการสนับสนุนของมวลชน แต่มากจากการมอบให้โดยกลุ่มแกนนำพรรคที่เป็นนักธุรกิจ และกลุ่มนักธุรกิจที่ประสงค์จะเล่นการเมือง การตัดสินใจที่สำคัญของพรรคเป็นแบบเอกาธิปไตย คือขึ้นอยู่กับผู้นำสูงสุดของพรรคแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการตัดสินใจในระดับรองลงมาดำเนินการโดยกลุ่มคณาธิปไตยที่ทรงอิทธิพลภายในพรรค มวลชนทำหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ การสนับสนุนพรรคในช่วงการเลือกตั้ง และการรอรับผลประโยชน์ที่พรรคจัดสรรให้ผ่านกลไกทางนโยบายและเครือข่ายอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น

พรรคไทยรักไทย รวมทั้งเพื่อไทยในปัจจุบัน ไม่เป็นพรรคเลือกตั้งแบบกุมกรอบนโยบาย เพราะว่า นโยบายของพรรคหลายนโยบายมีความขัดแย้งกันเองในระดับรากฐานความคิด เช่น นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีฐานคิดจากอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ขัดแย้งกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่มีฐานคิดจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยสังคม นโยบายปราบปรามยาเสพติดมีฐานคิดจากนโยบายอนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยม และนโยบายจำนำข้าวมีฐานคิดจากอนุรักษ์นิยมแบบปิตาธิปไตยเชิงประชานิยม ซึ่งแตกต่างจากปิตาธิปไตยแบบดั้งเดิมอยู่เล็กน้อย ปิตาธิปไตยแบบดั้งเดิมใช้นโยบายช่วยเหลือคนจน เพื่อบรรเทาความรู้สึกคับแค้นขุ่นเคืองของคนจนต่อชนชั้นนำ ซึ่งทำให้ความต้องการในการปฏิวัติสังคมของพวกเขาลดลง แต่ปิตาธิปไตยแบบประชานิยมมีเป้าหมาย เพื่อทำให้คนจนเกิดสำนึกในบุญคุณของผู้กำหนดนโยบาย และตอบแทนด้วยการลงคะแนนเลือกพรรค

ในทางการเมือง พรรคก็ไม่ได้มีความมุ่งมั่นในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมทั้งไม่สนับสนุนการเติบโตของภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง แต่กลับใช้การเมืองและการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจและควบคุม อีกทั้งพยายามเข้าไปแทรกแซงและบั่นทอนประสิทธิภาพขององค์กรตรวจสอบทั้งองค์กรที่เป็นทางการและภาคประชาสังคม ส่งผลให้ชนชั้นกลางบางส่วนที่เคยสนับสนุนพรรคเกิดความแปลกแยก ยกเลิกการสนับสนุน และหันกลับไปต่อต้านพรรค อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากนโยบายประชานิยม และการจัดสรรผลประโยชน์แก่คนจนในชนบทและชนชั้นกลางระดับล่างในเมือง ยังคงทำให้พรรคได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเหนียวแน่น

พรรคไทยรักไทยถูกยุบตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ในปี 2550 แต่ผู้นำและแกนนำพรรคได้ไปจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันคือ พรรคเพื่อไทย แม้พรรคชื่อเก่าถูกยุบ แต่พรรคชื่อใหม่ที่มีผู้นำชุดเดิม ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากมวลชนจำนวนมากต่อไป และแม้ว่านายทักษิณ ผู้ก่อตั้งพรรคไม่สามารถกระทำการใด ๆ ภายในระบบการเมืองที่เป็นทางการได้แล้ว แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่า เขายังคงเป็นผู้ทรงอิทธิพลในการชี้นำความคิด การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย และแนวทางปฏิบัติของพรรคอย่าง สำหรับผู้นำรุ่นใหม่ที่ทรงอิทธิพลอย่างแท้จริงของพรรค ส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลในตระกูลชินวัตรทั้งสิ้น คาดว่า พรรคเพื่อไทยยังคงมีบทบาทสำคัญทางการเมืองต่อไป ตราบใดที่นายทักษิณ และตระกูลชินวัตรยังคงเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนพรรค ในทางตรงข้าม บทบาทของพรรคจะลดลง และค่อย ๆ เลือนหายไป หากขาดการสนับสนุน (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่) จากนายทักษิณและตระกูลชินวัตร

พรรคเลือกตั้งส่วนบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอีกพรรคในการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2562 คือ พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาภายใต้เครือข่ายอำนาจของคณะรัฐประหาร เพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารให้สามารถสืบทอดอำนาจทางการเมืองในระบบรัฐสภาต่อไปได้ องค์ประกอบของพรรคเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มการเมือง 4 กลุ่มหลักคือ อดีตแกนนำคณะรัฐประหาร นักวิชาการด้านธุรกิจ-การเมือง กลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ที่แกนนำ กปปส. และนักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนชนชั้นนำท้องถิ่น

นโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคมีความสับสนทางความคิดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพรรคเพื่อไทย ผสมประสานทั้งนโยบายที่มีฐานคิดของอุดมการอนุรักษ์นิยมแบบปิตาธิปไตยเชิงประชานิยม เช่น มารดาประชารัฐ กับนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมใหม่ เช่น การลดภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีการค้าออนไลน์ และนโยบายแบบเสรีนิยมสังคม เช่น การแทรกแซงโดยโครงการที่เพิ่มการจ้างงานแก่นบัณฑิตจบใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในทางสังคมและการเมือง พรรคดำเนินนโยบายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอนุรักษ์นิยมเชิงจารีตและแบบอำนาจนิยมอย่างเข้มข้น เห็นได้จากการปราบปรามผู้ประท้วงรัฐด้วยความรุนแรงทั้งทางกายภาพและทางกฎหมาย ทั้งการสลายการชุมนุม การจับกุม และการจำคุก รวมทั้งการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลางอย่างเข้มข้นยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยเสียอีก

พรรคได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมเชิงจารีตอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนที่เป็นคนจนในต่างจังหวัดจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะมวลชนที่อยู่ภายใต้เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ของกลุ่มนักการเมืองชนชั้นนำท้องถิ่นของพรรค ทรัพยากรของพรรคมาจากการสนับสนุนของกลุ่มทุนพลังงานใหม่ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลังการรัฐประหาร และกลุ่มทุนขนาดยักษ์ที่ผูกขาดธุรกิจหลายประเภทในสังคมไทย รวมทั้งทรัพยากรสะสมด้วยการได้มาจากการใช้อำนาจและตำแหน่งของแกนนำหลักบางคน

บทบาททางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐในอนาคต ขึ้นอยู่กับบทบาททางการเมืองของกลุ่ม 3 ป. ที่เป็นอดีตแกนนำคณะรัฐประหาร หากกล่มคนเหล่านี้ยุติบทบาททางการเมืองเมื่อไร เมื่อนั้นคือจุดจบของพรรคพลังประชารัฐ “สิ้นผู้นำ พรรคสลาย” เป็นแบบแผนที่ปรากฏขึ้นอย่างซ้ำซากเกี่ยวกับวงจรชีวิตของพรรคการเมืองไทยเกือบทุกพรรค ตั้งแต่มีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา (ยังมีต่อ)


กำลังโหลดความคิดเห็น