เป็นหน้าปกนสพ. The Mirror ในเช้าวันศุกร์ที่ 9 กันยายน ซึ่งได้ถวายอาลัยแด่มหากษัตรีย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเครือจักรภพอังกฤษ
เป็นคำพูดสั้นๆ แต่กินใจนัก ด้วยการกลั่นออกมาจากดวงใจของชาวอังกฤษ ที่ซาบซึ้งต่อการอุทิศชีวิตของสมเด็จพระมหากษัตรีย์เพื่อประเทศชาติตลอดพระชนม์ชีพ จนถึงวันสุดท้ายของพระองค์
นั่นคือ การกล่าวขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่พระองค์ได้มอบชีวิตให้กับประเทศชาติ ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่มีต่อแผ่นดินอย่างสูงสุด
สมดังพระราชปณิธานเมื่อทรงประกาศครั้งมีพระชนมายุครบ 21 พรรษา และเป็นองค์รัชทายาทอย่างเป็นทางการว่า...
“ไม่ว่าข้าพเจ้าจะมีอายุสั้นหรือยาวเท่าใด ก็จะขออุทิศทั้งชีวิตเพื่อประเทศชาติ” ซึ่งก็ทำให้หลายคนหายสงสัยเมื่อพระองค์มีพระชนมายุสูงมากเกิน 90 ชันษา และอาจจะมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์พอที่จะปฏิบัติพระราชภารกิจได้ครบถ้วน (ดังเช่นการสละราชสมบัติของจักรพรรดิญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้) โดยเฉพาะในช่วงที่ภาพลักษณ์พระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูง ได้กลายเป็นข่าวคราวในหน้าสื่อเช่น ช่วงปลายทศวรรษ 1980’s นั่นคือ เรื่องชีวิตสมรสของพระราชโอรสและพระราชธิดา ที่ทำให้มีเสียงร่ำร้อง เพื่อทรงแต่งตั้งเจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดาขึ้นมารับตำแหน่งพระมหากษัตริย์อังกฤษแทนเจ้าชายแห่งเวลส์ (คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์) นั้น... ไม่ว่าเสียงเรียกร้องนั้นจะดังมากเท่าใด แต่ในตำแหน่งองค์พระประมุขของ Great Britain และเครือจักรภพ...พระองค์ได้ยึดมั่นคำปฏิญาณนั้นที่จะทรงปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้ทรงรับมาจนถึงวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
ซึ่งเพิ่งมีแพทย์ด้านเส้นเลือดชาวออสเตรเลีย ออกมาวิเคราะห์ถึงฝ่าพระหัตถ์ที่ดูหมองคล้ำเป็นจ้ำๆ ในการพระราชทานโอกาสให้นายกฯ ลิซ ทรัสส์ เข้าเฝ้าฯ (ตามพระราชอำนาจ) เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (เพียง 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะประชวรหนักอย่างรวดเร็ว และสิ้นพระชนม์ต่อมา)
แพทย์หญิงผู้นี้ได้อธิบายถึงอาการของเส้นพระโลหิตว่า มีการเดินที่ไม่ราบรื่น และน่าจะทำให้พระองค์ทรงเจ็บปวดกับโรคนี้...แต่ด้วยพระพักตร์แจ่มใสและแย้มพระสรวล ขณะให้นายกฯ ลิซ ทรัสส์ เข้าเฝ้าฯ ก็น่าจะเป็นกิริยาที่ท่านทรงกลบเกลื่อนความเจ็บปวดที่ทรงสัมผัสอยู่! เพื่อทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะองค์พระประมุขให้จบสิ้นด้วยดี, อันเป็นพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งต่อประเทศอังกฤษในครั้งนี้ เพื่อมอบให้นายกฯ คนใหม่ไปจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศต่อไป
ตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง; ที่อังกฤษถูกทิ้งระเบิดจากกองทัพฮิตเลอร์ โดยทรงขับรถพยาบาลขนส่งทหารบาดเจ็บไปรักษา
และต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา (พระเจ้าจอร์จที่ 6) ในยามที่ประเทศอาณานิคมของอังกฤษต่างทยอยประกาศเอกราช ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย, มาเลเซีย, พม่า และหลายประเทศในทวีปแอฟริกา และหมู่เกาะแคริบเบียน
ท่านได้พยายามรวบรวมเหล่าอดีตอาณานิคมเหล่านี้ ให้ยังคงรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรกัน (โดยสมัครใจ-ไม่ใช่บังคับ) เป็นเครือจักรภพเพื่อยังรวมกันช่วยเหลือกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม และรวมทั้งพัฒนาประชาธิปไตยไปด้วยกัน
ด้วยพระปรีชาสามารถ จึงยังคงมีประเทศที่สมัครใจอยู่ในเครือจักรภพรวม 56 ประเทศ โดยมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันเป็นพิเศษ ทั้งด้านการค้าขาย และช่วยเหลือกันในยามประสบอุทกภัยหรือการก่อการร้าย
มีอยู่ 14 ประเทศ (รวมทั้งอังกฤษ) ในเครือจักรภพ ที่ยังไม่เป็นสาธารณรัฐ โดยผู้นำประเทศเหล่านี้ ต่างให้ความเคารพและเทิดทูนต่อพระองค์ ในการให้ความสำคัญแก่ความเป็นอยู่ของเครือจักรภพ...และบางประเทศได้จัดทำประชามติหลายครั้ง ก็ยังไม่สามารถชนะประชามติเพื่อเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ก็เพราะองค์ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงให้ความใกล้ชิดต่อประเทศเหล่านั้นอย่างยิ่ง โดยทรงเสด็จเยือนถี่มาก เพื่อทราบถึงความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของประเทศเหล่านั้น และทำให้อังกฤษยังดำรงเกียรติภูมิความน่าเชื่อถือไว้ในระดับสูง ก็จากที่พระองค์ได้สั่งสมความน่าเชื่อถือนี้ไว้นั่นเอง
ในการฉลองเอกราชของอินเดียครบรอบ 50 ปี ท่านเสด็จพร้อมเจ้าชายฟิลิป และเป็นการเสด็จครั้งแรกเยือนรัฐโอริสสา ไปทรงวางพวงหรีดที่อนุสรณ์สถานที่ทหารอังกฤษได้กราดยิงชาวอินเดียที่รวมตัวกันต่อต้านเจ้าอาณานิคม...ได้ทรงก้มพระเศียรแสดงความเคารพต่อการสูญเสียของชาวอินเดียในเหตุการณ์โหดร้ายที่ทหารอังกฤษได้ทำในยุคอาณานิคม...เป็นสัญญาณที่ทรงต้องการให้เกิดการปรองดอง (Reconciliation) กับเหล่าประเทศอาณานิคม เพื่อให้เดินหน้าต่อไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่อนาคตได้
เมื่อปลายปีที่แล้ว ประเทศบาร์เบโดสก็เป็นประเทศในเครือจักรภพล่าสุด ที่ประกาศเป็นสาธารณรัฐ โดยจะไม่มีควีนเป็นองค์ประมุขอีกต่อไป ซึ่งควีนได้ส่งองค์รัชทายาทไปร่วมงานประกาศเป็นสาธารณรัฐในครั้งนี้ด้วย...ซึ่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้กล่าวยอมรับสำนึกถึงความโหดเหี้ยมทารุณในช่วงการปกครองอาณานิคมในอดีต และขอให้จบสิ้นประวัติศาสตร์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์อันใหญ่ในอนาคต
แม้อังกฤษในรัชสมัยของพระองค์ อาจจะดูมีขนาดเล็กลงมาก เมื่อต้องเสียอาณานิคมไปแทบทั้งหมด แต่องค์ควีนก็สามารถรักษาความสัมพันธ์ของเครือจักรภพเอาไว้ได้ ทำให้ความยิ่งใหญ่และความน่าเชื่อถือของสหราชอาณาจักรยังดำรงอยู่ก็จากเกียรติภูมิของพระองค์เป็นเสาหลักค้ำเอาไว้
อย่างน้อยก็ในรัชสมัยของพระองค์ที่ชาวอดีตอาณานิคมยังมีความศรัทธาในองค์ควีน
นี่รวมถึงแคว้นอีก 3 แคว้นของสหราชอาณาจักร (สกอตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์เหนือ) ที่ยังรวมตัวกันอยู่ตลอดรัชสมัยของควีน
ตลอดรัชสมัยได้ทรงให้คำปรึกษาแก่นายกฯ ตามพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญในการให้เข้าพบอาทิตย์ละครั้ง ในทุกปัญหาของบ้านเมือง
และรวมถึงเป็นผู้นำที่ให้กำลังใจแก่พสกนิกรในยามทุกข์ยาก (เช่นกรณีการเผชิญโรคระบาดโควิด, หรือการก่อการร้าย, หรือภัยพิบัติ) เพื่อให้อดทนและฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปพร้อมๆ กับพระองค์
สมดังคำกล่าวว่า “ฉันมา, ฉันเห็น, ฉันชนะ(ใจ)” นั่นเอง