xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรากฏการณ์ 3 หลุด!? “ตั้งใจ” ให้ “ลุงตู่” รอดหรือร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลุดออกมาว่อนอย่างไม่น่าเป็นไปได้ สำหรับ “เอกสารลับ” ชี้ชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างหยุดการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีกับประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีตามมาตรา 158 วรรคท้ายแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วหรือไม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร

น่าสนใจไม่น้อยว่า เอกสารที่หลุดออกมา 2 ชุด ทั้งคำชี้แจงของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะผู้ถูกร้องเอง หรือเอกสารความเห็นของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ทำถึงศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลฯได้มีคำสั่ง ล้วนแล้วแต่น่าจะอยู่ใน “ชั้นความลับ” กลับหลุดออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะเป็น “ซีรี่ย์”

ที่สำคัญเมื่อมีการเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ก็ไม่ได้มี “คำปฏิเสธ” ใดๆ ออกมาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าของเอกสารอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์-มีชัย”

มีเพียง “สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ” โดย “เชาวนะ ไตรมาศ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาชี้แจง ก็ไม่ได้ยืนยันว่า เอกสารที่หลุดไปเป็นของจริงหรือไม่ แต่ยอมรับว่า เรื่องนี้ “วรวิทย์ กังศศิเทียม” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกังวลอย่างมาก และได้สั่งเร่งให้ตรวจสอบถึงที่มาของเอกสาร เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องที่ถูกพาดพิง และหากเป็นเอกสารจริงจะตรวจสอบไปถึงความบกพร่องที่ทำให้เกิดเหตการณ์นี้

การที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น “ปลายทาง” ของเอกสารทั้ง 2 ชุด “ไม่ยอมรับ-ไม่ปฏิเสธ” ก็ยิ่งสำทับว่าเอกสารที่เผยแพร่กันอยู่นั้นเป็น “ของจริง”

และหากอนุมานว่าเป็น “เอกสารจริง” ก็น่าสนใจว่า การหลุดของเอกสาร 2 ชุดนี้ มีผลเป็นบวก หรือลบ กับความเป็นไปของ “พล.อ.ประยุทธ์” บนเก้าอี้นายกฯ

ในส่วนของเอกสารคำชี้แจง 23 หน้าของ “นายกฯ ตู่” นั้น มีสาระสำคัญอยู่ 8 ข้อ กล่าวคือ 1.ยืนยันว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกฯ 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกฯอยู่ตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง จากนั้นได้รับเลือกเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน

“ผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรก ได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกฯของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ความเป็นนายกฯ ของตนครั้งแรก จึง “ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกฯ ครั้งแรกกับการเป็นนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้”

ส่วนนี้ฟังผิวเผินเหมือน “ประยุทธ์” จะสู้แค่ว่า การเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องเริ่มนับวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ หรือวันที่ 6 เม.ย.2560 ซึ่งตรงตามกรอบเวลาที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นตามนี้ ก็จะยังเป็นนายกฯ ได้อีกราว 2 ปี

อย่างไรก็นี้ยังมี “ส่วนขยาย” ที่โดยระบุว่า “การดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมี ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกฯ ครั้งแรกไปแล้ว”

คล้ายกับพยายามชี้ให้เห็นว่า การเป็นนายกฯ ตั้งแต่ วันที่ 6 เม.ย.2560 ถึงหลังเลือกตั้ง 2562 ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 นั้น เป็นไปตามตาม “บทเฉพาะกาล” หรือมาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560

ยังไม่เริ่มนับ 8 ปีตามตามมาตรา 158 วรรคท้ายแห่งรัฐธรรมนูญ 2560

เท่ากับว่า “นายกฯตู่” สู้แบบสุดซอย หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นตามนี้ ก็จะยังเป็นนายกฯ ต่อเนื่อง วาระ 8 ปี ไปสิ้นสุดในช่วงปี 2570 (ไม่นับรวมระยะเวลารักษาการ หรืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังพ้นจากตำแหน่ง) หรืออยู่ได้อีกราว 1 เทอม 4 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า


ไม่เท่านั้น “ประยุทธ์” ยังหักล้างการกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้ายด้วยว่า เป็น “การกำจัดสิทธิทางกฎหมาย” และรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้ง ว่าหมายรวมถึงความเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญอื่น โดยได้หยิบยกความเห็นของ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งมี “มีชัย” และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรวม 7 คนพิจารณาแล้ว เห็นว่าบทบัญญัติกำหนดวาระ 8 ปี ดังกล่าว หมายถึงนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

ขณะที่ในส่วนอื่นๆนั้น “นายกฯตู่” ก็ไล่หักล้างข้อสังเกต และประเด็นสงสัยของสังคม อย่างละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นการย้อนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งยังยก “หลักนิติธรรม” ขึ้นมาว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของตนในปัจจุบันยังไม่เกิน 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกฯครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2557 ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้ว มานับรวมกับนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ได้

หรือ “จุดสลบ” อย่างการไม่เปิดเผยบัญชีทรัย์สินในการขึ้นดำรงตำแหน่างนายกฯ ครั้ง 2 เมื่อปี 2562 ก็ระบุว่า “ข้ออ้าง” ที่ระบุว่า ตนไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิตามกฎหมาย ป.ป.ช.ว่า เป็นนายกฯ มาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้

ประกอบกับ “ระหว่างบรรทัด” ของคำชี้แจงที่กล่าวถึง การปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด และไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชนด้วย

ก่อนที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะสรุปในช่วงท้ายว่า การกล่าวหาว่า ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และ ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม

“จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง” ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ไล่เรียงมาทั้งหมดเพื่อชี้ให้เห็นว่า “พล.อ.ประยุทธ์” พยายามปกป้อง “สิทธิ” ของตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ไม่แปลกในฐานะ “ผู้ถูกร้อง”

ขณะที่เอกสารความเห็นจำนวน 3 หน้าของ “มีชัย” มีสาระสำคัญอยู่ 4 ประเด็น ที่สามารถขมวดรวมได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 6 เม.ย.2560 ไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (รวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย) ทั้งคุณสมบัติ, ที่มา, วิธีการได้มา, กรอบในการปฏิบัติหน้าที่, ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และผลจากการพ้นจากตำแหน่ง แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา ส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิ และเพิ่มความรับผิดชอบ ไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ

การที่จะได้มาซึ่งคณะรัะฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มี ส.ส.และ ส.ว.ที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดิน สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติ มาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ ว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับหน้าที่”

“ผลของ มาตรา 264 คณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะ ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับคือวันที่ 6 เม.ย.2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรี และนายกฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตาม มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นต้นไป”

เท่ากับว่าความเห็นของ “มีชัย” ฟันธงว่า วาระดำรงตำแหน่งของ “นายกฯ ตู่” เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 หรือยังเหลืออีกราว 2 ปีเศษในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึงปี 2568

ซึ่งประเด็นที่ “มีชัย” ถูกจับจ้องมากที่สุด หนีไม่พ้น เอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย.2561 ที่ปรากฏความเห็นของ “มีชัย” และ สุพจน์ ไข่มุก (อดีตรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) ที่ระบุถึงวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับรวมก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ด้วย

แต่ “มีชัย” ก็หักล้างว่า “ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า ขอเรียนว่าเป็นการจดรายงาน ที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 ก.ย.2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักในเรื่องนี้จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึกการประชุมนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใด ๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง”

เท่ากับว่า “มีชัย” ไม่ยอมรับความเห็นของตัวเอง ที่ปรากฎอยู่ในเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย.2561 อีกทั้งยังอ้างด้วยว่า ไม่มีการรับรองบันทึกการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด

บังเอิญที่จุดนี้ไปตรงกับเอกสารคำชี้แจงของ “บิ๊กตู่” ที่บางช่วงบางตอนที่มีการ “แก้ต่าง” แทน “มีชัย” ถึงบันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ว่า “พบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุก เท่านั้น”

เมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์การหลุดของเอกสาร ที่พบว่า เอกสารคำชี้แจงของ “พล.อ.ประยุทธ์” หลุดออกมาหลังเอกสารความเห็นของ “มีชัย” ก็จะเห็นได้ว่า มี “นัยสำคัญ” ไม่น้อย

คล้ายกับพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า ทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์-มีชัย” ต่างเห็นว่า เรื่องนี้เป็น “ประเด็นชี้ขาด” จึงมีเนื้อหาใกล้เคียงกันในเอกสารคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี “ซีรี่ย์เอกสารหลุด” ยังไม่จบแค่นั้น ด้วยมีการ “ตลบหลัง” โดยการเปิดเผยบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2561 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และมี “มีชัย” เป็นประธานการประชุม

ปรากฎว่า ในระเบียบวาระที่ 2 รับรองบันทึกการประชุม ได้ระบุว่า “คณะกรรมการฯ มีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 ส.ค.2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย.2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไข”

เป็นการประจานให้เห็นว่า คำชี้แจงของ “มีชัย” ต่อศาลรัฐธรรรมนูญ ขัดแย้งกับข้อความในบันทึกการประชุมดังกล่าว

ประมวลตามที่ไล่เรียงมาตั้งหมด ก็จะเห็นได้ว่า มหกรรม “หลุด” ของเอกสารชี้แจง “พล.อ.ประยุทธ์” เอกสารความเห็น “มีชัย” ก่อนจะมาถึงบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 นั้น แม้จะมองว่า “เป็นบวก” เสมือนเป็นการโยนหินถามทางออกมา แต่หากวิเคราะห์ในอีกมิติหนึ่ง ฟังดู “ไม่เป็นบวก” กับชะตากรรมของ “พล.อ.ประยุทธ์” เท่าใดนัก

ด้วยเป็นการหักล้าง “พยานปากเอก” อย่าง “มีชัย” ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด

คำถามมีว่า เหตุใดเอกสารที่ควรอยู่ใน “ชั้นความลับ” ซึ่งมีเพียงแต่ ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งตุลาการ หรือสำนักงาน ตลอดจน “ฝ่ายอำนาจ” ที่อยู่ในข้างเดียวกับ “พล.อ.ประยุทธ์-มีชัย” เข้าถึงได้ จึงหลุดออกมา

แถมหลุดออกมาเป็นซีรีย์มีจังหวะจะโคน ราวกับมี “ขบวนการ” วางแผนไว้อย่างรอบคอบ

ย้อนกลับไป ก็เข้าใจได้ว่า เมื่อครั้งบันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 “หลุด” ออกมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน แต่จะถึงขั้นเป็น “ขบวนการเดียวกัน” หรือ ยังไม่อาจชี้ชัดได้ในขณะนี้

หากเป็นขบวนการตามที่ตั้งข้อสังเกตกันจริง ก็ย่อมเป็นขบวนการใน “ฝ่ายอำนาจ” ที่ “ไม่หวังดี” ต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างแน่นอน

คำถามมีว่า เมื่อ “ไม่เป็นบวก” ต่อ “บิ๊กตู่” แล้วใครกันที่ได้ประโยชน์หาก “บิ๊กตู่” ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯจริง

เรื่องนี้ ไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายอิสระ และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งคว่ำหวอดอยู่ในแวดวง “ฝ่ายอำนาจ” ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการหลุดของเอกสารประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่น่าคิดตามไว้ว่า “ไตร่ตรองดูแล้ว เชื่อว่าไม่ได้มาจากการทำตกหล่นตามท้องถนนหรือที่ไหนหรอก แต่คงจะปล่อยรั่วออกมาจากวงผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ชาวบ้านอื่นไหนเลยจะมีปัญญาไปควักล้วงเอาเอกสารสำคัญเหล่านี้ได้ และที่น่าสังเกตก็คือเมื่อรั่วออกมาแล้วมีการเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก นี่คือลักษณะอาการแตกจากข้างในครับ คือเป็นนานาวิการอย่างหนึ่ง”

และจากการประชุมศาลรัฐธรรมนูญ วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาพยานหลักฐานและคำชี้แจงประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงของตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.65 ก็ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันที่ 11 ก.ย.2561 มายังศาลฯ ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 14 ก.ย.2565

ไม่ว่าจะเป็นเป็น “ขบวนการ” หรือไม่ตามที่ตั้งข้อสังเกต แต่ก็ทำให้บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 ที่หักล้าง “พยานปากเอก” อย่าง “มีชัย” เข้าไปอยู่ในสำนวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนจะเป็นบวก หรือลบ ต่อชะตากรรมของ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ย่อมขึ้นอยู่กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนและอีกไม่นานคงรู้กัน.




กำลังโหลดความคิดเห็น