ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องตามราคาพลังงานมีสัญญาณถึงจุดสูงสุดแล้ว ตามที่ นายณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธ์ศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ส.ค. 2565 อยู่ที่ 7.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาพลังงานและฐานการคำนวณเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 6.14% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค.อยู่ที่ 3.15% และรวม 8 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 2.16% โดยทั้งปีประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในกรอบที่ 5.5-6.5%
นายณรงค์ ยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้วหรืออาจอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาการขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้เคียงกัน โดยเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้า ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นราคาพลังงานที่เติบโตถึง 30.50% แม้ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงอยู่สูง รวมทั้งค่าบริการ เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น แต่ยังมีหลายรายการสินค้าที่ปรับลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เสื้อและกางเกง น้ำยารีดผ้า น้ำยาถูพื้น เครื่องใช้ไฟฟ้า
กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าราคาสินค้าและบริการจากนี้ไปจะเริ่มทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายลดภาระค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมกับภาคเอกชน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังต้องจับตาราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและผลิตสินค้า รวมทั้งความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กลับประเมินสวนทางกับที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจทำให้สามารถคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อลงได้และธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเฉพาะเมื่อฐานของเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นมามากแล้ว และราคาน้ำมันไม่ได้เร่งตัวขึ้น แต่สำหรับ KKP Research ประเมินว่ามีความเสี่ยงที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะข้างหน้า ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและอุปทานที่ยังคงมีปัญหา รวมทั้งอุปสงค์ในสหรัฐฯ ที่ยังหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป
KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้จะเจอกับทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยภาคการท่องเที่ยวยังสามารถฟื้นตัวได้จากฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 10.2 ล้านคนในปี 2022 และ 18.5 ล้านคนในปี 2023 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกหลักที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ในขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าในปี 2023 สัญญาณเศรษฐกิจโลกจะเริ่มมีการชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้น และโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวลงในปี 2023
หากการกลับมาของนักท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นไปตามคาด อาจทำให้เงินไหลออกจากไทยรุนแรง ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินไทยที่ยังมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก ในกรณีเลวร้ายจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องกลับมาปรับดอกเบี้ยขึ้นตามหลังสถานการณ์เพื่อคุมบาทและเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจแรงกว่าเดิม จึงนับเป็นโจทย์สำคัญด้านนโยบายการเงินที่ต้องวางแผนสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น
ประเด็นที่น่าห่วงกังวลดังกล่าว ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา ‘การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย’ The Great Reset เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ความตอนหนึ่งว่า โจทย์สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องต้องดูเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้ หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องและ ธปท.ไม่ทำอะไรอาจเป็นปัญหาบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือน ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงอยู่แล้ว และอาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อหลุดกรอบ และส่งผลต่อการขาดเสถียรภาพตามมา
ดังนั้น จะทำอย่างไรไม่ให้เงินเฟ้อวิ่งยาวจนส่งผลให้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางหลุดกรอบ หากจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ธปท.ก็พร้อมที่จะทำ และดูแลกลุ่มเปราะบาง ทำให้ระบบการเงินทำงานปกติ ธปท.ไม่อยากเห็นหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจที่วิ่งแรง ไม่อยากเห็นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เข้มงวดจนเกินไป ทำให้การ Takeoff ไม่เกิด
ขณะเดียวกัน นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่า ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะข้างหน้ายังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความผันผวนจากประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่งและจะเห็นการปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องจึงยังเป็นประเด็นที่น่าห่วง และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งกระทบต่อกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอย หนี้ครัวเรือน รวมทั้งการลงทุน ฯลฯ
กล่าวจำเพาะผลกระทบต่อกำลังซื้อที่ถดถอยลงนั้น สะท้อนจากความหวั่นวิตกของผู้ประกอบการโรงแรมที่ต่างเกรงว่าเงินเฟ้อจะฉุดกำลังซื้อหรือการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว โดยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) จำนวน 106 แห่ง ระหว่างวันที่ 8-24 ส.ค. 2565 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย พบว่า อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ แต่ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการกว่า 60% กังวลกำลังซื้อที่ลดลงจากเงินเฟ้อ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจเข้ามาน้อยกว่าคาด ขณะที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ค่อนข้างต่ำ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนอกจากจะต้องคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ ยังต้องหนุนการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็น 4 เสาหลักของเครื่องยนต์เศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 มองเห็นอนาคตสดใสขึ้น ขณะที่ส่งออกยังต้องลุ้นเพราะอาจชะลอตัวลง ส่วนการลงทุนนั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยอมรับว่า ยังแผ่วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า ดังนั้นต้องทำให้เครื่องยนต์นี้ติดให้ได้ โดยปัจจัยที่ทำให้การลงทุนไม่ฟื้นเท่าที่ควรมีหลายด้าน เช่น การออกกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนซึ่งควรยกเลิกเพื่อให้การลงทุนกลับมา
ที่แน่ๆ และผู้ประกอบการต่างโวยวายมาเป็นระยะ ขอให้รัฐบาลผ่อนผันให้อีกสักหน่อย เพื่อให้ภาคธุรกิจการลงทุนฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก่อน ก็คือ “การจัดเก็บภาษีที่ดิน” ซึ่งล่าสุด “นายอธิป พีชานนท์” รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ทางภาคเอกชนจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง ขอให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเก็บในปี 2566 ในอัตรา 100% ให้กับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป โดยระยะสั้นขอให้ลดอัตราจัดเก็บเป็นขั้นบันได เช่น ปี 2566 ลด 75% ปี 2567 ลด 50% และปี 2568 ลด 25% และในระยะยาวให้ปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่กำหนดอัตราที่เหมาะสมและเป็นอัตราเดียว
กรรมการสภาหอค้าฯ ร้องขอความเห็นใจจากรัฐบาลเพราะตอนนี้ภาคธุรกิจยังเดือดร้อน ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดที่ระบาดมากว่า 2 ปี โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ยังไม่มีรายได้ จึงอยากให้รัฐช่วยพิจารณาส่วนนี้ด้วย รอให้ธุรกิจฟื้นตัวเต็มที่ก่อนค่อยมาเก็บ 100% ซึ่งปีนี้ก็เก็บ 100% ไปแล้ว ในปีหน้าน่าจะมีส่วนลดให้บ้าง
แต่ก็อย่างว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณและเงินกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปไม่น้อย ขณะที่การจัดเก็บรายได้เข้าคลังไม่เป็นไปตามเป้าเพราะภาคธุรกิจการลงทุนซบเซา ตอนนี้กรมสรรพสามิตก็ร่ำๆ เตรียมแผนเพิ่มเพิ่มพิกัดการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และภาษีเหล้า เบียร์ แอลกอฮอล์ 0% เพื่อหารายได้เข้าแผ่นดิน โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน