ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังเรื่องราวของข้ามชาติพิการสุดน่าสงสาร “ลุงวี ขอทานชาวเขมร” ขอทานพิการหลังค่อม ถือกระป๋องขอเงินในตลาดย่าน อ.พานทอง จ.ชลบุรี ถูกแชร์ผ่านแพลทฟอร์ม TIKTOK นำสู่การดำเนินการจับกุมตัวครั้งที่ 4 หลังเคยถูกจับดำเนินคดีมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่เข็ดหราบกลับมาขอทานซ้ำซาก ซึ่งครั้งนี้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และ “ผิด พรบ.ขอทาน” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองชลบุรี ร่วมกับหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี เข้ารวบตัวพร้อมผลักดันกลับประเทศกัมพูชาแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมของขอทานข้ามชาติรายนี้ อาศัยความเวทนาสุดน่าสงสารตระเวนไปตามตลาดนัดเพื่อขอทาน มีรายได้ 700 - 1,000 บาทต่อวัน ประเมินว่ามีรายได้มากกว่าละแสนบาทเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากกส่งตัวกลับประเทศกัมพูชาครั้งนี้ เจ้าตัวบอกว่าคงไม่กลับมาไทยอีกแล้ว แต่หยอกทิ้งท้ายว่าถ้าไม่มีกินก็จะเข้ามาเมืองไทยอีกครั้ง
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาขอทานในสังคมไทยเรื้อรังแก้ไม่ตก เพราะอุปนิสัยคนไทยใจดีขี้สงสาร ขอทานอาชีพที่แฝงอยู่พื้นที่ต่างๆ จึงโกยเงินจากการเร่ขอทานได้เป็นจำนวนมากโข
สถิติผู้ทำการขอทานในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่าตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น จำนวน 6,213 ราย แบ่งเป็น คนไทย จำนวน 3,956 ราย (ร้อยละ 63.67) และคนต่างด้าว จำนวน 2,257 ราย (ร้อยละ 36.32)
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการขอทาน เพื่อป้องกันขบวนการค้ามนุษย์ที่แสวงหาประโยชน์จากกลุ่มคนขอทาน ซึ่งหลังจาก พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน มีผลบังคับใช้พบจำนวนคนขอทานลดลงถึง 44 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยสถานการณ์ปัญหาชาวต่างด้าวลักลอบเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาขอทาน พบว่าชาวต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาขอทาน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องการมาหางานทำหรือมาตั้งต้นชีวิตใหม่ อีกทั้งไม่มีความรู้ด้านกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกับคนไทยเป็นคนใจบุญชอบให้ทาน จึงส่งผลทำให้มีผู้ทำการขอทานต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับตัวเลยรายได้จากการขอทานขึ้นอยู่กับสถานที่ เช่น ย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อวัน บางรายมีรายได้ประมาณ 6,000 – 7,000 บาทต่อวัน แต่ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ทำการขอทานมีรายได้ลดลงอย่างมากเช่นกัน เฉลี่ยประมาณ 50 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาขอทานเป็นปัญหาที่พบในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมาก ซึ่งการขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ การกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งเงินหรือทรัพย์สินให้ ถือว่าเป็นการขอทานซึ่งผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 อันจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เช่น การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การทารุณกรรม หรืออาชญากรรมด้านอื่น
โดยภาครัฐมีความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะขอทานเป็นเสมือนธุรกิจบาปที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา ตั้งแต่การพัฒนาผลักดันให้ผู้ทำการขอทานที่เป็นกลุ่มเปราะบางประสบปัญหาทางสังคม ได้มีโอกาสมีงานทำมีอาชีพมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้ง การดำเนินคดีขอทานต่างด้าว ผลักดันกลับประเทศต้นทาง
การดำเนินการที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ส่งชุดปฏิบัติการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินงาน กรณีผู้ทำการขอทานคนไทย เมื่อทำการฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี จับกุม ปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
และหากคัดกรองแล้ว พบว่า 1) ผู้ทําการขอทานเป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือ ทุพพลภาพ ที่ต้องดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายเฉพาะ 2) หากเป็นคนไร้ที่พึ่ง ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู แล้วยินยอมเข้ารับการคุ้มครอง จะถูกส่งตัวเข้ารับการคุ้มครอง ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่หากหลบหนี ก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย
ส่วนกรณีผู้ทำการขอทานต่างด้าว จะถูกดำเนินคดี เมื่อสิ้นสุดคดีแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการส่งตัวผู้ทำการขอทานไปยังกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง หรือส่งกลับประเทศต้นทาง และกรณีผู้ทำการขอทานต่างด้าวที่มาเป็นคู่กับเด็กแล้วไม่มีหลักฐานในการยืนยันความสัมพันธ์ จะต้องดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ หากพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต จะดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 การควบคุมผู้ทำการขอทานยังเป็นไปอย่างเข้มข้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการรณรงค์เรื่องการให้ทานให้ถูกวิธี สร้างการรับรู้ตระหนักว่าการขอทานผิดกฎหมาย บูรณาการกับภาคีเครือข่ายในการจัดระเบียบขอทานอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัด มีการสกัดกั้น คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้กลับมาทำการขอทานซ้ำ
รวมทั้งมีการจัดทำแนวทางการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ในลักษณะแบบขั้นบันได ครั้งที่ 1 จำนวน 500 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ครั้งที่ 3 จำนวน 5,000 บาท และครั้งที่ 4 จำนวน 10,000 บาท เป็นการป้องปรามผู้ทำการขอทานให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ทั้งนี้ หากยินยอมเข้ารับการคุ้มครองแล้ว ภายหลังหลบหนีออกจากสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต การเปรียบเทียบปรับ ครั้งที่ 1 จำนวน 2,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 5,000 บาท และครั้งที่ 3 จำนวน 10,000 บาท ตามลำดับ
นอกจากประเด็นเรื่อง “ขอทาน” สถานการณ์ “คนไร้บ้าน” เป็นอีกปัญหาเรื้อรังที่รอการแก้ไขอย่างมีประสิทธิผล ต้องยอมรับว่าคนไร้บ้านเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเกิดจากผลกระทบอย่างต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ซึ่งประเทศไทยเองพยายามที่จะแก้ปัญหา ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต้องร่วมช่วยกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และระบบสวัสดิการ
น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กลไกดูแลกลุ่มคนไร้บ้านภายใต้พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เป็นการดูแลในรูปแบบสถาบัน มีการดูแลเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อาหาร ที่อยู่หลับนอน ยารักษาโรค และการฟื้นฟูศักยภาพ ซึ่งตัวเลขคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในความคุ้มครองของรัฐปัจจุบันมีจำนวนกว่า 4,500 คน ทั่วประเทศ เป็ยบุคคลที่ถูกส่งต่อมาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งกลุ่มที่สิ้นสุดการรักษา ผู้พ้นโทษ สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยอาการทางจิต เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ ปี 2565 เกิดปรากฏการณ์ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” จากการสำรวจพื้นที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ปี 2565 พบคนไร้บ้าน จำนวน 1,868 คน เพิ่มจากปี 2562 พบ คนไร้บ้านจำนวน 1,033 คน ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะการตกงานจากการทยอยปิดตัวของสถานประกอบการรายย่อย ส่งผลให้ไม่มีงานทำและรายได้ จึงไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก และถูกผลักดันออกมาในที่สุด กลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่
โดยกระทรวง พม. ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจัดบริการที่หลากหลายในการรองรับกับสภาพปัญหากลุ่มคนไร้ที่พึ่ง นอกจากสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ ได้จัดจุดบริการเชิงรุกในพื้นที่จุดประสานงานคนไร้ รวมทั้งโครงการนวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน หรือ โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง รูปแบบการจ่ายเงินเพื่อเกิดความยั่งยืนของโครงการ และวางแผนขยายผลไปตามหัวเมืองรองอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ขอนแก่น และปทุมธานี ดำเนินการเรื่องการจ้างงานคนไร้บ้าน สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสถานประกอบการจำนวนกว่า 284 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสให้แก่คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ ผ่านหน่วยงาน 91 หน่วยงาน โดยปัจจุบันมีคนไร้ที่พึ่งจำนวนกว่า 597 คน ได้มีอาชีพ รายได้ และพึ่งพาตนเองได้ เป็นต้น
กล่าวคือกลไกแก้ปัญหาคนไร้บ้านของรัฐดำเนินภายใต้หลักคิด การเล็งเห็นศักยภาพในทรัพยากรบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งคนไร้บ้านหรือทุกคนควรได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียม ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการทำงาน และบริการภาครัฐ
แม้รัฐจะพยายามอย่างเต็มกำลังในการจัดการสถานการณ์ “ขอทาน - คนไร้บ้าน” แต่ดูเหมือนยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องจัดการในต่อในระยะยาว