"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
นับตั้งแต่ประเทศไทยใช้ระบอบประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองจำนวนมากได้รับการจัดตั้งขึ้นมา แต่มีเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้น ที่สามารถแสดงบทบาทในระบบการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ พรรคการเมืองไทยเกือบทั้งหมดมีช่วงอายุค่อนข้างสั้น ตั้งขึ้นเพียงไม่กี่ปี ก็ล่มสลายไป การล่มสลายของพรรคการเมืองเกิดจากปัจจัยภายในพรรคการเมืองเอง และปัจจัยภายนอก ซึ่งคือการรัฐประหาร แม้ว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลังทศวรรษที่ 2530 ไม่มีการยุบพรรคการเมืองแล้ว แต่พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยก็ยังคงถูกยุบเลิกด้วยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ในช่วงเริ่มต้นประมาณสิบปีแรกของการใช้ระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองถูกห้ามจัดตั้ง พรรคการเมืองแรกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาในฐานะองค์กรทางการเมือง แม้ว่าไม่มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 พรรคการเมืองไทยได้รับการยอมรับสถานภาพและการคงอยู่จากผู้ครองอำนาจรัฐไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีการเขียนรับรองพรรคการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2489 ดังนั้น ในช่วงปี 2488-2489 จึงมีการจัดตั้งพรรคการเมืองนับ 10 พรรค และเริ่มเข้าสู่การแข่งขันในสนามเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมกราคม และการเลือกตั้งเพิ่มเติมเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489
ในระยะแรก พรรคการเมืองไทยเกือบทั้งหมดเป็นการรวมตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตข้าราชการ และชนชั้นนำ มีเป้าหมายเพื่อชนะการเลือกตั้งและสนับสนุนผู้นำทางการเมืองฝ่ายตนเป็นนายกรัฐมนตรี โครงสร้างองค์กรเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ เชื่อมโยงด้วยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และผลประโยชน์เฉพาะหน้า อย่างไรก็ตาม มีร่องรอยการเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่บ้างของพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญบางพรรค แม้ว่าอาจไม่เข้มข้นเหมือนกับพรรคการเมืองในตะวันตกก็ตาม พรรคการเมืองที่มีรอยความคิดเชิงสังคมนิยมคือพรรคสหชีพ พรรคที่มีโครงความคิดแบบเสรีนิยมคือพรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคที่มีความเชื่อเชิงอนุรักษ์นิยมคือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคก้าวหน้า ส่วนพรรคที่เหลือ ซึ่งเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยมีลักษณะเป็นพรรคส่วนบุคคล ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาโอกาสของการเข้าร่วมแบ่งปันอำนาจทางการเมืองเป็นหลัก
ช่วงอายุของพรรคการเมืองชุดแรกไม่ยาวนาน เพราะถูกสั่งยุบโดยของคณะรัฐประหารปี 2494 หลังจากนั้น การเมืองไทยก็ว่างเว้นพรรคการเมืองประมาณ 5 ปี พรรคการเมืองได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แต่อายุของพรรคการเมืองในช่วงที่สองกลับสั้นยิ่งกว่าช่วงแรกเสียอีก การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองในช่วงที่สองมาจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองปี 2498 พรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาระหว่างปี 2498-2501 มีทั้งความเหมือนและความต่างจากช่วงแรก สิ่งที่เหมือนคือ เป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ ของเครือข่ายอำนาจนำในยุคนั้น ซึ่งมีแกนนำและสมาชิกคนสำคัญเป็นทหาร และนักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่ง จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของผู้นำ
ส่วนที่แตกต่างคือ มีการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมโยงเชิงอุดมการณ์ พรรคที่มีการเชื่อมโยงกับอุดมการณ์เสรีนิยมและสังคมนิยมหายไปจากเวทีทางการเมือง ขณะที่พรรคที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองเป็นพรรคที่มีความเชื่อมโยงกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยม (พรรคเสรีมนังคศิลา) และอนุรักษ์นิยมเชิงจารีต (พรรคประชาธิปัตย์) การแข่งขันทางการเมืองไทยยุคนี้จึงเป็นการแข่งภายในกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกันเองเป็นหลัก
ชะตากรรมของพรรคการเมืองซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง นั่นคือ การถูกกวาดล้างจากสนามการเมืองด้วยคณะรัฐประหารในปี 2501 ในครั้งนี้พรรคการเมืองไทยหายไปจากเวทีการเมืองแบบระบบรัฐสภายาวนานกว่า 10 ปี ทว่า มีพรรคการเมืองนอกสภาฯพรรคหนึ่ง ที่มีพัฒนาการความแข็งแกร่งขึ้นมา และมีศักยภาพทางการเมืองสูงในระดับสามารถสั่นคลอนอำนาจรัฐไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน พรรคนั้นคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพรรคแบบเลนิน มีโครงสร้างองค์กรกระชับแน่น รวมศูนย์อำนาจการนำ มีสมาชิกและฐานมวลชนจำนวนมากในเขตชนบท การคัดเลือกสมาชิกเป็นไปอย่างเข้มงวด และใช้แนวทางการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจด้วยกำลังอาวุธ อย่างไรก็ตาม ฐานมวลชนหลักของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ใช่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่เป็นชนชั้นชาวนา พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทยเป็นระยะเวลายาวนาน 20 กว่าปี แต่ประสบความพ่ายแพ้ทางการเมือง บทบาทลดลง และจางหายไปจากเวทีการเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530
พรรคการเมืองในระบบรัฐสภาได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 แต่ช่วงชีวิตก็สั้นเช่นเคย มีอายุอยู่ประมาณ 3 ปี ก็ถูกคณะรัฐประหารกวาดล้างอีกครั้งในปี 2514 พรรคการเมืองในช่วงนี้มีโครงสร้างองค์กรไม่แตกต่างจากช่วงก่อนหน้านั้น กลุ่มแกนนำพรรคหลักอย่างพรรคสหประชาไทย และประชาธิปัตย์ ก็ยังวนเวียนในกลุ่มเดิม คือเป็นชนชั้นนำในแวดวงข้าราชการและกองทัพ ในกรณีพรรคสหประชาไทย สมาชิกหลักของพรรค นอกเหนือจากกลุ่มข้าราชการแล้ว ก็เป็นเครือข่ายอดีตนักการเมือง และกลุ่มทุนท้องถิ่น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมจารีต อดีตนักการเมือง และมีกลุ่มใหม่เพิ่มเข้ามาคือ กลุ่มนักการเมืองชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับพรรคการเมืองในยุคนี้คือ เริ่มมีการนำคำว่า “ไทย” มาเป็นส่วนผสมของชื่อพรรค อันที่จริง ก่อนหน้านี้ในปี 2499 เคยมีพรรคการเมืองที่นำคำว่า “ไทย” ผสมในชื่อพรรคแล้วพรรคหนึ่งคือ “พรรคหนุ่มไทย” แต่มีบทบาททางการเมืองน้อยมาก
พรรคการเมืองได้รับการรื้อฟืนอีกครั้ง จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. พรรคการเมืองปี 2517 แต่ก็ซ้ำรอยเดิมอีกครั้งนั่นคือ ถูกยกเลิกด้วยการรัฐประหารในปี 2519 อย่างก็ตาม ช่วงสั้น ๆ ของการปรากฎตัวของพรรคการเมืองในยุคนี้ กลับมีความตระการตากว่าอดีตมากนัก เพราะเป็นช่วงที่การเมืองไทยมีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยสูง อันเป็นผลมาจากคุณูปการของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่สามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการอำนาจนิยมได้ในเดือนตลาคม 2516 มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีร่องรอยการเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมดั้งเดิม เช่น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ สองพรรคแรกชื่อก็บอกชัดว่าเชื่อมโยงกับอุดมการณ์สังคมนิยม ส่วนพรรคหลังเชื่อมโยงกับอุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีรากเหง้าทางความคิดแบบจารีตนิยม ก็เริ่มปรับตัวและรับเอาแนวคิดเสรีนิยมสมัยใหม่เข้ามาด้วย มีพรรคใหม่เกิดขึ้นและต่อมามีบททางการเมืองเป็นเวลายาวนานพอสมควรคือ พรรคชาติไทย กับพรรคกิจสังคม พรรคชาติไทยเป็นการรวมกลุ่มของอดีตนายทหารและกลุ่มทุนท้องถิ่น เชื่อมโยงกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยม ขณะที่พรรคกิจสังคมหัวหน้าพรรคเป็นอนุรักษ์นิยมจารีต แต่แกนนำพรรคหลายคนเป็นนักธุรกิจยุคใหม่ และกลุ่มทุนอุปถัมภ์ท้องถิ่น พรรคกิจสังคมมีความเชื่อมโยงกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบปิตาธิปไตย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนหลังที่พรรคนี้ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และประการใช้ “นโยบายเงินผัน” โดยมอบเงินให้แต่ละตำบล ประมาณตำบลละ 500,000 บาท และให้สภาตำบลเป็นผู้ตัดสินใจในการใช้งบประมาณในโครงการต่าง ๆ ที่เน้นการจ้างงานแก่ประชาชน
ในยุคนี้ แม้ว่าลักษณะพรรคการเมืองหลักในยุคนี้แตกต่างจากพรรคการเมืองแบบชนชั้นของยุคก่อนอยู่บ้าง เพราะแกนนำและสมาชิกคนสำคัญของพรรคไม่ได้มาจากชนชั้นนำข้าราชการในกองทัพอีกต่อไป แต่มีความหลากหลายมากขึ้น และพรรคแบบอุปถัมภ์ใหม่ของชนชั้นนำท้องถิ่นก็เริ่มปรากฎตัว ประเภทของพรรคการเมืองยุคนี้มี 4 ประเภทคือ 1) พรรคเลือกตั้งแบบแตะทุกกลุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ดังเห็นได้จากการองค์ประกอบของสมาชิกและนโยบายพรรคที่มีส่วนผสมของ 3 อุดมการณ์คือ อนุรักษ์นิยม เสรีนิยมสมัยใหม่ และสังคมนิยมอ่อน ๆ 2) พรรคเลือกตั้งเชิงกรอบนโยบาย อันได้แก่ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ 3) พรรคเลือกตั้งส่วนบุคคล อันได้แก่พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม เป็นต้น พรรคชาติไทย 4) พรรคแนวอุปถัมภ์ใหม่ ที่เกิดจากการจัดตั้งของชนชั้นนำท้องถิ่น และมีบทบาทและอำนาจในบางพื้นที่ เช่น พรรคธรรมสังคม (นายทวิช กลิ่นประทุมเป็นหัวหน้าพรรค) พรรคประชาธรรม (นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นหัวหน้าพรรค) พรรคเหล่านี้ไม่มีจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ชัดเจน และพร้อมที่ผสมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล
หลังการรัฐประหารปี 2519 พรรคการเมืองทั้งหมดถูกยกเลิก และได้รับการฟื้นฟูใหม่อีกครั้งด้วยการประกาศพ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2524 หลังจากนั้น พรรคการเมืองดูเหมือนมีชะตากรรมที่ดีขึ้นบ้าง เพราะแม้ว่ามีการรัฐประหารอีกหลายครั้งหลังปี 2524 แต่คณะรัฐประหารไม่ได้ยุบเลิกพรรคการเมือง ซึ่งทำให้แรงกดดันของการยุบเลิกพรรคการเมืองจากปัจจัยภายนอกลดลงระดับหนึ่ง ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคมีช่วงอายุยืนยาวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีเพียงพรรคเดียวที่ก่อตั้งขึ้นมา และสามารถประคองตัวผ่านมรสุมการเมืองมาหลายยุคหลายสมัยได้คือพรรคประชาธิปัตย์
ถึงแม้ว่า แรงกดดันของการยุบพรรคจากการรัฐประหารหมดไป แต่การล่มสลายของพรรคการเมืองก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการล่มสลายจากสาเหตุภายในพรรคเอง ด้วยการที่องค์กรพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดถูกเชื่อมโยงด้วยพลังของผู้นำหลักที่ทรงบารมีของพรรค ครั้นผู้นำเสียชีวิต หรือวางมือทางการเมือง พรรคก็ค่อย ๆ เสื่อมสลาย เล็กลง และหายไปจากเวทีการเมือง ยิ่งกว่านั้น หลังปี 2540 รูปแบบใหม่ของการยุบพรรคการเมืองก็เกิดขึ้น นั่นคือ มีการกำหนดเงื่อนไขการยุบพรรคด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ใน พ.ร.บ พรรคการเมือง 2541 และมีพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่ถูกยุบพรรคด้วยเงื่อนไขนี้
ลักษณะเด่นของพรรคการเมืองจำนวนมากในยุค 2524 - 2540 คือ พรรคมีแกนนำและสมาชิกคนสำคัญเป็นกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น ที่เป็นนายทุนแบบพิเศษ ซึ่งเติบโตด้วยการสะสมทุนจากการประกอบธุรกิจที่เชื่อมโยงกับโครงการและสัมปทานของรัฐ และมีไม่น้อยที่ประกอบธุรกิจสีเทาด้วย กลุ่มทุนเหล่านี้สร้างตัวตนทางการเมืองขึ้นมาด้วยการสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ใน 3 ระดับ 1) เครือข่ายอุปถัมภ์กับชนชั้นนำส่วนกลาง ซึ่งพวกเขาจะดำรงตำแหน่งในฐานะที่เป็น “ลูกน้อง” แต่หากเติบโตขึ้นมาในอนาคตพวกเขาก็ยกระดับตนเองเป็น “ลูกพี่” ได้เช่นกัน และ 2) เครือข่ายอุปถัมภ์กับกลุ่มทุนท้องถิ่นด้วยกันเอง ทั้งภายในจังหวัดเดียวกันหรือข้ามจังหวัดก็ได้ พวกเขาจะดำรงตำแหน่งได้ทั้งในฐานะ “ลูกพี่” หรือ “ลูกน้อง” ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่และจังหวะโอกาสทางการเมือง 3) เครือข่ายอุปถัมภ์กับมวลชนในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาจะดำตำแหน่งในฐานะที่เป็น “ลูกพี่” เครือข่ายนี้เป็นรากฐานของระบบหัวคะแนน และเป็นกลไกหลักในการระดมคะแนนเสียง และการแจกจ่ายผลประโยชน์แก่มวลชนในระดับเขตเลือกตั้ง (ยังมีต่อ)