เป็นข่าวใหญ่โตเมื่อ 2-3 วันมานี้ ในหน้า 1 ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่าขณะนี้ประเทศอินเดียได้แซงหน้าประเทศอังกฤษ (หรือสหราชอาณาจักร) ในด้านขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจ ทำให้อินเดียได้ตำแหน่งที่ 5 และทำให้อังกฤษตกอันดับจากที่ 5 มาเป็นอันดับที่ 6 ซึ่งเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นจากการคำนวณของบลูมเบิร์ก โดยใช้สกุลดอลลาร์เป็นตัววัดผลผลิตรวมประชาชาติ ณ ปลายไตรมาส 1 ของปีนี้
น่าจะสร้างความสะใจให้แก่ชาวอินเดียพอสมควร โดยเฉพาะสำหรับเหล่าปัญญาชนชาวอินเดีย ที่ประเทศของเขาได้ชนะประเทศที่ได้รุกรานครอบครองประเทศอินเดียยาวนานถึงกว่า 200 ปี โดยเริ่มเข้ามาในรูปของบริษัทค้าขาย แล้วตามมาด้วยกองทัพ ได้เข้าปล้นทรัพยากรมหาศาลของอินเดียไปอย่างโหดร้ายทารุณ รวมทั้งยิงกราดฆ่าชาวอินเดียที่แข็งขืนต่อผู้รุกราน...ต้องตายไปจำนวนมหาศาลกับผู้ล่าอาณานิคมแสนโหดเหี้ยมนี้
ถ้าลำดับตามขนาดของจีดีพีปีนี้ก็ได้แก่ 1. สหรัฐฯ 2. จีน 3. ญี่ปุ่น 4. เยอรมนี 5. อินเดีย และ 6. อังกฤษ
เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้วนี้ อินเดียยังอยู่ลำดับที่เกือบ 20 แต่ได้ไต่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าอังกฤษได้ในปีนี้
จริงแล้ว ตั้งแต่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปได้ทำให้อังกฤษเติบโตช้าลง ขณะที่อินเดียได้เริ่มเปิดประเทศ และสร้างชนชั้นกลางเติบใหญ่มาเป็นประเทศที่จะหันเข้าพึ่งตลาดภายในมากยิ่งขึ้น
ไม่เพียงแซงหน้าอังกฤษมาอยู่ในตำแหน่งที่ 5 เท่านั้น แต่อีกไม่นาน ก็มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะแซงหน้าเยอรมนีในลำดับที่ 4
และจะแซงหน้าญี่ปุ่นในลำดับที่ 3 ด้วยซ้ำ
สำหรับอินเดียมีประชากรถึง 1,400 ล้านคน ซึ่งกำลังจะแซงหน้าจีนได้ภายในปีหน้า (2566) ด้วยซ้ำ
ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจจีนก็จะค่อยๆ แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของโลกภายในไม่เกิน 5-6 ปีข้างหน้านี้
การมีขนาดประชากรใหญ่ของอินเดียก็คือ ขนาดของตลาดที่มีผู้บริโภคภายในมหาศาล ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดียิ่ง เช่นที่เราได้เห็นจากประเทศจีนนั่นเอง
ยิ่งอินเดียกำลังได้น้ำมันดิบราคาถูกมาจากรัสเซียขณะนี้ จะยิ่งเสริมขีดแข่งขันและการขยายเศรษฐกิจให้เติบใหญ่ได้ทีเดียว
ประกอบกับคนชั้นนำของอินเดีย ก็ได้มีส่วนผลักดันเพื่อให้ประเทศอินเดียได้ข้ามฟากไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยให้เพื่อนร่วมชาติได้มีความเป็นอยู่ที่กินอิ่มนอนอุ่นแบบที่เกิดขึ้นที่จีน...ดังเช่นที่นายกฯ นเรนทรา โมดี ประกาศผลักดันให้อินเดียฉลองครบรอบเอกราช 100 ปี (จากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ในปี 2047 (หรืออีก 25 ปี) หนุ่มสาวชาวภารตะจะต้องมีส่วนสำคัญที่จะร่วมกันผลักดันไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้จงได้
แม้ขณะนี้ การกระจายรายได้ของอินเดียจะยังห่างไกลจากอังกฤษมาก แต่ด้วยการพยายามลดช่องว่าง โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย (เช่นเดียวกับที่จีนทำสำเร็จ) อินเดียก็น่าจะไปถึงฝันอันนั้นได้
แม้ว่าความเป็นประชาธิปไตยที่พูดมากกว่าทำ...และยังติดหลุมดำด้านชนชั้นวรรณะ (ต่างกับจีนที่เป็นสังคมนิยมที่สั่งซ้ายขวาได้ไม่มีเกี่ยงมาก และไม่มีระบบวรรณะแบบอินเดีย) ซึ่งหลังๆ มานี้ ก็จะเห็นระดับผู้นำของรัฐบาลมาจากชนชั้น “แตะต้องไม่ได้” ก็เป็นได้ถึงรมต.คลัง หรือระดับประธานาธิบดีก็เห็นกันมาแล้ว ซึ่งพวกเขาไต่เต้าฟันฝ่าระบบ “วรรณะ” ได้ก็จากการพัฒนาด้านการศึกษาซึ่งอินเดียทำได้สำเร็จ
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียท่านอมาตยา เซน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 1998 ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ไขปริศนาว่า มรดกที่แท้จริงที่เจ้าอาณานิคม (จอมโหด) ได้ทิ้งไว้กับอินเดียนั้น มีภาพลวงตาว่า ได้สร้างระบบทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกและกว้างขวางมาก หรือระบบการศึกษาที่ทันสมัย
ในข้อเขียนของท่านเมื่อปลายปีที่แล้วนี้เอง (อยู่ใน The Guardian) ว่า เครือจักรภพอังกฤษได้ปล้นความมั่งคั่งของอินเดียไปอย่างโหดร้ายทารุณ รวมทั้งการปล่อยให้ประชาชนอินเดียอดอยากยากแค้นแสนสาหัส แม้แต่การเปิดโอกาสให้ชาวอินเดียได้อ่านออกเขียนได้ ก็ยังพยายามเหนี่ยวรั้งเอาไว้ ด้วยการห้ามอ่านหนังสือจากนักประพันธ์หรือปรัชญาเมธีคนสำคัญของอินเดีย แม้แต่ รพินทรนาถ ฐากุร ก็ยังถูกห้ามเผยแพร่ ขณะที่อังกฤษเองพยายามส่งเสริมให้คนอังกฤษที่ประเทศของตนอ่านออกเขียนได้
เมื่อครั้งที่เดวิด คาเมรอน ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้นำพาขบวนนักธุรกิจร่วมเดินทางไปอินเดียกับเขา ในการเดินทางไปเยือนต่างประเทศครั้งแรก เพราะเขารู้ดีว่า อินเดียจะเป็นทั้งแหล่งผลิตสินค้าให้แก่อังกฤษที่มีต้นทุนต่ำมาก ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นตลาดใหญ่สำคัญสินค้าอันมากมายของอังกฤษด้วย
รวมทั้งเศรษฐีอินเดียก็จะเป็นเป้าสำหรับการนำเงินมาลงทุนที่อังกฤษ (ขณะนั้นในท็อป 10 เศรษฐีของอังกฤษ ปรากฏว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวอินเดียที่ลงทุนในอังกฤษ)
เมื่อนายกฯ เดวิด คาเมรอน เดินทางถึงอินเดียได้มีเสียงเรียกร้องตามสื่อของอินเดีย ให้อังกฤษคืนโคตรเพชรโคอินัวร์ที่อังกฤษปล้นไปจากอินเดีย (ที่ไปบรรจุอยู่ในพระมหาพิชัยมงกุฎของพระราชินีอังกฤษ)
รวมทั้งขอให้อังกฤษส่งคืนเหล่าศิลปวัตถุล้ำค่าของอินเดีย ที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ปล้นไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของเกาะอังกฤษ (และที่ค้างอยู่ตามปราสาทราชวัง และคฤหาสน์ของเหล่าขุนนางมั่งคั่งของอังกฤษ)
ที่สะใจพอๆ กันก็คือ ในรัฐบาลอังกฤษในยุคของเทเรซา เมย์ และบอริส จอห์นสัน ปรากฏต้องอาศัยฝีมือของคนสัญชาติอังกฤษที่มีเชื้อชาติอินเดียเข้าบริหารราชการเป็นรมต.กระทรวงสำคัญๆ เช่น คลัง, มหาดไทย, สาธารณสุข เป็นต้น
รวมทั้งนายกฯ (ลิซ ทรัสส์) คนใหม่ของอังกฤษ ก็ต้องอาศัยคนจากอดีตอาณานิคมอังกฤษมาช่วยบริหารบ้านเมืองในตำแหน่งสำคัญๆ เช่นรมต.มหาดไทยคนใหม่นี้
ลูกหลานของประเทศผู้ถูกล่า กลับมาเป็นใหญ่ในประเทศผู้ล่าอาณานิคมอย่างไม่น่าเชื่อ
ความมั่งคั่งของอินเดียขณะนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวจากอินเดีย (รวมทั้งคู่สมรสที่จัดงานแต่งงานในไทย) เป็นเป้าหมายที่ไทยเล็งอยู่