เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตชวนไปแวะแถวๆ ดินแดนฟากตะวันออกสุดๆ ของคุณน้ารัสเซียเขาสักหน่อย คือที่เมือง “วลาดิวอสต็อก” ริมฝั่งทะเลญี่ปุ่น รอบๆ อ่าว “Golden Horn”เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิก อันมีหาดทราย สายลม และสองเรา ที่พอทำให้หวนรำลึกนึกถึงเมื่อครั้งที่อันตัวข้าพเจ้าเอง เคยเดินท่อมๆ เลียบหาดแห่งนี้เมื่อสัก 30-40 ปีที่แล้ว...
ด้วยเหตุเพราะนับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันพฤหัสฯ (5-8 ก.ย.) เมืองอันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเมืองท่าเสรีแห่งนี้นี่แหละ ที่เขาจะมีการจัดงานใหญ่ งานช้าง จัดการประชุมเศรษฐกิจภาคตะวันออกครั้งที่ 7 หรือ “7th Eastern Economic Forum” (FEFU) ขึ้นที่ ณ บริเวณวิทยาเขต ของมหาวิทยาลัย “Far Eastern Federal University” โดยมีแขกบ้าน แขกเมือง มีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 4,000 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจาก 58 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจากกลุ่มประเทศ “Eurasian Economic Union”กลุ่มประเทศ “SCO”(Shanghai Cooperation Agreement) กลุ่มประเทศ “BRICS”(บราซิล-รัสเซีย-อินเดีย-จีน-และแอฟริกาใต้) กลุ่มประเทศเขตการค้า “APEC”และกลุ่มประเทศ “ASEAN”ของหมู่เฮาทั้งหลาย รวมทั้งยังมีตัวแทนนักลงทุนจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลกกว่า 400 บริษัท เข้าร่วมสังสรรค์ เสวนาอย่างเป็นระบบและกิจการ...
คือเหตุที่ต้องชวนไปแวะ ชวนไปดู ก็เพราะช่วงระหว่างนี้ หรือนับตั้งแต่การบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา คุณน้ารัสเซียท่านมีอันต้องเจอกับการต่อต้าน ปฏิเสธ หรือการ “แซงชั่น”จากคุณพ่ออเมริกาและบรรดาประเทศพันธมิตรตะวันตกแบบ “สุดโหด-มหาโหด”ชนิดไม่แต่เฉพาะน้ำมันรัสเซีย แก๊สรัสเซีย แม้แต่เพลงรัสเซีย วรรณกรรมรัสเซีย นักกีฬารัสเซีย หรือกระทั่งแมวรัสเซีย (สายพันธุ์ไซบีเรีย) ฯลฯ ต่างถูกต้าน ถูกแบน จนแทบไม่น่าจะมีชาติไหน ประเทศไหน คิดบังอาจไปร่วมหัวจมท้าย ร่วมประชุม ร่วมกิจกรรม-ธุรกรรมกับหมีขาวตัวนี้เอาเลยก็ว่าได้...
ดังนั้น...การประชุมเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัสเซียที่จัดขึ้นมาแล้ว 6 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างคึกคัก โครมครามอยู่พอสมควร เกิดความร่วมไม้ ร่วมมือ เกิดการลงทุน ในพื้นที่ภาคตะวันออกปีละนับร้อยๆ ล้านดอลลาร์ เช่นปี ค.ศ. 2017 มูลค่าการลงทุนสูงถึง 217 ล้านดอลลาร์ ปี ค.ศ. 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 220 ล้านดอลลาร์ ปี ค.ศ. 2019 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 270 ล้านดอลลาร์ และปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นไปถึง 380 ล้านดอลลาร์ แม้จะเลื่อนการประชุมครั้งนี้ออกไปบ้างเล็กน้อย อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อ “โควิด-19”แต่เมื่อคิดจะมาจัดประชุมครั้งที่ 7 หรือช่วงที่การต่อต้าน การแซงชั่นจากประมุขโลกและบริวารอย่างคุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรตะวันตก เป็นไปแบบสุดโหด-มหาโหด แบบกะจะรุมเหยียบ รุมกระทืบ ให้ตายคาส้นตีนให้จงได้ ก็จึงเป็นที่น่าจับตา น่าตามไปดู อย่างที่ว่าเอาไว้แล้วนั่นเอง...
เพราะการที่ยังมีประเทศถึง 58 ประเทศทั่วโลก ยังคงกล้าหาญและบังอาจ ยังพร้อมคบหาสมาคมกับประเทศรัสเซียอย่างเปิดเผย ตรงไป-ตรงมา เช่นในการประชุมคราวนี้ ต้องถือว่า...ได้ก่อให้เกิดสีสันบรรยากาศ แบบชนิด “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ยิ่งเมื่อคุณน้ารัสเซียท่านเริ่มเบนเข็ม เบนทิศทาง หันมาเน้นการค้า การลงทุน จากประเทศในเอเชียแทนที่จะหันไปง้อยุโรป อียู-อีย้วย เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับประเทศที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มไม้ชายคาของคุณพ่ออเมริกาและตะวันตกของ “NATO”หรือของ “AUKUS”(Australia-United Kingdom-United States of America) จึงเป็นอะไรที่สามารถนำมาใช้เป็นคำตอบ คำอธิบาย ถึงความเป็นไปของโลกในห้วงระยะอนาคตเบื้องหน้า ได้มั่งไม่มาก-ก็น้อย...
คือแม้ว่า “แมวรัสเซีย”จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ส่งเข้าประกวด ส่งเข้าร่วมแข่งขันงานประกวดแมวระดับชาติ หรือระดับโลกก็เถอะ แต่สำหรับการค้า-การลงทุน การแสวงหากำไรและผลประโยชน์ อันเป็นไปตามหลัก “การค้าเสรี”ประเภทใครใคร่ค้า-ค้า ใครใคร่ขาย-ขาย มันคงจะไปสั่งห้าม สั่งแบน กันในทุกเรื่อง-ทุกกรณีไม่น่าจะได้ หรืออย่างที่คอลัมนิสต์ “เอเชียไทมส์” “นายแอนดรูว์ แซลมอน” (Andrew Salmon)ท่านเพิ่งไล่เรียงให้เห็นในข้อเขียน บทความ เรื่อง “Japan, Korea defy US with big Russia energy deals”ที่สำนักข่าว “ผู้จัดการ” ของหมู่เฮาได้นำมาแปลและเรียบเรียงถ่ายทอดให้อ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั่นแหละว่า กระทั่งพันธมิตรที่แนบสนิทติดทนนานของอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยังต้องขออนุญาตเลือก “เงิน” หรือเลือกกำไรและผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ก่อน อันเป็นเหตุให้บริษัทรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ อย่างบริษัท “KHNP”(Korea Hydro & Nuclear Power Co) ต้องหันไปร่วมลงทุนกับบริษัท “Atomstroyexport”ของรัสเซีย ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับประเทศอียิปต์แบบเน้นๆ-เนื้อๆ หรือบริษัทญี่ปุ่นอย่าง “Mitsui & Co”และบริษัท “Mitsubishi Corporation”ก็ได้ออกมายืนหยัด ยืนยัน ว่ายังคงคิดจะถือหุ้นอยู่ในโครงการขุดเจาะแก๊ส “Sakhalin-2” ของรัสเซีย แบบไม่คิดจะหนีไปไหน...
หรือแม้แต่ “นักเซ็งลี้” แห่งอาเซียนอย่างสิงคโปร์ พ่อค้าแห่งตะวันออกกลางอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์หรือ “UAE”ก็เถอะ ดังที่รายงานข่าวของสำนักข่าว “Bloomberg” เมื่อช่วงวันพุธที่ 31 ส.ค.เขาได้รายงานเอาไว้ประมาณว่า แหล่งรองรับน้ำมันดิบประเภทก่อนจะเอาไปกลั่นทำพลาสติก หรือที่เรียกว่า “Naphtha fuel”ของรัสเซีย ชนิดส่งผลให้การส่งออกน้ำมันชนิดนี้ของรัสเซียไปยังภูมิภาคเอเชีย เพิ่มขึ้นถึง 84 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 130,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนเมื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้วจะเอาไป “ขายต่อ” แบบแพงๆ ให้กับยุโรป-อเมริกา หรือประเทศไหนต่อประเทศไหนกันต่อไป อันนี้...ต้องถือเป็นการค้าเสรีแบบใครใคร่ค้า-ค้า ใครใคร่ขาย-ขายอีกนั่นแหละ จะไปสั่งห้าม สั่งแบน แบบแมว แบบนักกีฬา ฯลฯ มันคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วแน่ๆ โดยเฉพาะเมื่อทั้งยุโรปและอเมริกาต่างเจอภาวะ “ขาดแคลนพลังงาน” ไปด้วยกันทั้งคู่...
ภายใต้สีสันบรรยากาศ ทำนองนี้นี่เอง...ที่ทำให้ศาสตราจารย์นักวิจัยแห่ง “Higher School of Economics” และสถาบัน “Institute of World Economy” รวมทั้งยังเป็นสมาชิกสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรัสเซีย “นายดมิตรี เทรนิน” (Dmitri Trenin) ท่านเลยอดไม่ได้ที่จะต้องตั้งข้อสังเกต ตั้งสมมติฐาน ไว้ในข้อเขียน บทความ ว่าด้วยเรื่อง “This Russia-China founded bloc represents half the world’s population and will help forge the New World Oder” หรือด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศมหาอำนาจคู่แข่งของคุณพ่ออเมริกาอย่างจีนและรัสเซีย ที่เป็นเสมือนตัวแทนของประชากรเกือบครึ่งโลกนั่นเอง กำลังเป็นตัวหล่อหลอมให้เกิด “ระเบียบโลกแบบใหม่”ขึ้นมาแล้วรางๆ...
คือไม่ว่าจะด้วยการก่อร่างสร้างตัวของบรรดาประเทศที่อยู่นอกเหนือร่มไม้ชายคาของอเมริกาและนาโต เช่น กลุ่มประเทศที่เรียกว่า “SCO” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากที่เคยมีสมาชิกแค่ 6 ประเทศเมื่อปี ค.ศ. 2001 และปี ค.ศ. 2017 ไม่เพียงแต่เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 8 ประเทศ ยังมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมสังเกตการณ์อีกถึง 20 ประเทศ รวมทั้งที่เตรียมขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่มากหน้า-หลายตาไม่ว่าอิหร่าน ตุรกี ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ กาตาร์ ฯลฯ ไม่ต่างไปจากกลุ่มประเทศ “BRICS” ที่กำลังเตรียมเปิดรับสมาชิกใหม่ๆ อย่างเป็นระบบและกิจการ โดยที่บรรดาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไม่คิดต่อต้าน แซงชั่นรัสเซียเหมือนอย่างคุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรอียู อีย้วย แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังหันมาค้าขาย แลกเปลี่ยน ในทางการค้า การลงทุน หรือแม้แต่ความมั่นคงควบคู่ไปด้วย เกิดการหันมาค้าขายกันด้วยสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์อเมริกัน หรือเงินยูโร แต่หันไปใช้เงินหยวนของจีน เงินรูปีของอินเดีย เงินรูเบิลของรัสเซีย เงินลีราของตุรกี เงินเรียลของอิหร่าน ฯลฯ กันแทนที่ จนเกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยตรง หรือโดยไม่ต้องผ่าน “ตัวแทน”อย่างอเมริกาและพันธมิตรยุโรป ที่เพียรพยายามอาศัย “ระบบการเงิน”ที่อยู่ภายใต้อำนาจ อิทธิพลของตัวเอง เป็น “เครื่องมือ”ในการควบคุมและแทรกแซง เพื่อให้โลกทั้งโลกต้องเป็นไปตามความปรารถนาต้องการของตัวเอง หรือเพื่อคงความเป็น “จ้าวโลก”ไปอีกตราบนานเท่านานนั่นเอง...
อันนี้นี่แหละ...ที่ศาสตราจารย์รายนี้ท่านเห็นว่ากำลังกลายเป็น “จุดเริ่มต้น”แห่งการหล่อหลอมไปสู่ “ระเบียบโลกแบบใหม่” ที่บรรดาประเทศซึ่งมุ่งหวังต้องการจะมี “อำนาจอธิปไตย”เป็นของตัวเอง สามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันและกัน โดยปราศจากการควบคุมและแทรกแซงจากมหาอำนาจผู้หวังดำรงตนเป็น “ประมุขโลก” แม้ยังอาจยากลำบากอยู่บ้างในช่วงนี้ แต่ด้วยผลตอบแทนแห่งความเป็นอิสระ ความไม่ต้องมีผู้หนึ่ง-ผู้ใดมาควบคุมและบงการ รวมทั้งการขยายตัวของความร่วมมือที่ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าในนามกลุ่มประเทศ Eurasian Economic Union กลุ่มประเทศ SCO กลุ่มประเทศ BRICS, APEC ตลอดไปจน ASEAN ฯลฯ ที่พร้อมเข้าร่วมประชุมในเวที “7th Eastern Economic Forum” ณ กรุงวลาดิวอสต็อกคราวนี้ ย่อมทำให้ “โลกแบบใหม่” หรือ “โลกหลายขั้วอำนาจ” จึงกำลังเริ่มก่อรูป ก่อร่าง ขึ้นมาตาม “กระบวนการทางประวัติศาสตร์”อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้เลย...