(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Japan, Korea defy US with big Russian energy deals
By ANDREW SALMON
26/08/2022
โซล และโตเกียว ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถนำไปไปปฏิบัติได้จริงและเป็นประโยชน์แก่ตนเอง มากกว่าการมุ่งลงโทษมอสโกสำหรับการรุกรานยูเครน
โซล - ความพยายามที่นำโดยสหรัฐฯ ในการสยบและควบคุมปิดล้อมเศรษฐกิจซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ภาคพลังงานของรัสเซีย ถูกหวดกระหน่ำใส่อย่างแรงครั้งล่าสุดในวันพฤหัสบดี (25 ส.ค.) ที่ผ่านมา –โดยเป็นการหวดกระหน่ำด้วยฝีมือของ 2 ชาติพันธมิตรชั้นนำในเอเชียตะวันออกของอเมริกาเองเสียด้วย
ในสัญญาณล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้มีความปรารถนาเลยที่จะสะบั้นความผูกพันด้านพลังงานซึ่งมีอยู่กับรัสเซีย เกาหลีใต้ได้ตกลงทำดีลใหม่กับพวกเพลเยอร์ชาวรัสเซีย ขณะที่ญี่ปุ่นก็โอเคเดินหน้ารักษาดีลเดิมซึ่งมีอยู่กับแดนหมีขาว
ทั้งนี้ เกาหลีใต้ประกาศว่า บริษัทโคเรีย ไฮโดร แอนด์ นิวเคลียร์ เพาเวอร์ (Korea Hydro & Nuclear Power Co หรือ KHNP) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของตน จะเป็นผู้จัดหาจัดส่งส่วนประกอบต่างๆ ตลอดจนทำงานด้านวิศวกรรม รวมแล้วคิดเป็นมูลค่า 2,250 ล้านดอลลาร์ ให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะจัดตั้งขึ้นในอียิปต์ โดยที่มีรัสเซียเป็นผู้ก่อสร้าง
ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทเทรดดิ้งคอมพานีรายใหญ่ 2 รายของญี่ปุ่นออกมาแถลงยืนยันในวันเดียวกัน (25 ส.ค.) ว่า จะยังคงรักษาหุ้นที่พวกเขาถืออยู่ในโครงการก๊าซธรรมชาติ “ซาคาลิน 2” (Sakhalin II) ของรัสเซียเอาไว้ พัฒนาการเหล่านี้เกิดขึ้นตามหลังข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันทว่าให้สีสันเป็นตรงกันข้าม ซึ่งปรากฏออกมาในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น
นั่นคือ สหราชอาณาจักร ผู้เป็นพันธมิตรแสนจงรักภักดีของสหรัฐฯ และเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่รายหนึ่งซึ่งจัดส่งทั้งอาวุธและความสนับสนุนทางการเมืองให้แก่ยูเครน ระบุว่าสามารถทำตามเป้าหมายที่จะยกเลิกการนำเข้าพลังงานรัสเซียทุกๆ อย่างภายในสิ้นปีนี้ โดยที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า ลอนดอนได้ยุติการนำเข้าน้ำมันรัสเซียในเดือนมิถุนายน ถึงแม้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติยังมีการอ้อยอิ่งยืดเยื้อกันอยู่บ้าง
แต่สหราชอาณาจักรนั้นเป็นชาติที่มีโชค โดยมีช่องทางที่จะหาแหล่งพลังงานท้องถิ่นมาจุนเจือความต้องการได้ระดับหนึ่ง ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ยูเครน บอริส จอห์นสัน ผู้ซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรอยู่รอมร่อแล้ว ได้ทีออกมาแถลงว่าลอนดอนจะให้แหล่งน้ำมันทะเลเหนือของตน “ได้มีชีวิตต่อไปอีก”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gisreportsonline.com/r/north-sea-energy/)
สำหรับชาติอื่นๆ ในซีกโลกเหนือ (Global North) – ซึ่งหมายถึงพวกประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่มีฐานะมั่งคั่ง ที่จะมากจะน้อยก็ได้ประณามและแซงก์ชันมอสโกสำหรับการบุกโจมตีเคียฟ – ทิศทางอนาคตสำหรับการออกแรงกดดันเศรษฐกิจรัสเซียต่อไปนั้นดูจะมัวมนซีดเซียว
ทั่วทั้งกลุ่มสหภาพยุโรปที่ต่างเจ็บปวดจากภาวะเงินเฟ้อ บางทีคำถามทางเศรษฐกิจข้อใหญ่ที่สุดซึ่งเผชิญหน้ารัฐบาลชาติเหล่านี้อยู่ก็คือ เป็นไปได้หรือที่ประเทศของพวกเขาจะตัดลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย แต่เมื่อได้พากันประกาศเดินหน้าแซงก์ชันมอสโกไปแล้ว พวกเขาจะหาทางผ่อนเพลาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการนี้กันได้ยังไง รวมทั้งจริงๆ แล้วพวกเขาจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในขอบเขตขนาดไหนจึงจะถือว่าสอดคล้องกับความเป็นจริง ตลอดจนถ้าจะหวนกลับมายอมรับความเป็นจริงกันแล้วจะต้องยอมทนแบกรับความอับอายขายหน้ามากน้อยเพียงใด
คำถามเหล่านี้กำลังจะถูกไต่ถามกันด้วยเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ และถี่ขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ฤดูร้อนในยุโรปผ่านพ้นไปและฤดูอากาศหนาวเย็นเคลื่อนเข้ามาแทนที่
และไกลออกไปทางทิศตะวันออก ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น –สองพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ซึ่งต่างก็เป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิกันทั้งคู่ เพื่อนำมาใช้ขับดันระบบเศรษฐกิจที่เป็นอุตสาหกรรมกันอย่างเต็มที่ของพวกเขา – ต่างไม่ได้มีการกำหนดจุดยืนที่จะตัดลงการใช้กระแสไฟฟ้าลง ทั้งคู่ยังไม่ได้มีท่าทีต้องการจะสะบั้นความเชื่อมโยงด้านพลังงานซึ่งมีอยู่กับมอสโก ที่เป็นเจ้าของแหล่งพลังงานสำรองปริมาณมหาศาลในดินแดนตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเอเชียตะวันออก
ยิ่งไปกว่านั้น คณะบริหารในโซลของประธานาธิบดียุน ซุคยอล ที่เพิ่งขึ้นครองอำนาจแค่ 3 เดือนกว่าๆ ยังแสดงท่าทีพรักพร้อมที่จะรื้อฟื้นการส่งออกในภาคนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ เวลาเดียวกันนั้นเอง ในโตเกียว นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ก็กำลังก้าวเดินก้าวเล็กๆ ทางการเมืองที่จำเป็น เพื่อจะได้ปัดฝุ่นกวาดหยักไย่ออกจากภาคนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ซึ่งถูกแช่แข็งเอาไว้อย่างแน่นหนาภายหลังเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะเมื่อปี 2011
พัฒนาการเช่นนี้แสดงให้เห็น—อีกคำรบหนึ่ง—ว่า โซล และโตเกียว มีการเชื่อมโยงกันด้วยผลประโยชน์ที่สอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกัน ถึงแม้ข้อพิพาทขัดแย้งในประวัติศาสตร์อย่างไม่จบไม่สิ้น ยังคงเป็นปัจจัยที่แบ่งแยกรัฐบาลทั้งสองให้เหินห่างจากกัน
รัสเซีย-เกาหลีจับมือกันทำข้อตกลงนิวเคลียร์เชิงพาณิชย์
โซลประกาศข่าวที่ทำให้เซอร์ไพรสฺกันไปทั่วเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (25 ส.ค.) ว่า KHNP รัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ จะจัดหาจัดส่งพวกเครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งเข้าร่วมการก่อสร้างในโครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของอียิปต์ ซึ่งจะตั้งอยู่ในย่านตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงไคโร โดยที่โรงไฟฟ้านี้จะมีเตาปฏิกรณ์ 4 เตาด้วยกัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.yna.co.kr/view/AEN20220825008451315)
KHNP จะเข้าร่วมโครงการนี้ในฐานะเป็นหุ้นส่วนระดับรองซึ่งอยู่ใต้อะตอมสตรอยเอ็กซ์พอร์ต (Atomstroyexport) ของรัสเซียอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้ว สื่อมวลชนของอียิปต์รายงานว่า อะตอมสตรอยเอ็กซ์พอร์ต ในฐานะที่เป็นผู้นำของกิจการหุ้นส่วนเฉพาะกิจเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ คือผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกผู้รับเหมาช่วงทุกๆ ราย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://dailynewsegypt.com/2022/07/31/315-egyptian-companies-apply-to-participate-in-el-dabaa-nuclear-plant-construction-nppa/)
การที่ KHNP ชนะได้รับการคัดเลือกคราวนี้ ปรากฏว่าได้รับความชื่นชมยินดีด้วยการโพสต์ในเฟซบุ๊กจากประธานาธิบดียุน ทั้งๆ ที่ นักการเมืองหน้าใหม่ฝ่ายขวาผู้นี้สารภาพอย่างเปิดเผยว่ามีจุดยืนทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ทั้งในระหว่างที่เขารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อต้นปีนี้ รวมทั้งตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม
แน่นอนทีเดียวว่า การได้งานที่อียิปต์ของ KHNP ถือเป็นก้าวสำคัญในการรื้อฟื้นชุบชีวิตความทะเยอทะยาน ทักษะความชำนาญ และการส่งออกธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ ทั้งนี้พื้นที่หนึ่งซึ่ง ยุน มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกกลับนโยบายของ มุน แจอิน ประธานาธิบดีโสมขาวคนก่อนหน้าเขา ก็คือ แนวรบด้านพลังงานนิวเคลียร์นี้แหละ
มุน ซึ่งเป็นนักการเมืองผู้ต่อต้านพลังปรมาณูอย่างเหนียวแน่น ได้ลดอัตราส่วนของนิวเคลียร์ในส่วนผสมด้านพลังงานแห่งชาติลงไปมาก และ ยุน ประกาศเอาไว้ว่าจะลงมือแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็ว
ชอย ซังม็อก (Choi Sang-mok) เลขาธิการอาวุโสด้านกิจการเศรษฐกิจของประธานาธิบดียุน เรียกชัยชนะของ KHNP ครั้งนี้ว่า เป็นการได้ใบสั่งซื้อเพื่อการส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเพลเยอร์ด้านนิวเคลียร์เกาหลีใต้นับตั้งแต่ปี 2009 ตอนที่กลุ่มกิจการหุ้นส่วนเฉพาะกิจที่นำโดยเกาหลีใต้ ชนะการประกวดราคาสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณู “บัคราห์” (Bakrah) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทีเดียว
ชอย ยอมรับด้วยว่า กว่าจะชนะต้องฝ่าฟัน “ความยากลำบากชนิดที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน” ที่รายล้อมดีลนี้อยู่ --นั่นคือสงครามยูเครน และการแซงก์ชันเล่นงานรัสเซียจากเรื่องนี้ โดยเป็นที่ชัดเจนว่าโซลจะต้องอธิบายเรื่องนี้ต่อวอชิงตัน
ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ ชอยเปิดเผยว่าพวกหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้รับการชี้แนะจากประธานาธิบดียุน ให้เสนอตัวบรรยายสรุปให้ฝ่ายสหรัฐฯ ฟังเกี่ยวกับข้อตกลงรายนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.yna.co.kr/view/AEN20220825008451315)
ญี่ปุ่นยังรักษาหุ้นของตนเอาไว้ในซาคาลิน 2”
ขณะเดียวกัน มิตซุย แอนด์ โค (Mitsui & Co) และมิตซูบิชิ คอร์ป (Mitsubishi Corp) 2 บริษัทเทรดดิ้งคอมพานียักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น มีแผนรักษาหุ้นส่วนของพวกเขาในโครงการน้ำมันและก๊าซซาคาลิน 2 เอาไว้ และจะแจ้งให้รัสเซียทราบเจตจำนงนี้ภายในสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโดเมื่อวันพฤหัสบดี (25 ส.ค.)
บริษัทญี่ปุ่นทั้งสองต่างตัดสินใจที่จะยังคงลงทุนในบริษัทผู้ดำเนินงานแห่งใหม่ ซึ่งมอสโกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมโครงการนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารจัดการคราวนี้บังเกิดขึ้น หลังจากที่มีการประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์โดย บริษัทเชลล์ แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเดิมเคยถือหุ้นอยู่ในโปรเจกต์นี้ 27.5% ว่า ตนกำลังถอนตัวออกจากโครงการนี้รวมทั้งการลงทุนอื่นๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ในรัสเซีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://english.kyodonews.net/news/2022/08/314390ffe22b-mitsui-mitsubishi-to-keep-stakes-in-russia-sakhalin-2-energy-project.html)
การตัดสินใจของเพลเยอร์ญี่ปุ่น 2 รายนี้ มีสัญญาณปรากฏให้เห็นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้แล้ว เมื่อทั้ง มิตซุย และมิตซูบิชิ ต่างลดมูลค่าทางบัญชีสำหรับการลงทุนของพวกตนในซาคาลิน 2 ซึ่งรวมกันแล้วอยู่ในระดับ 20.5% ทว่าไม่ใช่เป็นการตัดทิ้งไปเลย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/08/japan-tentatively-cuts-stakes-in-russias-sakhalin-2/)
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การตัดสินใจรักษาหุ้นเอาไว้เช่นนี้ เป็นการสะท้อนจุดมุ่งหมายของทางการญี่ปุ่นที่จะประคับประคองให้ยังคงมีก๊าซ LNG จัดส่งมาให้แดนอาทิตย์อุทัยอย่างมีเสถียรภาพ ท่ามกลางความสะดุดติดขัดอย่างมโหฬารซึ่งเกิดขึ้นหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
พวกนักยุทธศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพูดเอาไว้อย่างชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมา แดนอาทิตย์อุทัยต้องพึ่งพาซัปพลายเออร์ในตะวันออกกลางมากเกินไป และสถานการณ์เช่นนี้จึงกลายเป็นการเปิดโอกาสให้แก่รัสเซีย ในการเติมเต็มความมุ่งมาดปรารถนาของฝ่ายญี่ปุ่นที่จะกระจายแหล่งซัปพลายพลังงาน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eastasiaforum.org/2022/06/24/how-japans-russia-policy-changed-after-ukraine/)
เหมือนๆ กับ ยุน ของเกาหลี คิชิดะก็เพิ่งส่งสัญญาณว่าต้องการรีเซ็ตเพื่อใช้นิวเคลียร์กันอีกครั้งหนึ่ง
ขณะไปพูดในการประชุมนโยบายพลังงานที่กรุงโตเกียวเมื่อวันพฤหัสบดี (25 ส.ค.) เขาบอกว่า ญี่ปุ่นควรต้องพิจารณาก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เจเนอเรชันต่อไป นอกเหนือจากการเริ่มเปิดโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วและปัจจุบันถูกปิดอยู่ให้กลับขึ้นมาใช้ใหม่ รวมทั้งหาทางขยายอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าพวกนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-asia-62659007)
คำแถลงที่เขาพูดล่าสุดนี้ มีขึ้นหลังจากเขาให้คำมั่นสัญญาทำนองเดียวกันเอาไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในตอนนั้นทั้ง คิชิดะ และรัฐมนตรีพลังงานของเขากล่าวว่า พวกเขาต้องการให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 9 เตากลับมาต่อเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและเริ่มการผลิตไฟฟ้าก่อนสิ้นปีนี้ นี่จะเป็นความคืบหน้าไปจากที่มีเตาปฏิกรณ์ 5 เตาซึ่งใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันทั่วประเทศญี่ปุ่น เตาปฏิกรณ์ 9 เตาจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 10% ของปริมาณที่ต้องการใช้งานกันทั่วประเทศ
(คำมั่นสัญญาในเดือน ก.ค. ของคิชิดะ ดูได้ที่ https://asiatimes.com/2022/07/japan-plans-to-revive-idle-nuke-plants-by-winter/)