ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่าทีของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ทำให้หลายคนเริ่มเทน้ำหนักว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบถาวร กรณีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี
ตั้งแต่การปรับลุกส์ตัวเองใหม่ หลังถูกสังคมค่อนแคะว่าจะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีไหวหรือไม่ เพราะขนาดเดินยังดูไม่ค่อยจะไหว แต่ “บิ๊กป้อม”ปรับตัวได้ มาทำเนียบฯเดินเอง ไม่มีลูกน้องคอยประคอง และยังบอกว่า ที่เดินเองได้เพราะใช้ “ใจบันดาลแรง” วลีนี้เป็นที่ฮือฮา
นอกจากนี้ ยังฟิตทำงาน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต่อสายหาผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งการเรื่องแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะการโทรศัพท์หา “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งให้ทราบว่าทหารพร้อมให้ความร่วมมือรับมือน้ำท่วม กทม. โชว์บทมือประสานสิบทิศ ทำงานเข้าได้กับทุกฝ่าย ไม่มีแบ่งขั้วแบ่งข้าง
การนำเสนอข่าวการปฏิบัติภารกิจเชิงรุก เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานขณะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี หรือการพยายามโชว์ความเป็นผู้นำ
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดยังมีการแก้ไขคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเก่า ที่จากเดิมรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีไม่สามารถยุ่มย่ามกับการแต่งตั้งโยกย้าย และงบประมาณได้ มาปรับปรุงให้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็ม เหมือนกับเมื่อครั้งยังมี “บิ๊กตู่” อยู่
อารมณ์คนภายนอกที่มองเข้ามา ต่างคิดตรงกันว่า เป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว
และนั่นทำให้หลายคนทุ่มน้ำหนักว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ “บิ๊กตู่” ครั้งนี้จะไม่ใช่การพักร้อน แต่เป็นการพักผ่อนหลังเกษียณแบบยาวๆ
แล้ว “บิ๊กป้อม” คงจะไม่นั่งรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีไปจนถึงวันยุบสภา เพราะเมื่อเปิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในมาตรา 167 ที่ระบุเหตุที่จะทำให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งคณะได้ โดยใน (1) บัญญัติไว้ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตาม มาตรา 170
ขณะที่ใน มาตรา170 บัญญัติเอาไว้ว่า “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดเวลาตาม มาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย”
ซึ่งในมาตรา158 วรรคสี่ เขียนไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “บิ๊กตู่” ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 “บิ๊กตู่” จะหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว หรือหลุดทั้งคณะ ในเมื่อ มาตรา 167 ระบุหนึ่งในสาเหตุที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะคือ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 ซึ่งมีเรื่องของการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย
ถ้าเป็นเช่นนั้น “บิ๊กตู่” จะไม่ได้หลุดเก้าอี้คนเดียว แต่ไปยกแก๊ง รวมถึงตัว “บิ๊กป้อม” รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในตอนนี้ด้วย
แม้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ซือแป๋กฎหมายจะกางตำราว่า ตอนนี้ “บิ๊กป้อม” มีอำนาจทุกอย่างเหมือนนายกรัฐมนตรี สามารถกระทำได้ทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่การยุบสภา จนทำให้มีบางฝ่ายมองว่า อาจจะนั่งรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีแบบยาวๆ ไปจนครบวาระ แต่เมื่อเป็นแบบนี้ วิธีดังกล่าวไม่น่าจะทำได้
ทางเดียวคือ ที่ประชุมรัฐสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 ได้เขียนไว้ว่า “เมื่อรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตาม (1) (3) หรือ (4) ให้ดำเนินการเพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ตาม มาตรา 158 และมาตรา159”
โดยในมาตรา158 บัญญัติเอาไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตาม มาตรา 159 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี”
ขณะที่มาตรา 159 บัญญัติไว้ว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้า ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
กล่าวคือ ต้องเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ ซึ่งหาก “บิ๊กป้อม”ต้องการจะนั่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจริง ต้องเดินตามสเตปนี้
เพียงแต่จะมากขึ้นตอนตรงที่ “บิ๊กป้อม” ไม่ได้อยู่ในลิสต์แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่พรรคการเมืองเสนอ ดังนั้นถ้าอยากจะเป็น ต้องใช้เสียงส.ว.มาช่วย เพื่อปลดล็อก ดึงนายกรัฐมนตรีนอกรายชื่อพรรคการเมืองขึ้นมา
ดูแล้วไม่น่ายากเย็นอะไร เพราะแม้วันนี้จะเหลือส.ว.สายบิ๊กตู่ อยู่ แต่ ส.ว.สายบิ๊กป้อม และ ป.ที่ 4 มีมากกว่า เกินปริมาณที่ต้องการ
สูตรนี้เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะอายุของรัฐบาลยังเหลืออีกถึงเดือนมีนาคม 2566
แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีสั้นๆ ไม่กี่เดือน แต่ก็ขึ้นทำเนียบนายกรัฐมนตรี โดยจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
มันคือความฝันสูงสุดของ บิ๊กป้อม
ขณะเดียวกัน ยังได้ถือโอกาสแต่งตั้ง ครม.ในโควตาตัวเองแบบเต็มที่ ไม่มีโควตา”บิ๊กตู่” มาปนเป เหมือนกับครม.ชุดปัจจุบัน
ได้ใช้เวลาตกรางวัล ซื้อใจนักการเมือง เพื่อมัดใจให้อยู่ต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า