xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไล่รื้อที่พักรุกป่าสงวน “ดอยม่อนแจ่ม” ดรามาปรับพื้นที่เกษตร สู่ท่องเที่ยวชุมชน ทุนนิยมเขมือบป่า กฎหมายไร้อำนาจ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นตัว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือของไทยกลายเป็นหมุดหมายลำดับต้นๆ ให้ผู้คนเดินทางไปสัมผัสธรรมชาติ ชมทะเลหมอกยามเช้า ชมทะเลดาวยามค่ำคืน จู่ๆ ภาพสถานการณ์ปัญหาไล่รื้อรีสอร์ทรุกพื้นที่ป่ากลับฉายซ้ำสะเทือนภาคการท่องเที่ยวชุมชนอีกครั้ง

ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดมกำลังกว่า 300 นาย เข้ารื้อถอน 5 รีสอร์ทบนพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 1. หลังสวนโฮมสเตย์ 2. ม่อนดาวเรือง 3. ม่อนดูดาว 4. ม่อนแสงระวี และ 5. แสงเหนือแคมปิ้ง  หลังตรวจสอบและมีหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ และมีการเปลี่ยนมือให้กับนายทุน หรือนอมินีเข้ามาประกอบกิจการแทน

ท่ามกลางการรวมตัวขัดขวางและกดดันอย่างหนักของกลุ่มชาวบ้านในนามของ “เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง 12 หมู่บ้าน”  ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง และอำเภอแม่ริม คัดค้านการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ โดยขอให้พิจารณาชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านออกไปก่อน และขอให้รอคำพิพากษาของศาลออกมาว่าจะมีผลเป็นอย่างไร ซึ่งชาวบ้านก็พร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลเมื่อถึงเวลานั้น

ถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่  “ม่อนแจ่ม” ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนในปี 2507 แต่เดิมเป็นพื้นที่เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชผักเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ตลอดจนการพื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม กระทั่งกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกผักและวิจัยพืชเมืองหนาว

ต่อมามีการตั้ง “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม”  ชาวม้งรุ่นใหม่มีการปรับเปลี่ยนประกอบธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น “ม่อนแจ่ม” กลายเป็นเค้กชิ้นโตมีการหั่นแบ่งผลประโยชน์จากการพัฒนาการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว มีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินเพื่อเปิดเป็นโฮมสเตย์ มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน รีสอร์ตบ้านพักผุดขึ้นเต็มพื้นที่ เกิดกรณีเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ และมีการเปลี่ยนมือให้กับนายทุน หรือนอมินีเข้ามาประกอบกิจการแทน

 ม่อนแจ่มคือกรณีศึกษาของปัญหาด้านการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน เกิดข้อพิพาทด้านข้อกฎหมาย ความไม่ลงรอยระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวม้งม่อนแจ่ม ปัญหารุกพื้นที่ป่าสงวนที่ประกาศหลังการปักหลักตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน ความพ่ายแพ้ต่อทุนนิยมสู่การการเปลี่ยนมือให้นอมินีเข้ามาประกอบกิจการแทน 

กรณีดอยม่อนแจ่มเป็นปัญหายื้อเยื้อมาอย่างยาวนาน หลังจากโตรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด เกิดปัญหาใช้ที่ดินผิดประเภท สร้างสิ่งปลูกสร้างรองรับนักท่องเที่ยวแทนที่การทำเกษตร นำสู่การการจัดระเบียบครั้งใหญ่ ตั้งแต่เมื่อช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา

โดยกรมป่าไม้ได้ออกประกาศตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 25 สั่งให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือครอบครองพื้นที่ยุติ การดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในลักษณะบ้านพัก รีสอร์ต ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม พื้นที่โครงการหลวงหนองหอย หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงคำสั่งให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ม่อนแจ่มที่มีการรุกที่ป่าสงวน ให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าว ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562 โดยมีผู้ประกอบการเข้ามาก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ของโครงการหลวงฯ รูปแบบของรีสอร์ต บ้านพัก โรงแรม ลานกางเต็นท์ และส่วนหนึ่งมีการซื้อ-ขายเปลี่ยนมือให้นายทุนไทยและต่างชาติ มีการก่อสร้างผิดรูปแบบ บุกรุกป่าขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้ง มีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507


ตามรายงานศูนย์ป่าไม้เชียงใหม่ ข้อมูลล่าสุดตรวจสอบที่พักรีสอร์ตบริเวณดอยม่อนแจ่ม พบว่า 122 แห่ง มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโรงแรม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารจำนวน 86 แห่ง ซึ่งในส่วนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และมีบางแห่งที่ศาลพิพากษาความผิดแล้วส่วนอีก 36 แห่ง ตรวจสอบอย่างละเอียดพบข้อมูลหลักฐานชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนมือถ่ายโอนไปให้กับนายทุนเข้ามาประกอบกิจการแทนรวมทั้ง มีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติป่าไม้ ซึ่งจะมีการดำเนินการรื้อถอนในเวลานี้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแจ้งเตือนและเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ชี้แจงไปแล้ว

 นายมนตรี ปลูกปัญญา ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เปิดเผยว่าในส่วนที่จะต้องรื้อถอนครั้งนี้เป็นการใช้มาตรการทางปกครองตาม ม.25 พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งทั้ง 36 รีสอร์ตจะต้อรื้อถอนเนื่องจากมีความผิดฐานบุกรุก ขยายพื้นที่เพิ่มเติม ซื้อขายเปลี่ยนมือให้กับนายทุน หรือนอมินี แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวบ้านที่อยู่อาศัยทำกินถูกต้อง และการรื้อถอนเป็นคนละส่วนการการพิจารณาคดีของศาล โดยในส่วน 36 รีสอร์ตนี้ ทางศาลได้รับฟ้องไว้ทั้งหมดแล้วและอยู่ระหว่างพิจารณาคดี

การจัดระเบียบดอยม่อนแจ่มเป็นความท้าทายของรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างยั่งยืน ซึ่งดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออก เพราะเป็นความพยายามบังคับใช้กฎหมายบนความไม่ชัดเจนของฐานข้อมูลและการไม่ยอมปรับแนวคิดของรัฐด้านการอนุรักษ์หรือการดูแลรักษาป่า ที่สำคัญคือมีการปล่อยปะละเลยมาเป็นเวลานานจนเรื่องลุกลามบานปลายออกไป ทั้งๆ ที่จะว่าไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงบนดอยม่อนแจ่มเป็นที่รับรู้ของภาครัฐมาโดยตลอด

ด้าน  นายวราวุธ ศิลปะอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสนธิกำลังเข้ารื้อถอนบ้านพักและรีสอร์ททั้งหมด 5 แห่ง บนพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรมอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงฯ ดำเนินการมาโดยตลอดและยืนยันทำทุกอย่างตามกฏหมาย แต่เน้นย้ำสร้างความเข้าใจ

ทั้งนี้การเข้าไปอยู่ที่ม่อนแจ่มนั้นมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเดิมและบุคคลที่เข้ามาอยู่ใหม่ ดังนั้นจึงต้องดูวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดิน ย้ำว่าต้องทำกฎหมายตามระเบียบ อิงวัตถุประสงค์ตั้งต้นของการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นหลัก ซึ่งดอยม่อนแจ่มถูกจัดเป็นพื้นที่เกษตร ไม่ใช่การทำที่พักรีสอร์ตมุ่งเชิงการท่องเที่ยว

สุดท้ายยังคงต้องติดตามกันว่า ปฏิบัติการจัดระเบียบดอยม่อนแจ่มที่ยืดเยื้อมายาวนานจะเป็นไปในทิศทางใด


กำลังโหลดความคิดเห็น