xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลุ้นขึ้นไหม? Street Food ไทยสู่เวทีโลก Soft Power ฝันใหญ่ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สปอร์ทไลท์สาดแสง  Street Food ไทย อีกครั้งหลัง 3 เมนูอาหารข้างทางอย่าง  “ไข่เจียวปู - ข้าวซอย -ไส้กรอกอีสาน” ติด “50 อันดับอาหารข้างทางที่ดีที่สุดในเอเชีย (50 of the best street foods in Asia)”  จากการสำรวจของ   “CNN Travel” 

อย่างไรก็ดี ถ้าหากติดตามความอร่อยของอาหารไทยที่ติดอันดับโลกก็จะพบว่า มีมาอย่างต่อเนื่อง ที่โดดเด่นก่อนใครเพื่อนก็คือ  “ต้มยำกุ้ง” หรือ “ข้าวซอย” ที่ติดโผกับเขาด้วยก่อนหน้านี้ก็เคยคว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับ 50 Best Soups หรือซุปที่ดีที่สุด จากนักรีวิวของเว็บไซต์ TasteAtlas มาแล้ว และที่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวก็คือ  “ผัดซีอิ๊ว” ที่กำลังได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวอเมริกัน
และแน่นอนว่า กระแสความนิยมในอาหารไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจับตา เพราะนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยแล้ว ยังสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านค้าขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็สามารถใช้เป็น “Soft Power”  ในการผลักดันให้ Street Food ไทยสู่เวทีโลกเต็มกำลัง ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ประกาศชัดว่า ต้องการเดินหน้าในเรื่องนี้

ทว่า สิ่งที่สังคมต้องการเห็นก็คือ “วิธีการ” ที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย และมาพร้อมๆ กับคำถามสำคัญว่า จะเป็นเพียงการวาดฝัน หรือปลุกปั้นให้เป็นจริงได้แค่ไหน

 นายอนุชา บูรพชัยศรี  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่อาหารข้างทาง (Street foods) ของไทยยังคงสร้างความประทับใจให้คนทั่วโลก ประเทศไทยได้รับความนิยมด้านความหลากหลายของอาหาร ซึ่งเกิดจากความแตกต่างเรื่องพื้นที่เพาะปลูกและการทำปศุสัตว์ของท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค ทำให้อาหารไทยมีเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมมาตลอด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลตระหนักถึงข้อได้เปรียบและได้เดินหน้าผลักดันรวมทั้งส่งเสริมการขยายผล Soft power ของไทยทั้งในด้านอาหาร และด้านอื่น ๆ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

บทวิเคราะห์เรื่อง “Soft power ไทย เหตุใดจึงยังไม่เวิร์ค”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการติดตามสถานการณ์ การปรับตัวและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาจากปัญหาโควิด-19: สู่การพลิกฟื้นอย่างยั่งยืน (ระยะที่ 2)” โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ tdri.or.th วิเคราะห์สถานการณ์ Soft power ของประเทศไทย ระบุความเอาไว้ว่า ผลบวกด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอันเกิดจาก soft power หลายๆ ครั้ง ก็ได้ทำให้ภาครัฐตื่นตัวมากขึ้นในการพยายามเข้ามาสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีไทยเพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ ก็ได้มีการพัฒนาแนวนโยบายเพื่อการยกระดับงานวัฒนธรรม โดยจะมุ่งเน้นการนำ “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” เข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เช่น อาหาร ภาพยนตร์ ศิลปะการต่อสู้ งานประเพณี หรือแฟชั่น ซึ่งมีประเด็นการยกระดับ soft power ไทยสู่เวทีโลกเป็นส่วนหนึ่ง

เช่นเดียวกับ นายกฯ ลุงตู่ - พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงาน ได้มีการแสดงวิสัยทัศน์ โดยให้มีการสนับสนุนและเร่งรัดพัฒนา soft power เพื่อให้คนสนใจและให้ความสำคัญกับประเทศไทย หลังเกิดปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ข้อสำคัญ หากภาครัฐต้องการจะสนับสนุนการใช้ Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย ภาครัฐจำเป็นจะต้องคำนึงว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอด ถ้ารู้จักการสร้างคุณค่า ดังนั้น การจะพัฒนาวัฒนธรรมไทยให้เป็น Soft Power ที่ขายได้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างคุณค่าขึ้นอย่างหลากหลาย มิควรเข้าไปห้ามหรือแทรกแซงพัฒนาการทางวัฒนธรรมดังที่เคยเกิดขึ้นหลายกรณี แต่ควรช่วยโปรโมทและโฆษณาวัฒนธรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้สนับสนุนการใช้ Soft Power นำเสนออัตลักษณ์ไทยสู่สายตาชาวโลก ผสมผสานนโยบายพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันและแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green) เป็นโจทย์ให้กระทรวงวัฒนธรรมสานต่อแนวทางเพื่อพัฒนาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การผลักดันการใช้ Soft Power ที่ประเทศไทยมีให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สามารถทำควบคู่ไปกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศมีการใช้แล้วประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในเกาหลีใต้

สำหรับประเทศไทยสามารถยกระดับเศรษฐกิจผ่านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยการนำวัฒนธรรมมาต่อยอดผ่านแนวคิดการสร้าง Soft Power มาประยุกต์เพื่อให้เกิดกระแส ความนิยมในสินค้าและบริการ อาทิ

1. การตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายที่ใกล้เคียงกับ Soft Power คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy เป็นแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของ การใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม ตลอดจนการสั่งสมความรู้ของสังคมและเทคโนโลยีนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการนำวัฒนธรรมมามีส่วนร่วมในสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Soft Power และจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ และยอมรับในสินค้า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน

2. กำหนดหน่วยงาน และการขับเคลื่อน การดำเนินงานเกี่ยวกับ Soft Power ของประเทศไทย ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งเป็นองค์การมหาชน แต่การดำเนินอย่างแยกส่วน ขณะเดียวกันยังขาดการเชื่อมโยงกับภาคเอกชนในฐานะผู้ผลิต เช่น ภาพยนตร์ที่สอดแทรกสินค้า หรือวัฒนธรรมให้เกิดการรับรู้ในต่างประเทศ

3. การส่งเสริม และสนับสนุน ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นที่นิยมและถูกเลือกเป็นกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเมื่อปี 2563 มีจำนวนมากถึง 123 เรื่อง และสำหรับช่วงไตรมาสแรก ของปี 2564 มีจำนวน 31 เรื่อง เนื่องจากประเทศไทยได้มีการส่งเสริมกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ ให้เดินทางเข้ามาในไทยด้วยมาตรการช่วยสนับสนุนที่เป็นการคืนเงินจากการใช้จ่ายระหว่างถ่ายทำในประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์ Street Food ในประเทศไทยพบว่า ยังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือการที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) นำโดย  ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้า   “โครงการกรุงเทพอาหารริมทางอร่อยปลอดภัย (Bangkok Safety Street Food)”  เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานยกระดับ Bangkok Street Food โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ตลาดในชุมชน คือตลาดในชุมชนที่อยู่มานานหลายสิบปี 2. ตลาดในเมืองสำหรับคนทำงานออฟฟิศ และ 3. ตลาดนักท่องเที่ยว โดยช่วงแรกจะเน้นตลาดในเมืองและตลาดนักท่องเที่ยวก่อน อาจเป็นสุขุมวิท หรือสีลม กล่าวคือเลือกพื้นที่นำร่อง 2-3 จุดเพื่อเป็นบทเรียน Sandbox ก่อนที่จะขยายไปจุดอื่นต่อไป รวมทั้งชูจุดเด่นอาหารชุมชนซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20,000 ร้าน ในพื้นที่ กทม.

และโจทย์สำคัญที่ต้องทำเป็น “อันดับแรก”  ก็คือ  “การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องสาธารณสุขและความปลอดภัย” เพราะเคยมีสำนักข่าวต่างประเทศเขียนบทความทำนองว่า Street Food ในไทยกินได้ แต่ควรกินอาหารที่เห็นการปรุงจริงๆ แต่ถ้าเป็นการตักแล้วเสิร์ฟอย่ากิน เพราะอาจทำให้ท้องเสียได้

“ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสำคัญ ถ้ามีความร่วมมือที่เข้มแข็ง งาน กทม. ก็จะเดินหน้าได้อย่างดี เนื่องจากขณะนี้ผู้ค้าที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีไม่มาก มีเกรด A B C ซึ่งที่ได้ A ยังมีน้อย เพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ร้านอาหารเองยังผ่านยาก คุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากมีคุณภาพที่ดี มีแหล่งเงินทุนที่ดี มันส่งผลถึงการพัฒนา อาจไม่ต้องอยู่บนถนนตลอด สุดท้ายอาจหลุดจากถนนเข้าไปสู่ระบบร้านอาหารได้”นายชัชชาติกล่าว

ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า การพัฒนา Street Food มีความสำคัญไม่เพียงแค่รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่คุ้นชินกับการรับประทานอาหารประเภทนี้ ยิ่งในยามที่ “ข้าวยากหมากแพง” การหาอาหารอร่อย ราคาสบายกระเป๋าและถูกหลักอนามัยคือ สิ่งที่ภาครัฐจำต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย ซึ่งนับเป็นความท้าทายยิ่งสำหรับการสร้างอาหารข้างทางให้เป็น soft power

คำถามสำคัญคือประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นเมื่อไหร่?


กำลังโหลดความคิดเห็น