xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตา! น้ำท่วมใหญ่ 65 ซ้ำรอยปี 54 เมฆดำสัญญาณ extreme weather ทั่วโลกระส่ำอากาศแปรปรวนสุดขั้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นสถานการณ์น้ำท่วมกลับมาอยู่ในกระแสสังคมอีกครั้ง เพราะหากอิงสถิติน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เฉลี่ยประมาณ 12 ปีครั้ง หรือ 10 ปีครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยขึ้นถี่ขึ้นในปัจจจุบัน เนื่องจากภาวะก๊าซเรือนกระจกเกิดผลกระทบทางจากธรรมชาติรุนแรง ตัวเร่งภัยพิบัติที่จะสร้างผลกระทบสาหัส ซึ่งในเมืองไทยได้เกิดปรากฏการณ์เมฆลอยต่ำ ท้องฟ้ามืดครึ้มเหมือนยามค่ำคืนในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2565 หรือเรียกว่าเมฆโลกร้อน อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นของยุค extreme weather สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดจากความแปรปรวนของโลก

ดังนั้น คงต้องลุ้นระทึกกันอีกครั้งว่าฝนตกหนักที่จะลากยาวถึงเดือนพ.ย. ปีนี้ กทม.และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่างๆ ที่อยู่นเขตภัยพิบัติจะเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ องค์การองค์การนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ขึ้นรหัส “โค้ดเรด” พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะจมหายไปจากแผนที่โลกในปี ค.ศ. 2100 หรืออีก 78 ปีข้างหน้า เหตุระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน

สำหรับสถานการณ์น้ำในรอบปีนี้คล้ายจะถึงรอบวนกลับมาท่วมใหญ่อีกครั้ง เพราะหลังมหาอุทกภัยปี 2554 กทม.และปริมณฑลรวมทั้งหลายจังหวัดที่มีปัญหาก็ว่างเว้นจากน้ำท่วมใหญ่ ทำให้โครงการที่คิดค้นขึ้นมาแก้ปัญหาเงียบหายไป ไม่ว่าจะเป็นฟลัดเวย์หรือแก้มลิง ฯลฯ แม้แต่การขุดลอกคูคลองของกทม. ก็ทำได้แต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

โชคดีปีที่ผ่านๆ มา ฟ้าฝนไม่โหมกระหน่ำอย่างเช่นปีนี้ที่เห็นชัดเจนว่าอากาศวิปริตแปรปรวนทั้งโลก ฟากฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป จีน ร้อนแล้งแม่น้ำสายสำคัญแห้งขอด ส่วนไทยกลับเจอฝนตกหนักแบบ Extream rainfall จากปรากฎการณ์ลานีญา และคาดว่าจะลากยาวไปถึงปลายเดือนพ.ย.ซึ่งปกติคือเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว

เสียงเตือนให้รับมือมหาอุทกภัยล่าสุดมาจาก  “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. นี้ ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกหนักมากจริงๆ และตกยาวนานด้วย จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์พายุอาจจะเข้าไทย 2-3 ลูก และอาจมีโอกาสเป็นฝนในรอบ 100 ปี เมื่อดูจากสถานการณ์ฝนที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ที่เป็นฝนในรอบ 80 ปี ขณะที่หลายประเทศในโลกพบว่ามีฝนมากผิดปกติ

รศ.ดร เสรี คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 มีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะปริมาณน้ำฝนเท่ากัน แต่ลักษณะการท่วมแตกต่างจากปี 2554 ที่มาเร็วจากน้ำหลากและการระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ แต่ปีนี้มาจากน้ำฝน แนวพายุเข้าที่อาจจะเลื่อนมาภาคกลาง จะทำให้น้ำเต็มทุ่งจนล้นเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เมื่อเขื่อนป่าสักฯ น้ำจะเต็มเขื่อนต้องระบายมาทางฝั่งตะวันออกไปทางคลองรังสิต และฝั่งตะวันตกต้องรอดูน้ำจะล้นคลองพระยาบันลือเมื่อไหร่ ดังนั้น ขอให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลเตรียมตัวป้องกันไว้ก่อนเนื่องจากพื้นที่หน่วงน้ำมีน้อย

ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ม.รังสิต แนะนำให้รัฐบาลทำฉากทัศน์ จำลองสถานกาณณ์ล่วงหน้าไว้หลายๆ แบบ และแจ้งเตือนประชาชนให้เข้าใจสถานการณ์จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงเวลาเปิดประตูระบายน้ำซึ่งประชาชนไม่อยากให้เปิดเพราะท่วมบ้านเรือนไร่นาเสียหาย

นั่นเป็นสถานการณ์น้ำเฉพาะหน้าในปีนี้จะรอดมิรอดแหล่ แต่ที่ชวนระทึกหากยังไม่คิดจะเตรียมป้องกันล่วงหน้าในอนาคตก็คือเรื่องที่  “องค์การนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก” ทำแผนที่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าจะจมหายไปจากแผนที่โลกในปี ค.ศ. 2100 หรืออีก 78 ปีนับจากนี้ โดยเป็นการจมหายทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งตอนนี้มีการขึ้น “รหัสโค้ดเรด” เป็นสีแดงเตือนประเทศไทยแล้ว ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจทำอะไรป้องกันก็ต้องเตรียมย้ายเมืองหลวงได้เลย ถ้าตัดสินใจทำวันนี้ต้องใช้เวลาอีก 30 ปีกว่าจะแก้ไขได้ เหมือนอย่างเนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่วางแผนป้องกันไว้ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเขาถึงเพิ่งทำเสร็จ

หายนะที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า คำถามมีอยู่ว่าจะมีรัฐบาลชุดไหนเอาใจใส่วางแผนป้องกันและทำอย่างต่อเนื่องเหมือนกับอารยประเทศ ไม่ใช่ทำๆ ทิ้งๆ หรือเป็นแค่โครงการวาดฝัน เพราะที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่านับจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ยังไม่เห็นจะมีโครงการไหนที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้ประชาชนได้อุ่นใจ

รศ.ดร.เสรี ยังมองว่า 3 ปัจจัยที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มากันครบ นั่นคือปริมาณฝนสะสมช่วงฤดูฝนที่มากกว่าค่าปกติ บวกกับปรากฏการณ์ลานีญาที่ยังทรงพลังช่วงปลายปี ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าฝั่งตะวันออก และปรากฏการณ์ไอโอดีเป็นลบทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียสูงกว่าฝั่งตะวันตก ความชื้นสูงและฝนที่มากในช่วงปลายปีนับจากเดือนส.ค.ถึง พ.ย. ไม่เพียงทำภาคกลาง กทม.และปริมณฑล เสี่ยงเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทางภาคอีสานตอนกลางและล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้เช่นกัน

แต่ทั้งนี้ ต้องรอดูปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่มีผลทำให้สถานการณ์รุนแรงหรือเบาลง เช่น จำนวน ทิศทาง และความรุนแรงของพายุจรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยปีนี้คาดการณ์จะเกิดพายุ 23 ลูก ช่วงครึ่งปีแรกเกิดแล้ว 8 ลูก เหลืออีกประมาณ 15 ลูก ความสามารถในการรับน้ำของลุ่มน้ำลดลง การเตรียมความพร้อมและความเข้าใจภาคครัวเรือน และความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการบริหารจัดการจะเอาอยู่หรือไม่

เช่นเดียวกับ “นายสนธิ คชวัฒน์”  นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งออกมาเตือนให้เตรียมรับมือกับ Extream rainfall ที่มาถึงกรุงเทพฯและจังหวัดที่ใกล้กับทะเล จากปัจจัยโลกร้อนขึ้น รวมทั้งปรากฏการณ์ลานีญาและฤดูของลมมรสุม เมื่อโลกร้อนขึ้นจากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียสจะทำให้มีไอน้ำจากทะเลระเหยขึ้นถึง 7% กลายเป็นเมฆฝนลอยเข้าฝั่งตามทิศทางลม เมื่อเจอกับลานีญาซึ่งเป็นภาวะน้ำทะลในมหาสมุทรแปซิฟิกร้อนขึ้นและพัดมายังฝั่งตะวันตกแถบอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ทำให้เกิดเมฆฝนในมหาสมุทรมากขึ้นและฝนตกหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก ประกอบกับพื้นที่ในเมืองมีตึกสูงจำนวนมาก หรือที่ราบลุ่มมีต้นไม้มากอยู่ใกล้ทะเลและเป็นร่องลมพัดผ่าน จะเกิดปรากฏการณ์ฝนตกหนักมากเพราะอาคารสูงและต้นไม้หนาแน่นจะลดความเร็วของลม ฝนตกหนักในเมืองและเกิดน้ำท่วมหนัก ดังเช่นกรุงโซลเกาหลีใต้ บางเมืองในประเทศจีนและบังคลาเทศ

สำหรับปีนี้ปรากฎการณ์ลานีญาเกิดขึ้นเกือบตลอดปี กรุงเทพฯและสมุทรปราการเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงเนื่องจากมีปัจจัยครบคืออยู่ในร่องมรสุม ใกล้ทะเล อาคารสูงจำนวนมากและสภาวะลานีญาที่ทำให้ฝนตกหนัก+น้ำทะเลหนุน+น้ำเหนือไหลหลาก +อยู่ในที่ลุ่มต่ำ ดังนั้นช่วงส.ค.-ก.ย.มีความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วม

นอกจากนั้น จากการคาดการณ์ด้วย climate change model พบว่าประเทศไทยจะได้รับความเสี่ยงจากฝนตกหนัก 80-100% จากที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งช่วงนี้ฝนตกที่ภาคเหนือและอีสานหนักมากน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรีมาเจอกันที่อยุธยาไหลมายังปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และออกอ่าวไทยที่สมุทรปราการ หากอยุธยาและปทุมธานีรับไม่ไหวกรุงเทพฯคงไม่รอดแน่

ฝนฟ้าคะนองตกหนักแทบทุกวัน บางขณะภาพเมฆดำทะมึนเหนือท้องฟ้าเปลี่ยนกรุงเทพฯ ตอนเช้าเหมือนกลางคืนมืดมิด ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำเอาหลายคนแปลกประหลาดใจ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว   “อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”  แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า นั่นคือเมฆโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นนับเนื่องจากนี้ไป เพราะนี่คือการเริ่มต้นของยุค extreme weather หรือสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากความแปรปรวนของโลกหลังมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมกันมานาน กลายเป็นภัยพิบัติที่จะสร้างผลกระทบมหาศาล เห็นได้ชัดจากประเทศปากีสถานที่เจอมหาอุทกภัย มีผู้เสียชีวิตนับพันคน แหล่งเกษตรเสียหายยับเยิน เป็นตัวอย่างของ extreme weather ที่ไม่อาจหยุดยั้งและจะแรงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน “นายบัญชา ธนบุญสมบัติ” ผอ.ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และประธานชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายปรากฏการณ์เมฆฝนสีดำเหนือท้องฟ้ากทม.-ปริมณฑล รวมทั้งอีกหลายพื้นที่ ก่อนที่จะมีฝนตกหนักทั้งในกทม.และอีกหลายจังหวัด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าคือ เมฆอาคัส เป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนอง สามารถบอกทิศทางการเคลื่อนที่เมฆฝนได้ ถ้าส่วนโค้งป่องไปทางไหน แสดงว่าเมฆฝนทั้งก้อนจะเคลื่อนไปทางนั้น ส่วนสีเทาเข้มเกิดจากหยดน้ำในเมฆ ซึ่งมองในแง่วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่คนตื่นเต้นเพราะถ้าเกิดในพื้นที่โล่ง เหนือทุ่งนา ที่โล่ง ก็ดูน่าเกรงขาม แต่พอมาเกิดในเมือง ในกทม.ดูคุกคาม”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการประสานเสียงน่าห่วงอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ แต่กรมอุตุนิยมวิทยามั่นใจว่ารับมือได้ โดย “นายชัยชาญ สิทธิวรนันท์”  ผอ.สำนักพยากรณ์อากาศกลาง ยอมรับว่าตัวเลขปริมาณฝนสะสมในเขตกทม.ช่วง 8 เดือนทะลุ 1,343.1 มม.สูงกว่าค่าปกติ 35% ส่วนทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติ 23 % ปริมาณสะสม 1,230.6 มม. ซึ่งอาจดูมากแต่ปัจจัยน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนรับน้ำหลาก โดยค่อยๆ ระบายน้ำลงมาท้ายเขื่อน อีกทั้งพายุไม่ได้พัดเข้าไทยโดยตรงแค่เฉียดๆ และคาดว่าช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้ คาดว่าจะเจอพายุอีก 2-3 ลูก

สำหรับพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝน ปี 2565  พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  รักษาการนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ( กอนช.) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 รวมถึงติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำปัจจุบันและคาดการณ์ในช่วงเดือน ก.ย - พ.ย. 2565 โดยกำชับให้ดำเนินตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565

ทั้งนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่าจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ณ สถานีสูบน้ำกลางคลองหกวา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ต.พืชอุดม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และสถานีสูบน้ำบางขนาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

โดยการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งงตะวันออก ที่รับน้ำผ่านคลองชัยนาท – ป่าสัก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 50 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยได้ใช้คลองรังสิตประยูรศักดิ์ในการกระจายน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกแม่น้ำบางปะกงสู่อ่าวไทยโดยเร็ว

นอกจากนี้ กอนช. ได้ติดตามปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าปัจจุบันมีปริมาณลดลงส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลง โดยมีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 2 จุดได้แก่คลองโผงเผง (สถานีC.36 ) อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.53 ม. แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว และแม่น้ำน้อย (สถานี C.67) อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.49 ม. แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว

สำหรับเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งมีแนวโน้มของปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และป้องกันให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนน้อยที่สุด พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ สทนช. ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมโดยใช้แผนที่ GISTDA และให้ สทนช. ภาค 1-4 ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ควบคู่กันไปด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำสูงสุดในการแจ้งเตือนประชาชน






ด้านกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ประสานงานและตรวจสอบพื้นที่ที่มีการปรับปรุงอาคารชลประทานและทางน้ำที่อาจจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ เตรียมแผนการแก้ไขบัญหาไว้ล่วงหน้า รวมไปถึงเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม อีกทั้งยังต้องเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ แม่น้ำสายหลักต่างๆ

ขณะเดียวกันยังได้ให้สำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องมือ ให้กับบุคลากรของหน่วยงานในทุกพื้นที่ ให้สามารถบำรุงรักษาและใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน

“ในแต่ละปีกรมชลประทาน ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับการวางแผนเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แต่ในปีนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนกลับภูมิลำเนาและทำอาชีพเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้ที่เกินแผนส่งเสริมเท่าตัว แต่ทางกลับกันพบว่ามีการใช้น้ำเกินแผนไปเล็กน้อย” นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเปิดเผย

อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับสถานการณ์น้ำปี 2565 ตระหนักแต่ต้องไม่ตระหนก หากประเมินตามข้อมูลแวดล้อมแล้วมีเกณฑ์ซ้ำรอยปี 2554 ซึ่งเรื่องของภัยธรรมชาติไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวอีกต่อไป เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยให้ข้อมูลประชาชนอย่างถูกต้องและรวดเร็วเพื่อเฝ้าระวังสูงสุด เพื่อทุกฝ่ายพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติทุกรูปแบบ

อากาศแปรปรวนวิปริตฝนตกหนัก ภัยแล้ง คลื่นความร้อนที่เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในปีนี้ ขณะที่ไทยเจอฝนตกหนัก หลายประเทศกลับเจอคลื่นความร้อนและภัยแล้ง ดังเช่น ทวีปยุโรป ที่เจอคลื่นความร้อนรุนแรงที่มาพร้อมกับภัยแล้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรและเกิดไฟป่าเป็นเวลานานหลายเดือนหรืออาจทั้งปีในพื้นที่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป

รายงาน Drought in Europe August 2022 ของ Global Drought Observatory เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ระบุว่า พื้นที่กว่า 47% ของทวีปยุโรปเสี่ยงตกอยู่ในภาวะภัยแล้ง และอีก 17% ให้เฝ้าระวังพืชผลเกษตรอาจเสียหาย โดยคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวโพดจะลดลง 16% ถั่วเหลืองลดลง 15% และทานตะวัน ลดลง 12% เมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่แม่น้ำเกือบทุกสายในยุโรปแห้งแล้วบางส่วน กระทบต่อการเดินเรือและการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงมากถึง 20% โดยภัยแล้งที่รุนแรงจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดในรอบ 500 ปี


ส่วนสหรัฐฯ เกิดภัยแล้งในหลายทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย อุณหภูมิที่สูงถึง 43 องศาฯ ทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและภาคธุรกิจ และลดการใช้น้ำเพื่อรักษาระดับของแหล่งเก็บกักน้ำ โดยแหล่งกักเก็บน้ำ 2 แห่งในแม่น้ำโคโลราโด คือทะเลสาบมี้ดและทะเลสาบพาวเวลล์ ระดับน้ำลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ของความจุ

ขณะที่ทางการจีนระบุว่า เวลานี้พื้นที่ครึ่งประเทศประสบภาวะภัยแล้งจากคลื่นความร้อนรุนแรงมายาวนานกว่า 2 เดือนแล้ว และนับว่ารุนแรงสุดในรอบ 60 ปี ทำให้แหล่งน้ำทั้งทะเลสาบ แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำในหลายพื้นที่กำลังแห้งเหือด เช่น ทะเลสาบโผหยาง แหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นต้นทางของแม่น้ำสายสำคัญ ซึ่งปกติมีพื้นที่ประมาณ 3,500 ตารางกิโลเมตร ขณะนี้น้ำแห้งขอดพื้นที่ทะเลสาบเหลือเพียง 737 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ความรุนแรง ขอบเขต และระยะเวลาในการเกิดคลื่นร้อนอาจทำให้สถานการณ์คลื่นร้อนในจีนเป็นหนึ่งในครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยแผนที่จากศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติเผยให้เห็นพื้นที่กว้างขวางทางด้านใต้ของจีน ซึ่งรวมถึงที่ราบสูงทิเบตด้วย เผชิญความแห้งแล้งระดับรุนแรงจนถึงระดับรุนแรงสุดขีด สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุดคือลุ่มแม่น้ำแยงซี ที่ครอบคลุมชายฝั่งเมืองเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง ในภาคตะวันออก จนถึงมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ อาณาบริเวณนี้มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 370 ล้านคน และเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการผลิตมากมาย

 ดูเหมือนว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์กำลังตามไล่ล่า น้ำจะท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว คู่ขนานกับร้อนแล้งทุกข์เข็ญกันทั้งโลก 


กำลังโหลดความคิดเห็น