คอลัมน์....ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ตราบจนทุกวันนี้ กำแพงเมืองจีนที่สร้างในยุคหมิงทั้งก่อนและหลังชีจี้กวางก็ยังคงตั้งอยู่ในสภาพที่ดีหลายแห่ง โดยนับแต่สมัยจักรพรรดิหลงชิ่ง (ค.ศ.1537-1572) จนถึงจักรพรรดิวั่นลี่ (ค.ศ.1563-1620) นั้น ได้มีการสร้างหอสังเกตการณ์มากถึง 1,300 หอ หอเหล่านี้ตั้งห่างกันเป็นระยะๆ ที่เมื่อรวมระยะทางแล้วยาวราว 2,000 ลี้ หรือราว 1,000 กิโลเมตร
กล่าวกันว่า สามปีก่อนกำแพงจะสร้างแล้วเสร็จในยุควั่นลี่นั้น ขุนนางจากคณะกรรมการสงครามได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้างกำแพงที่ชายแดน พบว่า ทหารราว 1.6 ล้านนายล้วนมีวินัยสูง และต่างก็มีศาสตราประจำตัว ทหารเหล่านี้ขึ้นลงหอสังเกตการณ์ด้วยความคล่องแคล่ว จนทำให้เชื่อมั่นได้ว่า หากต้องเผชิญกับข้าศึกจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน
ส่วนชีจี้กวางนั้นกล่าวกันว่า ภายหลังกำแพงถูกสร้างจนแล้วเสร็จก็ได้รับความดีความความชอบอย่างถึงขนาด
ผลงานการสร้างกำแพงของชีจี้
1.กวางนั้น ต่อมาได้มีนักวิชาการในยุคปัจจุบันระบุว่า ผู้ใดที่ศึกษาประวัติศาสตร์จีนแล้วจะรู้ดีว่า ชีจี้กวางมิเพียงจะเชี่ยวในการศึกและมีความทรหดอดทนเท่านั้น หากเขายังเป็นนักบริหาร นักจัดตั้ง วิศวกร สถาปนิก และนักเขียนสมัครเล่นชั้นยอดอีกด้วย
ในประการหลังนี้กล่าวกันว่า ชีจี้กวางเคยเขียนคู่มือการฝึกอบรมทหารอย่างตั้งอกตั้งใจ ในส่วนที่เกี่ยวกับการก่อสร้างกำแพงนั้น เขาเคยเขียนหนังสือเรื่อง หลักการสร้างหอสังเกตการณ์ (จู้ไถกุยเจ๋อ, 筑台规则, Principles of constructing Towers) เพื่อใช้เป็นคู่มืออีกด้วย ทั้งนี้ยังไม่นับที่เขาเคยเขียนบทกวีรำพึงรำพันภูมิประเทศจากที่เขาได้สัมผัสขณะสร้างกำแพงเมืองจีน ดังได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้เช่นกัน
ตัวอย่างคู่มือที่เขาเขียนก็เช่น หากเป็นกำแพงภายในควรมีความสูงเท่าไร กำแพงภายนอกควรสูงเท่าไร พร้อมกับให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใด หรืออิฐที่ใช้ก่อสร้างควรเป็นอิฐชนิดใด สร้างจากวัตถุดิบใดและจากแหล่งใด โดยอิงกับทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เช่น บางพื้นที่ก็ใช้แกลบมาทำอิฐ เป็นต้น
ที่สำคัญ กำแพงในแต่ละแห่งจะสร้างอย่างไรนั้น ให้ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยความยืดหยุ่น โดยชีจี้กวางได้แบ่งพื้นที่ตามสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ กำแพงที่สร้างโดยชีจี้กวางจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ เขายังได้สร้างระบบการปกครองเพื่อใช้เฉพาะกับการสร้างกำแพงอีกด้วย ระบบนี้มีทั้งที่ให้รางวัลกับผู้มีความชอบและลงโทษผู้มีความผิด
คงด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้กำแพงเมืองจีนที่ควบคุมการก่อสร้างโดยชีจี้กวางเป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น
ครั้นเวลาผ่านไปอีกหลายร้อยปีตราบจนปัจจุบัน กำแพงเมืองจีนในส่วนที่ชีจี้กวางรับผิดชอบก็ได้ทิ้งหลักฐานเป็นบันทึก เช่นบันทึกว่า อิฐที่ใช้ก่อสร้างในบางพื้นที่มีน้ำหนัก 10.5 กิโลกรัม โดยเป็นอิฐที่ทำจากมณฑลซันตง สั่นซี กับอีกบางมณฑล เป็นต้น
ที่สำคัญ อิฐแทบทุกก้อนจะมีการประทับหรือสลักข้อความเพื่อเป็นหลักฐาน ว่าสร้างโดยผู้ใดหรือเมื่อไร เช่น อิฐกลุ่มหนึ่งมีข้อความสลักว่า “สร้างโดยพวกทาร์ทาร์ (Tartar) ที่ยอมสยบต่อกองทัพเมื่อปีที่สี่แห่งจักรพรรดิวั่นลี่” หรือ “สร้างโดยทหารในทัพปีกขวาเมื่อปีที่หกแห่งจักรพรรดิวั่นลี่” เป็นต้น ตัวอย่างอิฐที่กล่าวมานี้สร้างโดยทหารจากฐานที่มั่นจี้ (จี้เจิ้น) ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของชีจี้กวาง และเป็นกำแพงในส่วนที่อยู่ในปักกิ่งปัจจุบัน อิฐเหล่านี้พบได้มากที่กำแพงเมืองจีนปาต้าหลิ่ง อันเป็นหมุดหมายที่สำคัญของนักท่องเที่ยวที่จะยลโฉมกำแพงเมืองจีนในปัจจุบัน
อนึ่ง พวกทาร์ทาร์ที่ถูกกล่าวถึงในกลุ่มตัวอย่างก้อนอิฐที่ว่าก็คือ ชาวมองโกล ชื่อเรียกนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ราชวงศ์หยวนของมองโกลถูกโค่นโดยจูหยวนจังไปแล้ว ซึ่งต่อมาได้สถาปนาราชวงศ์หมิงและตั้งตนเป็นจักรพรรดิหงอู่ โดยหลังจากนั้นกองกำลังมองโกลที่ยังเหลืออยู่มักจะเข้ามารุกรานจีนอยู่เนืองๆ ทั้งเพื่อกอบกู้หยวนขึ้นเป็นราชวงศ์อีกครั้ง หรือเพื่อปล้นสะดมชาวจีนหรือชนชาติอื่นๆ ตามชายแดน
กำแพงเมืองจีนที่สร้างในยุคหมิงจากที่กล่าวมานี้ ถือเป็นกำแพงที่ยังคงสภาพที่สมบูรณ์ ถึงแม้จะมีบางแห่งที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ก็มิได้ทรุดโทรมหนักและง่ายต่อการบูรณะ ด้วยเหตุที่กำแพงเมืองจีนในยุคหมิงถือเป็นชุดกำแพงที่สร้างล่าสุด กำแพงในยุคนี้จึงนำพาให้เราย้อนหลังไปเมื่อแรกเริ่มที่มีการสร้างกำแพงเมืองจีน นั่นคือ ในยุควสันตสารทและยุครัฐศึก ว่าหากนับจากนั้นก็จะพบว่า ตลอดราว 2,700 ปีที่ผ่านมา กำแพงเมืองจีนแทบจะมิเคยร้างราว่างเว้นจากการถูกสร้างขยายเลยก็ว่าได้
เรื่องเล่าในกำแพง
การที่กำแพงเมืองจีนถูกสร้างอย่างต่อเนื่องในห้วงราว 2,700 ปีนั้น ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างก่อสร้างขึ้นมา เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมถูกนำมาบอกเล่าสืบต่อกันมา ในขณะที่บางเหตุการณ์ก็ถูกผูกให้กลายเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิยาย หรือกล่าวอีกอย่างคือ เป็นนิยายที่ผูกขึ้นมาเล่าจากเรื่องจริง ในขณะที่บางเหตุการณ์มีตัวละครอยู่จริง แต่ก็ถูกผูกขึ้นมาจนไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ในขณะที่บางเรื่องถูกเล่าจนกลายเป็นเรื่องที่ออกจะเหลือเชื่อ
ว่าที่จริงแล้วเรื่องเล่าในกำแพงเมืองจีนมีอยู่หลายเรื่อง ในที่นี้จะหยิบยกเอามาเล่าบางเรื่องแต่พอสังเขป
สัญญาณไฟแด่นางสนมอันเป็นที่รัก
เรื่องเล่านี้เกิดเมื่อ ก.ค.ศ.781 ในสมัยราชวงศ์โจว อันเป็นราชวงศ์ที่สามและราชวงศ์สุดท้ายของยุคต้นประวัติศาสตร์จีน เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นที่เชิงเขาลี่ (ลี่ซัน) ในเมืองลี่ถงของมณฑลสั่นซีปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นราชวงศ์โจวมี กษัตริย์โยว เป็นผู้ปกครอง
ยุคนี้จัดเป็นยุคเสื่อมถอยอีกยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน กษัตริย์โยวถูกระบุว่าเป็นกษัตริย์ที่เอาแต่ใจตนเอง ปกครองด้วยมาตรการที่โหดเหี้ยมอำมหิต และกดขี่ขูดรีดด้วยการแย่งชิงผลประโยชน์จากราษฎรอย่างไร้ยางอาย จนมีคำกล่าวว่า “ราษฎรมีที่ท่านก็ยึด ราษฎรมีแรงท่านก็ครอง” ความหมายก็คือว่า เจ้าของปัจจัยการผลิตรายใหญ่ได้ใช้อำนาจเข้ายึดที่ดินและแรงงานจากรายย่อยไปเป็นของตน
ความอดอยากหิวโหยเริ่มแผ่ไปทั่ว ซ้ำร้ายยังเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงซ้ำเติม ราษฎรจึงต้องระหกระเหินเร่ร่อนทิ้งบ้านเรือนของตนไปอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเวลานั้นได้ถูกบรรยายว่า “หุบผากลายเป็นหุบเขา หุบเขากลายเป็นเนินดอนและขุนเขา”
เพียงเท่านี้ก็ฉายให้เห็นภาพวิกฤตที่หนักหนาแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับสิ่งที่กษัตริย์โยวทรงกระทำขึ้นทั้งในระหว่างและภายหลังจากนั้น
กล่าวคือ ก่อนที่กษัตริย์โยวจะขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ทรงสมรสกับบุตรีของมหาอำมาตย์แห่งรัฐเซิน (เซินโหว) อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น เมื่อขึ้นครองราชย์กษัตริย์โยวจึงแต่งตั้งให้คู่สมรสเป็นมเหสีและให้โอรสคือ อี๋จิ้ว เป็นรัชทายาท
พอเวลาผ่านไปกษัตริย์โยวก็ทรงมีโอรสอีกองค์หนึ่งกับสนมองค์หนึ่งนามว่า เปาซื่อ แต่ด้วยเหตุที่ทรงหลงใหลในเปาซื่อยิ่งนัก พระองค์จึงขับไล่มเหสีและโอรสผู้เป็นรัชทายาทออกจากราชสำนัก แล้วตั้งเปาซื่อให้เป็นมเหสีแทน เมื่อเป็นเช่นนี้โอรสของเปาซื่อจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแทนไปด้วย
สิ่งที่กษัตริย์โยวทรงกระทำไปนี้ขัดต่อกฎมณเฑียรบาลในขณะนั้น ที่ได้กำหนดให้โอรสองค์แรกที่เกิดจากมเหสีเท่านั้นที่จะได้เป็นรัชทายาท เมื่อเป็นเช่นนี้ลางร้ายจึงเริ่มปรากฏ ด้วยได้เท่ากับว่ากษัตริย์โยวได้ทำผิดจริยธรรมอีกด้วย นอกเหนือไปจากที่ทำผิดต่อกฎมณเฑียรบาล แต่กระนั้น กษัตริย์โยวก็หาได้สนใจไม่ ยังคงประพฤติตนเยี่ยงกษัตริย์ทรราชต่อไป