พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
Phichai Ratnatilaka Na Bhuket
พรรคการเมืองในปลายศตวรรษที่ 20 มีแนวโน้มวิวัฒนาการกลายเป็น “พรรคเลือกตั้ง” หรือเป็นพรรคที่เป้าหมายเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งมากกว่าพรรคที่ยึดมั่นยืนหยัดในอุดมการณ์ดั้งเดิม พรรคเลือกตั้งมีสามประเภทย่อยคือ พรรคแบบแตะทุกกลุ่ม (the catch-all party) “พรรคกุมกรอบนโยบาย” (programmatic party) และพรรคส่วนบุคคล (personalistic party)
พรรคเลือกตั้งแบบแตะทุกกลุ่ม (the catch-all party) มีโครงสร้างองค์การหลวม ผู้นำและแกนนำพรรคระดับชาติมีบทบาทโดดเด่นในการนำพรรค มีอุดมการณ์ผิวเผินและคลุมเครือ และให้ความสำคัญกับชัยชนะในการเลือกตั้งสูง พรรคแตะทุกกลุ่มต้องการกวาดคะแนนเสียงให้มากที่สุดจากผู้เลือกตั้งทุกกลุ่ม เพื่อชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาล ผลิตนโยบายและยุทธศาสตร์จำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ในประเทศที่การเมืองมีการแบ่งเป็นฝ่ายซ้าย กับฝ่ายขวา พรรคแตะทุกกลุ่มจะกำหนดตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคเป็น “ฝ่ายกลาง” และมีท่าทีประนีประนอมทั้งเชิงพฤติกรรมและนโยบาย การประนีประนอมเชิงพฤติกรรมคือ การพร้อมที่จะเข้าร่วมผสมกับพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อให้มีเสียงข้างมากและเป็นรัฐบาล การประนีประนอมเชิงนโยบายคือ การยอมรับและใช้ทุกนโยบายที่พรรคประเมินว่าสามารถสร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรคได้
การขาดจุดยืนเชิงนโยบายทำให้พรรคแตะทุกกลุ่มใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่เน้นคุณลักษณะของตัวบุคคล โดยเฉพาะผู้นำและสมาชิกคนสำคัญของพรรค เพื่อจูงใจผู้เลือกตั้งและสร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรค เกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครในนามพรรคให้ความสำคัญกับการมีชื่อเสียงและความมั่งคั่งของผู้สมัครมากกว่าการเป็นคนเก่าแก่ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง และตำแหน่งที่เป็นทางการภายในพรรค
พรรคเลือกตั้งประเภทที่สองคือ “พรรคกุมกรอบนโยบาย” (programmatic party) โครงสร้างของพรรคประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกับพรรคแบบแตะทุกกลุ่ม นั่นคือการมีโครงสร้างหลวม และหน้าที่หลักของพรรคคือการณรงค์เลือกตั้งโดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติส่วนบุคคลเช่นเดียวกันกับพรรคแตะทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม “พรรคกุมกรอบนโยบาย” มีลักษณะใกล้ชิดกับกับตัวแบบดั้งเดิมของพรรคฐานมวลชนหรือพรรคอุดมการณ์ในสามประเด็น อย่างแรก เป็นพรรคที่มีนโยบายที่คงเส้นคงวาและสอดคล้องกับอุดมการณ์ที่เป็นรากฐานความเชื่อของพรรค ทั้งในสนามเลือกตั้ง การทำหน้าที่นิติบัญญัติ และการตัดสินใจเลือกแนวทางการบริหารประเทศ ประเด็นที่สอง พรรคกุมกรอบนโยบายใช้ยุทธศาสตร์การเมืองโดยการนำเสนอวิสัยทัศน์และชุดของนโยบายที่ชัดเจนและสอดคล้องกันเพื่อชนะการเลือกตั้ง ไม่ใช้นโยบายสะเปะสะปะที่ไร้ทิศทางและขัดแย้งกันเอง เพื่อหวังดึงคะแนนจากผู้เลือกตั้งทุกกลุ่มดัง “พรรคแตะทุกกลุ่ม” ประเด็นที่สาม ในระบบการเลือกตั้งแบบผู้ได้รับเสียงมากที่สุดคือผู้ชนะเลือกตั้ง (majoritarian system) โครงสร้างฐานมวลชนของ “พรรคกุมกรอบนโยบาย” มีความคล้ายคลึงกับ “พรรคแตะทุกกลุ่ม” แต่ในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (proportional system) พรรคกุมกรอบนโยบายจะมีฐานมวลชนที่ชัดเจน และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งจะเน้นการเคลื่อนไหวในพื้นที่และกลุ่มทางสังคมที่เป็นฐานเสียงของตนเองเป็นหลัก
ประเภทที่สาม พรรคส่วนบุคคล (personalistic party) พรรคการเมืองประเภทนี้มีเหตุผลในการจัดตั้งเพื่อเป็นเครื่องมือของผู้นำการเมืองในการเอาชัยชนะเลือกตั้งและใช้อำนาจ พรรคแบบนี้ไม่ได้มีการสืบทอดหรือพัฒนาการมาจากพรรคชนชั้นนำดั้งเดิมแต่อย่างใด แต่มักได้รับการจัดตั้งโดยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีกำลังดำรงตำแหน่ง หรือผู้นำทางการเมืองระดับชาติ เพื่อตอบสนองความทะเยอทะยานทางการเมืองและการได้มาซึ่งอำนาจของผู้นำ ยุทธศาสตร์เลือกตั้งและนโยบายหาเสียงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกรอบนโยบายที่เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนแต่อย่างใด แต่มักใช้คุณลักษณะส่วนบุคคลของผู้นำและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นหลัก ผู้นำหรือแกนนำพรรคจะได้รับการอธิบายประชาสัมพันธ์ว่าเป็น “บุคคลที่ขาดไม่ได้” ในการแก้ปัญหาประเทศหรือนำประเทศออกจากวิกฤติ
กล่าวได้ว่า ผู้นำได้รับการเปรียบเทียบประดุจเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือประชาชนนั่นเอง พรรคส่วนบุคคลยังใช้เครือข่ายระบบบุปถัมภ์เพื่อระดมคะแนนเสียง และกระจายผลประโยชน์แก่ผู้สนับสนุน โครงสร้างองค์กรหลวม ตื้น อ่อนแอ และลื่นไหล ซึ่งพร้อมที่จะปรับโครงสร้างหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนชื่อพรรคได้ตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองและการเลือกตั้ง
พรรคการเมืองประเภทสุดท้ายคือ พรรคเคลื่อนไหว (movement parties) พรรคประเภทนี้เป็นการผสมผสานระหว่าง “ความเป็นพรรคการเมือง” กับ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” เข้าด้วยกัน พรรคประเภทนี้กำเนิดในปลายศตวรรษที่ 20 ในยุโรปตะวันตก ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ พรรคกรีนของประเทศเยอรมัน และพรรคอิสรภาพของประเทศออสเตรีย พรรคเคลื่อนไหวมี 2 ประเภทย่อย คือ พรรคเสรีนิยมฝ่ายซ้าย (left-libertarian parties) กับพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งหลังอุตสาหกรรม (post-industrial extreme right parties) อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการ การจัดประเภทย่อยของพรรคประเภทนี้ยังคงมีลักษณะเป็นปลายเปิด เพราะลักษณะองค์กรของพรรคมีความยืดหยุ่นลื่นไหล และอาจมีพรรคเคลื่อนไหวประเภทย่อยอื่น ๆ เกิดขึ้นในอีกหลายลักษณะ
พรรคเคลื่อนไหวเสรีนิยมฝ่ายซ้ายให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมหลังวัตถุนิยม หรือ ค่านิยมที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ปฏิเสธบทบาทและสถานะที่สำคัญของประเด็นทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเสนอให้ลดบทบาทครอบงำของระบบราชการและตลาด ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า สิ่งที่สำคัญของมนุษย์คือ ความสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์ของสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในสถาบันทางสังคมและการเมือง
ด้วยเหตุที่ประเด็นทางการเมืองของพรรคแบบนี้มีความหลากหลายและเปิดกว้างต่อประชาชนทุกกลุ่มที่เห็นด้วยในประเด็นต่าง ๆ ของพรรคเข้าไปการมีส่วนร่วมและเป็นสมาชิก จึงทำให้ฐานมวลชนของพรรคและทิศทางในการจัดกิจกรรมมีความหลากหลายไปด้วย การยึดมั่นอย่างเข้มข้นต่อการมีส่วนร่วมทางตรงทำให้การนำจากส่วนกลางและผู้นำอ่อนแอ และในบางกรณีนำไปสู่ความไร้ระเบียบภายในพรรค โครงสร้างของพรรคเคลื่อนไหวตั้งอยู่บนฐานของเครือข่ายที่ค่อนข้างหลวมของกลุ่มทางสังคม มีความเป็นทางการต่ำ มีลำดับชั้นของอำนาจและการรวมศูนย์อำนาจน้อย พรรคฝ่ายซ้ายเสรีนิยมยังให้ความสำคัญกับ “ความเป็นตัวแทนของความคิดเชิงประเด็นและกลุ่มเป้าหมาย” มากกว่าตรรกะของการแข่งขันการเลือกตั้งที่มีเป้าหมายในการเอาชนะและจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น หากพรรคมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร การเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมกับพรรคอื่น ๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลจึงทำได้ยาก ยิ่งกว่านั้น หากได้เข้าร่วมรัฐบาล พรรคก็พร้อมที่จะถอนตัว หากนโยบายของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับจุดยืนของพรรค
พรรคเคลื่อนไหวประเภทที่สองคือ พรรคขวาสุดโต่งหลังอุตสาหกรรม พรรคประเภทนี้เป็นปฏิกิริยาตอบโต้บริบทของสังคมหลังอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสภาวะการขยายตัวของความเป็นปัจเจกบุคคล และความแปลกแยก ผู้สนับสนุนพรรคขวาสุดโต่งต้องการให้สังคมมีระเบียบที่เคร่งครัด ต้องการรื้อฟื้นและรักษาประเพณีดั้งเดิม ต้องการมีอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ และต้องการความมั่นคงทางสังคม สนับสนุนให้รัฐใช้กฎหมายความมั่นคงอย่างเข้มงวด การสร้างความเข้มแข็งของกองทัพ และมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ประเด็นที่พรรคขวาสุดโต่งไม่เห็นด้วยและวิพากษ์อย่างรุนแรงคือ การที่รัฐเข้าไปแทรกแซงระบบเศรษฐกิจโดยการใช้นโยบายสวัสดิการสังคม และในแง่องค์กร พรรคขวาสุดโต่งให้ความสำคัญกับผู้นำและการเชื่อฟังคำสั่งของผู้นำพรรคเป็นอย่างมาก
ผมได้อธิบายแนวความคิดในการจัดประเภทของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์และสร้างเป็นตัวแบบขึ้นมาเพื่ออธิบายประเภทและวิวัฒนาการของพรรคการเมืองในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา สัปดาห์หน้า เรามาพิจารณากันดูว่าประเทศไทยมีพรรคการเมืองประเภทใดบ้าง และแนวโน้มการพัฒนาการของพรรคการเมืองจะเป็นอย่างไร (ยังมีต่อ)