xs
xsm
sm
md
lg

บุรุษสองตำนาน : ผู้สร้างหรือผู้ทำลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต
ถ้อยคำสรรเสริญแด่มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ที่เพิ่งจากไปด้วยวัย 91 ปี) ให้เป็นมหาบุรุษผู้นำความร่มเย็นสุขสงบมาสู่โลกนี้ในช่วงหลังการทำลายกำแพงเบอร์ลิน การสุดสิ้นของสงครามเย็น และการล่มสลายของอาณาจักรเผด็จการสหภาพโซเวียต ปรากฏพรั่งพรูออกมาจากปากของผู้นำปัจจุบัน และอดีตผู้นำ (ทางการเมืองและทางความคิด) ของประเทศตะวันตกหลายคน ตั้งแต่มาครง, คิสซิงเจอร์, รมต.หลายคนของเยอรมนี และผู้นำอังกฤษ

เลขาธิการสหประชาชาติ (อดีตนายกฯ โปรตุเกส นายกูเตอร์เรส) กลั่นแสดงความอาลัยว่า “ท่านคือผู้นำโลกที่ยิ่งใหญ่ เป็นบุคคลที่มุ่งมั่นให้โลกอยู่อย่างพหุภาคี (Multilateralism) และผลักดันโลกสู่สันติภาพอย่างไม่ท้อถอย...ได้ทุ่มเทสรรค์สร้างโลกของเราให้เกิดความกลมเกลียวสามัคคี ท่ามกลางความแตกต่าง (Unity in Diversity)” โดยใช้วิธีการ “เจรจาต่อรอง, ปฏิรูป, โปร่งใส และลดกำลังอาวุธ” นั่นคือ “ท่านได้ทุ่มเทกระทำมากกว่าบุคคลใดๆ เพื่อนำไปสู่จุดจบที่สันติของสงครามเย็น”

ปธน.มาครงแห่งฝรั่งเศส กล่าวยกย่องกอร์บาชอฟว่าเป็นผู้นำ “ที่ได้เลือกแนวทางการเปิดกว้างสังคมรัสเซียให้สู่อิสรภาพ และความมุ่งมั่นสร้างสันติภาพในยุโรปของท่าน ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ประวัติศาสตร์ของเรา”

ในคำแถลงการณ์ของทำเนียบขาว ปธน.ไบเดนกล่าวยกย่องอดีตปธน.กอร์บาชอฟ ว่าเป็น “a man of remarkable vision” คือเป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์โดดเด่นในฐานะผู้นำของสหภาพโซเวียต ท่านได้ทำงานร่วมกับปธน.เรแกนเพื่อลดคลังอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศเราทั้งสอง ซึ่งทำให้ประชาคมโลกโล่งอกเพราะทั่วโลกต่างสวดมนต์อ้อนวอนให้หยุดการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ขณะนั้น

นายกฯ ออสเตรเลียแอนโทนี อัลบาเนซี, ประธานสภายุโรปโรแบร์ตา เมตโซลา และผู้นำยุโรปหลายคนต่างออกมาแสดงความอาลัยและยกย่องในความโดดเด่นของผลงานของกอร์บาชอฟที่พยายามพาหนทางไปสู่การสิ้นสุดสงครามเย็น

หัวข้อข่าวในเช้าวันพุธที่ 31 สิงหาคมของทั่วโลก ที่รายงานการอสัญกรรมของกอร์บาชอฟ จะมีเช่น กอร์บาชอฟ-ผู้ทำลายม่านเหล็กให้พังครืน เป็นต้น

รมต.หลายคนของเยอรมนียกย่องว่า บทบาทของกอร์บาชอฟสำคัญยิ่งที่ทำให้มีการรวมตัวของเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก และมีวันนี้ได้เพราะเขานำนโยบาย Glasnost คือ การเปิดกว้าง, โปร่งใส ให้มีวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของข้าราชการหรือนโยบายที่ไม่ชอบมาพากลได้ ซึ่งแตกต่างกับระบอบเผด็จการสตาลิน หรือนโยบายของผู้นำโซเวียตต่อจากสตาลินที่ห้ามประชาชนเปิดปากวิจารณ์นโยบายและข้าราชการส่วนใหญ่ที่โกงบ้านกินเมือง...และยังมีคำขวัญอีกคำคือ Perestroika หรือการปฏิรูป (Restructuring) ให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง

ซึ่งตัวกอร์บาชอฟเองก็ยอมรับว่า นโยบายสร้างบ้านแปงเมืองของเขาไม่ประสบผลสำเร็จ และถึงกับทำให้เหล่าบรรดาขุนศึก และขุมกำลังเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นิยมเผด็จการ และรังเกียจความโปร่งใส ได้ร่วมกันพยายามทำรัฐประหาร ขณะที่เขากำลังไปพักผ่อนอยู่ที่บ้านพักที่ไครเมีย...แต่ในที่สุด นายกเทศมนตรีเมืองมอสโกคือ บอริส เยลต์ซิน ก็ได้ออกนำหน้าประชาชนมาต้านรัฐประหารที่หน้าสภาดูมา จนรัฐประหารล้มเหลว

นโยบายโปร่งใสเปิดกว้างและปฏิรูปของเขาได้สั่นคลอนระบบอำนาจนิยมโกงกินบ้านเมืองที่ผุกร่อนของสหภาพโซเวียต และนำมาซึ่งการทยอยประกาศเอกราชของเหล่าประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยร่วมอยู่ในสหภาพ โดยกอร์บาชอฟไม่ได้ใช้กำลังเข้าปราบปราม เพราะไม่ต้องการเห็นสงครามกลางเมือง

เขาได้เขียนหนังสือและบทความมากมาย และได้ตอกย้ำว่า เขา “ได้เริ่มขบวนการปฏิรูปด้วยดวงดาวส่องทาง 2 ดวงคือ เสรีภาพ และ ประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องได้มาโดยไม่มีการนองเลือด... เป้าหมายคือ ประชาชนต้องหมดยุคที่จะเป็นแค่ฝูงสัตว์ที่จะมีคนเลี้ยงแกะเพียงคนเดียวเป็นผู้นำทางสั่งการ”

เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1990 หลังจากได้ผลักดัน (เป็นคนริเริ่ม) ให้ 2 ประเทศคือ โซเวียตและสหรัฐฯ มาทำสัญญาลดคลังอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

ด้านปธน.ปูติน ก็แค่ออกแถลงการณ์ผ่านโฆษกทำเนียบเครมลิน ว่าเสียใจต่อครอบครัวต่อการจากไปในครั้งนี้ ยังไม่มีการประกาศแถลงการณ์จะจัดพิธีศพ (แบบรัฐพิธีหรือไม่?) แต่อย่างใด ต่างกับพิธีศพของอดีตนายกฯ อาเบะ ที่จะมีการจัดเป็นรัฐพิธีในวันที่ 27 กันยานี้ และมีการเชิญผู้นำและอดีตผู้นำโลกมาร่วมพิธีอย่างยิ่งใหญ่เช่น โอบามา และรองปธน.กมลา แฮร์ริส ได้ตอบตกลงแล้วว่าจะมาร่วม เป็นต้น

แต่ถ้าย้อนไปดูการหาเสียงของปูตินในการเลือกตั้งปธน.ครั้งล่าสุดปี 2018 ที่เขาพูดตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ถ้าเขาสามารถเปลี่ยนเหตุการณ์ในอดีตของรัสเซียได้ 1 อย่าง เขาอยากจะแก้ไขเหตุการณ์ใด ซึ่งเขาตอบกลับทันควันว่า “การล่มสลายของสหภาพโซเวียต” ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า มันคือ “greatest geopolitical catastrophe” หายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใหญ่สุดของศตวรรษที่ 20 ของโลกทีเดียว...เพราะเขามองว่า โซเวียตต้องสูญเสียความยิ่งใหญ่ก็ด้วยน้ำมือของกอร์บาชอฟนี่แหละ ซึ่งฝ่ายนิยมปูตินจะมองกอร์บาชอฟแบบดูแคลน ว่าเป็นเหยื่อของฝ่ายตะวันตก ที่ยอมปลดอาวุธ (นิวเคลียร์) จนทำให้ขุมกำลังต่อรองกับตะวันตกต้องลดลงฮวบฮาบ

และนี่เป็นเหตุผลที่ปูตินได้พยายามมุ่งมั่นพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเอาไว้เป็นอำนาจต่อรองกับตะวันตก (นำโดยสหรัฐฯ)

และจีนได้สรุปบทเรียนจากการล่มสลายของโซเวียต ที่ปฏิรูปประชาธิปไตยก่อนปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งจีนโดยเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ปราบรุนแรงต่อผู้ประท้วงที่เทียนอันเหมิน เพื่อให้จีนยังไม่แตกสลายเช่นโซเวียต

ในประเด็นที่ปูตินได้ยกเอาคำสัญญาด้วยวาจาระหว่างปธน.บุช (ผู้พ่อ) และรมต.ต่างประเทศเจมส์ เบเกอร์ ที่ได้พูด (ทีเล่นทีจริง) กับกอร์บาชอฟและรมต.ต่างประเทศรัสเซีย (เอดูอาร์ต เชอวาดนัตเช่) ว่า หมดเวลาแห่งสงครามเย็นแล้ว และการขยายตัวของนาโตจะไม่รุกคืบเข้าสู่ดินแดนที่จะคุกคามรัสเซีย “แม้แต่นิ้วเดียวก็จะไม่ขยับรุกเข้าไปใกล้รัสเซีย”-ดังประโยคว่า “Not an inch” นั้น เมื่อมีการขมวดดินแดนแหลมไครเมียเข้าใต้ปีกรัสเซียเมื่อปี 2014 ได้มีผู้สื่อข่าวไปถามกอร์บาชอฟถึงคำพูด “แม้แต่นิ้วเดียว” ที่นาโตจะไม่ขยายรุกรัสเซีย ซึ่งกอร์บาชอฟได้ตอบว่า จำไม่ได้ว่ามีการพูดถึงประโยคนั้น!!

กอร์บาชอฟได้เล่าถึงการเดินทางไปทั่วรัสเซีย เมื่อเขาเป็นเลขาธิการพรรค และสัมผัสกับประชาชนทุกหมู่เหล่าที่บอกกับเขาว่า ชาวรัสเซียเข็ดขยาดกับสงคราม และไม่ต้องการให้เกิดสงครามอีก ซึ่งเขาตระหนักถึงสิ่งนี้ตลอดเวลา และนำมาสู่การพยายามผลักดันให้มีการเจรจากับตะวันตกเพื่อไม่ให้เกิดสงครามอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น