ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความคืบหน้าสุดท้ายของอภิมหาดีลหมื่นล้านระหว่าง “ยานแม่ SCBX” บล.ไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ส่งยานลูก SCBS เข้าซื้อหุ้นจาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่เคยสร้างความฮือฮาเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา บัดนี้ถึงจุดสิ้นสุดอย่างเป็นทางการหลังยื้อปิดดีลไม่ลงมาหลายเดือน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา บมจ.เอสซีบี เอ็กซ์ (SCB) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ในการประชุมครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ได้มีมติอนุมัติให้ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCB เข้าทำสัญญาซื้อหุ้น ใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Bitkub คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาทนั้น
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ และ SCBS ได้ร่วมกันดำเนินการสอบทานธุรกิจ (due diligence) ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ขายและ Bitkub โดยในระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจ บริษัทฯ และ SCBS ได้เห็นศักยภาพและความสามารถในหลากหลายด้านของกลุ่ม Bitkub และเห็นโอกาสในการร่วมมือพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของ Bitkub ในอีกหลายด้าน
อย่างไรก็ดีถึง แม้การสอบทานธุรกิจจะไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้แต่เนื่องจาก Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขายจึงได้ตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการ SCBS ครั้งที่ 15/2565 จึงมีมติให้ SCBS ยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. 2565
ทั้งนี้ SCB และ SCBS ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจและภาคการเงินของประเทศไทย
ฟากฝั่ง บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ออกประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กของบริษัท สรุปใจความไปในทำนองเดียวกัน และมิได้มีอะไรส่อให้เห็นถึงความขัดแย้ง โดยระบุว่า ทั้ง 2 บริษัทตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่า การดำเนินงานและการประกอบธุรกิจของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
หลังจาก SCB ประกาศล้มดีลซื้อบิทคับ ราคาหุ้น SCB เปิดภาคบ่ายดีดขึ้น 4.31% หรือเพิ่มขึ้น 4.50 บาท มาที่ 109.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,516.54 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.29 น.จากราคาเปิด 105.50 บาท ราคาสูงสุด 109.50 บาท ราคาต่ำสุด 10.4 บาท
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.พาย มองว่า การยกเลิกดีลซื้อบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) ของ บมจ.เอสซีบี เอ็กซ์ (SCB) เป็นผลดีต่อ SCB ทำให้เกิดความชัดเจนแล้วว่าจะไม่ลงทุน Bitkub หลังจากคลุมเครือมานานหลายเดือน และ SCB สามารถนำเงินที่จะใช้ซื้อ Bitkub กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ไปใช้ลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยตัวเองน่าจะคุ้มค่ากว่า ซึ่งบล.ไทยพาณิชย์ ก็เตรียมดำเนินการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอเรนซีอยู่แล้วและยังมีเวลาพัฒนาเพราะตลาดคริปโตฯ ยังอยู่ในช่วงขาลง
นอกจากนั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทาง Bitkub จะถูกกล่าวโทษในประเด็นอื่นๆ จาก ก.ล.ต. เพิ่มเติมอีกหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับการกล่าวโทษไปแล้วในระดับหนึ่ง
ทางด้าน นายกรกช เสวตร์ครุฑมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากที่ SCB ยกเลิกดีลซื้อ Bitkub มองว่าเป็นการทำรายการที่ค่อนข้างเหมาะสมกับสภาพตลาดปัจจุบัน เพราะช่วยประหยัดเงินลงทุนที่สามารถนำไปใช้ลงทุนพัฒนาศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีได้เอง และการยกเลิกดังกล่าวไม่กระทบกับประมาณการเพราะกสิกรไทยไม่ได้นำมาใส่ไว้ตั้งแต่แรก แต่ผลเชิง Sentiment อาจจะชัดเจนมากขึ้น เพราะตลาดก็มองว่าดีลนี้คงไม่เกิดขึ้นหลังจากที่ SCB เลื่อนการตัดสินใจลงทุน Bitkub แต่วันนี้ถือว่ายืนยันความเห็นก่อนหน้านี้
สรุปรวมความว่า ก็คือเป็นดีลที่ได้ไม่คุ้มเสียและเป็นดีลที่ไม่สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่า กว่าจะถึงฟางเส้นสุดท้ายคือการตัดสินใจทิ้งบิทคับของ SCBS นั้น มีร่องรอยความไม่ลงตัวปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เพราะยิ่งนานวัน ก็ยิ่งเห็นเคสที่บิทคับมีปัญหากับ ก.ล.ต.มากมาย และบางเคสก็ถูกลงโทษจาก ก.ล.ต.อีกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 ก.ล.ต.มีคำสั่งให้บิทคับแก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาเทรดในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท เนื่องจากพบว่า มีการให้คะแนนคัดเลือกเหรียญ KUB เข้ามาเทรดโดยไม่ถึงเกณฑ์ Listing Rule ที่บิทคับได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว โดยบิทคับมีการให้คะแนนเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของเหรียญ KUB ในระดับ “สูงกว่ามาตรฐานอย่างไม่เคยมีมาก่อน” ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงว่ามีเทคโนโลยีนั้นจริง หรือเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.65 ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่งกับบริษัทบิทคัพ ออนไลน์ จำกัด นายอนุรักษ์ เชื้อชัย มาร์เก็ตเมกเกอร์ และนายสกลกรย์ สระกวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท โดยปรับเป็นเงินรวมกว่า 24.16 ล้านบาท จากการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บิทคับ ถูก ก.ล.ต.ดำเนินมาตรการทางพ่งและสั่งปรับมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะระบบหลังบ้านและระบบปฏิบัติการที่ไม่ได้มาตรฐานและขาดความน่าเชื่อถือ จากข้อมูล ณ วันที่ 11 มี.ค. 2565 บิทคับ สั่งปรับแล้วจำนวน 9 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท ดังนี้
1.ระหว่างวันที่ 2 -21 ม.ค. 64 “บิทคับ” มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ระบบรับฝากและถอนทรัพย์สิน และระบบการแสดงยอดทรัพย์สินของลูกค้า ไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ปรับจำนวนเงิน 305,000 บาท
2.ในช่วงเดือนม.ค. 64 “บิทคับ” รายงานเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศที่มีความสำคัญ ประเภทระบบหยุดชะงัก (System Disruption) ต่อ ก.ล.ต. ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด เป็นจำนวน 6 ครั้ง ปรับ 454,000 บาท
3.ระหว่างวันที่ 6 ม.ค. 64 ถึง 28 พ.ค. 64 “บิทคับ” มีระบบงานที่รองรับการรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้าไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บริษัท บิทคับ ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับ 398,500 บาท
4.ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 63 ถึง 20 ม.ค. “บิทคับ” มีระบบงานที่เกี่ยวกับการรับและจัดการข้อร้องเรียน และการจัดให้มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า รวมทั้งจำนวนและความรู้ความสามารถของบุคลากรไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับ160,500 บาท
5.ระหว่างวันที่ 8 ม.ค. 64 ถึง 19 ก.ค. 64 “บิทคับ” มีระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย(surveillance) ไม่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้บิทคับทราบธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการผลักดันราคาจากการแจ้งเตือนของระบบในทันที ปรับ 1,265,000 บาท
6.ระหว่างวันที่ 8 ม.ค. 64 ถึง 7 มี.ค. 64 “บิทคับ” มีระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) ไม่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้บริษัท บิทคับ สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่กำกับดูแลให้ฝ่ายผลิตภัณฑ์ติดตามคุณสมบัติของเหรียญดิจิทัลสกุล CTXC จึงไม่ได้ update version ของเหรียญ ทำให้เหรียญดังกล่าวที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบิทคับไม่สามารถซื้อขายได้ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น และมีการปรับตัวของราคาผิดปกติอย่างมาก ปรับ 230,500 บาท
7. “บิทคับ” ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยหยุดซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุล JFIN Coin (JFIN) และ Infinitus (INF) ชั่วคราว ปรับ 300,000 บาท
8.ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 64 ถึง 31 ก.ค. 64 “บิทคับ” เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ เป็นเวลา 33 วัน โดยปรับเป็นเงิน 858,000.00 บาท
และ 9. ระหว่างวันที่ 5 ม.ค. 64 ถึง 24 ม.ค. 64 “บิทคับ” ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงาน
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ก.ล.ต. ได้ประกาศเปรียบเทียบปรับคณะกรรมการบริหาร บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด 5 ราย และบริษัทบิทคับ ออนไลน์ จำกัด รวมเป็น 6 ราย เหตุคัดเลือกเหรียญเข้ากระดานเทรดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งทาง ก.ล.ต. มีคำสั่งปรับรวมเป็นเงิน 15 ล้านบาท
โดยสรุป บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ โดนสำนักงาน ก.ล.ต. สั่งเปรียบเทียบปรับแล้ว 11 ครั้ง มูลค่าเงินค่าปรับรวมกว่า 43 ล้านบาท
ทั้งนี้ ต้องบอกว่าการล้มดีลของ SCBS ถือเป็นกรณีที่สองของพันธมิตรธุรกิจของบิทคับที่ถอนตัวออกไปในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยรายแรกที่ถอนตัวจาก KUB คือ PROEN หลังจาก KUB เจอปัญหาการเข้าตรวจสอบการทำธุรกรรมและการดำเนินธุรกิจของบริษัทจาก ก.ล.ต. กระทั่ง KUB ถูกลงโทษหลายกรรมหลายวาระจนทำให้ผู้เข้าร่วมลงทุนขาดความเชื่อมั่น ราคาเหรียญ KUB ดำดิ่งจากตลาดคริปโตฯซบเซาบวกเข้าไปอีกดอก
แต่ไม่ว่า SCBS และ PROEN จะถอนตัวออกไปแล้วก็ตาม หากมองย้อนหลังระหว่างที่ประกาศร่วมเป็นพันธมิตรเตรียมเข้าลงทุนซื้อหุ้น ซื้อเหรียญ KUB นั้น ราคาหุ้นของ SCB และ PROEN ต่างดีดตัวแรง เช่นเดียวกันราคาเหรียญ KUB ก็พุ่งทะลุสู่ดวงจันทร์ และมีผู้ทำกำไรในช่วงจังหวะเวลานั้นใช่น้อย
มองอีกมุมดีลธุรกิจที่ว่านั้นจึงมีข้อสังเกตว่าเป็น “ดีลทิพย์” เพื่อสร้างกระแสปั่นหุ้น-ปั่นเหรียญ หรือไม่ อย่างไร
ตัวอย่างเคสบริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN ก่อนหน้านี้ บอร์ดบริษัทได้อนุมัติการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท บิทคับ บล็อคเซน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub) โดยจะเข้าลงทุนเหรียญ KUB จำนวน 250,000 เหรียญ มูลค่าไม่เกิน 72.45 ล้านบาท เพื่อร่วมเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node POSA) แบบ Proof of Stake Alliance ในระบบบล็อกเชน Bitkub Chain
ต่อมา PROEN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา บริษัทได้ทำหนังสือถึง Bitkub แจ้งใช้สิทธิยกเลิกสัญญา และขอยกเลิกการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอ้างการเปลี่ยนแปลงราคาเหรียญ KUB และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสําคัญ
หลังจากนั้น เกิดกระแสข่าวบริษัทขาดทุนจากการลงทุนใน KUB ทำให้ นายกิตติพันธุ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROEN ออกมาชี้แจงว่า บริษัทยืนยันไม่มีผลขาดทุนจากการทำธุรกรรม และไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทเนื่องจากยังไม่ได้ลงทุนแต่อย่างใด
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่บริษัทประกาศแผนขยายธุรกิจสู่สินทรัพย์ดิจิทัล และได้รับการอนุมัติจากบอร์ดเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2565 ซึ่งขณะนั้นบริษัทโอ่ว่าจะช่วยให้ผลการดำเนินของบริษัทเติบโตอย่างโดดเด่น ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้น PROEN จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเมื่อต้นปีที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 7.15 บาท แต่ในช่วง ก.พ. - เม.ย. 2565 กลับมีแรงซื้อขายเข้ามาอย่างคึกคัก และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปยืนอยู่เหนือ 8-9 บาท และสูงสุดในวันที่ 14 มี.ค. 2565 ที่ราคาหุ้นละ 10.20 บาท ก่อนจะปรับตัวลงจากภาวะหุ้นซบเซาและตลาดคริปโตฯ เข้าสู่ขาลง นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่น ทางผู้บริหาร PROEN ต้องออกมาชี้แจงเมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ว่าบริษัทได้ขอเปลี่ยนสัญญาการร่วมทุน และลงทุนเหรียญ KUB โดยทางบิทคับจะการันตีการซื้อเหรียญคืนในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทต้องถือครบสัญญาวันที่ 31 พ.ค. 2566 เพื่อไม่ให้นักลงทุนกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัท
ต่อมา เมื่อเจอปัจจัยลบถาโถมจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว เงินเฟ้อพุ่งสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาหุ้น PROEN และเหรียญ KUB ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ราคาหุ้น PROEN ปรับตัวแตะระดับต่ำสุดที่ 4.88 บาท เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 65 ก่อนจะเริ่มขยับดีขึ้นและปิดล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ 7.00 บาท ส่วนราคาเหรียญ KUB หลังจาก PROEN ประกาศยกเลิกสัญญาดังกล่าว ราคา KUB ได้ปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 65 อยู่ที่ประมาณ 87 บาท และเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 72-75 บาท
คำถามคือ สัญญาการร่วมทุนและลงทุนเหรียญ KUB ระหว่าง โปรเอ็น และบิทคับ มีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียง “ดีลทิพย์” จุดกระแสดันราคาหุ้น และราคาเหรียญให้สูงขึ้น หรือช่วยพยุงราคาในช่วงคริปโตฯ ขาลง ใช่หรือไม่
หลังจากนี้ ต้องจับตาดูพันธมิตรรายอื่นๆ ของ KUB จะเดินตามรอย PROEN และ SCB หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ทีวี ไดเร็ค หรือ TVD บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) หรือ TPCS บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC
นอกเหนือจากข่าวฮือฮา SCB ล้มดีลซื้อบิทคับแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าจับตามองกรณี ก.ล.ต. ส่งสัญญาณเตือนไม่สนับสนุนธุรกรรมบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่จ่ายผลตอบแทนทุกรูปแบบหลังเกิดเคส “Zipmex” รวมถึงเตรียมออกกฎคุมการซื้อขาย “utility token พร้อมใช้” ในตลาดรอง
ล่าสุด นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อย้ำถึงการยกระดับกฎเกณฑ์และกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลว่า จะไม่สนับสนุนธุรกรรมเกี่ยวกับบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ DeFi ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับดูแล อีกทั้งจะรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์กำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ที่นำมาจดทะเบียนซื้อขายใน “ตลาดรอง” เพื่อให้ผู้ซื้อขายมีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้องและเพียงพอในการตัดสินใจ
สาระสำคัญหลักในการปรับปรุงกฎเกณฑ์กำกับตลาดรองคือ หลักเกณฑ์ด้านเงินทุนทั้งเพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้วและเพิ่มอัตราการคงอยู่ของเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการรับความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีประสบการณ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์ด้านระบบงานต้องยกระดับการตรวจสอบ ถ่วงดุล มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเก็บรักษาสินทรัพย์ของลูกค้า รวมไปถึงหลักเกณฑ์การโฆษณาให้ชัดเจนเหมาะสมเพิ่มคุ้มครองผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) ประกาศระงับการถอนเงินบาทและเหรียญคริปโตฯ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 133/2565 เมื่อวันพุธที่ 17 ส.ค. 2565 เน้นย้ำถึงความเสี่ยงในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Decentralized Finance หรือ DeFi โดยเฉพาะที่บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก (deposit taking & lending) ทั้งในรูปแบบการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปหาประโยชน์ต่อ เช่น นำไปให้ยืม หรือนำไปลงทุนต่อ ซึ่งมักจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูง
ก.ล.ต. เตือนว่า ธุรกรรม DeFi มีความเสี่ยงหลายด้านทั้งจากตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ความเสี่ยงจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลเกินกว่ามูลค่าหลักประกัน และความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการอาจได้รับข้อมูลไม่เพียงพอหรือผู้เอาเปรียบจากผู้ให้บริการ รวมไปถึงความเสี่ยงด้านเทคนิคและความปลอดภัย ข้อกำหนด เงื่อนไขและฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ที่อาจมีช่องโหว่ ตลอดจนการถูกหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การ Rug Pull เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ซื้อขายจึงควรศึกษาโครงการ DeFi ก่อนเข้าร่วม และใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมเนื่องจากการให้บริการในลักษณะ deposit taking & lending ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลภาคตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทย
“ปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่สนับสนุนธุรกรรมในลักษณะ deposit taking & lending ทั้งในรูปแบบ decentralized finance หรือ centralized finance และอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป” เนื้อความที่ระบุในประกาศฉบับดังกล่าวของ ก.ล.ต.
สำหรับ DeFi เป็นบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนระบบบล็อกเชน ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract)
การออกประกาศเตือนของ ก.ล.ต.ที่ไม่สนับสนุน “บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก” ในทุกรูปแบบ เป็นการส่งสัญญาณว่าในอนาคตอีกไม่นาน ทาง ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ มีแนวโน้มอาจจะออกกฎ “ห้ามการทำธุรกรรมดังกล่าว” นั่นหมายความว่าการดึงดูดลูกค้าให้นำเหรียญมาฝากเพื่อรับผลตอบแทนสูงๆ อย่างเช่นที่ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังทำกันอยู่ก่อนหน้าและเวลานี้อาจถึงกาลอวสาน
เช่นเดียวกับการออกเกณฑ์กำกับไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งหลังจากการคลอดกฎเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้กระแสการจับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจ ทำอีเว้นท์ โปรโมชั่น ของบริษัทห้างร้านต่างๆ กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เคยคึกคักสร่างซาลงจนเงียบหายไปในเวลานี้
นอกจากนั้น อีกเรื่องที่ถือเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ในวงการคริปโตฯ ณ เวลานี้ ก็คือการตรวจสอบบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายทำ “เหมืองทิพย์” ขุดเงินดิจิทัลหรือไม่อีกด้วย
ทั้งนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) โดย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร ผกก.3 บก.ปอศ ตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองขุดเงินดิจิทัล หลังพบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 10 บริษัทที่เข้าข่าย “ปั่นหุ้น” โดย บก.ปกศ.ได้ส่งข้อมูลให้ ก.ล.ต. เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดกรณีดังกล่าวแล้ว หาก ก.ล.ต.ตรวจพบความผิดตามที่ ตำรวจ บก.ปอศ. ตรวจสอบ ก.ล.ต.สามารถเข้าร้องทุกข์กับตำรวจเพื่อจัดการกับบริษัท "เหมืองทิพย์" หรือไม่มีการทำเหมืองจริงตามที่กล่าวอ้าง
ฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหลายแห่งที่ประกาศลงทุนเหมืองขุดเงินดิจิทัล หรือ เหมืองขุดบิทคอยน์ เช่น บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA, บริษัท โคแมนซี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ COMAN, บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA, บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI, บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS
บริษัท เอเจ แอควานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA , บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN, บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT , บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF จับมือ บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B ทุ่มงบ 700 ล้านบาท ทำเครื่องขุดบิตคอยน์ 2,200 เครื่อง สามารถขุดบิตคอยน์ได้ 50-55 BTC ต่อเดือน
ทั้งหลายทั้งปวงที่น่าเป็นห่วงและต้องระมัดระวังคือนักลงทุนรายย่อย หรือ “เม่าน้อย” ที่หวังเก็งกำไรจากการปั่นกระแส นับเนื่องมาตั้งแต่ SCB ที่สุดท้ายก็ล้มดีลกับบิทคับจนถึง PROEN ถอนตัว และอีก 10 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำ “เหมืองทิพย์ขุดบิทคอยน์” ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบพฤติการณ์ “ปั่นหุ้น” อยู่ในเวลานี้