xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับสัญญาณชีพ “4 แสนร้านโชห่วยไทย” หลังยักษ์ค้าปลีกดาหน้ากวาดต้อน “พาร์ทเนอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ร้านโชห่วยแบบเก่า
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรุกคืบเข้ามาของการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ส่งผลกระทบต่อร้านขายของชำเก่าแก่ในชุมชนที่เรียกว่า “ร้านโชห่วย” หรือ “ร้านค้าปลีกรายย่อย” ที่ตั้งอยู่ตามตรอกซอกซอยทุกพื้นที่ คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น (Local Economy)  

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ร้านโชห่วยจำนวนไม่น้อยจับไม่พบสัญญาณชีพ ทยอยล้มหายตายจากไปอย่างเงียบเชียบ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจโชห่วยขนาดเล็กประมาณ 400,000 ร้านค้า และโชห่วยขนาดกลาง จำนวน 18,735 ร้านค้า

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นร้านค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่มีการขยายธุรกิจ ลดขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคระดับชุมชน ใช้เทคโนโลยีและระบบเดลิเวอรีอำนวยความสะดวกผู้บริโภค ขยายฐานลูกค้า สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เก็บข้อมูลการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเฉพาะบุคคล สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประกอบการโชห่วยท้องถิ่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจำเป็นต้องออกจากธุรกิจไป ร้านโชห่วยที่อยู่มานานมียอดขายลดลง เป็นต้น

สถานการณ์ที่ร้านโชห่วยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งเรื่องพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก ดังนั้น การจะเป็นโชห่วยที่อยู่รอดและอยู่รุ่งได้อย่างยั่งยืนได้จำเป็นต้องปรับตัว

อ้างอิงสำรวจโครงการเจาะใจ SMEs เจาะลึกศักยภาพการเเข่งขัน โดยธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงปัญหาเเละอุปสรรคของร้านโชห่วยไทย ประกอบด้วย

 1.ต้นทุนสินค้าปรับสูงขึ้น เช่น ราคาเหล้า เบียร์ น้ำอัดลม ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง และค่าสาธารณูปโภค 2.ธุรกิจขาดการปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาด เเละมีกลยุทธ์การตลาดที่ล้าสมัย

3. การบริการจัดการภายในองค์กรขาดประสิทธิภาพ เช่น ขาดการทำบัญชีเเละบริหารสต๊อก 4. ขอสินเชื่อไม่ได้หรือขอกู้ยาก เนื่องจากขาดหลักทรัพย์ บัญชีไม่สวยหรือวงเงินเต็ม และ 5. ขาดผู้สืบทอดกิจการ เนื่องจากทายาทรุ่นใหม่ไม่รับช่วงต่อเเละหันไปประกอบอาชีพอื่น 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐตระหนักดีว่า “โชห่วย” หรือ “ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก” นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น (Local Economy) เป็นธุรกิจฐานรากที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีจำนวนส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจค้าปลีกมากที่สุด เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีความใกล้ชิดกับลูกค้า มีอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ


ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำคลอดนโยบายเร่งสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกไทย พัฒนาร้านโชห่วยสู่  “สมาร์ทโชห่วย”  เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้รายย่อย ดำเนินการการพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ยกระดับการพัฒนาครอบคลุมหลายมิติ อาทิ การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าโชห่วยให้ทันสมัยแต่คงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น การส่งเสริมให้โชห่วยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการและการตลาด ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากเครือข่ายพันธมิตร

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ส่งเสริมผู้ประกอบการโชห่วยไทย เป้าหมายแรก คือ ผลักดันร้านค้าส่ง-ค้าปลีก ให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” ผ่านโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส”  ซึ่งเป็นกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วย คือ 1. การมีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดี 2. มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า และ 3. มีช่องทางออนไลน์สำหรับให้บริการลูกค้า ตั้งเป้าการพัฒนาสมาร์ทโชห่วย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ สร้างขีดความสามารถแข่งขัน เป็นแหล่งรับซื้อสินค้าในชุมชน กระจายรายได้สู่ชุมชน และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

สำหรับ โครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” กำหนดระยะยาว 5 ปี ระหว่าง 2565 - 2569 โดยครอบคลุม 2 กิจกรรมหลัก คือ 1.การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ และ 2. การนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างสมาร์ทโชห่วย โดยสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโชห่วย คอยให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยพัฒนาร้านค้าโชห่วย มีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ช่วยติดตามการดำเนินงาน

โดยในระยะ 5 ปี ได้กำหนดแนวทางเพื่อยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาสมาร์ทโชห่วยให้ครอบคลุมทุกมิติ และใช้กลไกการทำงานร่วมกันของเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาใน 4 ด้าน คือ 1. ลดต้นทุน 2. เพิ่มรายได้ 3. สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยร้านค้าสมาร์ทโชห่วยจะเป็นแหล่งรับซื้อสินค้าให้คนในชุมชน และ 4. กระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป

 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์  รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจโชห่วยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดผู้บริโภคในเมืองเริ่มอิ่มตัว แต่ตลาดชุมชนยังเป็นที่น่าสนใจและมีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก

ขณะที่ภาคเอกชนหลายรายมีการปรับกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ โดยใช้โมเดลร้านค้าโชห่วยที่มีภาพลักษณ์ทันสมัยและใช้ระบบเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ สร้างโอกาสทางตลาดรองรับผู้บริโภคในชุมชน ทำให้ผู้ประกอบการโชห่วยมีทางเลือกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ด้านผู้ประกอบการเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นดังนั้นโชห่วยไทยมีความจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้ ซึ่งโครงการ “สมาร์ทโชห่วย” ของกระทรวงพาณิชย์จะเป็นกลไกสำคัญ

และเป็นที่น่าจับตาไม่น้อย เมื่อยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเปิดเกมชิงพาร์ทเนอร์ “ร้านโชห่วย” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 400,000 ร้านค้า ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมายก็คือการเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างเครือข่ายเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจลงลึกสู่ระดับชุมชนตำบลหมู่บ้าน ทั้งในแง่การเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าของตัวเอง รวมถึงการปลุกปั้น “เฮาส์แบรนด์” ซึ่งสามารถสร้างกำไรได้มากกว่า

บรรดาค้าปลีกรายใหญ่เดินเกมรุกส่งร้านค้าปลีกโมเดลใหม่ ชิงพาร์ทเนอร์ร้านโชหวย 4 แสนร้านค้า อาทิ “ทีดี ตะวันแดง” ในเครือคาราบาว กรุ๊ปพัฒนาโมเดลธุรกิจหนุนร้านโชห่วยในชุมชน ผ่านโครงการ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” คอนเซ็ปต์โลว์คอสต์คอนวีเนี่ยนสโตร์ ภายใต้ชื่อ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ดำเนินการเบ็ดเสร็จตั้งแต่ การตกแต่ง วางระบบ การจัดวางสินค้า โปรโมชั่น ระบบคิดเงินอัตโนมัติ (POS) การส่งสินค้าให้เข้าร้าน ฯลฯ

โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านถูกดีฯ เปิดไปแล้วประมาณ 5,000 ร้านค้า และสิ้นปี 2565 จะมีสาขาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8,000 ร้านค้า โดยวางเป้าหมายให้ร้านถูกดีฯ เป็นร้านสะดวกซื้อที่สามารถเข้าถึงชุมชนที่ลึกที่สุดในระดับหมู่บ้าน

ที่น่าสนใจคือ ทีดี ตะวันแดง เพิ่งเปิดตัวผู้ร่วมลงทุนรายใหม่คือ “ธนาคารกสิกรไทย” ที่เข้ามาลงทุนด้วยงบถึง 15,000 ล้านบาท

 ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ของทีดี ตะวันแดง

  บิ๊กซีกับโมเดลร้านโดนใจ

 บัดดี้มาร์ทของค่ายแม็คโคร

 ร้านนี้ขายดีของโลตัส
 “นายพัชร สมะลาภา”  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ชุมชนนอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ลูกค้ามีความต้องการใช้บริการการเงิน บางส่วนไม่มีบัญชีเงินฝาก ไม่มีหลักฐานการเงินที่ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และเป็นพื้นที่ที่สาขาของธนาคารยังเข้าไม่ถึง การร่วมลงทุนกับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจ คาราบาว” เป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ตั้งใจพัฒนาร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ทุกคนที่อยู่ในวงจรของ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ตั้งแต่เจ้าของร้าน คู่ค้า ชาวบ้านในชุมชน สามารถจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน

“ความร่วมมือนี้ จะทำให้ธนาคารมีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย “นายพัชรกล่าว

นอกจากนี้ ยังมียักษ์ใหญ่ค้าปลีก อย่าง  บิ๊กซี, แม็คโคร และโลตัส  ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นความเคลื่อนไหวมีการพัฒนาโมเดลของตัวเอง เพื่อสนับสนุนดึงร้านโชห่วยมาเป็นเครือข่าย เกิดการแข่งขันขยายเครือข่ายชิงร้านชำ 4 แสนร้าน เป็นโอกาสสร้างรายได้ในระยะยาว การมีเครือข่ายมากเท่าไหร่ ก็มีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์มากเท่านั้น รวมทั้ง จะเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าเฮาส์แบรนด์ต่างๆ สู่ระดับชุมชนตำบลหมู่บ้าน

นอกจากโมเดล “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ของ “ทีดี ตะวันแดง” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกรายอื่นๆ ยังส่งโมเดลชิงพาร์ทเนอร์ร้านโชห่วยเช่นกัน อาทิ  “บิ๊กซี”  กับโมเดล “ร้านโดนใจ” เร่งขยายเครือข่ายร้านค้าโดนใจไปยังระดับชุมชน ล่าสุด เปิดไปแล้วประมาณ 780 แห่ง ในหลายจังหวัด รวมทั้งจัดโปรโมชั่นดึงเครือข่ายร้านชำ ลดเงินประกันให้สูงสุด 50% ออกไปถึงสิ้นปี 2565 ดึงดูดพาร์ทเนอร์ 1,000 สาขาแรกที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านไซส์ XS ปกติ 100,000 บาท ลดเหลือ 50,000 บาท หรือร้านไซส์ L 400,000 บาท ลดเหลือ 300,000 บาท เป็นต้น

หรือ  “แม็คโคร”  ผู้นำธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับโมเดล  “บัดดี้มาร์ท (Buddy mart)”  ดึงร้านโชห่วย มินิมาร์ท ที่มีร้านอยู่แล้ว หรือผู้สนใจเปิดร้านค้า เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินลงทุนตกแต่งร้านเริ่มต้น 100,000 - 200,000 บาท เงินค้ำประกัน 200,000 บาท สัญญา 3 ปี ซึ่ง สิ่งที่เป็นจุดแข็งของแม็คโครก็คือ การทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นโชห่วยมาอย่างยาวนาน ทำให้มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน เครือข่ายสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็เข้ามาเป็นเน็ตเวิร์กที่สำคัญในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้แบบลงลึก

ปัจจุบัน สยามแม็คโคร ได้เริ่มทยอยเปิดร้านคู่ค้า บัดดี้มาร์ท ไปแล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ นวมินทร์ 139 นวลจันทร์ บึงกุ่ม กรุงเทพฯ, อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, ซอยรางโพ บางบอน กรุงเทพฯ, วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม, ตลาดเอที คลอง 8 ธัญบุรี ปทุมธานี, อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี, อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา, อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นต้น

และ  “โลตัส”  กับโมเดล  “ร้านนี้ขายดี”  สร้างเครือข่ายขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจของร้านค้าปลีก โดยเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายย่อยให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีกำไร ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านการทำร้านค้าปลีกของโลตัสเข้าไปช่วย ซึ่งปัจจุบันขยายเครือข่ายร้านขายดี ได้มากกว่า 1,000 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

สำหรับร้านโชห่วยร้านชำเก่าแก่ที่ตอบสนองความต้องการทางด้านอุปโภคบริโภคของคนในระดับชุมชน คงต้องติดตามกันว่าการปลุกสัญญาณชีพร้านโชห่วยไทยที่ประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น จะกระทบกับผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น (Local Economy) ได้มากน้อยเพียงใด จะเดินหน้าพัฒนาด้วยตนเองโดยขอความช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์ หรือจะตัดสินใจเข้าร่วมวงไพบูลย์กับบรรดา “โมเดิร์นเทรด” ที่รุกคืบเข้ามาในตลาดนี้ ซึ่งคำตอบสุดท้ายก็คงต้องศึกษากันอย่างละเอียดและรอบคอบว่า อย่างไหนจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น