xs
xsm
sm
md
lg

การจำแนกประเภทพรรคการเมืองไทย (2) (Typology of Thai Political Parties) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
Phichai Ratnatilaka Na Bhuket


พรรคการเมืองมีการกำเนิดเกิดขึ้นตามเงื่อนไขประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ มีการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง การบริหารภายในพรรค ฐานมวลชน และยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการได้มาซึ่งอำนาจตามกาลเวลา เริ่มต้นจากการก่อตัวในประเทศตะวันตกในลักษณะที่เป็นพรรคชนชั้นนำ ต่อมาพัฒนาเป็นพรรคมวลชนซึ่งมีฐานจากชนชั้น ชาตินิยม และศาสนา ครั้นเมื่อบรรดาประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมได้รับเอกราชในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หลายประเทศก็ได้ใช้พรรคการเมืองเป็นองค์กรนำในการบริหารประเทศ พรรคการเมืองรูปแบบใหม่จึงอุบัติขึ้นโดยเฉพาะพรรคแนวชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันในประเทศตะวันตก พรรคการเมืองฐานมวลชนแบบดั้งเดิมที่ยุดมั่นในอุดมการณ์เริ่มเสื่อมคลาย และวิวัฒนาการเป็น “พรรคเลือกตั้ง” เลือกตั้งมากขึ้น ทว่าภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความหลากหลายทางความคิดในปลายศตวรรษที่ยี่สิบ รูปแบบพรรคการเมืองที่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเป็นพรรคการเมืองก็ปรากฏขึ้น ทั้งในซีกของความคิดเสรีนิยมฝ่ายซ้าย และความคิดอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาสุดขั้ว

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้พรรณนาถึงประเภทของพรรคมวลชนฐานศาสนา แต่ยังไม่ได้สาธยายรายละเอียดมากนัก สัปดาห์นี้จึงขอขยายความต่อถึงรูปลักษณ์ของพรรคมวลชนฐานศาสนา และประเภทของพรรคการเมืองแบบอื่น ๆ ที่เหลือ

2.3 พรรคมวลชนฐานศาสนา มีสองรูปลักษณ์คือ 2.3.1 พรรคมวลชนฐานศาสนาสายกลาง (denominational mass party) ในยุโรป พรรคการเมืองประเภทนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากหลังสงครามโลกครั้งที่สองและมีบทบาทโดดเด่นทางการเมือง ซึ่งมักจะใช้ชื่อว่าพรรคประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian democratic parties) องค์กรของพรรคเหล่านี้มีลักษณะเป็นพรรคมวลชน โดยเฉพาะการดำรงอยู่ของมวลสมาชิกจำนวนมากที่สมัครใจจ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินงานของพรรค โครงสร้างของพรรคมีการเชื่อมโยงระหว่างระดับชาติกับท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ มีกลไกการสื่อสารระหว่างพรรคกับสมาชิกและการนำเสนอความคิดของพรรคทั้งในหลายรูปแบบ มีหนังสือพิมพ์เป็นของตนเอง มีการผลิตเอกสารหลากหลายประเภท รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเชิงพันธมิตรกับกลุ่มและสมาคมในภาคประชาสังคมที่เป็นกลุ่มทางศาสนา และสหภาพแรงงานด้วย

สิ่งที่พรรคมวลชนฐานศาสนาแตกต่างจากพรรคมวลชนฐานชนชั้นและฐานชาตินิยมคือ ชุดของนโยบายของพรรคมีรากฐานจากความเชื่อทางศาสนา ทำให้พรรคต้องรับฟังและนำประเพณีทางศาสนาและการตีความหลักฐานศาสนาของนักบวชคนสำคัญและสถาบันทางศาสนาภายนอกพรรคเข้ามาเป็นองค์ประกอบของนโยบายด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรคไม่สามารถควบคุมแก่นอุดมการณ์ของพรรคได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง การหย่าร้าง และการแสดงออกทางเพศ สถานการณ์เช่นนี้สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรคได้ หากผู้นำพรรคเลือกปรับปรุงนโยบายเพื่อดึงดูดใจผู้เลือกตั้งที่อาจไม่เคร่งครัดศาสนามากนักให้มาเลือกพรรค อย่างเช่น หากพรรคนำเสนอนโยบายให้การหย่าร้างเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ก็จะได้รับการคัดค้านและต่อต้านจากผู้นำศาสนา

2.3.2) พรรคฐานศาสนาแบบรากฐานนิยม (fundamentalist party) มีความมุ่งหมายในการครองอำนาจนำภายในรัฐและสังคม และหากได้อำนาจรัฐมาก็จะจัดองค์กรของรัฐและสังคมใหม่โดยนำหลักศาสนามาใช้เป็นหลักปกครองประเทศ พรรครากฐานนิยมทางศาสนาไม่ยอมรับการตีความที่แตกต่างจากบรรทัดฐานและหลักการของศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานของนโยบายและกฎหมายของพรรค และเป็นสิ่งพรรคนำมาบังคับใช้ทั่วทั้งสังคม ผู้นำพรรคมีอำนาจในการตีความและถ่ายทอดเนื้อหาไปสู่สังคมโดยปราศจากโต้แย้ง ตัวแบบเชิงเทววิทยาของพรรคคือ การไม่แยกระหว่างรัฐกับศาสนา บรรทัดฐานการปฏิบัติตามหลักศาสนาของพรรคที่ครองอำนาจจะถูกนำไปบังคับพลเมืองทั่วทั้งปริมณฑลทางสังคมการเมือง โดยไม่คำนึงว่าบุคคลเหล่านั้นจะนับถือศาสนาเดียวกันกับพรรคแต่อย่างใด พรรคมีการจัดตั้งองค์กรที่กระชับเข้มข้น และมีฐานสมาชิกกว้างขวางทั่วทั้งสังคม โครงสร้างอำนาจภายในพรรคมีลักษณะเป็นลำดับชั้น ไม่เป็นประชาธิปไตย และรวมศูนย์ที่ผู้นำ สมาชิกอยู่ภายใต้กรอบวินัย และมีความจงรักภักดีต่อพรรคสูง พรรครากฐานนิยมศาสนาเคลื่อนไหวส่งเสริมเผยแพร่ทั้งคำสอนทางศาสนา อัตลักษณ์ของความเป็นศาสนิกชน นโยบายที่มีรากฐานจากคำสอนศาสนา และนโยบายด้านสวัสดิการสังคม เพื่อสร้างความสมานฉันท์และความจงรักภักดีของสมาชิก และแม้ว่าพรรคไม่ได้มีรากฐานจากชนชั้น แต่พรรคก็มีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนจากคนจน และชนชั้นกลางระดับล่างที่ถูกทำให้อยู่ชายขอบ ซึ่งต้องเผชิญกับความไม่ยุติธรรมและเป็นเหยื่อของการทุจริตที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

3. พรรคฐานชาติพันธุ์ (Ethnicity-based Parties)
โดยปกติพรรคการเมืองที่มีฐานจากชาติพันธุ์จะขาดคุณลักษณะของพรรคฐานมวลชน อย่างไรก็ตามพรรคแบบนี้ก็ตรรกะและมิติทางการเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สิ่งที่แตกต่างจากพรรคฐานมวลชนอย่างเห็นได้ชัดคือ พรรคฐานชาติพันธุ์ไม่มีกรอบคิดเชิงนโยบายที่มุ่งปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสังคมแบบพรรคฐานมวลชน แต่กลับมีนโยบายและยุทธศาสตร์ค่อนข้างแคบ เน้นเฉพาะการส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม หรือพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น และมีความแตกต่างจากพรรคชาตินิยม ในแง่ที่ว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายไม่มีเรื่องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ หรือความเป็นอิสระในการตัดสินใจและการบริหารออกจากรัฐที่ดำรงอยู่ หากแต่มีความตั้งใจใช้โครงสร้างรัฐเดิมเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างประโยชน์แก่ผู้เลือกตั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของพรรค พรรคชาติพันธุ์มีสองประเภทย่อยคือ พรรคเอกะชาติพันธุ์ และพรรคพันธมิตรชาติพันธุ์

3.1 พรรคเอกะชาติพันธุ์เคลื่อนไหวระดมคะแนนเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองเป็นหลัก ในบางกรณี พรรคอาจส่งผู้สมัครในต่างพื้นที่ ซึ่งไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ของพรรคอาศัยอยู่ และในการรณรงค์เลือกตั้งอาจใช้ประเด็นเชิงอุดมการณ์หาเสียง แต่ก็เป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อเป็นหน้ากากที่ใช้คลุมเป้าประสงค์ที่แท้จริงเอาเท่านั้น พรรคชาติพันธุ์จำกัดการส่งผู้สมัครในบางพื้นที่ และมักใช้วาทกรรมในการวาดภาพที่แยกกันชัดเจนระหว่างผู้ที่เป็นมิตรสหาย กับกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อชาติพันธุ์ หลักการพื้นของเป้าประสงค์ของพรรคเอกะชาติพันธุ์ไม่ใช่การผลิตนโยบายทั่วไป หากแต่มุ่งสร้างประโยชน์ทางวัตถุ วัฒนธรรม สถานะทางการเมือง และมอบการปกป้องด้วยแก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นฐานของพรรค ในแง่นี้ พรรคเอกะชาติพันธุ์จึงมีความผูกพันต่ออุดมการณ์ต่ำ และนโยบายก็ไม่เชื่อมโยงและสอดคล้องอย่างเป็นเอกภาพกับอุดมการณ์ทางการเมือง ยิ่งกว่านั้นไม่มีการพัฒนาโครงสร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง และไม่มีฐานสมาชิกอย่างเป็นทางการ การขาดประเด็นเชิงอุดมการณ์ พรรคเอกะชาติพันธุ์จึงมีแนวโน้มใช้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นฐานการเคลื่อนไหวของพรรค และปลุกเร้าอารมณ์ฐานเสียงโดยใช้ประเด็นเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และความอยู่รอดของวัฒนธรรม และพรรคมีแนวโน้มถูกครอบงำด้วยผู้นำบารมี ตรรกะในการเลือกตั้งของพรรคคือการสร้างความเป็นขั้วระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในสังคม รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโอกาสในการอยู่รอด และการถูกคุกคามจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงมักขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ และไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้เสียงส่วนใหญ่เพื่อสถาปนาอำนาจนำภายในสังคมได้ ยิ่งกว่านั้น ความพยายามครอบงำหรือช่วงชิงอำนาจรัฐของพรรคประเภทนี้ มักนำไปสู่การสร้างความรุนแรงในสังคมและสงครามกลางเมืองได้

3.2 พรรคพันธมิตรชาติพันธุ์ เป็นการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรของพรรคชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพเชิงโครงสร้างของพรรค ในระดับท้องถิ่น องค์กรและนโยบายของพรรคเชื่อมโยงและผูกพันกับกลุ่มชาติพันธุ์เฉพาะที่อาศัยในพื้นที่ และมีการจัดสรรผลประโยชน์ผ่านเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ แต่ในระบบการเมืองระดับชาติ พรรคมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ จะเน้นในเรื่องความเป็นเอกภาพของชาติและการบูรณาการระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่าการแบ่งแยก รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์และการอยู่ร่วมอย่างสันติมากกว่าการครอบงำและการคุกคาม มีการแบ่งปันอำนาจ ทรัพยากร และสร้างหลักประกันร่วมกันในการสร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มภายใต้รัฐบาลผสม สิ่งที่พรรคพันธมิตรชาติพันธุ์ แตกต่างจากพรรคพันธมิตรในรูปแบบอื่น ๆ คือ พรรคพันธมิตรชาติพันธุ์มีแนวโน้มสร้างข้อตกลงร่วมในการเป็นพันธมิตรและการจัดตั้งรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง หากพรรคที่อยู่ในเครือข่ายพันธมิตรได้เสียงข้างมากก็จะมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน เช่น พรรคคองเกรสของประเทศอินเดียในช่วงสองทศวรรษแรกของการได้รับเอกราช หรือ พรรคพันธมิตรแนวหน้าแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พรรคลักษณะนี้มีจุดอ่อนคือ การแบ่งเป็นฝักฝ่ายตามกลุ่มชาติพันธุ์หรือภูมิภาค

4. พรรคเลือกตั้ง (Electoralist Parties)
ปลายศตวรรษที่ 20 หลายประเทศในยุโรป พรรคมวลชนฐานชนชั้นเสื่อมถอย โครงสร้างที่เคยกระชับแน่นเริ่มคลายตัว มวลชนรากฐานที่เข้ามาเป็นสมาชิกลดลง และพรรคลดการยึดมั่นต่อหลักคิดเชิงอุดมการณ์ที่เคยเป็นรากฐานของพรรคในการหาเสียง พรรคการเมืองฐานมวลชนได้ปรับตัวและวิวัฒนาการเป็น “พรรคเลือกตั้ง” (electoralist parties) แทน ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้นที่เข้มข้นดังประเทศในยุโรป ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาภายใต้รูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน กล่าวได้ว่า พรรคการเมืองทั่วโลกในระบอบประชาธิปไตยช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีแนวโน้มแปรสภาพเป็นพรรคเลือกตั้ง ซึ่งมีโครงสร้างองค์กรหลวม และมีสำนักงานและบุคลากรที่สนับสนุนการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ในช่วงการเลือกตั้ง พรรคเหล่านี้มีการปฏิบัติงานที่เข้มข้น เกือบทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรณรงค์เลือกตั้ง พรรคใช้เทคนิคการรณรงค์ที่ทันสมัยในการหาเสียงเลือกตั้ง มีการใช้สื่อมวลชนที่หลากหลายทั้ง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ (และตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ก็มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง) รวมทั้งการใช้นักจัดการเลือกตั้งมืออาชีพในการวางแผนและดำเนินการรณรงค์เลือกตั้งด้วย เป้าหมายหลักของพรรคประเภทนี้คือ การได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคจึงดำเนินการผลิตนโยบายจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เลือกตั้งทุกกลุ่ม และดึงดูดใจผู้เลือกตั้งเหล่านั้นมาลงคะแนนให้พรรค อย่างไรก็ตาม นโยบายจำนวนมากที่ถูกผลิตออกมา มีหลายนโยบายที่อาจไม่สอดคล้องกันหรือแม้กระทั่งขัดแย้งกันเอง ถึงกระนั้น มีบางพรรคที่เคยยึดมั่นอุดมการณ์อย่างเข้มข้นมาก่อน ก็ยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายที่เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ของพรรคอยู่บ้าง

พรรคเลือกตั้งมีสามประเภทย่อยคือ พรรคแบบแตะทุกกลุ่ม (the catch-all party) พรรคเน้นนโยบาย (programmatic party) และพรรคส่วนบุคคล (personalistic party) (Gunther and Diamond, 2003) สำหรับรายละเอียดของแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไรจะขออธิบายในสัปดาห์ต่อไป (ยังมีต่อ)


กำลังโหลดความคิดเห็น