ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ออกอาการเหวี่ยงใส่สื่อเมื่อ “นายกฯ ลุง” ถูกถามเรื่องขึ้น “ค่าไฟฟ้า” ทั้งยังไล่ให้ไปศึกษาพระธรรมคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 ไปดูสาเหตุแห่งปัญหาว่าที่ต้องขึ้นค่าไฟเกิดจากอะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.” ที่ต้องมีการขึ้นตามวงรอบทุก 4 เดือน
“.... มันขึ้นก็ต้องขึ้น มันขึ้นจากอะไรก็ต้องไปดูสาเหตุ ไปดูสาเหตุแห่งปัญหา นะ ไปศึกษาธรรมะซะบ้าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค น่ะ ไปเรียนซะบ้าง ว่ามันเกิดจากอะไร แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร วิธีการแก้ปัญหาโน่น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โบ้ยบ้ายด้วยน้ำเสียงแดกดันและสีหน้าหงุดหงิดไม่พอใจว่า “ทุกคนต้องเข้าใจนะ ไม่ใช่ไปพาดหัวข่าว ขึ้นเป็น 5 บาทแล้ว หรือ 4 บาทแล้ว มันขึ้นเป็นสตางค์ เข้าใจมั้ย เออ…อย่าไปเขียนอย่างนี้ให้คนมัน ให้เขาเข้าใจผิดนะ”
ดูก็รู้ว่าเป็นการจิกกัด ประชดประชัน หาใช่คำพูดที่เหมาะสมของคนที่เป็นผู้นำประเทศที่ควรเป็นผู้มีอริยะ เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่ประชาชน เยาวชนคนรุ่นหลัง ยิ่งเมื่อบอกให้นักข่าวไปศึกษาธรรม เรียนรู้เรื่องอริยสัจ 4 ก็ต้องถามกลับว่านายกฯ ลุง เข้าใจธรรมะข้อนี้สักกี่มากน้อย
โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าไฟฟ้าที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกหย่อมหญ้า ถือเป็น “ทุกข์” ของคนทั้งแผ่นดิน “สมุทัย” คือ สาเหตุที่ทำให้ต้องขึ้นค่าไฟ “นิโรธ” คือ การแก้สาเหตุที่ทำให้ต้องขึ้นค่าไฟ และ “มรรค” ก็คือ แนวปฏิบัติที่จะนำไปสู่การไม่ขึ้นค่าไฟหรืออาจจะลดค่าไฟเพื่อดับทุกข์ให้ชาวบ้านนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในตำแหน่งใกล้ครบ 8 ปีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เข้าใจถึงแก่นแท้อันเป็นสาเหตุแห่งปัญหาสักเพียงใด และการจะดับทุกข์ด้วยมาตรการลูบหน้าปะจมูก แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เป็นคำตอบในตัวเองว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงดับทุกข์เรื่องค่าไฟฟ้าให้ชาวประชาไม่ได้
การโบ้ยให้ไปถาม กกพ. ถึงสาเหตุทำไมต้องขึ้นค่าไฟฟ้า คล้ายจะคลี่ปม “สมุทัย” ทาง กกพ.เองก็แจกแจงว่า ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ปรับเพิ่มค่าเอฟทีอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย มีสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมาที่ปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลก
กกพ.บอกว่า ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800-3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100-2,500 MMSCFD ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด หากแต่ในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา Spot LNG ที่มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้น การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
คำอธิบายข้างต้น กกพ.แจกแจงแต่เพียงว่าก๊าซในประเทศลดลงและต้องซื้อก๊าซเข้ามาทดแทนในราคาแพง แต่ไม่บอกว่าทำไมปริมาณการผลิตก๊าซในประเทศถึงลดลง การส่งผ่านระบบสัมปทานก๊าซในอ่าวไทยจากรายเดิมไปยังผู้ผลิตก๊าซในระบบแบ่งปันผลผลิตรายใหม่มีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซใช่หรือไม่ หรือเป็นเหตุจากการหยุดซ่อมระบบการผลิตก๊าซตามวงรอบ
แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด สุดท้ายก็ต้องนำเข้าก๊าซและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในราคาแพง แล้วโยนภาระต้นทุนนำเข้ามาใส่ในค่าเอฟทีให้ประชาชนแบกรับโดยไม่มีทางปฏิเสธ
อีกสาเหตุที่ กกพ. ชี้แจงคือ การผลิตก๊าซจากเมียนมามีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิม และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ขณะที่สถานการณ์ผู้ผลิตก๊าซแอลเอ็นจีชะลอการลงทุนในช่วงโควิด-19 หลังจากหลายประเทศฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซแอลเอ็นจีมีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 และจะลากยาวไปถึง 2566
ต้องไม่ลืมว่า กระทรวงพลังงาน และบริษัทผู้นำเข้าแอลเอ็นจี ต่างออกมารับประกันให้คำยืนยันมั่นเหมาะไม่ต้องห่วงก๊าซขาดแคลน มีการวางแผนสำรอง ทำสัญญาซื้อขายก๊าซล่วงหน้า เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านปริมาณและราคาขอให้ประชาชนอุ่นใจได้
แต่พอเอาเข้าจริง กระทรวงพลังงาน กกพ. และบริษัทธุรกิจด้านพลังงาน ก็เล่นแก้ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ ทั้งก๊าซจากเมียนมาและอ่าวไทยที่ลดปริมาณการผลิตลง โดยการซื้อก๊าซจาก “ตลาดจร” ในราคาแพงมาทดแทน แบบที่ว่ารัฐบาลและบริษัทธุรกิจไม่ต้องรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาก๊าซแม้แต่น้อย เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นนี้โยนใส่ในค่าเอฟทีให้ประชาชนแบกรับกันไป พร้อมกับคำอธิบายว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รัสเซียตัดการจ่ายก๊าซทางท่อไปยังยุโรปทำให้ความต้องการแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นมากในยุโรป ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคาแอลเอ็นจีในตลาดเอเชีย
“ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและในเมียนมา รวมทั้งสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสัญญา LNG ทำให้ กกพ.ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เชื้อเพลิงสำรอง เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ถ่านหิน พลังน้ำ และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงตลอดปี 2566 ตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤตที่ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้ว จึงขอให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการนำเข้า Spot LNG และเพิ่มความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว” กกพ. ชี้แจงสาเหตุต้องขึ้นค่าเอฟที
เมื่อการนำเข้า Spot LNG เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ในการประชุมคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา กกพ. จึงมีการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 โดยมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารการจัดหาก๊าซฯ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลความต้องการใช้ก๊าซ ข้อมูลสัญญาจัดหาก๊าซของ Shipper ทุกราย รวมถึงการศึกษาการใช้เชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อุปสงค์อุปทานในอนาคต และกำหนดแผนการจัดหาก๊าซ LNG ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงาน และการกำกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คำถามตัวโตๆ ที่รัฐบาล, หน่วยงานรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตไฟฟ้า, กกพ. และบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระทั้งรายเล็กรายใหญ่ ต้องกล้าตอบประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและตอบให้ชัดก็คือ กำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ปัจจุบันมากล้นเกินความจำเป็นหรือไม่ และจำเป็นต้องดิ้นรนไปหาซื้อเชื้อเพลิงในราคาที่ตอนนี้ก็รู้ว่าแพงขึ้นมากมาผลิตไฟฟ้าอย่างไม่ลืมหูลืมตาเพื่ออะไร
ขณะที่ประชาชนทุกข์ร้อนจากค่าพลังงาน ค่าครองชีพจนแทบทนไม่ไหว เมื่อส่องดูงบการเงินของ 3 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าถึงกับต้องตื่นตะลึง โดยพบว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” หรือ กฟผ. มีกำไรสะสมถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 388,660 ล้านบาท
“การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” หรือ PEA และบริษัทย่อย มีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 181,132 ล้านบาท
ส่วน “การไฟฟ้านครหลวง” หรือ MEA มีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 100,178 ล้านบาท
คิดเป็นตัวเลขกลมๆ การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีกำไรสะสมรวมกันอยู่ประมาณ 670,000 ล้านบาท กำไรของการไฟฟ้าสะสมท่วมท้นเช่นนี้ถ้าผู้นำประเทศเข้าใจหลัก “อริยสัจ 4” ก็น่าจะตาสว่างมองเห็น “นิโรธ” และ “มรรค” เพื่อดับทุกข์เรื่องค่าไฟฟ้าให้ชาวบ้านได้แล้ว
นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาที่ถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องความผิดพลาดในการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพี รวมถึงการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง เพื่อลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ที่ล้วนเป็นต้นเหตุให้ค่าไฟแพงทั้งสิ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาพวกนี้ก็ยังคาราคาซังตลอด 8 ปีที่ผ่านมาโดยรัฐบาลลุงไม่คิดจะแก้ไข ใช่หรือไม่ อย่างไร
หากมาว่ากันถึงแก่นแท้ของสาเหตุค่าไฟฟ้าแพง ยังคงต้องพุ่งเป้าไปยังเรื่องการวางแผนการผลิตพลังงานที่ผิดพลาด สำรองไฟฟ้าล้นเกิน ตามที่ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค แจกแจงสาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเอาไว้ว่า การวางแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเกินสมควร ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้ามากล้นเกินจำเป็น หรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ และกลายมาเป็นภาระให้ประชาชนแบกรับ
จากปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 46,136 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562-2565 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น หรือมีปริมาณเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 50% ขณะที่กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15 เท่านั้น
อีกสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงเพราะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) ประมาณการว่าที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย โดยคาดว่าค่าภาระไฟฟ้าส่วนเกินนี้เป็นเงินมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุมาจากประชาชนไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่นๆ แต่ต้องใช้ราคา POOL ก๊าซ หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ ก๊าซนำเข้าจากประเทศพม่าและ LNG ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยตามราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ไม่ต้องไปรวมในราคา POOl ก๊าซ จึงเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาที่ต่ำและไม่มีการร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับประชาชน
ที่สำคัญที่สุดคือ สาเหตุแห่งปัญหาค่าไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลกลับไม่ตระหนักถึงปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอย่างจริงจัง แทนที่จะหยุดหรือลดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน กลับยังเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นอีก
นี่เป็นคำถามที่รัฐบาลต้องชี้แจงและอธิบายอย่างละเอียดว่า เป็นไปตามนั้นหรือไม่ ไม่ใช่แค่ตอบสั้นๆ
ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่น่าแปลกคือ ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ.อยู่ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วย (ตัวเลขปี 2558-ปัจจุบัน) แต่ กฟผ. กลับรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPPs) ในราคา 3 บาทกว่าต่อหน่วย ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ในราคาเกือบ 4 บาทต่อหน่วย แม้แต่ไฟฟ้าที่รับซื้อจากโรงไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งควรจะมีราคาไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ. ยังอยู่ที่ 2.89, 2.79 และ 2.94 บาทต่อหน่วยตามลำดับ ซึ่งล้วนแพงกว่าราคาค่าไฟฐานของ กฟผ. ทั้งสิ้น ราคาค่าซื้อไฟฟ้าส่วนที่เกินจากค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ. เหล่านี้จะถูกผลักมาอยู่ในค่าเอฟทีให้ประชาชนจ่ายเพิ่มนั่นเอง
อีกทั้งค่าซื้อไฟฟ้าจาก SPPs (ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตเป็นส่วนใหญ่) นั้นมีราคาต่อหน่วยแพงกว่าที่ซื้อจาก IPPs แต่ กฟผ.กลับมีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPPs มากกว่า เช่น ตัวเลขการซื้อไฟของ กฟผ.ในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 พบว่า ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) จำนวน 17,554 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละ 3.736 บาท เป็นเงินรวม 65,586 ล้านบาท ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPPs) จำนวน 15,277 หน่วย ในราคาหน่วยละ 3.219 บาท เป็นเงินรวม 49,174 ล้านบาท ซึ่งขัดกับหลักการซื้อหาสินค้าโดยทั่วไปที่ควรเลือกรายที่เสนอราคาถูกกว่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าเกินควร
อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าว นางจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษก กฟผ. โต้ว่า การรับซื้อไฟฟ้าของกฟผ.ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่และรายเล็ก เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า เพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้นๆ โดยผ่านความเห็นชอบของ กกพ. และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
ทางด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว ให้ข้อมูลในวงเสวนา “เบื้องหลังค่าไฟแพง น้ำมันแพง คือขบวนการกลั่นแกล้งขูดรีดประชาชน” เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ตอนนี้มีการสำรองไฟฟ้าถึง 53% ไฟฟ้าที่เกินเหล่านี้ ถือว่าเป็นภาระกับประชาชน เพราะค่าใช้จ่ายพวกนี้ ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่อยู่ในกระเป๋าของเรา ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่า จนถึงบัดนี้ทำไมรัฐบาลยังไปซื้อไฟจาก สปป.ลาว 12.6% หรือการจัดจะซื้อไฟไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ควรจะเลิกหรือไม่ ฉะนั้น 5 ปีต่อไปนี้ไม่ควรจะซื้อแล้ว แต่ควรจะมาส่งเสริมประชาชนผลิตไฟบนหลังคาด้วยโซลาร์รูฟของตัวเองทำไมถึงไม่ทำ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว นายกฯลุง ก็เข้าไม่ถึงแก่นธรรมะอริยสัจ 4 ว่าด้วย “นิโรธ” คือการแก้สาเหตุที่ทำให้ต้องขึ้นค่าไฟ เพราะยังไม่คิดจะหยุดยั้งการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และรับซื้อไฟเข้าระบบ แถมยังไม่ยี่หระที่กฟผ.เลือกซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่ราคาแพง ทั้งที่ตอนนี้มีมากล้นเกินจำเป็น ซ้ำรัฐบาลลุงยังไม่คิดดึงเอาโรงแยกก๊าซฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาเข้าระบบ POOl ก๊าซ เพื่อรับราคาต้นทุนค่าก๊าซเท่าเทียมกันถ้วนหน้า ลดภาระประชาชน
การจะดับทุกข์ให้ชาวบ้านตามวิถีแห่ง “มรรค” จึงเกิดขึ้นได้ยาก ขณะที่การต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในสิ้นเดือน ส.ค. 2565 ออกไปอีกโดยอาจลากยาวจนถึงสิ้นปี 2565 และกลุ่มใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ตามแนวทางช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้แก้ไขที่แก่นแท้ของสาเหตุค่าไฟฟ้าแพงแต่อย่างใด
เมื่อความจริงมันเป็นอย่างนี้ แทนที่จะไล่ให้คนอื่นไปศึกษา ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค “นายฯลุงตู่” เองนั่นแหละที่ควรจะกลับไปศึกษาเรื่องนี้เสียใหม่ จะได้รู้ต้นสายปลายเหตุของปัญหาค่าไฟฟ้าแพง และดับทุกข์ให้กับประชาชนได้อย่างถ่องแท้