xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กำแพงหมื่นลี้ (8) กำแพงหมื่นลี้ของราชวงศ์หมิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ด่านซันไห่
คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยจูหยวนจังนั้น เมื่อตั้งแล้วจูหยวนจังก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ โดยมีชื่อรัชศกว่า หงอู่ (ครองราชย์ ค.ศ.1368-1398) 

การปกครองในระยะแรกนั้น จักรพรรดิหงอู่ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการปราบกบฏกลุ่มต่างๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเวลานั้น แต่ก็ไม่ถึงกับกระทบเสถียรภาพของราชวงศ์มากนัก หลังจากนั้นไม่นานก็มีกบฏเกิดขึ้นภายในราชวงศ์ ผู้ก่อกบฏเคยเป็นสหายของพระองค์ที่ร่วมโค่นล้มราชวงศ์หยวนมาด้วยกัน

กบฏครั้งนี้ได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวเหตุการณ์หนึ่ง นั่นคือ เมื่อปราบกบฏได้สำเร็จแล้ว จักรพรรดิหงอู่ก็ให้ทำการสอบสวนสืบสวนบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือแม้แต่ชวนให้สงสัยว่ามีส่วนร่วมกับกบฏ การสอบสวนสืบสวนนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางและมีลักษณะเหวี่ยงแห จนทำให้มีขุนนางข้าราชการหรือขุนศึกถูกประหารชีวิตไปนับหมื่นคน ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เคยเป็นสหายศึกของหงอู่มาก่อน

การสังหารผู้คนมากมายเช่นนี้ล้วนมาจากนิสัยหวาดระแวงของหงอู่โดยแท้

เหตุฉะนั้น ราชวงศ์หมิงในช่วงรัชกาลแรกจึงเสียเวลาไปกับความหวาดระแวงดังกล่าว แต่ในอีกข้างหนึ่งก็มิได้ละเลยที่จะทำสงครามกับพวกมองโกล ที่หลังจากราชวงศ์หยวนของมองโกลถูกโค่นล้มไปแล้ว พวกมองโกลก็กลับไปอยู่ในทุ่งหญ้าทางภาคเหนือที่เป็นถิ่นเดิมของตน เมื่อตั้งหลักได้แล้วกองกำลังที่ยังหลงเหลืออยู่ของมองโกลก็พยายามที่จะฟื้นฟูราชวงศ์หยวนขึ้นมาใหม่ ทำให้ชายแดนทางภาคเหนือของจีนต้องถูกก่อกวนจากมองโกลอยู่เสมอ

เหตุฉะนั้น หงอู่จึงทรงให้สร้างกำแพงเมืองจีนเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพื่อป้องกันการรุกรานก่อกวนของมองโกล การก่อสร้างกำแพงเมืองจีนของหมิงในคราวนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูงมาก ตลอดแนวของกำแพงที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะมีสถานีกองกำลังทหารตั้งอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งหมายความว่า หมิงจะต้องใช้งบประมาณในการเลี้ยงดูกองกำลังเหล่านี้ด้วย

 การก่อสร้างกำแพงเมืองจีนในยุคหมิงนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการสร้างอย่างต่อเนื่อง กล่าวกันว่า การสร้างกำแพงเมืองจีนของหมิงนี้เป็นไปตลอด 200 ปีแทบมิได้ขาดตอน โดยมีอยู่ 18 ครั้งที่เป็นการสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องใช้นวัตกรรมและเทคนิคขั้นสูง โดยกำแพงถูกสร้างมาจนถึงด่านเจียอี้ว์ (เจียอี้ว์กวาน) ที่เริ่มจากทางตะวันตกของแม่น้ำยาลู่ในภาคตะวันออกของจีนใน ค.ศ.1502 ซึ่งตรงกับปีที่ 14 ในการครองราชย์ของจักรพรรดิหงจื้อ (ค.ศ.1470-1505) กำแพงนี้มีความยาวราว 6,300 กิโลเมตร พาดผ่านเจ็ดมณฑลด้วยกันคือ เหลียวหนิง เหอเป่ย ซันซี มองโกเลียใน สั่นซี หนิงเซี่ย และกันซู่  

จากระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้กำแพงของหมิงถูกพัฒนาจนมีระบบการป้องกันที่ผสมผสานกันในหลายลักษณะ กล่าวคือ ตลอดแนวกำแพงแต่ละช่วงคือ กำแพงเจิน (เจินเฉิง) กำแพงลู่ (ลู่เฉิง) กำแพงเว่ย (เว่ยเฉิง) กำแพงกวาน (กวานเฉิง) กำแพงเป่า (เป่าเฉิง) และไอ้โข่วที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละพื้นที่นั้น จะประกอบด้วยกำแพงป้องกันการรุกราน หอสังเกตการณ์ สนามเพลาะ และป้อมส่งสัญญาณไฟ

ด่านซันไห่
อนึ่ง ป้อมส่งสัญญาณไฟนี้มีไว้เพื่อจุดไฟเมื่อมีข้าศึกมารุกรานจุดใดจุดหนึ่ง ไฟที่ถูกจุดขึ้นจะลุกโชนขึ้นสูงจนทำให้ป้อมที่อยู่ไกลออกไปสามารถเห็นได้ เพื่อแจ้งเตือนให้ป้อมนั้นว่า ตอนนี้ได้มีข้าศึกเข้ามารุกรานแล้ว เมื่อรับทราบแล้วป้อมที่เห็นสัญญาณนั้นก็จะส่งก่อไฟในป้อมของตนต่อๆ กันไป

การแจ้งเตือนด้วยสัญญาณไฟนี้มีความสำคัญมาก ด้วยจะทำให้ป้อมอื่นๆ สามารถเตรียมรับมือข้าศึกได้ทันกาล ส่วนจะตั้งรับข้าศึกหรือส่งกองกำลังไปช่วยป้อมแรกที่ส่งสัญญาณไฟย่อมแล้วแต่กรณี

การสร้างกำแพงที่มีลักษณะแตกต่างกันไปดังกล่าว ทำให้แต่ละจุดจะมีที่ตั้งกองบัญชาการในทุกระดับตลอดแนวไปด้วย กองบัญชาการเหล่านี้จะทำงานอย่างสอดประสานกันในการตอบโต้การรุกราน

 การจัดระบบการป้องกันในระดับต่างๆ เช่นนี้ทำให้กำแพงเมืองจีนในยุคหมิงถูกแบ่งพื้นที่สำหรับป้องกันการรุกรานออกเป็นเก้าพื้นที่เรียกว่า เก้าฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์ระดับสูง (จิ่วเปียนจ้งเจิน, Nine Strategically Important Posts) โดยเก้าพื้นที่นี้ตั้งอยู่ในเก้าเมืองหรือมณฑลคือ เหลียวตง จี้โจว ซวนฝู่ ต้าถง ไท่หยวน อี้ว์หลิน หนิงเซี่ย กันซู่ และกู้หยวน

แต่ละพื้นที่ดังกล่าวจะมีผู้บัญชาการประจำอยู่ ผู้บัญชาการเหล่านี้จะขึ้นตรงต่อคณะกรรมการสงคราม (Board of War) อีกชั้นหนึ่ง คณะกรรมการสงครามนี้มีหน้าที่ดูแลกิจการการป้องกันในพื้นที่ว่าควรตอบโต้อย่างไร และให้การสนับสนุนเพื่อนบ้านในการป้องกันหรือตอบโต้การรุกรานอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม กำแพงเมืองจีนในยุคหมิงนี้ได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ตั้งแต่จักรพรรดิองค์แรกคือหงอู่ โดยในยุคของพระองค์ได้มีขุนศึกเรืองนามผู้หนึ่งชื่อ  สี่ว์ต๋า (ค.ศ.1332-1385)  ขุนศึกผู้นี้เป็นสหายศึกที่ร่วมก่อกบฏกับจูหยวนจัง และเทื่อจูหยวนจังตั้งตนเป็นเป็นจักรพรรดิหงอู่และสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้นแล้ว สี่ว์ต๋าได้รับตำแหน่งระดับกง (เทียบเท่ากับเจ้าพระยาของไทย) โดยเป็นผู้บัญชาการประจำอยู่ที่ชายแดนภาคเหนือ และได้ทำศึกกับผู้รุกรานจนสามารถขับไล่ข้าศึกออกไปได้หลายครั้ง

และเพื่อเป็นการสร้างระบบป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สี่ว์ต๋าได้สร้างด่านจีว์ยง (จีว์ยงกวาน) ขึ้น และดูแลการก่อสร้างด่านต่างๆ ตลอดแนวกำแพงระหว่างด่านซันไห่ (ซันไห่กวาน) กับมู่เถียนอี้ว์ เช่น หม่าหลันเซี่ยในเมืองจวินฮว่า ด่านซันอี้ว์ (ซันอี้ว์กวาน) ในเมืองผิงกู่ ด่านจื่อลู่ (จื่อลู่กวาน) ในเมืองมี่อวิ๋นเฉียง ด่านซือหม่าไถ (ซือหม่าไถกวาน) หรือด่านกู่เป๋ยโข่ว (กู่เป๋ยโข่วกวาน) เป็นต้น

ครั้นถึงสมัย จักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ.1360-1424)  ได้มีการสร้างขยายกำแพงเมืองจีนขึ้นอีกหลายแห่งทางตอนใต้ของด่านจีว์ยง เช่นเดียวกับจักรพรรดิบางองค์หลังจากนั้นที่ได้สร้างกำแพงเพิ่มขึ้น จนทำให้ระบบป้องกันการรุกรานจากภายนอกมีความเข้มข้นมากขึ้น จนมีความยาวของกำแพงสมคำร่ำลือว่าหมื่นลี้จริงๆ โดยกำแพงที่สร้างขึ้นในแต่ละช่วงจะมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

 กำแพงในยุคหมิงได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการตั้งรับและตอบโต้ข้าศึกอยู่หลายครั้ง จนมีคำกล่าวว่า แม้เพียงหนึ่งคนในด่านก็สามารถยืนหยัดต้านศัตรูนับพันคนได้ คำกล่าวเปรียบนี้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของกำแพงเมืองจีนได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นภาพของการตั้งรับและตอบโต้ข้าศึกของกำแพง ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างกำแพงเมืองจีนที่ตั้งอยู่ที่ด่านซันไห่หรือซันไห่กวานจากที่ได้ไปเห็นมา 


ที่ด่านซันไห่หากดูจากภายนอกแล้วก็ไม่ต่างกับกำแพงเมืองอื่นๆ คือนอกจากจะมีประตูใหญ่ที่เป็นทางเข้าออกและมีแนวยาวแล้ว เฉพาะที่ประตูก็ยังมีกำแพงด้านในล้อมรอบเป็นกรอบสี่เหลี่ยมอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า หากข้าศึกบุกเข้ามาและหมายจะทะลวงกำแพงแล้ว ข้าศึกจะต้องทะลวงเข้าทางประตูเท่านั้น เพราะเป็นจุดที่ทะลวงได้ง่ายที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือว่า เฉพาะที่ประตูใหญ่นี้หากข้าศึกสามารถทำลายประตูจนเข้าไปชั้นในได้แล้ว ก็ใช่ว่าจะบุกเข้าเมืองได้ในทันที เพราะที่ชั้นในจะกำแพงสูงรอบด้านทั้งสี่ด้าน โดยฝั่งตรงข้ามกับประตูที่ถูกทลวงเข้ามานั้นจะมีประตูใหญ่อีกประตูหนึ่งที่เข้าสู่ชั้นในของเมืองได้ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ชั้นในที่ถูกล้อมรอบด้วยกำแพงสูงสี่ด้านนี้เอง

กล่าวคือ เมื่อข้าศึกทลายประตูเข้ามาแล้วก็จะเท่ากับถูกล้อมด้วยกำแพงทั้งสี่ด้านดังกล่าว เมื่อตกอยู่ในวงล้อมแล้ว ทหารที่อยู่บนกำแพงทั้งสี่ด้านก็จะใช้ธนูระดมยิงข้าศึกที่อยู่ด้านล่าง ลองนึกภาพดูว่า ทหารจำนวนนับร้อยนับพันที่ถูกขังไว้ด้วยกำแพงล้อมรอบนี้จะหนีไปไหนไม่ได้ และเมื่อถูกธนูระดมยิงจากด้านบนแล้ว ข้าศึกจะตกอยู่ในสภาพที่ยิ่งกว่าปิดประตูตีแมวเสียอีก

 ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครที่จะรอดชีวิตไปได้ 



กำลังโหลดความคิดเห็น